Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๑๘

เมื่อพ่อแม่ป่วยหนักมาก (ตอนที่ ๔)

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.



at_hand_110410

(ต่อจากตอนที่แล้ว...)

ในตอนที่แล้ว เราได้คุยกันจบในส่วนแรก เรื่องการช่วยดูแลรักษาโรคและร่างกายของพ่อแม่ที่ป่วย
สำหรับในตอนนี้ เราจะคุยกันต่อในส่วนที่สอง เรื่องการดูแลภาวะจิตใจของพ่อแม่ที่ป่วยให้สบายใจ
ลำพังเพียงแค่ช่วยดูแลให้สบายกายนั้นยังไม่เพียงพอ เพราะเรื่องสบายใจก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน
บางคนก็ยังถึงกับบอกว่า “คับที่นั้นพออยู่ได้ แต่หากคับใจแล้วอยู่ไม่ได้”
ยกตัวอย่างเช่นว่า สามีภรรยาแต่งงานอยู่ด้วยกัน หรือว่าคู่แฟนคบกัน
แม้ว่าจะอยู่ด้วยกันหรือคบหากันอย่างสบายกาย โดยไม่อัตคัดขาดแคลนอะไรก็ตามที
แต่หากมีเรื่องว่าฝ่ายหนึ่งนอกใจกัน ไม่พอใจกัน หรือมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันอยู่เสมอแล้ว
ก็ย่อมจะทำให้ไม่สบายใจ และไม่มีความสุขในการที่จะอยู่ด้วยกัน หรือจะคบหากัน
โดยสำหรับหลาย ๆ คนแล้ว หากจะอยู่ด้วยกันหรือคบหาโดยทะเลาะกันหรือไม่สบายใจเช่นนั้น
สู้ยอมเลิกแล้วไปเสี่ยงหาใหม่ หรือยอมอยู่คนเดียวอย่างไม่สบายกาย หรืออัตคัดก็ยังจะดีกว่า

แต่สำหรับพ่อแม่ที่นอนป่วยหนักอยู่นั้น ท่านอาจจะไม่มีทางเลือกว่าจะเลิกหรือจะย้ายไปไหนได้
ดังนั้นก็เป็นภาระหน้าที่ของบรรดาลูก ๆ ที่จะต้องช่วยกันดูแลในส่วนนี้
นอกจากนี้ การช่วยเหลือดูแลภาวะจิตใจของพ่อแม่ที่ป่วยหนักให้สบายใจนั้น
ยังเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ท่านสามารถระลึกใจเป็นกุศลได้ง่ายขึ้นในระหว่างที่ป่วย
อันจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงการ
สร้างเหตุและปัจจัยเพื่อส่งให้ท่านไปสู่ภพภูมิที่ดีด้วย
โดยหากพ่อแม่ที่นอนป่วยหนักนั้นมีแต่เรื่องทุกข์ใจ กลุ้มใจ กังวลใจมากมายหลายเรื่องแล้ว
การที่จะให้ท่านระลึกใจเป็นกุศล และช่วยส่งท่านไปภพภูมิที่ดี ก็ย่อมจะทำได้ยากแล้ว

ในเรื่องการดูแลพ่อแม่ที่ป่วยหนักให้สบายใจนั้นมีข้อแนะนำในเรื่องที่สำคัญ ๆ หลายประการคือ
ประการแรกคือ “อย่าประมาท” ซึ่งข้อนี้เป็นข้อที่สำคัญที่สุดว่า
ลูก ๆ อย่าประมาทว่าพ่อแม่ที่ป่วยหนักนี้จะต้องหาย และจะไม่ตาย
หรือว่าท่านจะอยู่ได้อีกเป็นเวลานาน แต่ควรจะระลึกว่าท่านจะจากเราไปวันไหนก็ไม่รู้
และอันที่จริงแล้ว ลูก ๆ เองก็อาจจะจากไปก่อนพ่อแม่ที่ป่วยหนักนี้เสียด้วยซ้ำ
ดังนั้นแล้ว หากทราบว่าหรือคิดว่าจะต้องทำอะไรที่สำคัญแล้ว ก็อย่าปล่อยเวลาให้ผ่านเลย
ไม่ควรผลัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย ๆ เพราะอาจจะไม่มีโอกาสได้ทำในเวลาที่สมควรทำก็ได้
เช่นว่า ลูก ๆ อยากจะดูแล หรือเยี่ยมเยียน หรือทำอื่น ๆ ให้กับพ่อแม่ที่ป่วยหนักนี้
หากมัวแต่ผลัดวันไปโดยประมาทว่าพ่อแม่ยังอยู่อีกนานแล้ว อาจจะไม่มีโอกาสได้ทำเลยก็ได้
หรือหากลูกชายคนไหนยังไม่ได้บวชให้กับพ่อแม่เลย
ก็ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่จำเป็นแล้ว และควรที่จะรีบทำให้กับพ่อแม่โดยเร็วที่สุด

