Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๑๖

เมื่อพ่อแม่ป่วยหนักมาก (ตอนที่ ๒)

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.



dhamajaree-116

ในตอนที่แล้วได้คุยกันอยู่ในส่วนแรก คือการช่วยดูแลรักษาโรคและร่างกายของพ่อแม่ที่ป่วยนะครับ
ซึ่งเมื่อลูก ๆ ได้ทราบว่าพ่อแม่ป่วยหนักเป็นโรครักษายากบางโรคแล้ว (เช่น โรคหัวใจ หรือโรคมะเร็ง เป็นต้น)
สิ่งที่บรรดาลูก ๆ ควรต้องพิจารณาตัดสินใจแต่แรกก่อนเลย ก็คือ
“จะบอกพ่อแม่ตามตรงหรือไม่ว่า ท่านป่วยเป็นเป็นโรคอะไร?
ในประเด็นนี้มีสองแนวทางที่สำคัญที่ขัดแย้งกันอยู่ (ซึ่งต่างก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวเอง)

ในแนวทางแรกเห็นว่า ยังไม่ควรบอกไปตามตรงในทันที เพราะจิตใจคนป่วยอาจจะยอมรับไม่ได้
โดยมีตัวอย่างให้เห็นมามากแล้ว (ซึ่งคนที่ผมรู้จักก็มีให้เห็นเป็นตัวอย่างนะครับ)
ที่พอได้รับทราบว่าตนเองเป็นโรคร้าย และน่าจะมีชีวิตอยู่ต่อได้ประมาณช่วงระยะเวลาหนึ่ง
แต่พอเอาเข้าจริงแล้ว ปรากฏว่าคนป่วยนั้นขวัญเสีย และถึงแก่ความตายไปเสียก่อนระยะเวลานั้นอีก
บางคนพอทราบว่าตนเองเป็นโรคร้ายแล้ว ก็ทุกข์ใจ ไม่เป็นอันกินอันนอน เกิดอุปาทานต่าง ๆ
จิตใจตกต่ำนำพาร่างกายให้ทรุดโทรมเร็วกว่าเดิม จากที่เคยทำโน่นทำนี่ได้ ไปไหนมาไหนได้เอง
ก็รู้สึกอ่อนแรง แล้วก็กลายเป็นทำอะไรไม่ได้ เอาแต่นอนป่วยเฉย ๆ รอวันตาย

ในแนวทางที่สองเห็นว่า ควรจะต้องบอกไปตามตรงทันที
เพื่อให้คนป่วยได้ใช้ช่วงเวลาชีวิตสุดท้ายนี้ ได้ทำในสิ่งสำคัญในชีวิตที่สมควรทำ หรือต้องการจะทำ
หรือเพื่อจะได้ตั้งใจเปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อการรักษาโรคร้ายให้ทุเลาหรือหายขาด
หากคนป่วยไม่ได้รับทราบข้อมูลตามตรงว่าตนเองเป็นโรคร้ายอะไรแล้ว
ก็อาจจะมัวแต่เพลิดเพลินหลงใช้ชีวิตเช่นเดิม โดยไม่ได้ทำสิ่งสำคัญให้เรียบร้อย
และเมื่อถึงเวลาท้ายสุดที่ร่างกายทรุดหนักจริง ๆ แล้ว
คนป่วยก็อาจจะไม่ได้มีโอกาสทำสิ่งสำคัญที่ต้องทำหรืออยากจะทำนั้นอีกแล้ว

