Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๔๓

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

ส่งผู้ป่วยให้จากไปอย่างสงบ

 

dhamajaree243

เมื่อต้นปี ๒๕๕๔ ผมได้เคยเขียนซีรีย์บทความเกี่ยวกับ
เรื่อง “เมื่อพ่อแม่ป่วยหนักมาก” รวมทั้งหมด ๖ ตอน
ซึ่งเนื้อหาส่วนหนึ่งจะครอบคลุมถึงการสร้างเหตุและปัจจัย
เพื่อส่งให้พ่อแม่ที่ป่วยหนักและกำลังจะจากไปนั้น ได้ไปสู่ภพภูมิที่ดี
โดยบทความดังกล่าวอยู่ในวารสารธรรมะใกล้ตัว ฉบับที่ ๑๑๕ ถึง ๑๒๐
ซึ่งท่านผู้อ่านสามารถย้อนกลับไปอ่านได้ตามลิงค์ด้านล่างนี้ครับ


http://www.dharmamag.com/mag/index.php/dhammajaree-issues/420-2011-03-02-15-47-02


http://www.dharmamag.com/mag/index.php/dhammajaree-issues/426-2011-03-16-15-02-58


http://www.dharmamag.com/mag/index.php/dhammajaree-issues/438-2011-03-30-16-59-49


http://www.dharmamag.com/mag/index.php/dhammajaree-issues/443-2011-04-13-14-07-03


http://www.dharmamag.com/mag/index.php/dhammajaree-issues/460-2011-04-27-13-37-36


http://www.dharmamag.com/mag/index.php/dhammajaree-issues/466-2011-05-11-15-40-04


เนื้อหาในตอนนี้ก็จะใกล้เคียงกับเรื่องบทความในซีรีส์ดังกล่าว
ในส่วนของการสร้างเหตุและปัจจัยเพื่อส่งให้คนป่วยจากไปอย่างสงบ

เมื่อช่วงปลายปี ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา ผมมีญาติอาวุโสท่านหนึ่งป่วยหนักและจากไป
โดยในช่วงที่ญาติอาวุโสท่านนี้เริ่มมีอาการป่วยหนัก
ผมได้แนะนำให้ญาติอาวุโสท่านนี้หมั่นทำบุญทำทาน สวดมนต์ และฟังธรรม
รวมทั้งจัดการเรื่องค้างคาใจให้เสร็จสิ้น และสั่งเสียเรื่องต่าง ๆ ให้พร้อม
ญาติอาวุโสท่านนี้ก็ทำบ้างไม่ทำบ้างตามแต่เหตุปัจจัยของท่าน
แต่ในช่วงท้าย ๆ ที่ญาติอาวุโสท่านนี้มีอาการหนัก และเริ่มจะไม่ค่อยรู้สึกตัวแล้ว
ญาติที่ดูแลญาติอาวุโสท่านนี้ก็มาปรึกษาผมว่า มีข้อแนะนำให้ดูแลอย่างไรบ้าง

ผมได้แนะนำญาติที่ดูแลในหลายเรื่อง แต่ที่เกี่ยวกับเนื้อหาบทความนี้ มีดังนี้
๑. ให้นำพระพุทธรูปมาวางบนโต๊ะด้านข้างเตียง
เพื่อที่ว่าเวลาที่ผู้ป่วยมองไปด้านหน้าก็จะได้เห็นพระพุทธรูป
เพื่อจะช่วยผู้ป่วยในเรื่องของพุทธานุสติได้บ้าง ไม่มากก็น้อย
เหตุที่ไม่นำพระพุทธรูปมาวางไว้ปลายเตียง เพราะจะอยู่ด้านปลายเท้าผู้ป่วย
และเหตุที่ไม่วางไว้บนหัวเตียง เพราะผู้ป่วยนอนอยู่ ก็ย่อมจะมองไม่เห็น