ประการที่สอง ลูกหลานที่ดูแลพ่อแม่ที่ป่วยหนักอยู่นั้น จะต้องมีสติและรักษาจิตใจตนเอง
ให้ตนเองมีความสบายใจและมีความสุขใจเสียก่อน
หากลูกหลานที่ดูแลพ่อแม่ที่ป่วยหนักอยู่นั้นยังไม่สบายใจ มีความทุกข์ท่วมท้น
มีน้ำตานองหน้า มีหน้าตาหมองเศร้าอมทุกข์หนัก หรือมีหน้าตากลุ้มใจหรือโกรธอย่างรุนแรง
แล้วจะมาช่วยดูแลพ่อแม่ที่ป่วยหนักให้มีจิตใจผ่องใส และเบาสบายได้อย่างไร
โดยหากพ่อแม่ได้เห็นหน้าของลูกที่จมทุกข์แบกโลกไว้ทั้งใบแล้ว
พ่อแม่ที่ป่วยหนักนั้นจะมีความสุขใจสบายใจได้อย่างไร
ดังนั้น ลูกหลานที่ดูแลอยู่นั้นจะต้องดูแลจิตใจตนเองให้ดีเสียก่อน
แม้ว่าบางช่วงเวลาอาจจะมีความทุกข์ใจมากมาย อยากจะร้องไห้เสียใจ อยากจะโกรธอะไรก็ตาม
ก็ไม่ควรแสดงอาการดังกล่าวออกไปให้พ่อแม่ที่ป่วยหนักนั้นได้รับรู้ (ก็เก็บไว้แอบไปทำลับหลังก็แล้วกัน)
ซึ่งก็รวมถึงบรรดาลูกหลานที่ได้มาเยี่ยมพ่อแม่ที่ป่วยหนักนั้นด้วย
โดยลูก ๆ ที่ดูแลพ่อแม่ที่ป่วยหนักอยู่ก็ควรต้องเตือนลูกหลานที่มาเยี่ยมด้วยว่า
ต้องช่วยกันทำหน้าตาและแสดงอาการสบายใจเข้าไว้ เพื่อให้พ่อแม่ที่ป่วยนั้นรู้สึกสบายใจด้วย

ประการที่สาม ห้ามลูกหลานทะเลาะกันต่อหน้าพ่อแม่ที่ป่วยหนักนั้น
จริง ๆ แล้ว แม้เวลาปกติก็ไม่ควรจะทะเลาะกันหรอกนะครับ ควรจะเข้าหากันและค่อย ๆ พูดจากัน
และหาข้อสรุปในเรื่องต่าง ๆ ด้วยความสมัครสมานสามัคคี
แต่หากว่าไม่สามารถจะหาข้อสรุปที่เห็นชอบร่วมกันได้แล้ว
อย่างน้อยก็ไม่ควรทะเลาะกันต่อหน้าต่อหน้าพ่อแม่ที่ป่วยหนักนั้นครับ
ไม่ว่าจะเป็นการทะเลาะกันเรื่องอะไรก็ตาม โดยให้ทุกคนแสดงแต่ความรักและสามัคคีเข้าไว้
พ่อแม่เองก็ป่วยหนักอยู่แล้ว มาเห็นลูกหลานทะเลาะกันเอง ก็ทำให้เสียใจและทุกข์ใจเสียเปล่า ๆ

