Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๑๕

เมื่อพ่อแม่ป่วยหนักมาก (ตอนที่ ๑)

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.



dharmajaree-115

มนุษย์เราเมื่อเกิดมาแล้ว เรื่องแก่ เจ็บ และตายเป็นเรื่องที่หนีไม่พ้นนะครับ
หากจะไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บ และไม่ให้ตายแล้ว ก็ต้องไปแก้ไขที่ต้นเหตุว่าไม่เกิดมาแต่แรกเลย
เรื่องคุณพ่อคุณแม่เจ็บไข้ ป่วยหนัก หรือถึงแก่กรรมนี้ ก็เป็นเรื่องที่หนีไม่พ้นเช่นกัน
ในเวลาที่พ่อแม่ป่วยหนักมากแล้ว ก่อนอื่นเลย เราควรที่จะทำใจยอมรับความจริงว่า
ทุกคนที่เกิดมาล้วนแต่ต้องตายทั้งนั้น พ่อแม่เราก็เช่นกัน ท่านก็ย่อมจะต้องตายในวันใดวันหนึ่ง
เมื่อพ่อแม่ป่วยหนักแล้ว ท่านอาจจะไม่ตายก็ได้ หรือท่านอาจจะตายก็ได้ (ตามแต่เหตุและปัจจัย)
เราจึงควรเผื่อใจไว้บ้าง โดยมองอย่างเป็นกลาง ๆ โดยไม่มองแต่เพียงด้านดีด้วยความหวังเท่านั้น
กล่าวคือ ไม่ควรจะคิดแต่เพียงว่าท่านจะต้องหาย หรือท่านจะต้องรอดเท่านั้น
แต่เราควรจะคิดเผื่อ และตระเตรียมไว้สำหรับในกรณีที่รักษาท่านไม่หายและท่านตายไว้ด้วย

บางท่านอาจจะมองว่า หากไปคิดแบบนั้นแล้ว ย่อมเท่ากับว่าแช่งพ่อแม่ให้ตายซึ่งน่าจะเป็นอกุศล
หรือการจะไปตระเตรียมอะไรเผื่อกรณีตายแล้ว จะทำให้บั่นทอนกำลังใจของพ่อแม่ในการรักษาให้หาย
จึงคิดเพียงว่า ควรจะมุ่งรักษาให้หายทางเดียวเท่านั้น
คิดแบบนั้นก็ดูเหมือนจะดีนะครับ ...
แต่จริง ๆ แล้ว ก็เท่ากับว่าไม่ได้ตระเตรียมกรณีที่รักษาไม่หาย และก็ตายเผื่อเอาไว้ด้วยเลย
ทำให้บรรดาลูกไม่ได้ตระเตรียมอะไรที่จะช่วยเหลือพ่อแม่ในวาระสุดท้ายได้อย่างเหมาะสม
และพ่อแม่เองก็อาจจะไม่ได้สั่งเสียสิ่งสำคัญ หรือสิ่งค้างคาใจให้กับลูกหลานไว้ก่อนถึงแก่กรรม
บรรดาลูกเองก็อาจจะทะเลาะกันในภายหลังด้วยความที่พ่อแม่ไม่ได้สั่งเสียเรื่องใด ๆ ไว้ชัดเจน
เช่นว่า จะจัดงานศพอย่างไร จะจัดการศพอย่างไร จะจัดการทรัพย์มรดกอย่างไร เป็นต้น

ดังนั้นแล้ว เมื่อเราได้ประสบเหตุการณ์พ่อแม่ป่วยหนักมากแล้ว พึงทราบนะครับว่า
เราต้องตัดสินใจเลือกแล้วล่ะว่า จะตระเตรียมเผื่อกรณีพ่อแม่รักษาไม่หายและเผื่อตายไว้ด้วยไหม
ขอแนะนำนะครับว่า “อย่าประมาท”
ฆราวาสธรรมดาอย่างเรา ๆ ที่ยังไม่ได้บรรลุธรรมอะไร ก็ยังต้องวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏนี้กันต่อไป
เราจึงควรถามตัวเองว่า พ่อแม่เราได้เตรียมเสบียงไว้เดินทางไกลไปต่ออย่างเพียบพร้อมแล้วหรือ
ท่านตายแล้ว ท่านจะได้ไปภพภูมิที่ดีหรือเปล่า
เราเป็นลูกหรือหลานก็ตาม เราได้มีส่วนช่วยสร้างเหตุและปัจจัยให้ท่านได้ไปภพภูมิที่ดีหรือไม่
เราเองมีเรื่องสงสัยค้างคาใจที่ต้องการสอบถามพ่อแม่หรือเปล่า
เรามีเรื่องผิดใด ๆ คงค้างในใจที่ต้องการสารภาพกับพ่อแม่หรือไม่
เราคิดว่าพ่อแม่เรามีเรื่องใด ๆ ที่ยังต้องการสั่งเสียกับเราไหม ฯลฯ
คำถามทั้งหลายเหล่านี้จะไม่ได้รับการจัดการดูแลอย่างเหมาะสมและเรียบร้อย
หากเรายังมัวแต่จะมองเหตุการณ์ในแง่ดีว่า พ่อแม่เราจะต้องรักษาหายเท่านั้น