ปัญหาที่สำคัญในการที่จะเลือกระหว่างสองแนวทางคือว่า
เราจะให้ความสำคัญกับอะไรในการที่จะมาตัดสินใจเลือกแนวทางไหน
ในเรื่องนี้ ประการแรกที่จะขอแนะนำ ก็คือว่า “อย่าเพิ่งรีบด่วนตัดสินใจเพียงคนเดียวนะครับ”
บรรดาลูก ๆ ควรจะต้องปรึกษาหารือกันก่อน ให้เห็นพ้องสอดคล้องกัน
ไม่เช่นนั้นกลายเป็นว่าลูกคนหนึ่งต้องการบอก ลูกคนอื่นไม่ต้องการบอก
พอลูกคนนั้นบอกไปแล้ว ก็เกิดผลกระทบต่อพ่อแม่ที่ป่วย แล้วลูกก็มาทะเลาะกันเอง
ก็ยิ่งจะทำให้เหตุการณ์เลวร้ายลง
ดังนั้น ลูก ๆ จึงควรที่จะปรึกษากันในครอบครัวเพื่อให้ได้ข้อสรุปร่วมกัน
และเพื่อร่วมมือกันดูแลพ่อแม่ไปในแนวทางเดียวกัน ก็จะเป็นประโยชน์แก่คนป่วยนั้นครับ

ประการที่สองคือ เรื่องหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่าจะเลือกแนวทางไหน ยกตัวอย่างว่า
มีบางท่านที่พิจารณาเลือกแนวทางโดยมุ่งเพียงว่า ต้องการให้พ่อแม่อยู่ต่อไปให้นานที่สุดเท่านั้น
โดยพิจารณาเพียงว่าบอกตามตรงแล้วจะอยู่ได้นาน หรือไม่บอกแล้วจะอยู่ได้นาน ก็เลือกแนวทางนั้น
แต่ก็มีบางท่านที่เห็นว่าพ่อแม่นั้นขวัญอ่อนคงจะรับความจริงไม่ได้ ก็เลือกไม่บอกตามตรงไว้ก่อน
มีบางท่านที่กังวลเพียงว่าไม่อยากปิดบังพ่อแม่ หรือเกรงว่าจะเป็นการโกหกพ่อแม่ ก็เลือกบอกตามตรงไว้ก่อน
มีบางท่านที่กังวลว่าพ่อแม่จะไม่มีโอกาสสุดท้ายในชีวิตที่จะได้ทำสิ่งสำคัญ ก็เลือกบอกตามตรงไว้ก่อน
มีบางท่านที่กังวลว่าค่ารักษาพยาบาลโรคดังกล่าวแพงมาก ก็เลือกไม่บอกตามตรงไว้ก่อน
และก็มีอื่น ๆ อีกหลายเหตุผลที่จะตัดสินใจบอกหรือไม่บอกตามตรงนะครับ