ประการที่สี่ หลีกเลี่ยงการสร้างเรื่องกังวลใจ กลุ้มใจ หรือไม่พอใจแก่พ่อแม่ที่กำลังป่วยหนัก
ซึ่งควรจะคิดให้ดีก่อนจะพูด ก่อนจะเล่า และก่อนจะถาม โดยควรจะพิจารณาก่อนว่า
พูด เล่าหรือถามไปแล้ว จะทำให้พ่อแม่ที่ป่วยหนักนั้นสบายใจมากขึ้น หรือทุกข์ใจมากขึ้น
เรื่องบางเรื่องก็ไม่จำเป็นต้องไปพูด หรือเล่าให้ท่านฟังทั้งหมด และทุกเรื่องหรอกนะครับ
ยกตัวอย่างเช่น สมมุติแพทย์บอกว่าพ่อแม่ที่ป่วยหนักนั้นจะอยู่ต่อได้อีกไม่เกินหนึ่งสัปดาห์ เป็นต้น
ถามว่ามีความจำเป็นอะไรเป็นพิเศษที่จะต้องไปเล่าให้พ่อแม่ที่ป่วยหนักนั้นฟังหรือเปล่า
ซึ่งหากไม่ได้มีความจำเป็นอะไรเป็นพิเศษแล้ว และไม่ได้เห็นประโยชน์อะไรแล้ว ก็ไม่ควรเล่าให้ฟังครับ
เรื่องอื่น ๆ ที่จะทำให้กังวลใจ กลุ้มใจ หรือมีโทสะ ก็ไม่จำเป็นต้องเล่าให้พ่อแม่ที่ป่วยหนักฟังนะครับ
เช่นว่า ค่ารักษาพยาบาลพ่อแม่ที่ป่วยหนักนี้แพงมากทำให้ลูกหลานเดือดร้อนกันหมด
หรือขณะนี้กิจการของครอบครัวกำลังประสบปัญหาหนัก หรือลูกหลานทำเรื่องนั้นขัดคำสั่งพ่อแม่
หรือหลานคนนั้นสอบตก โดนไล่ออกจากโรงเรียน หรือลูกคนโน้น โดนตำรวจจับ เป็นต้น

ลูกบางคนคิดว่าพ่อแม่ใกล้จะถึงแก่กรรมแล้ว แต่ตนเองทำความผิดและมีเรื่องปกปิดท่านไว้
พอถึงช่วงเวลาที่พ่อแม่ใกล้จะตายนี้แล้ว ก็คิดอยากจะสารภาพผิด เพื่อขอขมาและขออโหสิกรรม
จึงไปทำการเล่าเรื่องที่ปกปิดไว้และสารภาพผิดทั้งหมดกับพ่อแม่ เพื่อขอขมาและขออโหสิกรรม
ในกรณีนี้ก็ต้องพิจารณาถึงพ่อแม่ที่ป่วยเป็นสำคัญว่าเล่าให้ท่านฟังแล้ว จะเป็นประโยชน์กับท่านไหม
หากเล่าไปแล้วพ่อแม่ยิ่งกลุ้มใจ ยิ่งฟุ้งซ่าน หรือจะทำให้โกรธ หรือเกิดอกุศลจิตใด ๆ แล้ว
ก็เห็นว่าไม่จำเป็นต้องไปเล่าให้ฟัง เพราะช่วงนี้เป็นช่วงท้าย ๆ แล้ว
โดยลูก ๆ ควรต้องยึดถือพ่อแม่เป็นสำคัญกว่าความรู้สึกอยากจะระบายสิ่งผิดในใจตนเอง
หากอยากจะขอขอขมาและขออโหสิกรรมแล้ว ก็สามารถขอขมาและขออโหสิกรรมในแบบเหมารวมได้
เช่นกล่าวว่า “หากได้เคยทำสิ่งใด ๆ ผิดต่อพ่อแม่ หรือทำให้พ่อแม่ไม่สบายใจ ไม่พอใจ หรือเสียใจ
ไม่ว่าจะทราบ หรือไม่ทราบ ไม่ว่าจะตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจ และไม่ว่าจะต่อหน้าหรือลับหลัง
ลูกก็ขอขมา และขออโหสิกรรมต่อพ่อแม่ด้วย” เช่นนี้แล้ว ก็เป็นการขอขมาและขออโหสิกรรมเช่นกัน
ได้ผลเหมือนกัน และพ่อแม่ก็สามารถให้อภัยได้ และอโหสิกรรมให้ได้เหมือนกัน
โดยที่ลูก ๆ ไม่ต้องไปเสี่ยงว่าจะเล่าเรื่องอะไรให้พ่อแม่ไม่สบายใจ กลุ้มใจ หรือไม่พอใจหรือเปล่า

