Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๙๑

pom auther งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

ข้อควรระวังสำหรับผู้สูงอายุ

dhammajaree291

ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ผมมีภาระต้องดูแลผู้สูงอายุหลายท่านนะครับ
ในช่วงเช้าวันหนึ่งช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา
คุณอาท่านหนึ่งที่อยู่บ้านเดียวกับผม
ท่านเดินตกบันไดแล้วก็ล้มลงมาศีรษะฟาดพื้น ไม่รู้สึกตัว
ซึ่งในช่วง ๕ ปีก่อนหน้านี้ ผมได้เตือนคุณอาท่านนี้มาไม่ต่ำกว่า ๕๐ ครั้งแล้ว
ว่าขอให้ย้ายลงมานอนชั้นล่าง จะได้ไม่ต้องเดินขึ้นลงบันได เสี่ยงต่อการล้ม
แต่คุณอาท่านนี้ดื้อมาก เธออยากจะนอนห้องนอนเดิมที่ชั้นสอง
ไม่ยอมย้ายลงมานอนในห้องชั้นล่าง ทั้ง ๆ ที่ชั้นล่างก็มีห้องนอนว่างอยู่

หลังจากที่คุณอาล้มลงมาศีรษะฟาดพื้น ไม่รู้สึกตัวแล้ว
ผมก็รีบนำท่านไปส่งที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งใกล้บ้าน
คุณอาท่านนี้ไม่มีโรคประจำตัวนะครับ หายากนะครับ
ไม่เป็นความดัน เบาหวาน โรคไต หรือโรคหัวใจ ไม่ป่วยสักโรคหนึ่ง
ก่อนหน้านี้เคยพาไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาล
แต่ผลตรวจออกมาปกติหมด
ท่านจึงไม่มีโรคพยาบาลที่รักษาประจำ
ผมจึงเลือกพาไปที่โรงพยาบาลเอกชนที่ใกล้บ้านที่สุด

เมื่อส่งตัวคุณอาเข้าโรงพยาบาลแล้ว ทางโรงพยาบาลก็นำท่านไปอยู่แผนกฉุกเฉิน
เนื่องจากคุณอาท่านนี้ไม่มีสามีและบุตร ไม่ได้แต่งงาน
แล้วก็ไม่ได้มีทรัพย์สมบัติส่วนตัวอะไรด้วย
โดยท่านก็อยู่อาศัยกับผมที่เป็นหลานแหละครับ
ผมจึงเป็นคนที่นำส่งท่านไปโรงพยาบาล
โดยก็มีคุณอาอีกท่านหนึ่งที่เป็นน้องสาว และสูงอายุเหมือนกันไปด้วย
คุณอาท่านที่เป็นน้องสาวนี้ก็ไม่มีสามีและบุตร ไม่ได้แต่งงาน
แล้วก็อยู่อาศัยกับผมที่เป็นหลานเช่นเดียวกัน

ทีนี้ ด้วยความที่คุณอาท่านที่เป็นน้องสาวนี้ก็สูงอายุเช่นกัน
ไม่ได้ทำงานมีรายได้อะไร และไม่ค่อยเข้าใจเรื่องเอกสารต่าง ๆ
ผมจึงเป็นคนลงนามในเอกสารต่าง ๆ กับทางโรงพยาบาล
และดำเนินเรื่องต่าง ๆ กับทางทางโรงพยาบาลเอง

ก่อนหน้านี้ คุณอาท่านที่ล้มนี้ก็เคยสั่งผมและคนอื่น ๆ ไว้นะครับว่า
ถ้าท่านป่วยเป็นอะไรหนัก ๆ แล้วก็ไม่ต้องรักษาอะไรนะ
โดยก็ให้ปล่อยให้ท่านไปแบบเร็ว ๆ ได้เลย
เพราะว่าท่านก็ไม่ได้มีภาระหน้าที่อะไร และไม่ได้มีห่วงอะไร
อยู่บ้านแต่ละวัน ท่านก็ไม่ได้ต้องทำงานอะไรนะครับ
โดยปกติก็คือใส่บาตรพระหน้าบ้านตอนเช้า
ระหว่างวันก็ฟังซีดีธรรมะ เดินจงกรม แล้วก็อาจจะดูโทรทัศน์บ้างเท่านั้น