แต่ส่วนตัวผมแล้วจะขอแนะนำหลักเกณฑ์ในการพิจารณาที่สำคัญนะครับว่า
“คนเรานั้นจะอยู่นาน หรืออยู่ไม่นานนั้นไม่ได้สำคัญเท่าไร แต่สำคัญว่าอยู่แล้วทำอะไรมากกว่า”
สมมุติว่าคนป่วยมีชีวิตอยู่ต่อได้อีกนาน แต่อยู่แบบสร้างบาปอกุศลเพิ่มขึ้นอีกมากมาย
โดยไม่ได้มีโอกาสสร้างบุญกุศลเพิ่มเติมเท่าไรเลย เช่นนั้น ยิ่งอยู่นาน ยิ่งขาดทุนมากครับ
หากคนป่วยมีชีวิตอยู่ต่อได้ไม่นานก็ตาม แต่ได้มีโอกาสสร้างกุศลเพิ่มขึ้นมากมาย
นั่นก็ถือว่าเป็นการได้กำไร และยิ่งอยู่นาน ก็ยิ่งกำไรมาก
ดังนั้นแล้ว เราไม่ควรที่จะพิจารณาเพียงว่าให้พ่อแม่อยู่นาน ๆ ไว้ก่อนเท่านั้น
(เพราะคนเราก็ต้องตายกันทุกคน เพียงแต่ว่าจะตายช้าหรือตายเร็วเท่านั้น)
แต่เราควรจะพิจารณาว่าบอกหรือไม่บอกตามตรงแล้ว จะทำให้พ่อแม่ได้มีโอกาสสร้างกุศลมากกว่า
โดยให้พิจารณาว่า ในช่วงเวลาก่อนที่ลูก ๆ จะรู้ว่าพ่อแม่ป่วยหนักนี้
พ่อแม่ที่ป่วยได้มีวิถีการดำรงชีวิตอย่างไร
หากปกติแล้วท่านได้ทำบุญกุศลอยู่เนือง ๆ ได้ทำทาน รักษาศีล และภาวนาเป็นประจำดีอยู่แล้ว
การจะไม่บอกไปตามตรง โดยมุ่งหวังว่าจะทำให้ท่านได้มีชีวิตอยู่นาน ๆ
เพื่อจะได้สร้างบุญกุศลที่ได้ทำอยู่นี้ต่อไปเรื่อย ๆ ก็ย่อมจะเป็นทางเลือกที่ดี
แต่หากปกติแล้ว ท่านไม่ได้ทำบุญกุศลอยู่เท่าไรเลย โดยก็อาจจะสร้างบาปอกุศลให้ตนเองอยู่เนือง ๆ
เช่น ดื่มสุรา เล่นการพนัน (รวมถึงซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือซื้อหวยบนดินหรือใต้ดินด้วย)
ฆ่าสัตว์เล็กสัตว์น้อย (เช่น ตียุง ตบแมงมุม เหยียบแมลงสาบ ฆ่าแมลงวัน เป็นต้น)
ดูโทรทัศน์เชียร์เรื่องการเมือง หรือเชียร์ละคร จนจิตใจมีโทสะ โลภะหรือโมหะมากมาย ฯลฯ
เช่นนี้แล้ว ก็ควรจะเลือกบอกตามจริงกับท่านไป เพื่อให้ท่านได้ทราบว่าโอกาสมีเหลือน้อยมากแล้ว
และท่านอาจจะได้กลับใจมาใช้โอกาสในช่วงสุดท้ายนี้มาสร้างบุญกุศลแก่ตนเองมากยิ่งขึ้น

สรุปก็คือให้พิจารณาว่าบอกไปตามตรง หรือไม่บอกไปตามตรงแล้ว
พ่อแม่ที่ป่วยท่านจะได้มีโอกาสสร้างบุญกุศลมากกว่า
แต่ในการนี้ บรรดาลูกก็ย่อมจะมีส่วนสำคัญด้วยนะครับ
ที่จะต้องช่วยสนับสนุนให้พ่อแม่ได้สร้างบุญกุศลในช่วงโอกาสสุดท้ายนี้

(อนึ่ง ในกรณีนี้อาจจะมีข้อกังวลว่าหากตัดสินใจเลือกไม่บอกไปตามตรงแล้ว
น่าจะถือเป็นการโกหกพ่อแม่ และเป็นบาปอกุศลหรือไม่ คงต้องอธิบายยาว ขอติดไว้ก่อนนะครับ)

ประเด็นต่อมาก็คือว่า เราจะเลือกแนวทางใดในการรักษา
ปัญหาใหญ่ ๆ ที่ได้เคยพบเห็นว่าควรจะพิจารณากัน ก็น่าจะมีอยู่สามเรื่องคือ
หนึ่ง จะเลือกแนวทางแพทย์แผนปัจจุบัน หรือแพทย์แผนโบราณ หรือสองแนวทางประกอบกัน
สอง จะเลือกแนวทางการรักษาที่ต้องเจ็บตัวด้วยไหม (เช่น ผ่าตัดใหญ่ เป็นต้น)
สาม จะเลือกลงทุนแนวทางการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูงด้วยหรือไม่