ประการที่ห้า ขจัดเรื่องค้างคาใจหรือเรื่องที่เป็นห่วงกังวลของพ่อแม่ที่ป่วยหนัก
โดยปกติแล้ว ลูกที่ดูแลพ่อแม่ที่ป่วยหนักอาจจะไม่ทราบว่าพ่อแม่มีเรื่องค้างคาใจ
หรือเรื่องที่เป็นห่วงกังวลอะไรอยู่ภายในใจบ้าง
จึงควรจะต้องหาจังหวะและโอกาสที่เหมาะสมที่จะสอบถามจากพ่อแม่ที่ป่วยหนักนั้น
เช่นว่า พ่อแม่ที่ป่วยหนักอาจจะมีเรื่องสงสัยค้างคาในใจบางเรื่องเกี่ยวกับลูกหลาน
หรือพ่อแม่ที่ป่วยหนักอาจจะมีเรื่องที่ตนเองยังทำไม่แล้วเสร็จและต้องการจะฝากฝัง
ให้ลูกหลานได้ดูแล และทำต่อไปให้เรียบร้อยในอนาคต
ในประการนี้ หากลูกหลานสามารถชี้แจงให้สบายใจได้ ก็ควรทำทันที
หรือหากสามารถจัดการเรื่องที่ห่วงกังวลให้แล้วเสร็จได้ ก็ควรทำทันที
ส่วนเรื่องใดที่ไม่สามารถทำได้ทันที โดยจะต้องใช้เวลา ก็ควรรับปากไว้ว่าจะทำให้เรียบร้อยต่อไป
หรือหากว่าเป็นเรื่องทำสำเร็จได้ยาก ก็อาจจะบอกพ่อแม่ว่า “จะพยายาม” ทำให้เรียบร้อย
โดยภาพรวมแล้ว ต้องเคลียร์เรื่องราวทั้งหมด หรือรับปากไว้ว่าจะทำต่อไป
เพื่อที่ลูก ๆ จะยืนยันกับพ่อแม่ที่ป่วยหนักได้ว่า “พ่อแม่ไม่มีเรื่องอะไรที่ค้างคาใจอีกแล้ว
และไม่มีเรื่องใดที่ต้องห่วงกังวลอีกแล้ว และสามารถจะจากไปอย่างสงบได้”

ในประการนี้อาจจะรวมถึงการสอบถามหรือปรึกษาบางเรื่องที่ลูกไม่แน่ใจว่าจะให้ทำอย่างไรด้วย
เช่น เรื่องการจัดงานศพ การจัดการทรัพย์สินต่าง ๆ และการจัดการในเรื่องอื่น ๆ
โดยหากเป็นไปได้แล้ว ก็ควรจะมีการทำพินัยกรรมเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินไว้ล่วงหน้าให้เรียบร้อย
เพื่อป้องกันปัญหาที่ลูกหลานจะมาทะเลาะกันเองในภายหลัง

ประการที่หก รับฟังทุกเรื่องราว และสื่อสารอย่างใจเย็น และเมตตา
ในช่วงที่พ่อแม่ป่วยหนักนี้ การสื่อสารบางอย่างของท่านอาจจะไม่เป็นปกติ
หรือกระทำได้ยาก หรือท่านอาจจะขี้บ่น หรือใจร้อนในหลาย ๆ เรื่องมากขึ้น
การสื่อสารใด ๆ กับท่านจึงควรทำอย่างใจเย็น และเมตตา
นอกจากนี้ ลูก ๆ ที่ดูแลพ่อแม่ที่ป่วยหนักนี้ควรรับฟังทุกเรื่องราวที่ท่านเล่าให้ฟัง หรือบ่นให้ฟัง
เนื่องจากอาจจะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญบางอย่างสำหรับท่าน หรือเป็นเรื่องที่ค้างคาใจ
หรือเป็นเรื่องที่กังวลใจของท่าน หรือเป็นเรื่องที่ลูก ๆ จะต้องไปดำเนินการต่อไปในอนาคตก็ได้

ประการที่เจ็ด พูดจาและแสดงกิริยาสุภาพอ่อนน้อม และคอยเอาอกเอาใจ
ในช่วงเวลาดังกล่าวอาจจะเป็นช่วงเวลาสุดท้ายแล้วที่ลูกจะได้พูดจาและแสดงกิริยาดี ๆ กับพ่อแม่
ลูกบางคนนั้นก็พูดจาและแสดงกิริยาสุภาพอ่อนน้อมและคอยเอาอกเอาใจมาโดยดีตลอดอยู่แล้ว
ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีและขออนุโมทนา แต่ลูกบางคนนั้น พูดจาไม่ดีและแสดงกิริยาไม่ดีมาโดยตลอด
ก็ควรจะปรับปรุงแก้ไขในทันที หากไม่เคยได้ปรับปรุงเลย ก็ควรถือว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงสุดท้ายแล้ว

