Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๒๐

เมื่อพ่อแม่ป่วยหนักมาก (ตอนจบ)

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

dhamajaree-120-1
(ต่อจากตอนที่แล้ว...)

ในตอนที่แล้ว ได้คุยกันในส่วนที่สามคือ การสร้างเหตุและปัจจัยเพื่อส่งให้พ่อแม่ที่ป่วยหนักไปสู่ภพภูมิที่ดี
ซึ่งเราได้คุยจนมาถึงเรื่องอนุสติ ๖ ประการ ได้แก่ พุทธานุสสติ ธรรมานุสสติ สังฆานุสสติ
สีลานุสสติ จาคานุสสติ และเทวตานุสสติ ซึ่งลูก ๆ ควรจะช่วยให้พ่อแม่ที่ป่วยหนักนั้น
ได้หมั่นระลึกถึงอนุสติประการใดประการหนึ่งหรือหลายประการดังกล่าวนั้นบ่อย ๆ

เวลาที่ลูก ๆ ได้ทราบว่าพ่อแม่ป่วยหนักแล้ว ลูกชายบางคนที่ยังไม่เคยได้บวชให้กับพ่อแม่
ก็อาจพิจารณาตัดสินใจบวชให้กับพ่อแม่ด้วยในช่วงนี้เสียเลย
เพื่อให้พ่อแม่ที่ป่วยหนักนั้นได้โอกาสร่วมงานบวช และมีโอกาสได้ร่วมทำบุญกับพระลูกชายนั้น
การตัดสินใจบวชในช่วงเวลาที่พ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ ย่อมจะช่วยอำนวยบุญกุศลให้แก่พ่อแม่
มากกว่าการที่ลูกจะไปบวชหน้าไฟในช่วงงานศพ ซึ่งในช่วงเวลานั้นพ่อแม่ท่านถึงแก่กรรมไปแล้ว
ท่านก็ย่อมจะลุกขึ้นมาถวายภัตตาหาร กับจตุปัจจัยและสิ่งของบริวารต่าง ๆ แก่พระภิกษุสงฆ์ไม่ได้
อย่างไรก็ดี ในการตัดสินใจจะไปบวชในช่วงเวลาดังกล่าว ลูก ๆ ก็ต้องพิจารณาด้วยว่า
หากตนเองไปบวชแล้ว จะมีลูก ๆ หรือคนอื่น ๆ มาคอยดูแลพ่อแม่ที่ป่วยหนักนั้นหรือไม่
นอกจากนี้ มีข้อแนะนำว่าในการบวชช่วงพ่อแม่ป่วยหนักนี้ ควรจะถือพ่อแม่ที่ป่วยหนักเป็นสำคัญก่อน
โดยควรพิจารณาว่า บวชที่วัดไหนแล้ว จะสะดวกแก่การสร้างบุญกุศลของพ่อแม่มากที่สุด
ยกตัวอย่างเช่น แนะนำให้บวชที่วัดซึ่งอยู่ใกล้ ๆ พ่อแม่เอาไว้
โดยหากพระลูกชายจะสามารถเดินผ่านหน้าบ้านมารับบิณฑบาตพ่อแม่ที่บ้าน หรือที่โรงพยาบาลได้ทุกวัน
ก็จะถือเป็นการ
ช่วยสร้างเหตุและปัจจัยเพื่อส่งให้พ่อแม่ได้ไปสู่ภพภูมิที่ดีได้เป็นอย่างดี
ในส่วนที่ว่าลูกชายอยากจะบวชวัดมีชื่อเสียง หรืออยากจะบวชวัดที่ตนเองชื่นชอบนั้น
อาจจะจำเป็นต้องละไว้ก่อน เพราะหากบวชไกลจากพ่อแม่มาก ๆ แล้ว
พ่อแม่ที่ป่วยหนักก็ย่อมจะไม่สะดวกที่จะเดินทางไกลไปทำบุญด้วย ก็จะเป็นการเสียโอกาสแก่พ่อแม่นั้น
จึงควรจะบวชให้อยู่ใกล้ ๆ พ่อแม่ที่ป่วยหนัก เพื่อให้ท่านได้มีโอกาสทำบุญกุศลให้มากที่สุด