แล้วผมก็แนะนำญาติที่ดูแลว่า ในเวลาที่ผู้ป่วยเริ่มรู้สึกตัวขึ้นมา
ก็ให้ชี้ให้ผู้ป่วยมองไปที่พระพุทธรูปวันละหลาย ๆ รอบ
ซึ่งก็ปรากฏว่าได้ผลดีนะครับ โดยเมื่อผู้ป่วยรู้สึกตัวขึ้นมา
ญาติที่ดูแลก็จะชี้ไปที่พระพุทธรูปให้ผู้ป่วยหันไปมองพระพุทธรูป
แล้วผู้ป่วยก็จะพนมมือขึ้นไหว้พระพุทธรูปทุกครั้ง

๒. ให้เปิดเสียงสวดมนต์ให้ฟัง โดยเปิดคลอไปเบา ๆ
และงดการเปิดเพลง ภาพยนตร์ ละคร หรือโทรทัศน์ทั้งสิ้น
ญาติที่ดูแลผู้ป่วยท่านนี้ได้มีคำถามที่น่าสนใจนะครับ
โดยเธอถามผมว่า ผู้ป่วยท่านนี้หูตึงฟังอะไรไม่ได้ยิน
ในเวลาที่สื่อสารกัน ก็จะต้องใช้วิธีเขียนตัวหนังสือให้อ่าน
ซึ่งช่วงหลัง ๆ นี้ก็ไม่ค่อยอ่านแล้ว สื่อสารไม่ค่อยเข้าใจกันแล้ว
การที่เปิดเสียงสวดมนต์ให้ฟังนี้ จะได้ประโยชน์แก่ผู้ป่วยหรือไม่

ผมตอบว่าได้ประโยชน์แก่ผู้ป่วยเช่นกัน
แม้ว่าผู้ป่วยจะฟังไม่ได้ยินก็ตาม เพราะว่า
(๑) เสียงสวดมนต์นั้นจะเป็นประโยชน์แก่เซลล์ในร่างกาย
โดยหากเราเคยอ่านหรือศึกษางานวิจัยของ Dr. Masaru Emoto
ในเรื่องผลกระทบของเสียงต่อลักษณะผลึกน้ำ
จะพบว่าเสียงสวดมนต์หรือเสียงกล่าวถ้อยคำดี ๆ ต่อน้ำนั้น
จะมีผลทำให้ผลึกน้ำมีลักษณะรูปแบบที่สวยงาม
แต่ในทางกลับกัน หากใช้เสียงเพลงดนตรีรุนแรง
หรือกล่าวคำด่าทอหรือหยาบคายต่อน้ำ
จะมีผลทำให้ผลึกน้ำมีลักษณะที่แตกแยกไม่สวยงาม
เช่นนี้ ในเมื่อร่างกายคนเราประกอบด้วยน้ำถึง ๗๐ เปอร์เซ็นต์
แม้ว่าผู้ป่วยจะไม่ได้ยินเสียงสวดมนต์ที่เราเปิดนั้นก็ตาม
แต่เสียงสวดมนต์ก็สามารถส่งผลต่อน้ำในร่างกายของเราได้

หมายเหตุ - สำหรับท่านผู้อ่านที่สนใจเรื่องงานวิจัยของ Dr. Masaru Emoto
ที่ผมได้กล่าวถึงข้างต้นนี้ สามารถค้นหาได้ทั้งใน google และ youtube
โดยมีทั้งคลิปไฟล์ที่เป็นสารคดี (Documentary) และหนังสือที่วางจำหน่าย
หนังสือที่แปลเป็นภาษาไทยและจำหน่ายในประเทศไทยก็มีเช่นกัน
โดยอาจจะค้นคำว่า “Masaru Emoto” และ “Message from Water”
หรือ “Water Crystal” หรือ “Miracle of Water”

(๒) การที่เราเปิดเสียงสวดมนต์ย่อมส่งผลต่อสภาพแวดล้อมในห้องของผู้ป่วย
ทำให้ห้องมีบรรยากาศที่สงบ
โดยส่งผลให้ญาติที่ดูแลผู้ป่วยมีจิตใจที่สงบด้วย
ซึ่งผู้ป่วยเองก็ย่อมจะรับรู้ถึงบรรยากาศที่สงบในห้องของผู้ป่วยได้
แม้ว่าผู้ป่วยจะหูตึงและไม่ได้ยินเสียงใด ๆ ก็ตาม