หากเราจะทำใจยอมรับไม่ได้ ผมก็แนะนำให้ถามแพทย์และพยาบาลที่โรงพยาบาลก็ได้นะครับ
ว่าคนป่วยหนักที่เข้าโรงพยาบาลนั้น รักษาหายทุกคนหรือ หายเท่าไร ตายเท่าไร
ในแต่ละวัน สัปดาห์ เดือน และปีนั้น มีผู้ป่วยที่ถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลนั้นเท่าไร
ทำไมเราจึงมั่นใจเสียเหลือเกินว่า พ่อแม่เราจะต้องรอด จะต้องหาย และจะต้องไม่ตาย
ในขณะที่หากเรามั่นใจไร้สติเช่นนั้นแล้ว
เราได้ตัดโอกาสช่วงเวลาสุดท้ายที่จะได้ทำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับพ่อแม่ของเรา
เราได้ละโอกาสช่วงเวลาสุดท้ายที่จะได้สื่อสารสิ่งค้างคาในส่วนลึกในใจเรากับพ่อแม่
พ่อแม่ก็เสียโอกาสที่จะได้สั่งสอนครั้งสุดท้าย หรือสั่งเสียสิ่งสำคัญในใจท่านกับเรา
และเราก็จะพลาดโอกาสที่จะช่วยสร้างเหตุและปัจจัยในการช่วยส่งให้ท่านไปสู่ภพภูมิที่ดีด้วย

การสร้างเหตุและปัจจัยในการช่วยส่งให้ท่านไปสู่ภพภูมิที่ดีนั้นเป็นอย่างไร?
ในที่นี้ก็จำเป็นต้องอธิบายคำว่า “จุติจิต” และ “ปฏิสนธิจิต” นะครับ
คำว่า “จุติ” แปลว่า เคลื่อน (จากภพหนึ่งไปสู่ภพอื่น) หรือแปลว่า “ตาย” นะครับ
(แต่ในภาษาไทยแล้ว บางท่านใช้กันจนเข้าใจสับสนว่าหมายถึง “เกิด” ก็มี)
“จุติจิต” จึงหมายถึง จิตดวงสุดท้ายของภพนั้น ๆ
ส่วน “ปฏิสนธิจิต” หมายถึง จิตที่เกิดเป็นดวงแรกในภพใหม่
ในชีวิตมนุษย์ธรรมดาสามัญที่ยังไม่บรรลุพระอรหันต์นี้
จุติจิตเป็นจิตดวงสุดท้ายแห่งภพชีวิตมนุษย์อันจะน้อมนำไปสู่ปฏิสนธิจิตในภพอื่น ๆ ต่อไป
อธิบายได้ว่า คนเราก่อนตายนั้น หากจุติจิตเป็นบุญกุศล ก็จะทำให้ได้ไปเกิดในภพภูมิที่ดี
เช่น ไปเป็นเทวดาบนสวรรค์ชั้นต่าง ๆ เป็นต้น
แต่หากจุติจิตเป็นอกุศล ก็จะทำให้ได้ไปเกิดในภพภูมิที่ไม่ดี เช่น ภพอบายภูมิต่าง ๆ
ยกตัวอย่างว่า ก่อนตายนั้นหากคนตายได้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระธรรม
ระลึกถึงพระสงฆ์ หรือได้ระลึกถึงทานที่ได้ทำไว้ดีแล้ว ก็ย่อมจะพาให้ไปสู่ภพภูมิที่ดี
แต่หากก่อนตายนั้น คนตายได้ระลึกถึงบาปอกุศลที่ตนเองได้เคยทำไว้
ก็ย่อมจะนำพาให้ไปสู่ภพภูมิที่ไม่ดี เช่น นรกภูมิ หรือเปรตภูมิ เป็นต้น

