Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๑๗

เมื่อพ่อแม่ป่วยหนักมาก (ตอนที่ ๓)

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.



(ต่อจากตอนที่แล้ว...)

ในระหว่างที่พ่อแม่เราป่วยหนักอยู่นั้น ท่านอาจจะสื่อสารกับเราไม่สะดวกง่ายดายเหมือนปกติ
โดยอาจจะเป็นเพราะอาการป่วย หรือวิธีการรักษาทำให้ท่านพูดจาไม่สะดวก
หรือกระทั่งพูดจาไม่ได้ และไม่สะดวกที่จะสื่อสารในทางอื่น ๆ ด้วย เช่น มือและแขนขยับไม่สะดวก
สำหรับบางคนนั้น แม้เดิมไม่ป่วยแต่ด้วยความชราก็อาจจะพูดจาสื่อสารไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าที่ควรอยู่แล้ว
พอยิ่งเจ็บป่วยอีกด้วยก็ยิ่งทำให้สื่อสารกันยากยิ่งขึ้นไปอีก
บางที อาการเจ็บปวดทำให้คนป่วยใจร้อนขึ้น และต้องการให้ได้อะไรต่าง ๆ รวดเร็วดังใจ
การสื่อสารใด ๆ ระหว่างคนที่ดูแลกับคนป่วยจึงอาจจะไม่สะดวกง่ายดายเหมือนปกติแต่เดิม
บรรดาลูกที่ดูแลพ่อแม่ที่ป่วยจึงต้องพยายามเรียนรู้การสื่อสารของพ่อแม่ที่ป่วยนั้น
ความตั้งใจที่จะเรียนรู้และตั้งใจที่จะสื่อสารของบรรดาลูกที่ดูแลพ่อแม่ที่ป่วยอยู่ย่อมเป็นสิ่งสำคัญ
ที่จะช่วยเหลือแก้ไขปัญหาและตอบสนองความต้องการของพ่อแม่ที่ป่วยได้

ในการนี้ บรรดาลูกจำเป็นต้องอาศัยเมตตากรุณา และกตัญญูกตเวทีให้มาก ๆ
เพราะหากเราฟังท่านไม่เข้าใจ หรือทำอะไรตอบสนองให้ไม่ทันใจแล้ว บางทีอาจจะโดนท่านตำหนิได้
บรรดาลูกเองไม่ควรไปคิดน้อยใจว่า อุตส่าห์ดูแลพ่อแม่อยู่อย่างเหนื่อยยากแล้ว แต่ยังโดนตำหนิอีก
หากคิดเช่นนั้นก็ย่อมเป็นการคิดในทางลบที่จะบั่นทอนกำลังใจของตนเองในการสร้างบุญกุศล
ควรต้องคิดพิจารณาเปรียบเทียบว่าพ่อแม่ที่เลี้ยงเรามาตั้งแต่เรายังเด็กจนกระทั่งโตนั้น
ท่านเหนื่อยยากและลำบากกับเรามามากกว่านี้มากมายนัก
ในสมัยตอนที่เราเป็นเด็กตัวเล็ก ๆ พูดจาไม่รู้เรื่อง ท่านก็ยังดูแลเราและลำบากกับเราเช่นกัน
อีกทั้งพ่อแม่ก็เป็นผู้ให้กำเนิด และเลี้ยงดูแลเรามาจนโต
หากปราศจากพ่อแม่แล้ว ชีวิตและร่างกายที่เรามีอยู่ขณะนี้ ก็จะไม่มีหรอก
เราก็ควรต้องคิดไปในทางที่ระลึกใจเป็นกุศล และสร้างกำลังใจให้แก่ตนเองเพื่อทำสิ่งที่สมควรต่อไป

การช่วยดูแลรักษาโรคและร่างกายของคนป่วยนั้น
ย่อมจะต้องมีเรื่องยา สิ่งของใช้ เครื่องอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงอาหารการกินเข้ามาเกี่ยวข้อง
บรรดาลูกที่ดูแลพ่อแม่ที่ป่วยนั้นจึงควรต้องจัดเตรียมยา สิ่งของใช้ (เช่น ยาทา กระดาษทิชชู่ สำลี เป็นต้น)
เครื่องอุปกรณ์ และอาหารการกินที่เหมาะสมไว้ให้พร้อมตามที่สมควร
และศึกษาเรื่องการใช้ยา สิ่งของใช้ เครื่องอุปกรณ์ และอาหารสำหรับคนป่วยด้วย
ไม่ใช่ว่าเตรียมยาไว้ แต่ใช้ไม่เป็นและทำให้คนป่วยอาการแย่ลง เพราะใช้ยาไม่ถูกวิธี
สิ่งของใช้ และเครื่องอุปกรณ์ต่าง ๆ ก็เช่นกัน ก็ต้องพิจารณาว่าจำเป็นไหม เหมาะสมไหม
เกินจำเป็นไหม จะส่งผลเสียหรือผลกระทบอย่างไรไหม สมควรใช้อย่างไร และแค่ไหน