ตอนที่พาเข้าโรงพยาบาล ผมก็ไม่ทราบว่าอาการท่านเป็นอย่างไร
แต่สิ่งที่ผมทำเป็นอย่างแรกก็คือ ขอเซ็นใบ Non-Resurrection ไว้ให้โรงพยาบาล
หมายถึงว่า ถ้าหากคนป่วยเกิดตายขึ้นมาแล้ว
ห้ามมิให้โรงพยาบาลปั๊มหัวใจกลับมา หรือใส่ท่อเครื่องช่วยหายใจ
หรือให้ยากระตุ้นเพื่อให้คนป่วยกลับมีชีวิตขึ้นมา

กรณีนี้ขออธิบายว่า ไม่ใช่ว่าผมอยากจะให้คุณอาท่านตายนะครับ
แต่เราก็ต้องยอมรับว่าแต่ละคนก็ย่อมมีอายุขัยของตนเอง ทุกคนต้องตาย
ปัญหาที่สำคัญคือ “การส่งคนป่วยให้จากไปอย่างสงบ”
โดยหากคนป่วยได้จากไปอย่างสงบด้วยดีแล้ว
เราไม่สมควรที่จะไปปั๊มหัวใจให้ฟื้นกลับมา
เพราะว่ามันไม่สบายนะครับ เช่น บางคนที่ปั๊มหัวใจแล้ว ซี่โครงหักก็มี
คนป่วยฟื้นกลับมาก็จริง แต่ก็ต้องมาเจ็บปวด แล้วไม่นานก็ตายอยู่ดี
หรือกรณีใส่ท่อเครื่องช่วยหายใจนั้น ก็เจ็บมากนะครับ
พอใส่ไปแล้วก็จะมีปัญหาอีกว่าในอนาคต ใครจะเป็นคนสั่งให้ถอด
เพราะกลายเป็นว่าคนสั่งถอดเท่ากับว่าไปทำให้เขาตาย

ในเรื่องนี้ผมเคยเขียนซีรีส์บทความเรื่อง “เมื่อพ่อแม่ป่วยหนักมาก”
ซึ่งเนื้อหาส่วนหนึ่งจะครอบคลุมถึงการสร้างเหตุและปัจจัย
เพื่อส่งให้พ่อแม่ที่ป่วยหนักและกำลังจะจากไปนั้น ได้ไปสู่ภพภูมิที่ดี
โดยบทความดังกล่าวอยู่ในวารสารธรรมะใกล้ตัว ฉบับที่ ๑๑๕ ถึง ๑๒๐
ท่านผู้อ่านที่สนใจสามารถย้อนกลับไปอ่านได้ตามลิงค์ด้านล่างนี้ครับ
เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๑๕
เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๑๖
เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๑๗
เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๑๘
เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๑๙
เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๒๐
และก็เคยเขียนบทความเรื่อง “ส่งผู้ป่วยให้จากไปอย่างสงบ”
ในวารสารธรรมะใกล้ตัว ฉบับที่ ๒๔๓ ตามลิงค์ด้านล่างนี้ครับ
http://www.dharmamag.com/mag/index.php/dhammajaree-issues/1291-2016-02-11-01-26-48

หลังจากที่คุณอาได้ไปอยู่ที่ห้องฉุกเฉินสักพักหนึ่งแล้ว
คุณหมอที่รับผิดชอบห้องฉุกเฉินก็เชิญผมเข้าไปแจ้งสิทธิให้ทราบว่า
เนื่องจากคุณอามีอาการซึม และเข้าเกณฑ์ที่จะใช้สิทธิตาม
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่าย
ในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของภาครัฐ
หรือที่เรียกว่า “โครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่”
(Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) ของภาครัฐ
ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถรักษาได้ฟรี ๗๒ ชั่วโมง
โดยหลังจากนั้น เราก็สามารถย้ายผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่น
ที่ผู้ป่วยมีสิทธิข้าราชการ ประกันสังคม หรือบัตรทองก็ได้