สำหรับกรณีที่พ่อแม่ป่วยหนักบางท่านไม่สามารถจะระลึกถึงอนุสติได้
เนื่องจากท่านอาจจะมีอาการเบลอ หรืองงจนสนทนากันไม่ค่อยจะรู้เรื่องแล้ว
ก็ต้องหาทางสร้างเหตุและปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นกุศลแก่พ่อแม่ที่ป่วยหนักครับ
ยกตัวอย่างว่า หากพ่อแม่ที่ป่วยหนักยังพอที่จะสามารถขยับเคลื่อนไหวได้บ้าง
ก็อาจจะช่วยให้พ่อแม่ได้สร้างทานบารมี โดยอาจจะนิมนต์พระภิกษุมา
เพื่อให้พ่อแม่ได้ถวายภัตตาหาร หรือได้ถวายสังฆทานแก่พระภิกษุ
หรือไม่ก็ลูก ๆ อาจจะให้เงินแก่พ่อแม่ที่ป่วยนั้น (ซึ่งหากขยับไม่ได้มาก เราก็วางใส่มือท่านก็ได้)
และก็บอกให้ท่านได้อธิษฐานถวายเงินนั้น จากนั้น ลูก ๆ ก็รับเงินนั้นมา
เพื่อที่ลูก ๆ จะนำเงินจำนวนนั้นไปทำบุญกุศลต่าง ๆ ต่อไป เช่น ร่วมทำบุญต่าง ๆ ที่วัด
ทำบุญร่วมสร้างวิหาร ทำบุญถวายสังฆทาน ร่วมทำบุญกฐินหรือผ้าป่า ทำบุญไถ่ชีวิตโคกระบือ
ทำบุญร่วมสร้างโรงพยาบาล ทำบุญกับมูลนิธิต่าง ๆ รวมถึงสภากาชาดไทย หรือ
ซื้อหนังสือธรรมะแจกเป็นธรรมทาน เป็นต้น ซึ่งก็ถือเสมือนว่าพ่อแม่นั้นได้ฝากเงินของท่านนั้น
ให้กับลูก ๆ ไปช่วยร่วมทำบุญกุศลให้แทน อันเป็นการสร้างทานบารมีติดตัวท่านไป
ซึ่งนอกจากพ่อแม่จะได้บุญกุศลในทานนั้นแล้ว ลูก ๆ ที่ไปช่วยทำบุญกุศลให้พ่อแม่นั้น
ก็ย่อมจะได้บุญกุศลด้วยเช่นกัน โดยได้สองทอด ทอดแรก คือให้เงินกับพ่อแม่เพื่อไปทำบุญกุศล
ทอดที่สอง คือช่วยนำเงินของพ่อแม่นั้นไปทำบุญกุศลแทนพ่อแม่

นอกจากวิธีการให้เงินพ่อแม่ แล้วลูก ๆ นำเงินดังกล่าวไปร่วมทำบุญแทนแล้ว
อีกวิธีการหนึ่งที่เป็นประโยชน์ก็คือ การเปิดเสียงสวดมนต์ให้พ่อแม่ที่ป่วยหนักได้ฟัง
โดยในการเปิดนั้นไม่จำเป็นต้องเปิดให้ท่านฟังรู้เรื่อง (แต่หากรู้เรื่องด้วยก็จะเป็นประโยชน์เพิ่มขึ้น)
แต่เป็นการเปิดเสียงสวดมนต์เบา ๆ ในลักษณะที่ให้ฟังแล้วมีอารมณ์คล้อยตามไปแบบสบาย ๆ
คล้าย ๆ กับเวลาที่เราฟังเพลงบรรเลงเบา ๆ สบาย ๆ ตามร้านอาหาร หรือสถานที่ต่าง ๆ นะครับ
เพียงแต่เราเปลี่ยนเสียงเพลงบรรเลงนั้น เป็นเสียงสวดมนต์แทน
การฟังเสียงสวดมนต์ให้เป็นอารมณ์ ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่มีอานิสงส์เป็นบุญกุศลเช่นกัน
และหากพ่อแม่เสียชีวิตไปในระหว่างนั้น โดยมีเสียงสวดมนต์นั้นเป็นนิมิต (แม้จะฟังไม่รู้เรื่องเลยก็ตาม)
ก็ย่อมจะมีสุคติภูมิเป็นที่หมาย ดังที่จะได้ยกตัวอย่างเรื่องจากพระไตรปิฎกเรื่องหนึ่งนะครับ