ยกตัวอย่างอีกว่า คนป่วยที่นอนแล้วขยับตัวบ่อย ๆ ไม่ได้ อาจจะทำให้เป็นแผลกดทับ
บางคนที่มีกำลังทรัพย์พอก็อาจจะใช้ที่นอนลมเพื่อช่วยป้องกันแผลกดทับดังกล่าว
แต่หากบางคนไม่มีที่นอนลมแล้ว ก็ต้องช่วยคนป่วยให้ขยับพลิกท่านอนอยู่เสมอ
การจัดเตรียมอาหารการกินให้คนป่วยก็ต้องสอบถามแพทย์ด้วยว่าอะไรที่ทานได้และทานไม่ได้
โดยการจัดเตรียมอาหารนั้นก็ควรจะมีการเปลี่ยนอาหารสลับไปมาบ้างตามสมควร
ไม่ใช่เอาแต่สะดวกคนทำหรือคนซื้อ โดยจัดอาหารให้เหมือนเดิมทุกวัน ๆ เป็นเดือน ๆ
ซึ่งคนป่วยเองก็อาจจะมีอาการเบื่ออาหารและทานไม่ลง ก็จะเป็นผลเสียแก่คนป่วยนั้น

เรื่องสุดท้ายในส่วนที่หนึ่งนี้ได้แก่เรื่องการใช้เครื่องช่วยชีวิตต่าง ๆ รวมถึงเครื่องช่วยหายใจ
โดยเมื่อพ่อแม่ป่วยหนักเข้าโรงพยาบาลแล้ว บรรดาลูก ๆ ควรจะปรึกษาตกลงกันล่วงหน้าด้วย
ว่าในกรณีฉุกเฉินแล้ว จะให้แพทย์ใช้เครื่องช่วยชีวิตต่าง ๆ รวมถึงเครื่องช่วยหายใจกับคนป่วยหรือไม่
ในเรื่องนี้ขอแยกออกเป็นสองกรณี คือ
กรณีที่คนป่วยไม่สามารถดำรงชีวิตได้ด้วยตนเองแล้ว แต่ใช้เครื่องเพื่อรักษาชีวิตคนป่วยไว้ต่อไป
และกรณีที่คนป่วยจากไปแล้ว แต่ใช้เครื่องเพื่อดึงชีวิตคนป่วยกลับมา

ในกรณีแรกที่คนป่วยไม่สามารถดำรงชีวิตได้ด้วยตนเอง แต่ใช้เครื่องเพื่อรักษาชีวิตคนป่วยไว้ต่อไปนั้น
เช่นว่าอาจจะใส่ท่อช่วยหายใจ รวมถึงจะต้องมีการเจาะคอคนป่วยด้วย
สิ่งสำคัญที่บรรดาลูกต้องพิจารณาก็คือ
ขณะใส่เครื่องช่วยหายใจเพื่อรักษาชีวิตคนป่วยต่อไปนี้ ก็สามารถตัดสินใจกันได้ไม่ยาก
แต่หากต่อมาปรากฏว่ารักษาไม่มีทางหาย และบรรดาลูกต้องการจะถอดเครื่องช่วยหายใจออก
กรณีนี้จะตัดสินใจยากแล้วล่ะ ปัญหาคือลูกคนไหนจะเป็นคนตัดสินใจให้ถอดเครื่องออก?
เพราะการถอดเครื่องช่วยหายใจออก อาจจะเท่ากับว่าเป็นการหยุดการรักษาชีวิตพ่อแม่ที่ป่วยนั้น
อาจจะถือว่าเป็นการพรากชีวิตของพ่อแม่ที่ป่วย และถือเป็นอนันตริยกรรมหรือเปล่า?
ดังนั้นแล้ว หากไม่ต้องการจะเสี่ยงในประเด็นนี้ในภายหลัง ก็ควรจะมองเผื่ออนาคตไว้หน่อย
โดยอาจจะพิจารณาว่าไม่ควรจะใส่เครื่องช่วยหายใจแต่แรก และปล่อยให้คนป่วยจากไปตามธรรมชาติ
โดยไม่จำเป็นต้องไปอาศัยเครื่องช่วยหายใจนี้ไปยื้อต่อชีวิตของคนป่วยไว้
นอกจากนี้แล้ว การใส่ท่อช่วยหายใจก็ยังมีข้อเสียคือ ผู้ป่วยจะไม่สามารถพูดได้
กินอาหารทางปากไม่ได้ และในผู้ป่วยที่รู้ตัว ก็จะรู้สึกอึดอัดด้วย
แถมยังอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ เช่น ไซนัสอักเสบ ปอดอักเสบ
ทางเดินหายใจเกิดการบวม หรือตีบแคบลงในภายหลัง เป็นต้น
ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ต้องอยู่โรงพยาบาลนานขึ้น หรือเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น
(อนึ่ง เครื่องช่วยหายใจที่คุยอยู่นี้ แตกต่างกับเครื่องผลิตออกซิเจนนะครับ
เครื่องผลิตออกซิเจนนั้นใช้ได้ครับ ใส่เข้าและถอดออกได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องพรากชีวิตคนป่วย)