รายละเอียดของโครงการ UCEP นี้ ผมแนะนำให้ลองค้นในอินเตอร์เน็ต
หรืออาจจะลองอ่านจากข่าวตามลิงก์ข่าวต่อไปนี้ก็ได้
http://www.thaigov.go.th/news/contents/details/2811
http://www.komchadluek.net/news/edu-health/269383
https://www.matichon.co.th/news/516486
ซึ่งสำหรับท่านผู้อ่านที่มีญาติเป็นผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุแล้ว
ก็แนะนำให้ศึกษาข้อมูลไว้ก่อนครับ เพราะจะเป็นประโยชน์มากในกรณีฉุกเฉิน

ผมไม่ทราบว่าคุณอาที่ล้มนี้อาการหนักแค่ไหน
แต่พิจารณาแล้วเห็นว่า ผมอยากจะให้รักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านในช่วงแรกก่อน
โดยผมก็ทราบอยู่แล้วว่าโครงการประกันสุขภาพของประเทศไทยเราขณะนี้
กำลังขาดแคลนงบประมาณอย่างมากนะครับ
ถ้าเราพอจะรับผิดชอบอะไรได้เองแล้ว ก็ไม่อยากไปรบกวนงบประมาณภาครัฐ
จึงแจ้งคุณหมอไปว่าผมจะไม่ใช้สิทธิตามโครงการ UCEP
ซึ่งทางโรงพยาบาลก็จะมีเอกสารมาให้เราลงนามนะครับว่าจะไม่ใช้สิทธิ

หลังจากนั้น ก็จะมีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (“สปสช.”)
โทรศัพท์หาผมด้วยนะครับ เพื่อให้คำแนะนำในการใช้สิทธิโครงการ UCEP
แล้วก็สอบถามว่าทำไมจึงไม่ใช้สิทธิ
ผมก็แจ้งไปว่าสามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองได้
และผมก็ไม่อยากย้ายคุณอาไปโรงพยาบาลที่คุณอามีสิทธิบัตรทองในภายหลัง
เพราะจะเป็นการไปแย่งเตียงผู้ป่วยท่านอื่น ๆ ที่เขาลำบากและจำเป็นมากกว่า
เจ้าหน้าที่ สปสช. ก็แจ้งว่าถ้าผมเปลี่ยนใจ
ก็สามารถติดต่อสายด่วนที่หมายเลข 1330 ได้ตลอด

คุณอาท่านอยู่ที่ห้องฉุกเฉินช่วงระยะเวลาหนึ่ง
หลังจากนั้น ก็ได้ย้ายไปอยู่ห้องไอซียู
แล้วก็ได้ทำการเอ็กซ์เรย์สมอง ซึ่งปรากฏว่ามีเลือดออกในสมอง
คุณหมอที่ดูแลได้โทรศัพท์หาผม และแนะนำให้ทำการผ่าตัดสมอง
โดยแจ้งด้วยว่าหลังผ่าตัดจะต้องใส่ท่อเครื่องช่วยหายใจ

เรื่องการผ่าตัดสมอง และต้องใส่ท่อเครื่องช่วยหายใจนี้
เป็นเรื่องที่ตัดสินใจยากนะครับ
โดยก่อนหน้าที่คุณหมอจะโทรมานี้
ผมได้เช็คข้อมูลความเสี่ยงของการผ่าตัดสมองแล้ว
พบว่าบางกรณีเป็นผักไปเลยก็มี ความจำเสื่อมก็มี อาการน่ากลัวสารพัด
แต่ว่าที่ผ่าตัดแล้วหายก็มี ปัญหาคือว่า ถ้าเราไม่ผ่าตัดแล้ว มันไม่หายแน่ ๆ
หากปล่อยให้เลือดออกในสมองต่อไป มันมีแต่แย่ลงแน่ ๆ
แต่หากเราลองเสี่ยงผ่าตัดแล้ว มันมีโอกาสหาย และโอกาสไม่หาย
ดังนั้นแล้ว ผมจึงแจ้งอนุญาตทางโทรศัพท์ให้คุณหมอทำการผ่าตัดสมองได้