(๓) ขอให้ญาติที่ดูแลผู้ป่วยท่านนี้หาข้อสรุปไว้ล่วงหน้าว่า
หากผู้ป่วยท่านนี้เริ่มทานอาหารด้วยการกลืนอาหารเองไม่ได้แล้ว
จะให้ใส่สายอาหารเพื่อให้อาหารทางสายด้วยหรือไม่
ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยากในการพิจารณา
เนื่องจากหากไม่ใส่สายอาหารเพื่อให้อาหารทางสายแล้ว
ก็อาจจะทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตายเนื่องจากขาดอาหาร
แต่หากใส่สายอาหาร (ซึ่งก็ต้องทำให้ผู้ป่วยเจ็บร่างกาย)
ในขณะที่ผู้ป่วยก็ไม่มีทางดีขึ้น และไม่มีแนวโน้มที่จะหายแล้ว
ก็จะกลายเป็นการต่อเวลาให้ผู้ป่วยทรมานร่างกายไปเรื่อย ๆ
โดยที่ไม่เกิดประโยชน์อะไรและก็เกิดค่าใช้จ่ายมากในครอบครัว
ในกรณีนี้ ถ้าผู้ป่วยได้สั่งไว้ล่วงหน้าไว้อย่างไร ก็น่าจะปฏิบัติตามที่ผู้ป่วยต้องการ
แต่หากผู้ป่วยไม่ได้สั่งอะไรไว้ ญาติที่ดูแลก็ย่อมต้องลำบากใจกันล่ะ

หลังจากที่ผมได้แนะนำข้างต้นไปแล้วประมาณหนึ่งเดือนกว่า
อยู่มาคืนวันหนึ่ง ญาติที่ดูแลผู้ป่วยท่านนี้ได้โทรมาหาผม และเล่าว่า
ผู้ป่วยเริ่มทานอาหารไม่ค่อยได้มาวันหนึ่งแล้ว
ญาติที่ดูแลจึงคิดว่าจะพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลในตอนเช้า
ผมตอบว่า ถ้าจะไปใส่สายอาหารเพื่อให้อาหารทางสาย ก็แล้วแต่ญาติที่ดูแล
แต่ถ้าไปตอนกลางคืนอาจจะไม่สะดวก ก็รอตอนเช้าก่อนจะดีกว่า

พอประมาณตี ๕ ญาติที่ดูแลผู้ป่วยท่านนี้ได้โทรมาหาผมอีก และเล่าว่า
อาการของผู้ป่วยดูแล้วหายใจอ่อนและเบามาก
เห็นว่าพาไปโรงพยาบาลลำบาก
จึงคิดว่าจะขอให้คุณหมอที่โรงพยาบาลช่วยมาตรวจที่บ้านก่อน
ผมก็เห็นด้วยว่าไปขอให้คุณหมอที่โรงพยาบาลช่วยมาตรวจที่บ้านก็ดี
พอประมาณ ๗ โมงเช้า ญาติที่ดูแลผู้ป่วยท่านนี้ก็โทรหาผมอีกครั้งหนึ่ง
และให้ผมสนทนากับคุณหมอ โดยคุณหมอให้ความเห็นว่า
ผู้ป่วยน่าจะอยู่ได้อีกไม่นาน อาจจะไม่เกินหนึ่งวันหรือสองวัน

หลังจากนั้น ญาติที่ดูแลผู้ป่วยก็ถามผมว่า ควรจะพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลไหม
ผมแนะนำว่า ถ้าอยู่อีกไม่นานไม่เกินหนึ่งหรือสองวัน
ก็ไม่ควรต้องพาไปโรงพยาบาลแล้ว เพราะถ้าไปโรงพยาบาลแล้ว
ก็จะมีเรื่องวุ่นวายหลายอย่าง โดยแพทย์และพยาบาลก็ต้องทำหน้าที่ของพวกเขา
ก็ต้องมีการวัดโน่นวัดนี่ เสียบสายโน่นสายนี่ เข้ามาตรวจโน่นตรวจนี่
และบรรยากาศในโรงพยาบาลก็สงบน้อยกว่า และสะดวกน้อยกว่าที่บ้าน
โดยมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราไปปรับเปลี่ยนให้เหมือนที่บ้านไม่ได้