ในข้อที่ว่าจะเลือกแนวทางแพทย์แผนปัจจุบัน หรือแพทย์แผนโบราณ หรือทั้งสองแนวทางนั้น
ที่ผ่านมาก็มีปรากฏว่ารักษาแล้วหาย หรือทุเลา และก็รักษาแล้วตาย หรืออาการหนักขึ้น
ก็มีอยู่ทั้งสองแนวทาง รวมทั้งที่รักษาทั้งสองแนวทางประกอบกันนั้นก็เช่นกัน
จึงย่อมที่จะขึ้นกับประเภทโรค ความเหมาะสม ความเชื่อ จริต ความชอบ ข้อมูลที่ได้รับ
และปัจจัยอื่น ๆ ของแต่ละท่านที่แตกต่างกันไป
ในส่วนนี้แนะนำเพียงว่าให้ศึกษาหาข้อมูลให้มากและกว้างเพียงพอก่อนที่จะตัดสินใจเลือก
อย่าเพิ่งรีบด่วนตัดสินใจเชื่อข้อมูลจากแหล่งใดแหล่งหนึ่งในทันที
เพราะอาจจะมีหนทางการรักษา หรือวิธีการอื่น ๆ ที่เหมาะสมกว่าก็ได้
ไม่กี่วันมานี้ ก็ได้มีญาติธรรมเล่าให้ฟังว่า มีคนหนึ่งป่วยเป็นมะเร็งโรคผิวหนัง
และแพทย์วินิจฉัยว่าจะอยู่ต่อได้อีกประมาณหนึ่งปี
แต่ปรากฏว่าแม่ของคนป่วยได้ปรับเปลี่ยนอาหารของคนป่วยให้เหมาะสม
และปรับเปลี่ยนเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตของคนป่วย ก็ปรากฏว่าคนป่วยนั้นหายจากโรคได้เลยทีเดียว
(ซึ่งกรณีนี้ หากรักษากับแพทย์ดังกล่าวต่อไป ก็อาจจะอยู่ได้ประมาณหนึ่งปีแค่นั้น)
หรือก็เคยได้ยินหรือพบเห็นมาอยู่บางกรณีที่ว่าคนป่วยได้อาศัยการภาวนา ได้รักษาโดยธรรมโอสถ
ช่วยให้จิตใจสบาย ไม่เครียด ร่างกายก็ดีตาม ที่ว่าจะตายภายในเวลาเท่านั้นเท่านี้ ก็กลับไม่ตาย
และมีชีวิตอยู่ได้ยืนยาวขึ้น บางกรณีก็ถึงกับหายจากโรคร้ายด้วยซ้ำ
ดังนั้น ก็ควรศึกษาข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่งให้เพียงพอก่อนแล้วจึงตัดสินใจครับ

ในข้อที่ว่าจะเลือกแนวทางการรักษาที่ต้องเจ็บตัวด้วยไหม (เช่นผ่าตัดใหญ่ เป็นต้น)
ก็ควรจะต้องพิจารณาถึงอายุของคนป่วยด้วยนะครับ
บางทีพ่อแม่เราอายุเจ็ดสิบกว่าแล้ว หรือแปดสิบกว่าแล้ว
เราจะตัดสินใจให้ช่วงเวลาสุดท้ายก่อนที่ท่านจะจากไปนั้น จะต้องมาเจ็บตัวหนัก ๆ อีกหรือ
ซึ่งก็มีทางเลือกอยู่นะครับว่า ลูก ๆ อาจจะขอให้แพทย์รักษาตามสภาพไปก็ได้
โดยที่ไม่ต้องไปทำการผ่าตัดใหญ่เพื่อให้เจ็บตัว (หรือไปทำคีโมให้มีผลกระทบมาก ๆ กับร่างกาย)
เคยมีญาติธรรมมาสนทนากับผมในงานศพงานหนึ่งว่า
หากย้อนเวลากลับไปได้จะไม่ทำการรักษาโรคมะเร็งคุณพ่อที่ป่วยโดยการทำคีโม และผ่าตัด
แต่จะเลือกทำการรักษาไปตามสภาพ โดยพยายามไม่ทำให้ท่านเจ็บตัว
เพราะว่าทุกคนในครอบครัวได้เห็นความแตกต่างด้วยตนเองว่า จากเดิมที่คุณพ่ออยู่อย่างสบายกาย
แต่พอรักษาแล้ว ท่านก็เจ็บปวดมากเป็นเวลานาน แล้วก็ไม่หายเสียด้วย
และก็กลายเป็นว่าช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตของท่านนั้น อยู่ในช่วงที่ต้องเจ็บร่างกายตลอดจนกระทั่งเสียชีวิต