ประการที่แปด ระวังไม่ให้สิ่งอกุศล หรือสิ่งรบกวนใจมากระทบต่อจิตใจพ่อแม่ที่กำลังป่วยหนัก
โดยควรจะให้มีความสงบใจ และระลึกใจที่เป็นบุญกุศลเข้าไว้
ยกตัวอย่างเช่นว่าขณะที่นอนป่วยอยู่นั้น ไม่ควรให้ชมภาพยนตร์ยิงกันฆ่ากัน
หรือชมข่าวการเมือง หรือชมการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือชมละครทะเลาะกันอิจฉากัน เป็นต้น
ผมเองเคยมีประสบการณ์โดยตรงว่า คนเฝ้าคนป่วยนั้นได้เปิดชมละครโทรทัศน์ขณะที่เฝ้าคนป่วย
แม้ว่าคนป่วยนั้นจะไม่ได้ชมภาพเลย ได้ยินเพียงแต่เสียงจากละครก็ตาม
ก็สามารถทำให้คนป่วยมีอาการใจร้อนและฟุ้งซ่านตามไปด้วยได้เช่นกัน
แต่พอเปลี่ยนว่าไม่ให้เปิดละครโทรทัศน์แล้ว และให้เปิดซีดีเสียงสวดมนต์แทน
ปรากฏว่าคนป่วยมีอาการสงบ และร่มเย็นขึ้นมาแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเจน

ประการที่เก้า พยายามนำเสนอเรื่องต่าง ๆ ให้สบายใจ หาเรื่องที่เป็นกุศลให้คิดให้ทำ
โดยหากจะพูดคุยอะไรแล้ว ก็ให้คุยแต่เรื่องที่สบายใจ และเป็นกุศล
เช่นว่า คุยเรื่องที่พ่อเคยบวชที่วัดในสมัยอดีต คุยเรื่องแม่เคยไปถือศีลที่วัดในอดีต
คุยเรื่องที่พ่อแม่เคยไปร่วมงานกฐิน เคยไปร่วมงานผ้าป่า เคยทำบุญใหญ่ เคยไปทำบุญทำทานต่าง ๆ
คุยเรื่องพระพุทธเจ้า คุยเรื่องธรรมะ และคุยเรื่องพระสงฆ์
หากจะหาอะไรให้คิดให้ทำ ก็แนะนำให้คิดและให้ทำในสิ่งที่เป็นกุศลไว้ด้วย
โดยอาจจะนิมนต์พระมาให้พ่อแม่ที่ป่วยหนักได้ถวายภัตตาหาร หรือสังฆทานก็ได้

ประการที่สิบ การพูดคุยใด ๆ ให้คุยไปในแนวทางแนะนำให้ปล่อยวาง ไม่ใช่คุยให้ยึดติดยึดถือ
โดยก็ควรจะแนะนำให้ยอมรับตามความเป็นจริงว่าทุกคนนี้ก็ต้องตายทั้งนั้น
ก็ไม่สามารถถือนำอะไรติดตัวไปได้ (เว้นแต่กุศล และอกุศลที่ได้เคยทำไว้)
จึงควรที่จะทำใจยอมรับความจริงและปล่อยวางสิ่งต่าง ๆ เสีย เพราะยิ่งยึดติดก็จะยิ่งทำให้ทุกข์

ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ก็เป็นเพียงข้อแนะนำที่เห็นว่าสำคัญเท่านั้นนะครับ
แต่คนที่น่าจะรู้ใจพ่อแม่มากที่สุดว่าทำอย่างไร และพูดคุยอย่างไรท่านจึงจะสบายใจนั้น
ก็น่าจะเป็นตัวลูก ๆ หลาน ๆ นั้นเอง จึงควรที่จะต้องพิจารณากันเองด้วยครับว่า
นอกเหนือจากเรื่องที่ได้กล่าวไปแล้วนั้นจะมีเรื่องอื่น ๆ ที่ควรทำเพิ่มเติมด้วยหรือไม่

หากลองพิจารณาสังเกตให้ดีแล้ว จะพบว่าในทั้งสิบข้อที่กล่าวมานั้น สามารถจะทำได้ทันที
โดยไม่ต้องรอให้พ่อแม่ป่วยหนักจนใกล้ตายก่อนหรอกนะครับ
ดังนั้นแล้ว แม้ว่าพ่อแม่ของใครจะยังไม่ป่วยหนักก็ตาม แต่ก็ขอแนะนำให้ทำได้ทันทีครับ

(ในตอนต่อไปจะมาคุยในส่วนที่สามเรื่องการช่วยสร้างเหตุและปัจจัย
เพื่อส่งให้พ่อแม่ที่ป่วยหนักนั้นได้สู่ภพภูมิที่ดีกันครับ)