ผมจึงแนะนำว่าให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบที่บ้านดีกว่า
แล้วผมก็แนะนำให้ญาติที่ดูแลผู้ป่วยรีบโทรไปแจ้งญาติสนิท
โดยเฉพาะมีญาติท่านหนึ่งอยู่ต่างจังหวัดที่ผู้ป่วยท่านนี้รักมาก
ผมก็แนะนำว่าให้รีบโทรไปแจ้งญาติท่านนั้น เพื่อจะได้เดินทางมาดูใจกันครั้งสุดท้าย
ญาติที่ดูแลผู้ป่วยท่านนี้ จึงแจ้งคุณหมอว่า ไม่พาผู้ป่วยไปโรงพยาบาล
แล้วก็ชำระค่าใช้จ่ายให้ทางเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล
จากนั้นก็รีบโทรแจ้งญาติสนิทที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย

หลังจากนั้น ผมก็โทรไปฝากงานช่วงเช้ากับน้องที่ทำงาน
โดยแจ้งว่าจะขอไปดูแลญาติอาวุโสใกล้ตายท่านหนึ่งก่อน
ซึ่งเมื่อผมไปถึงบ้านของญาติอาวุโสท่านนี้แล้ว
เห็นอาการแล้วก็เหมือนว่า เธอจะตายแล้วแต่ยังฝืนไม่ยอมไป
โดยเธอลืมตาแล้วก็หายใจเป็นจังหวะเฮือก ๆ นะครับ
ผมดูแล้วก็รู้สึกเหมือนกับว่าเธอยังไม่ยอมไป เพราะยังรอใครอยู่

ในลักษณะนี้ ผมได้เคยฟังเรื่องทำนองนี้มาเหมือนกัน
ยกตัวอย่าง เรื่องสุนัขที่ป่วยหนักตัวหนึ่งของญาติธรรมท่านหนึ่ง
ซึ่งป่วยหนักอยู่หลายเดือน โดยไม่ยอมตาย
เพราะว่าระหว่างนั้นญาติธรรมท่านนี้ซึ่งเป็นเจ้าของได้ไปเรียนต่อต่างประเทศ
เมื่อญาติธรรมท่านนี้เรียนจบกลับมาถึงบ้าน และได้พบสุนัขตัวนี้
ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น สุนัขตัวนี้ก็จากไป
หรือมีเรื่องของคุณยายที่ป่วยหนักของญาติธรรมท่านหนึ่ง
ซึ่งคุณยายไม่ยอมจากไป โดยรอพบลูกสาวที่อยู่ต่างจังหวัด
โดยเมื่อลูกสาวมาพบกับคุณยายแล้ว ไม่นานคุณยายก็จากไป เป็นต้น

ด้วยความที่เคยได้ฟังเรื่องทำนองนี้มาอยู่บ้าง
เมื่อเห็นสภาพนี้แล้ว ผมจึงเข้าใจว่าผู้ป่วยท่านนี้ยังรอใครบางคนอยู่
ผมก็ถามญาติที่ดูแลว่าผู้ป่วยลืมตาอย่างนี้ ไม่ยอมนอนหลับเลยหรือ
ญาติที่ดูแลเล่าให้ผมฟังว่า ผู้ป่วยไม่ยอมหลับตา
โดยเธอได้ใช้นิ้วไปทำให้ผู้ป่วยหลับตาแล้ว แต่ผู้ป่วยก็ลืมตาขึ้นมาใหม่
ว่าแล้ว ญาติที่ดูแลก็ทำให้ผมดู โดยเธอเอานิ้วไปทำให้ผู้ป่วยหลับตา
แล้วผู้ป่วยก็ลืมตาขึ้นอีก โดยที่พยายามหายใจเฮือก ๆ เพื่ออยู่ต่อไป
ผมจึงห้ามญาติที่ดูแลว่า ห้ามไปทำให้ผู้ป่วยหลับตาแล้ว
เพราะว่าผู้ป่วยเขารอญาติบางคนอยู่ ไปทำให้เขาหลับตา เขาจะยิ่งเหนื่อย
เดี๋ยวถ้าผู้ป่วยได้พบญาติที่เขาต้องการพบแล้ว
เขาก็จะสบายใจ แล้วผู้ป่วยก็จะหลับตาเอง