หลังจากผ่าตัดสมองแล้ว คุณอาที่ล้มก็มีอาการไม่ตอบสนองนะครับ
หรือที่เรียกว่าเป็น “ผัก” นั่นแหละ และต้องใส่ท่อเครื่องช่วยหายใจ
แต่แม้ว่าจะมีอาการเป็นผักก็ตาม การใส่ท่อเครื่องช่วยหายใจนี้
ก็ทำให้ท่านดูทรมานมากนะครับ โดยเฉพาะเวลาที่ต้องการไอนั้น
สีหน้าคุณอาจะออกแดงก่ำ และทำสีหน้าทรมานมาก
บางทีถึงขนาดมีหยดน้ำตาซึมออกมาด้วย

หลังผ่าตัดแล้ว คุณอาพักฟื้นอยู่ที่ห้องไอซียูเป็นเวลา ๑๐ วัน
แต่ก็ยังไม่ฟื้นและมีอาการเป็นผักอยู่อย่างนั้น ต้องใส่ท่อเครื่องช่วยหายใจไปเรื่อย
ทีนี้ ปัญหาเริ่มจะเกิดขึ้นกับทางผมด้วยแล้ว
เพราะว่าค่าผ่าตัดและค่าห้องไอซียูโรงพยาบาลเอกชนนี้มันโหดร้ายมากนะครับ
เรียกได้ว่าผมเก็บเงินมา ๒ ปี แต่หมดไปภายใน ๑๐ วันที่อยู่โรงพยาบาล
แถมต้องไปยืมเงินญาติมาบางส่วนอีก
แต่ก็ยังดีที่ว่าพี่น้องและญาติบางท่านก็ให้เงินช่วยเหลือมาด้วยส่วนหนึ่ง

ผมจึงต้องมาพิจารณาแล้วว่า จะดูแลรักษาคุณอายังไงต่อไป
เพราะถ้าให้อยู่ในสภาพนี้ต่อไปเรื่อย ๆ เป็นเดือน
ญาติที่ดูแลและออกค่าใช้จ่ายจะตายก่อนคุณอาเสียอีก
ผนวกกับผมเองก็ยอมรับในเรื่องวิบากกรรมนะครับ
ถ้าหากคุณอาไม่ได้ทำกรรมอะไรมา ย่อมไม่ได้รับวิบากในวันนี้
ดังนั้นแล้ว ถ้ามันเป็นวิบากกรรมที่จะต้องรับ เราก็หนีไม่พ้น
มันก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะหาหนทางไหนที่บรรเทาวิบากได้ดีที่สุด

ผมพิจารณาแล้วก็เห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะให้คุณอาอยู่โรงพยาบาลต่อไป
เพราะโดยสภาพก็กลายเป็นผักอยู่แล้ว โอกาสที่จะฟื้นมีน้อยมาก
แทนที่ผมจะนำเงินไปจ่ายให้กับโรงพยาบาลไปเรื่อยจนเราล้มละลาย
ผมนำเงินมาดูแลคุณอาตามอัตภาพเพื่อให้สบายตัวเท่าที่ทำได้จะดีกว่า
โดยถ้าสามารถพาคุณอากลับมาอยู่บ้านได้แล้ว
ก็ตั้งใจว่าจะเปิดซีดีธรรมะหรือซีดีสวดมนต์ให้ฟัง
ฟังเข้าหูหรือไม่เราก็ไม่ทราบ แต่นี่ถือว่าเราได้ทำดีที่สุดแล้ว