บางคนบอกว่าไม่รักษาแบบขนานใหญ่อย่างนี้ ก็ไม่มีทางหายขาดนะ ก็เท่ากับว่าตายอย่างเดียว
ก็ขอเรียนในมุมมองอื่นว่า “จะมีวิธีการรักษาไหนหรือที่จะทำให้คนเราไม่ตาย
?
เพราะท้ายสุดแล้ว ขนาดแพทย์ที่รักษาก็ต้องตาย หรืออาจารย์แพทย์ของแพทย์ก็ยังต้องตาย
สรุปคือทุกคนก็ต้องตายด้วยกันทุกคนเมื่อถึงเวลาของตน
แต่ปัญหาก็คือจะให้อยู่ในช่วงเวลาสุดท้ายนี้อย่างไร
ยกตัวอย่างว่า คุณพ่อของผมเองป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย
และก็อยู่ต่อมาได้อีกประมาณห้าเดือน (หลังจากที่ทราบ) เท่านั้นเอง
ในงานศพคุณพ่อผมนั้น ญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่งบอกผมว่า
“ดีจังเลยนะที่คุณพ่อเธอเสียชีวิตเร็ว” แล้วท่านก็อธิบายต่อว่า
เพราะว่ามีญาติอีกคนหนึ่งป่วยเป็นมะเร็งแล้ว
อยู่ต่ออย่างเจ็บปวดและทรมานกาย อยู่ตั้งสองสามปี จึงจะตาย
ที่เล่ามานี้เป็นเพียงตัวอย่างนะครับ ซึ่งแต่ละท่านก็ย่อมจะพบตัวอย่างอื่นอีก
โดยก็คงต้องตัดสินใจเลือกนะครับว่าจะเลือกแนวทางไหน

ทีนี้บางที ไม่ใช่ตัวเราเองที่เจ็บ เราก็พูดได้นะครับว่า “พ่อแม่ต้องสู้นะ ต้องอยู่นาน ๆ นะ”
เสมือนคนเชียร์มวยอยู่ข้างเวทีที่คอยตะโกนให้นักมวยเข้าไปต่อยแลกหมัดกับฝ่ายตรงข้ามนะครับ
คนเชียร์ก็ตะโกนอะไรก็ได้ เพราะไม่ได้เข้าไปต่อยเอง ไม่ได้เข้าไปเจ็บปวดเองนี่นะ
แต่สำหรับนักมวยที่ต่อยบนเวทีนั้น บางคนก็คงจะเจ็บมาก และก็คิดว่าเมื่อไรระฆังจะตีหมดยกเสียที
คนป่วยระยะสุดท้ายที่นอนเจ็บปวดอยู่บนเตียง ก็มีคิดนะครับว่า เมื่อไรจะตายเสียทีให้พ้น ๆ จากเจ็บนี้
บางที ลูก ๆ จึงควรต้องถามพ่อแม่ที่ป่วยด้วยนะครับว่าท่านจะยอมเจ็บมากไหม
ท่านอยากจะอยู่นาน ๆ แบบเจ็บปวดร่างกายไหม หรืออยู่ไม่นานแต่เจ็บตัวน้อยจะดีกว่า