... พระศาสดาเสด็จไปโปรดพระมารดาชั้นดาวดึงส์
ลำดับนั้น พระศาสดาประทับนั่งในท่ามกลางเทวบริษัท
ทรงปรารภพระมารดาเริ่มตั้งอภิธรรมปิฎกว่า
"กุสลา ธมฺมา, อกุสลา ธมฺมา, อพฺยากตา ธมฺมา" ดังนี้เป็นต้น.
ทรงแสดงอภิธรรมปิฎกโดยนัยนี้เรื่อยไปตลอด ๓ เดือน
ก็แลทรงแสดงธรรมอยู่ ในเวลาภิกษาจาร ทรงนิรมิตพระพุทธนิรมิต
ด้วยทรงอธิษฐานว่า "พุทธนิรมิตนี้จงแสดงธรรมชื่อเท่านี้ จนกว่าเราจะมา"
แล้วเสด็จไปป่าหิมพานต์ ทรงเคี้ยวไม้สีฟันชื่อนาคลตา บ้วนพระโอษฐ์ที่สระอโนดาต
นำบิณฑบาตมาแต่อุตตรกุรุทวีป ได้ประทับนั่งทำภัตกิจในโรงกว้างใหญ่แล้ว

พระสารีบุตรเถระไปทำวัตรแด่พระศาสดาในที่นั้น
พระศาสดาทรงทำภัตกิจแล้ว ตรัสแก่พระเถระว่า
"สารีบุตร วันนี้ เราภาษิตธรรมชื่อเท่านี้ เธอจงบอกแก่ (ภิกษุ ๕๐๐) นิสิตของตน"
ได้ทราบว่า กุลบุตร ๕๐๐ เลื่อมใสยมกปาฏิหาริย์ บวชแล้วในสำนักของพระเถระ
พระศาสดาตรัสแล้วอย่างนั้น ทรงหมายเอาภิกษุเหล่านั้น
ก็แลครั้นตรัสแล้ว เสด็จไปสู่เทวโลก ทรงแสดงธรรมเอง ต่อจากที่พระพุทธนิรมิตแสดง
แม้พระเถระก็ไปแสดงธรรมแก่ภิกษุเหล่านั้น
ภิกษุเหล่านั้น เมื่อพระศาสดาเสด็จอยู่ในเทวโลกนั้นแล ได้เป็นผู้ชำนาญในปกรณ์ ๗ แล้ว

ได้ยินว่า ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสป
ภิกษุเหล่านั้นเป็นค้างคาวหนู ห้อยอยู่ที่เงื้อมแห่งหนึ่ง
เมื่อพระเถระ ๒ รูปจงกรมแล้วท่องอภิธรรมอยู่ ได้ฟังถือเอานิมิตในเสียงแล้ว
ค้างคาวเหล่านั้นไม่รู้ว่า "เหล่านี้ ชื่อว่าขันธ์, เหล่านี้ ชื่อว่าธาตุ"
ด้วยเหตุสักว่าถือเอานิมิตในเสียงเท่านั้น
จุติจากอัตภาพนั้น แล้วเกิดในเทวโลก เสวยทิพยสมบัติสิ้นพุทธันดรหนึ่ง
จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว เกิดในเรือนตระกูลในกรุงสาวัตถี
เกิดความเลื่อมใสในยมกปาฏิหาริย์ บวชในสำนักของพระเถระแล้ว
ได้เป็นผู้ชำนาญในปกรณ์ ๗ ก่อนกว่าภิกษุทั้งปวง
แม้พระศาสดาก็ทรงแสดงอภิธรรมโดยทำนองนั้นแล ตลอด ๓ เดือนนั้น
ในกาลจบเทศนา ธรรมาภิสมัยได้มีแก่เทวดา ๘ หมื่นโกฏิ
แม้พระมหามายาก็ตั้งอยู่แล้วในโสดาปัตติผล ...
(ที่มา อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท พุทธวรรคที่ ๑๔
จาก http://www.84000.org)