เมื่อสรุปได้ดังนี้แล้ว ผมจึงหารือกับคุณหมอที่ดูแลว่า
จะขอให้ค่อย ๆ ลดการรักษา และค่อย ๆ ลดการใช้ท่อเครื่องช่วยหายใจ
เพื่อที่ผมจะได้พาคุณอากลับบ้าน ซึ่งผมก็คิดว่าน่าจะคุยกันได้ง่ายนะครับ
แต่ปรากฏว่าคุยกันไม่ง่ายครับ เพราะคุณหมอไม่เห็นด้วย
และบอกว่าคนป่วยยังมีโอกาสหาย จึงต้องรักษาต่อไป เป็นหน้าที่ของหมอ
และคุณหมอแนะนำให้นำคนป่วยไปเอ็กซ์เรย์สมอง
เพื่อดูอาการว่าจะรักษาอย่างไรต่อไป

ผมพยายามคุยกับคุณหมอแล้ว ก็ไม่เข้าใจกันนะครับ
ผมเองพยายามจะนำคุณอากลับบ้าน ไม่ต้องรักษาให้เจ็บตัวแล้ว
จะให้กลับมานอนฟังซีดีธรรมะหรือซีดีสวดมนต์ แล้วก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ
แต่คุณหมอพยายามจะให้รักษาต่อไปในโรงพยาบาล
แล้วถามว่า หากท้ายที่สุดรักษาไม่หายแล้ว ผมจะได้ค่ารักษาพยาบาลคืนไหม
เราก็คงเข้าใจตรงกันว่า ไม่ได้คืนอยู่แล้วล่ะ
คุณอาท่านนี้ก็ไม่ได้มีทรัพย์สินส่วนตัวอะไรด้วย

เมื่อตกลงกันไม่ได้ และผมเองก็ไม่อยากจะมีปัญหากับคุณหมอและโรงพยาบาล
ผมจึงทำการย้ายโรงพยาบาลไปโรงพยาบาลเอกชนอีกแห่งหนึ่ง
ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ผมมีเพื่อนเป็นคุณหมอที่ทำงานเป็นผู้บริหารอยู่
โดยผมได้เคลียร์ค่าใช้จ่ายกับโรงพยาบาลเดิม
แล้วก็ย้ายไปอยู่โรงพยาบาลใหม่ภายในบ่ายวันเดียวกัน
ซึ่งในวันเดียวกันนั้น ก็ได้หารือแนวทางกับคุณหมอที่โรงพยาบาลใหม่
ปรากฏว่าคุยเข้าใจตรงกันว่า ญาติต้องการให้รักษาในแนวทางใด

เพื่อนผมที่เป็นคุณหมอที่ทำงานเป็นผู้บริหารอยู่ ก็มาช่วยตรวจอาการให้ด้วยนะครับ
โดยก็บอกกับผมว่า คุณอาเป็นผักไปแล้ว และมีโอกาสฟื้นน้อยมาก
ผมต้องหาวิธีการดูแลรักษาให้ดี ไม่อย่างนั้นค่าใช้จ่ายจะเยอะมาก
โดยจะเป็นลักษณะของสุภาษิตที่ว่า “คนตายขายคนเป็น” ทำนองนั้น

คุณอาอยู่ที่โรงพยาบาลใหม่ได้ ๓ วัน ก็สามารถถอดท่อเครื่องช่วยหายใจออกได้
แล้วหลังจากนั้นอีกประมาณ ๑๐ วัน ก็สามารถพากลับบ้านได้
โดยคุณหมอที่โรงพยาบาลใหม่ได้ผ่าตัดเจาะช่องคอคุณอา
เพื่อให้หายใจได้สะดวก และให้สามารถดูดเสมหะออกได้ง่าย

ทีนี้ การที่เราจะดูแลคนที่เป็นผักนี้ไม่ใช่ง่าย ๆ นะครับ
เพราะว่าต้องมีการให้อาหารทางสายยางวันละ ๔ เวลา
และต้องช่วยจับพลิกตัวทุก ๒ ชั่วโมง เพื่อป้องกันแผลกดทับ
ต้องคอยใช้เครื่องดูดเสมหะออก และมีรายละเอียดจิปาถะอื่น ๆ อีก
ซึ่งทางโรงพยาบาลบอกว่า ให้คนที่จะดูแลมาเข้าคอร์สของโรงพยาบาล
เพื่อที่ทางโรงพยาบาลจะสอนวิธีการดูแลให้