ในข้อที่ว่าจะเลือกลงทุนแนวทางการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูงด้วยหรือไม่
ควรพิจารณาครับว่าการลงทุนรักษาบางอย่างที่มีค่าใช้จ่ายสูงมากนั้นเป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่
หากค่าผ่าตัดใหญ่บางอย่างมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ๆ แล้ว
แนะนำให้พิจารณาว่า หากนำเงินจำนวนนั้นไปให้พ่อแม่ที่ป่วยได้ใช้ทำสิ่งสำคัญในชีวิตที่ยังไม่ได้ทำ
หรือไปใช้เพื่อทำสิ่งที่ต้องการทำครั้งสุดท้ายในชีวิตของท่าน จะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าไหม
จะดีกว่าจะใช้เงินจำนวนมากให้หมดไปกับการรักษา แต่พ่อแม่ไม่ได้ทำสิ่งสำคัญในชีวิต
หรือไม่ได้ทำในสิ่งที่ต้องการทำครั้งสุดท้ายในชีวิตของท่านหรือเปล่า

บางทีลูกหลานบางคนก็ “ถือเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง” ว่าต้องรักษาพ่อแม่เท่านั้น
จึงจะเรียกว่า “ลูกกตัญญู” ไม่เช่นนั้น เกรงว่าจะอธิบายกับคนรู้จัก ญาติมิตรอื่น ๆ ไม่ได้
กลัวคนอื่นจะหาว่าไม่รักษาพ่อแม่ โดยก็มัวแต่สนใจว่า คนอื่น ๆ ภายนอกนั้น จะมองตนเองอย่างไร
แต่ไม่เคย “ถือเอาพ่อแม่ที่ป่วยเป็นที่ตั้ง” ว่าท่านต้องการอะไรในชีวิต
เคยมีญาติธรรมท่านหนึ่งที่พ่ออายุมากแล้วและป่วยเป็นโรคหัวใจ โดยแพทย์แนะนำให้ทำการผ่าตัดใหญ่
ญาติธรรมท่านนั้นได้ถามผมว่า ควรจะผ่าตัดคุณพ่อดีไหม
ผมถามกลับไปว่า พ่ออายุมากแล้ว นำไปผ่าตัดใหญ่เจ็บตัว เพื่อให้อยู่นาน ๆ
ถามว่า จะให้พ่ออยู่นาน ๆ เพื่อทำอะไรบ้าง
ญาติธรรมท่านนั้นตอบผมว่าไม่ทราบเหมือนกันว่าจะให้คุณพ่ออยู่ทำอะไร
ผมถามต่อไปว่า ลองเอาเงินที่จะใช้เพื่อการผ่าตัดนั้น พาพ่อไปเที่ยวและไปทำบุญสร้างกุศลดีกว่าไหม
โดยก็แนะนำให้ญาติธรรมท่านนั้นกลับไปถามคุณพ่อในคำถามดังกล่าวเหล่านั้น
ปรากฏว่า คุณพ่อตอบว่า ไม่รู้จะอยู่นาน ๆ ต่อไปทำอะไรเหมือนกัน เพราะได้ทำมาหมดแล้ว
และหากเลือกได้ ก็อยากจะนำเงินไปใช้เที่ยวที่อื่น และทำบุญสร้างกุศลดีกว่า
ญาติธรรมท่านนั้นจึงได้ให้คุณพ่อได้ใช้เวลาช่วงสุดท้ายอยู่บ้านฟังธรรมะ สวดมนต์
และก็พาไปเที่ยวข้างนอก และทำบุญกุศลมากขึ้น โดยไม่ต้องไปเจ็บตัวผ่าตัดใหญ่นั้น
ซึ่งในระยะเวลาปีกว่า ๆ หลังจากนั้น คุณพ่อญาติธรรมท่านนั้นก็ถึงแก่กรรม โดยจากไปอย่างสงบ

(ยังไม่จบส่วนแรกเลยครับ ... ไว้คุยกันต่อในตอนหน้านะครับ)