จากนั้น ผมก็อยู่ต่อไปในบ้านผู้ป่วยอีกสักพักใหญ่ ๆ เพื่อแนะนำญาติที่ดูแล
ในเรื่องของการแจ้งตาย การขอใบมรณะบัตร การจองวัด การขนศพไปที่วัด เป็นต้น
โดยระหว่างที่ผมอยู่นั้น ก็มีญาติข้างบ้านที่ทราบข่าว แล้วก็เข้ามากราบลาผู้ป่วย
(ซึ่งขณะนั้นผู้ป่วยลืมตาก็จริง แต่คุยไม่รู้เรื่องและฟังไม่ได้ยินแล้วนะครับ)
โดยมีบางท่านมาถึง แล้วก็น้ำตาไหลและร้องไห้สะอึกสะอื้นออกมา
แต่ท่านก็บอกให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสบายใจ โดยไม่ต้องเป็นห่วงอะไร
ผมเองไม่รู้จักว่าใครเป็นใคร ผมจึงแนะนำญาติที่ดูแลว่า
ถ้ามีคนมาเยี่ยมประเภทร้องห่มร้องไห้อย่างนี้ ไม่ดี
ตัวเองบอกว่าผู้ป่วยไม่ต้องเป็นห่วงอะไร แต่ตัวเองกลับร้องไห้เสียเอง
จึงควรให้แขกที่มาเยี่ยมทำใจให้สงบก่อน แล้วค่อยเข้ามาเยี่ยม
ไม่อย่างนั้นแล้ว อาจจะทำให้ญาติที่ดูแลหรือผู้ป่วยจิตตกหรือไม่สบายใจไปด้วย
แล้วถ้าผู้ป่วยไม่สบายใจ ก็อาจจะทำให้ไปสู่ภพภูมิที่ไม่ดี
นอกจากนี้ ผมก็แนะนำว่าให้เปิดเสียงสวดมนต์คลอไปเรื่อย ๆ
หลังจากนั้น ผมก็รีบเดินทางไปทำงานที่ทำงานต่อไป

หลังจากที่ผมเดินทางมาถึงที่ทำงาน และได้ทำงานสักพักหนึ่งแล้ว
ญาติที่ดูแลก็โทรศัพท์มาหาผม และแจ้งข่าวว่าผู้ป่วยได้จากไปแล้ว
กล่าวคือ เมื่อญาติท่านที่ผู้ป่วยท่านนี้รักมากได้เดินทางจากต่างจังหวัดมาถึงแล้ว
และผู้ป่วยได้พบหน้าญาติท่านนี้แล้ว หลังจากนั้นไม่ถึงชั่วโมง
ผู้ป่วยท่านนี้ก็หลับตา แล้วก็จากไปอย่างสงบ

ที่ผมเล่ามาข้างต้นนี้ ก็เห็นว่ามีประเด็นที่น่าสนใจในบางเรื่อง
ได้แก่ เรื่องการเปิดเสียงสวดมนต์แก่ผู้ป่วยหูตึง เรื่องการใส่สายอาหาร
เรื่องการนำผู้ป่วยไปโรงพยาบาลในวาระสุดท้าย
และเรื่องการที่ผู้ป่วยอาจจะรอพบใครก่อนตาย
ซึ่งก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ขอนำมาแชร์ให้ท่านผู้อ่านนะครับ