ผมก็ดูอาการแล้ว เห็นว่าไม่น่าจะสามารถดูแลไหว
เพราะผมเองก็ออกไปทำงานระหว่างวัน กลางคืนก็สลบ
คนที่จะต้องดูแลก็จะมีแต่ผู้สูงอายุที่บ้าน ซึ่งแค่ให้ท่าน ๆ ดูแลตัวเองก็เหนื่อยแล้ว
แล้วไหนจะต้องมาช่วยพลิกตัวเวลากลางคืนอีก
ใครจะอยู่เฝ้ากลางคืนไหว ใครจะใช้เครื่องดูดเสมหะให้
ต่อให้จะจ้างคนมาดูแลหนึ่งคน เขาก็ดูแลได้เฉพาะกลางวัน
ถ้าจะจ้างคนมาดูแลสองคน ยังไงก็ต้องมีวันหยุด
แล้วค่าใช้จ่ายและค่ากินอยู่จะเป็นเท่าไร
ฉะนั้นแล้ว ไม่ง่ายเลย และมีแต่ค่าใช้จ่ายทั้งนั้นนะครับ
ผมพิจารณาแล้วจึงตัดสินใจว่า
จะนำคุณอาไปฝากให้ศูนย์ดูแลผู้ป่วยทำการดูแลครับ
โดยก็เน้นที่ใกล้บ้าน เพื่อที่เราจะสามารถไปเยี่ยมได้สะดวก

เมื่อพาคุณอาออกมาจากโรงพยาบาลไปอยู่ที่ศูนย์ฯ แล้ว
มันยังไม่จบแค่นั้นนะครับ เพราะแม้ว่าจะเป็นผักก็ตาม
คุณอาก็ยังต้องทานยา เช่น ยากันอาการชัก เป็นต้น
และต้องพาคุณอาไปหาหมอตามระยะเวลาที่กำหนดเพื่อตรวจอาการ
ทีนี้ เราจะพาคนเป็นผักไปโรงพยาบาลก็ไม่ใช่ง่าย ๆ นะครับ
ถ้าจะให้สะดวก ก็ต้องใช้รถพยาบาล ซึ่งก็จะมีค่าใช้จ่ายอีก
นอกจากนี้ หากคุณอามีอาการอักเสบ หรือติดเชื้อแล้ว
ก็ต้องไปนอนให้ยาฆ่าเชื้อที่โรงพยาบาล ซึ่งก็แล้วแต่ระยะเวลา
อาจจะต้องนอน ๓ วัน ๕ วัน ๗ วัน หรือนานกว่านั้น
ซึ่งก็จะเป็นอย่างนี้ และมีค่าใช้จ่ายไปเรื่อยจนกว่าจะถึงแก่กรรม

เจ้าตัวเองก็ไม่ใช่ว่าสบายนะครับ ผมก็ไม่ทราบว่าท่านจะรู้สึกตัวไหม
ถ้ารู้สึกตัวและรับฟังได้ แต่ขยับไม่ได้แล้ว คงจะทรมานมาก
ทรมานยิ่งกว่าติดคุกเสียอีก เพราะว่าคนติดคุกยังขยับตัวได้นะ
นี่ต้องนอนเฉย ๆ เป็นผักขยับอะไรไม่ได้เลย
แต่ก็ยังดีว่าคุณอาท่านนี้ได้มีโอกาสฟังธรรมเทศนาครูบาอาจารย์มามาก
ผมก็พยายามบอกท่านว่า ให้นอนดูกายไปนะครับ กายไม่ใช่เรา เราสั่งไม่ได้
แล้วก็ให้ดูจิตที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปว่ามันไม่เที่ยงหรอก
ซึ่งผมพูดให้ฟังไป ก็ไม่ทราบว่าท่านจะได้ยินไหม หรือได้ยินแล้วจะทำได้ไหม
แต่ก็ถือว่าเราทำดีที่สุดแล้วที่จะสามารถทำได้