ในกรณีที่คนป่วยจากไปแล้ว แต่ใช้เครื่องเพื่อดึงชีวิตคนป่วยกลับมา
เช่นว่าอาจจะใช้เครื่องปั๊มหัวใจ หรือใช้ยาบางประเภท เป็นต้น
ควรต้องพิจารณาว่า หากบรรดาลูกได้ดูแลพ่อแม่ที่ป่วยอย่างดีเต็มที่แล้ว
และท่านก็ได้จากไปอย่างสงบ สบายใจ และน่าจะไปภพภูมิที่ดีแล้ว
เราจะไปปั๊มหัวใจ ไปอัดยา เพื่อดึงพ่อแม่ที่จากไปนั้นกลับมานอนทรมานอยู่บนเตียงทำไม
บรรดาลูกอาจจะบอกว่า เพราะเรารักพ่อแม่ อยากจะให้พ่อแม่อยู่กับเราให้นานที่สุด
แต่หากบรรดาลูกรักพ่อแม่จริงแล้ว ก็ควรคิดและทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับพ่อแม่
ไม่ใช่คิดและทำในสิ่งที่ตอบสนองความอยากและความรู้สึกของตนเอง
โดยหากพ่อแม่ป่วยหนักต้องเจ็บปวดนอนทรมานอยู่บนเตียง ไปไหนไม่ได้
ทำอะไรไม่ได้ ช่วยตัวเองไม่ได้ กินอะไรก็ไม่ได้ ได้เพียงแค่นอนอยู่เฉย ๆ ให้คนอื่นดูแลเท่านั้น
และก็ไม่มีทางหาย เพียงแต่รอว่าจะตายเมื่อไรเท่านั้น
ลองถามตัวเองว่า หากเป็นตัวเราเองแล้ว เราอยากจะอยู่ในสภาพเช่นนั้น นาน ๆ หรือไม่
หากเราตอบว่าเราไม่อยากจะอยู่ในสภาพนั้น ไม่อยากจะนอนเจ็บปวดอยู่นาน ๆ แล้ว
พ่อแม่ที่เจ็บป่วยก็ย่อมจะมีความรู้สึกเช่นนั้นเหมือนกัน

ดังนั้น หากได้ทำการดูแลพ่อแม่ตามที่สมควรทุกอย่างแล้ว และท่านได้จากไปด้วยดีแล้ว
กรณีจึงน่าจะไม่สมควรไปดึงท่านกลับมาอีก
ไม่เช่นนั้นแล้ว เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าท่านจากไปรอบสองนั้นจะไปดีเหมือนรอบแรก
และพ่อแม่กลับมารอบสองนี้จะต้องนอนเจ็บปวดทรมานอีกนานเท่าไร
ที่ดีที่สุดนั้น บรรดาลูกจึงควรพิจารณาว่าโอกาสที่จะดูแล และส่งพ่อแม่ให้ไปภพภูมิที่ดีนี้
มีโอกาสส่งเพียงครั้งเดียว เพราะฉะนั้นบรรดาลูกต้องดูแลให้ดี ทำให้ดี และทำเต็มที่ตั้งแต่แรกเลย
ไม่ใช่ว่า ไม่สนใจ ไม่ดูแล ก็ทำไปอย่างเรื่อย ๆ เปื่อย ๆ แต่พอเมื่อพ่อแม่จากไปแล้ว
ก็ไปพยายามปั๊ม หรืออัดยาเพื่อดึงชีวิตท่านกลับมา เพื่อให้บรรดาลูกเหล่านั้นได้แก้ตัวใหม่
เช่นนี้น่าจะไม่ใช่สิ่งที่บรรดาลูกสมควรจะทำ

เรื่องของการใช้เครื่องช่วยชีวิตเหล่านี้ จึงเป็นเรื่องที่บรรดาลูกต้องตกลงกันไว้แต่แรก
และอาจพิจารณาอธิบายให้คนป่วยได้รับทราบไว้ล่วงหน้าด้วยเช่นกัน
(เฉพาะกรณีที่หากสามารถอธิบายให้เข้าใจได้ และพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์)
โดยควรจะเขียนเอกสารสั่งไว้กับทางโรงพยาบาลให้แก่แพทย์และพยาบาลไว้ล่วงหน้าเลย
เพื่อที่แพทย์และพยาบาลจะได้รักษาดูแลคนป่วยได้สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของคนป่วยและญาติสนิทนั้น

(ในตอนหน้า จะมาคุยในส่วนที่สอง เรื่องการดูแลภาวะจิตใจของท่านให้สบายใจครับ)