แต่หากพ่อแม่ที่ป่วยหนักยังพอจะฟังรู้เรื่องบ้าง ก็ย่อมจะได้อานิสงส์เช่นกัน
ดังเรื่องจากพระไตรปิฎกในเรื่องว่าด้วย บุญกรรมของมัณฑุกเทพบุตร ดังต่อไปนี้
... พระผู้มีพระภาคตรัสถามมัณฑุกเทพบุตรว่า
ใครมีวรรณะงามยิ่งนัก รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์และยศ
ยังทิศทั้งปวงให้สว่างไสว ไหว้เท้าทั้งสองของเราอยู่?
มัณฑุกเทพบุตรกราบทูลว่า เมื่อชาติก่อน ข้าพระองค์เป็นกบเที่ยวหาอาหารอยู่ในน้ำ
เมื่อข้าพระองค์กำลังฟังธรรมของพระองค์อยู่ คนเลี้ยงโคได้ฆ่าข้าพระองค์
ขอพระองค์ทรงดูฤทธิ์ ยศ อานุภาพ ผิวพรรณและความรุ่งเรืองของข้าพระองค์
ผู้มีจิตเลื่อมใสครู่หนึ่งเท่านั้น
ข้าแต่พระโคดม ก็ผู้ใดได้ฟังธรรมของพระองค์สิ้นกาลนาน
ผู้นั้นพึงได้บรรลุนิพพานอันเป็นฐานะไม่หวั่นไหว
เป็นสถานที่ที่ไปแล้วไม่เศร้าโศกเป็นแน่ ...
(ที่มา พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๘
ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา จาก http://www.84000.org)

ในตอนแรกนั้น ได้เคยอธิบายเกี่ยวกับ“จุติจิต” และ “ปฏิสนธิจิต” แล้วนะครับว่า
ในชีวิตมนุษย์ธรรมดาสามัญที่ยังไม่บรรลุพระอรหันต์นี้
จุติจิตเป็นจิตดวงสุดท้ายแห่งภพชีวิตมนุษย์อันจะน้อมนำไปสู่ปฏิสนธิจิตในภพอื่น ๆ ต่อไป
ซึ่งหากคนเราก่อนตายนั้น หากจุติจิตเป็นบุญกุศล ก็จะทำให้ได้ไปเกิดในภพภูมิที่ดี
แต่หากจุติจิตเป็นอกุศล ก็จะทำให้ได้ไปเกิดในภพภูมิที่ไม่ดี
ดังนี้แล้ว การเปิดเสียงสวดมนต์ให้พ่อแม่ที่ป่วยหนักได้ฟังเป็นอารมณ์นั้น
ก็ย่อมจะเป็นการช่วยสร้างให้จุติจิตของพ่อแม่ที่ป่วยหนักเป็นกุศลด้วยเช่นกัน
ซึ่งย่อมจะดีกว่า และเป็นประโยชน์กว่าการเปิดเพลงบรรเลง หรือเพลงอื่น ๆ ให้ท่านฟังครับ
เคยพบว่าลูก ๆ บางคนเปิดเพลงรัก ๆ ใคร่ ๆ เพลงอกหัก เพลงจีบแฟน ให้พ่อแม่ที่ป่วยหนักฟัง
ซึ่งก็ยิ่งจะเป็นการเพิ่มพูนกิเลส และสร้างจิตอกุศลกันมากขึ้นไปอีก
(หรือหากเปิดละครตบตีกัน หรือข่าวการเมืองให้พ่อแม่ฟัง ก็ทำนองเดียวกันครับมีแต่ช่วยสร้างจิตอกุศล)