คุณอาย้ายมาอยู่ที่ศูนย์ฯ แล้ว ไม่ต้องใส่ท่อเครื่องช่วยหายใจ
หน้าตาไม่ทรมานเหมือนเวลาที่ใส่ท่อเครื่องช่วยหายใจนะครับ
โดยก็ผมก็เปิดซีดีธรรมะให้ฟังไปเรื่อย ๆ
โดยก็ต้องดูแลกันไปอย่างนี้จนกว่าจะจากไปตามธรรมชาติ

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ ก็เพื่อจะเป็นข้อเตือนแก่ท่านผู้สูงอายุนะครับว่า
ไม่ควรจะดื้อนะครับ โดยหากรู้ตัวว่าเราสูงอายุแล้ว
ก็ควรจะย้ายมานอนชั้นล่าง จะเป็นการปลอดภัยกว่า
ท่านเองอาจจะรู้สึกว่า ฉันยังไหว
แต่ผมขอเรียนว่าคุณอาที่ล้มท่านก็รู้สึกอย่างนั้นเช่นกันครับ
แต่พอถึงเวลาทีเกิดอุบัติเหตุล้มขึ้นมาจริง ๆ แล้ว
ก็จะเดือดร้อนกันหมดแบบครบวงจรครับ
ถ้าตายไปทันทีเลย คงไม่น่ากลัวหรอกนะ
เจอกรณีที่เป็นผักแบบนี้สิ น่ากลัวมากกว่าเยอะ
เพื่อนท่านหนึ่งที่เป็นหมออยู่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งบอกผมว่า
มีหลายกรณีที่คนเป็นผักอยู่ได้เป็นสิบปีกว่าจะตาย
ดังนั้นแล้ว เราอย่าไปหลงเข้าใจว่าเป็นผักแป๊บเดียว ก็จะตายนะครับ
ไม่ใช่อย่างนั้น คนเป็นผักอาจจะอยู่ได้นานกว่าคนไม่เป็นผักเสียอีก

อีกกรณีหนึ่งก็คือ เวลากลางคืนควรเปิดไฟทางเดินไว้นะครับ
และสิ่งของอะไรที่วางเกะกะทางเดิน ก็ควรจะย้ายออกให้หมด
เพื่อที่ว่าท่านผู้สูงอายุจะลุกเดินไปเข้าห้องน้ำได้สะดวก
โดยปัญหาที่เจอคือ ท่านผู้สูงอายุมักจะต้องการประหยัดค่าไฟฟ้า
ซึ่งก็เคยเจอกรณีของพ่อเพื่อนท่านหนึ่งที่ประหยัดค่าไฟอย่างนี้แหละ
แล้วพอกลางคืนเดินไปเข้าห้องน้ำก็สะดุดหรือลื่นล้ม
แล้วก็ต้องไปผ่าตัดสมอง รายนั้นท่านผ่าตัดเสร็จแล้ว ไม่นานก็ถึงแก่กรรม
โดยก็นับว่ายังไปสบายนะครับ ถ้าผ่าตัดแล้วกลายเป็นผักล่ะก็จะทรมานกว่า

ดังนั้นแล้ว ผมก็หวังว่าเรื่องคุณอาท่านนี้ จะเป็นอุทาหรณ์และเป็นประโยชน์แก่
ญาติธรรมท่านผู้สูงอายุท่านอื่น ๆ ที่จะไม่ต้องมาประสบชะตากรรมเช่นเดียวกันครับ
ขอย้ำอีกครั้งนะครับว่า ให้ย้ายลงมานอนชั้นล่าง
เปิดไฟทางเดินในเวลากลางคืน และย้ายสิ่งของที่วางเกะกะทางเดินครับ