เพราะฉะนั้นแล้ว งานหลักงานหนึ่งของเราในฐานะลูกในช่วงโอกาสสุดท้ายนี้ก็คือ
พยายามช่วยสร้างเหตุและปัจจัยต่าง ๆ ให้พ่อแม่เพื่อให้ท่านได้มีจุติจิตที่เป็นกุศล
อันจะนำพาท่านไปสู่ภพภูมิที่ดีได้ ก็เสมือนกับว่าเรากำลังช่วยส่งพ่อแม่เราขึ้นรถ บขส ครั้งสุดท้าย
หากเราช่วยส่งท่านขึ้นรถไปถูกสาย ท่านก็ไปสวรรค์ หรือไปภพภูมิที่ดี
หากเราไม่ได้ช่วยท่านเลย ท่านก็อาจจะขึ้นรถไปเองถูกหรือผิดก็ได้
หากเราช่วยส่งท่านขึ้นรถผิด หรือท่านขึ้นรถผิดเองก็ตาม ท่านก็จะไปสู่ภพภูมิที่ไม่ดี เช่น นรกภูมิ เป็นต้น
ในรายละเอียดนั้น จะค่อย ๆ เล่าไปเรื่อย ๆ นะครับ

ในชั้นนี้ ขอย้อนกลับมาที่เรื่องการทำใจยอมรับความจริง และยอมรับทางเลือกเผื่อตายนะครับ
ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ เลยสำหรับบรรดาลูก ๆ ที่จะดูแลพ่อแม่ในช่วงป่วยหนักมากนี้
การดูแลพ่อแม่ในช่วงที่ป่วยหนักนี้ ผมจะขอแบ่งเนื้อหาออกเป็น ๓ ส่วนใหญ่ ๆ นะครับคือ
ส่วนแรก เรื่องการช่วยดูแลรักษาโรคและร่างกายของท่าน
ส่วนที่สอง เรื่องการดูแลภาวะจิตใจของท่านให้สบายใจ
ส่วนที่สาม เรื่องการช่วยสร้างเหตุและปัจจัยเพื่อส่งให้ท่านไปสู่ภพภูมิที่ดี

เริ่มที่ส่วนแรกในเรื่องการช่วยดูแลรักษาโรคและร่างกายของท่าน
เราเองที่เป็นลูกนั้น อย่าเพิ่งคิดสบาย ๆ ว่าจะโยนทุกอย่างไปให้แพทย์ตัดสินใจนะครับ
เพราะว่าการช่วยดูแลรักษาโรคและร่างกายนั้น บางทีก็จะส่งผลกระทบไปในเรื่องอื่น ๆ ด้วย
ยกตัวอย่างว่า การรักษาโรคบางวิธีการนั้นมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ทำให้ลูกหลานต้องเดือดร้อน
หรือเป็นการกระทบต่อทรัพย์สินที่พ่อแม่หามาอย่างยากลำบาก และหากท้ายที่สุดแล้ว
ท่านก็ไม่หาย และก็ถึงแก่กรรมอยู่ดี แต่ทรัพย์สินที่ท่านตั้งใจเก็บไว้ให้ลูกหลานนั้น
กลับสูญสิ้นหมดเพราะการรักษาโรค ทำให้ท่านไม่สบายใจ หรือเป็นทุกข์ใจ
ก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อเรื่องการดูแลภาวะจิตใจของท่านให้สบายใจนะครับ
(เป็นประเด็นในส่วนที่สองที่จะได้กล่าวต่อไป)

การรักษาโรคบางวิธีการนั้น อาจจะทำให้ร่างกายมีความเจ็บปวดมาก
ทำให้ช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตพ่อแม่เราเผชิญแต่ความเจ็บปวดทางร่างกาย
ทำให้เป็นการยากที่จะดำรงจิตใจให้สงบและระลึกในเรื่องกุศล
ซึ่งก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อเรื่องการช่วยสร้างเหตุและปัจจัยเพื่อส่งให้ท่านไปสู่ภพภูมิที่ดีครับ
(เป็นประเด็นในส่วนที่สามที่จะได้กล่าวต่อไป)