ด้วยความที่จุติจิตจะน้อมนำไปสู่ปฏิสนธิจิตในภพอื่น ๆ ต่อไป
ในช่วงเวลาสุดท้ายก่อนที่พ่อแม่จะสิ้นใจนั้น จึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญอย่างมากมาย
ในบางคราวนั้น พ่อแม่ที่ป่วยหนักได้จากไปในกลางดึกขณะที่ลูก ๆ ที่เฝ้ากำลังหลับ ก็ไม่มีอะไร
แต่หากพ่อแม่ที่ป่วยหนักกำลังจะจากไปในเวลาที่ลูก ๆ กำลังตื่นและเฝ้าอยู่นี้จะมีประเด็นพิจารณา
(โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากพ่อแม่นอนในโรงพยาบาล และมีเครื่องวัดชีพจรด้วยแล้วก็จะทราบได้เลย
ว่าในช่วงเวลาไหนที่พ่อแม่กำลังจะจากไปแล้ว)
โดยลูก ๆ ควรจะสร้างบรรยากาศสงบ อันเอื้ออำนวยแก่การจากไปอย่างสงบของพ่อแม่ที่ป่วยหนักนั้น
หากไม่รู้ว่าควรจะทำตัวอย่างไรแล้ว ที่ผมแนะนำให้ทำก็คือว่า เปิดเสียงสวดมนต์คลอไปนะครับ
(ซึ่งลูก ๆ ก็อาจจะสวดมนต์ตามไปด้วยก็ได้) ก็จะเป็นการช่วยให้พ่อแม่ท่านได้มีเสียงสวดมนต์เป็นอารมณ์
สิ่งที่ไม่ควรทำเลย ก็คือการที่ลูก ๆ จะมาร้องไห้ฟูมฟาย โวยวายว่าพ่อแม่อย่าจากไปเราเลย
หากพ่อแม่จากไปแล้ว ลูก ๆ หลาน ๆ จะอยู่กับใคร ลูก ๆ หลาน ๆ จะทำอย่างไร ...
พึงทราบว่า ยังไงแล้ว พ่อแม่ก็ต้องตายและจากไปอยู่ดี สิ่งสำคัญ คือว่าทำอย่างไรจึงจะให้ท่านได้ไปสู่ภพภูมิที่ดี
การที่จะมาร้องไห้ฟูมฟายหรือโวยวายว่าพ่อแม่อย่าจากไปเลยเช่นนั้น มีแต่จะทำให้พ่อแม่เกิดห่วงกังวล
และไม่สามารถจากไปได้อย่างสงบ ท้ายสุดก็กลายเป็นการสร้างให้จุติจิตที่เป็นจิตอกุศลให้พ่อแม่นั้น
และทำให้ท่านไปสู่ภพภูมิที่ไม่ดี

ดังนั้นแล้ว ลูก ๆ หรือญาติ ๆ หรือคนอื่น ๆ ที่จะอยู่เฝ้าพ่อแม่ที่ป่วยหนักในช่วงเวลาที่พ่อแม่จากไปนั้น
ควรจะต้องเป็นผู้ที่มีจิตใจเข้มแข็ง และทำตัวสงบได้นะครับ
หากบรรดาประเภทจิตอ่อน และร้องไห้ฟูมฟายนั้น ลูก ๆ ควรจะเชิญบรรดาญาติหรือบุคคลเหล่านั้น
ให้ออกไปรอนอกห้อง หรือนอกบ้าน นอกอาคาร ให้ไปร้องไห้ หรือฟูมฟายห่างไกลพ่อแม่ที่ป่วยหนักมาก ๆ
ส่วนที่เหลือที่เฝ้าอยู่ใกล้ ๆ พ่อแม่ที่ป่วยหนักนั้นก็ให้มีแต่เฉพาะบรรดาท่าน ๆ ที่จะ
ช่วยกันสร้างบรรยากาศสงบ และบรรยากาศที่เป็นบุญกุศลให้แก่พ่อแม่ที่กำลังจะจากไปเท่านั้น
ซึ่งในเรื่องนี้ ลูก ๆ ควรจะต้องตกลงกันล่วงหน้าก่อนที่ช่วงเวลาดังกล่าวนั้นจะมาถึงครับ

หลังจากที่พ่อแม่ได้จากไปแล้ว งานของลูก ๆ ก็ยังไม่จบนะครับ
ก็ยังจะมีหน้าที่ในการจัดงานศพของพ่อแม่ จัดการเรื่องอัฐิของท่าน จัดการทรัพย์มรดกและหนี้สินท่าน
หน้าที่ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ หน้าที่ในการประกาศเกียรติคุณท่านในทางที่ดี
และสอนลูกหลานให้ระลึกถึงท่านในทางที่ดี
ทั้งนี้ ลูก ๆ ไม่ควรจะให้พ่อแม่ของตนเองนั้นตายเปล่า
แต่ควรจะนำการตายของพ่อแม่นั้นมาระลึกให้เป็นประโยชน์ โดยการน้อมนำมาระลึกถึงมรณานุสติว่า
แม้พ่อแม่เราก็ตายจากไปแล้ว เราเองก็ต้องตายเหมือนกัน เวลาชีวิตที่เหลืออยู่นั้น สมควรจะเร่งทำอะไรกันแน่

ในเรื่อง “เมื่อพ่อแม่ป่วยหนักมาก” นี้ ผมได้เขียนมายาวหกตอนแล้ว
ในท้ายที่สุดนี้ ต้องขอเรียนว่า หลาย ๆ สิ่งหลาย ๆ อย่างที่จะต้องทำนั้น ไม่สามารถทำได้ในเวลาอันจำกัด
แต่เป็นเรื่องที่จะต้องใช้เวลามาก ในขณะสิ่งที่จะต้องทำในช่วงเวลานั้นกลับมีมากมายเหลือเกิน
ดังนั้นแล้ว อย่ามัวเอาแต่นั่งร้องไห้เสียใจครับ เพราะไม่มีประโยชน์อะไร
แต่ให้รีบทำงานแข่งกับเวลา แข่งกับมัจจุราชที่จะพรากชีวิตพ่อแม่ของเราไป
โดยเมื่อตื่นนอนขึ้นมาในแต่ละวัน ก็ให้ระลึกสมมุติไว้เลยว่าเย็นนี้พ่อแม่เราจะตายแล้ว
เราควรจะทำอะไรก่อนดี อะไรสำคัญที่สุดและเร่งด่วนที่สุด แล้วก็ให้รีบทำสิ่งนั้นก่อนครับ
หลายสิ่งหลายอย่างนั้นต้องทำในระหว่างที่พ่อแม่มีชีวิตอยู่ครับ
จะไปทำหลังจากที่พ่อแม่ท่านจากไปแล้วนั้น ไม่มีประโยชน์แก่พ่อแม่แล้ว
ทำทุกอย่างในสิ่งที่ท่านสมควรทำในเวลาอันสมควรนะครับ แล้วท่านก็จะไม่ต้องไปนั่งร้องไห้หน้าโลงศพว่า
“ทำไมพ่อแม่จากลูก ๆ ไปเร็วจังเลย ลูก ๆ ยังไม่ได้ทำนั่นยังไม่ได้ทำนี่ให้กับพ่อแม่เลย ...”
จริง ๆ แล้ว ลูก ๆ ก็สามารถทำสิ่งทั้งหลายที่แนะนำนี้ได้ตั้งแต่พ่อแม่ยังไม่ได้ป่วยหนักนะครับ
แต่เมื่อพ่อแม่ป่วยหนักนี้ ก็อาจจะถือได้ว่ามัจจุราชได้ส่งข้อความมาเตือนล่วงหน้าแล้ว
หากลูก ๆ ยังไม่สนใจทำอีก ก็คงไม่ต้องไปโทษอะไรใครแล้วครับ คงต้องโทษตัวเองเท่านั้น