พึงทราบว่าบรรดาลูกในฐานะญาติสนิทนั้น ย่อมมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจในทางเลือกรักษาผู้ป่วย
โดยบรรดาลูกย่อมสามารถจะแจ้งต่อแพทย์ได้ว่าประสงค์จะให้ทำการรักษาไปในแนวทางใด
เช่น จะให้ทำการผ่าตัดหรือไม่ จะให้ทำคีโม และฉายรังสีหรือไม่ เป็นต้น
แพทย์เองย่อมจะไม่ทำการรักษาผู้ป่วยไปโดยพลการโดยไม่ได้สอบถามคนป่วยก่อน
หรือสอบถามญาติสนิทคนป่วยก่อน (เว้นแต่กรณีฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุที่ไม่สามารถติดต่อได้)
การที่บรรดาลูกจะตัดสินใจใด ๆ ในการรักษาโรคและร่างกายของพ่อแม่จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

ในการนี้ ขอให้เราได้วางวัตถุประสงค์เป้าหมายไว้สองประการ คือ
ประการแรก พยายามรักษาโรคให้หาย หรือให้ทุเลาลง
ประการที่สอง หากไม่สามารถรักษาให้หาย หรือให้ทุเลาแล้ว ก็พยายามให้ท่านมีชีวิตช่วงสุดท้าย
ที่สบายทางกาย โดยไม่มีความเจ็บปวดทางกาย หรือให้เจ็บปวดทางกายน้อยที่สุด
เพราะเมื่อเจ็บปวดทางกายน้อยมากแล้ว
โอกาสที่เราจะช่วยสร้างเหตุและปัจจัยให้ท่านสบายใจ
และได้มีจุติจิตที่เป็นกุศล และได้ไปสู่ภพภูมิที่ดีนั้น ก็จะมีมากขึ้น

เมื่อประมาณสองปีก่อน คุณพ่อผมป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายพักอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง
โดยเป็นมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ และก็ลามไปที่ตับหมดแล้ว (ซึ่งท่านได้ถึงแก่กรรมไปแล้วนะครับ)
มีอยู่วันหนึ่งที่คุณพ่อมีอาการปวดทางร่างกายและต้องการทานยาระงับปวดชนิดหนึ่งเพื่อระงับปวด
แต่พยาบาลของโรงพยาบาลไม่ให้ยาแก้ปวดดังกล่าวแก่ท่าน โดยเหตุที่เกรงว่าจะส่งผลไม่ดีต่อตับ
ผมได้ไปชี้แจงกับพยาบาลว่า ในเมื่อมะเร็งลามไปทั่วตับแล้ว และก็รักษาไม่หายแล้ว
พยาบาลก็ไม่ควรจะต้องมากังวลกับเรื่องเล็กน้อยที่ว่ายาแก้ปวดจะไปส่งผลไม่ดีต่อตับแล้ว
สิ่งที่สำคัญขณะนั้นก็คือ การทำให้คนไข้ไม่เจ็บปวดทางกายมากกว่า จะได้สบายใจและนอนหลับได้
(เพราะยังไงก็ไม่หายและก็จะต้องตายอยู่แล้ว ทำไมจะต้องให้อยู่อย่างเจ็บปวดในช่วงท้าย ๆ ด้วย)
ผมชี้แจงดังนี้แล้ว พยาบาลก็โทรศัพท์ไปสอบถามแพทย์เจ้าของคนป่วย
ซึ่งแพทย์ท่านได้ตอบพยาบาลว่า ไม่มีอะไรจะเลวร้ายไปกว่ามะเร็งที่กำลังทำลายตับคนไข้แล้ว
ดังนั้นแล้ว หากคนไข้ได้ทานยาแก้ปวดแล้วสบายใจ หายเจ็บปวด และนอนหลับได้
ก็ควรจะให้ยาแก้ปวดแก่คนไข้ได้ โดยไม่ต้องไปคิดเรื่องกระทบตับอะไรแล้วล่ะ
พยาบาลจึงนำยาแก้ปวดให้คุณพ่อผม แล้วก็ทำให้ท่านลดการปวดลง และนอนหลับได้นะครับ
ที่เล่ามานี้ ก็เพื่อจะให้เห็นว่า การตัดสินใจทางเลือกการรักษาของบรรดาลูกที่ดูแลพ่อแม่อยู่นั้น
มีส่วนสำคัญอย่างมากในการดูแลรักษาท่านในช่วงสุดท้ายนี้ครับ

(มีรายละเอียดอื่น ๆ ที่ควรต้องคุยกันอีกมาก แต่ขอยกไปตอนหน้านะครับ)