Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๑๙

เมื่อพ่อแม่ป่วยหนักมาก (ตอนที่ ๕)

ngod-ngamงดงาม

 

dharmajaree119

(ต่อจากตอนที่แล้ว...)

ในตอนที่แล้ว เราได้คุยกันจบในส่วนที่สอง เรื่องการดูแลภาวะจิตใจของพ่อแม่ที่ป่วยหนักให้สบายใจ
โดยในตอนนี้ เราจะได้คุยกันต่อในส่วนที่สามคือ
เรื่องสร้างเหตุและปัจจัยเพื่อส่งให้ท่านไปสู่ภพภูมิที่ดี
บางท่านอาจจะสงสัยว่า การสร้างเหตุและปัจจัยเพื่อส่งพ่อแม่ไปสู่ภพภูมิที่ดีนั้นมีความสำคัญอย่างไร
ทำไมเราจึงต้องทำเรื่องนี้ด้วยนะ ... ก็ขอตอบว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับพ่อแม่
เพราะการไปเกิดในอบายภูมินั้น เป็นเรื่องที่ทุกข์ทรมานมากมายนะครับ
ไม่ว่าจะเกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย หรือสัตว์เดรัจฉานก็ตาม โดยเราลองเทียบกับตนเองว่า
ขนาดเรา ๆ เกิดมาเป็นมนุษย์ในโลกมนุษย์นี้ ก็ยังพบเจอทุกข์ทรมานกันมากมายขนาดนี้
แล้วหากจะต้องไปเกิดอยู่ในอบายภูมิแล้ว จะทุกข์ทรมานมากมายขนาดไหน

นอกจากจะเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับพ่อแม่แล้ว ก็ยังเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ สำหรับลูก ๆ ด้วย
สำคัญอย่างไร? ก็สำคัญที่ว่า การช่วยเหลือตอบแทนคุณพ่อแม่นั้นถือเป็นเรื่องของความกตัญญู
ซึ่งความกตัญญูนี้แหละเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ลูก ๆ อยู่ในภูมิแห่งสัตบุรุษ
(“สัตบุรุษ” หมายถึงคนดี คนมีศีลธรรม และ“อสัตบุรุษ” หมายถึงคนไม่ดี คนไม่มีศีลธรรม)
ดังที่พระพุทธองค์ได้ทรงสอนไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงภูมิอสัตบุรุษและสัตบุรุษแก่เธอทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว. ภิกษุทั้งหลายนั้นทูลรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคแล้ว.
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ก็ภูมิอสัตบุรุษเป็นไฉน?
อสัตบุรุษย่อมเป็นคนอกตัญญูอกตเวที ก็ความเป็นคนอกตัญญูอกตเวทีนี้ อสัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญ
ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นคนอกตัญญูอกตเวทีนี้ เป็นภูมิอสัตบุรุษทั้งสิ้น
ภิกษุทั้งหลาย ส่วนสัตบุรุษย่อมเป็นคนกตัญญูกตเวที
ก็ความเป็นคนกตัญญูกตเวทีนี้ สัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญ
ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นคนกตัญญูกตเวทีทั้งหมดนี้เป็นภูมิสัตบุรุษ.”
(จากพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล พระสุตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย
ทุกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ สมจิตตวรรคที่ ๔
พระสูตรที่ ๑ ว่าด้วย ภูมิของอสัตบุรุษและสัตบุรุษ)

หากบรรดาลูก ๆ ละเลยไม่ตอบแทนคุณของพ่อแม่แล้ว ก็ย่อมถือเป็นการอกตัญญู
อันถือได้ว่าลูก ๆ ได้อยู่ใน “ภูมิแห่งอสัตบุรุษ” ซึ่งหนทางภายหน้าของลูก ๆ ก็น่าจะไม่ใช่ภพภูมิที่ดีนะครับ
คำถามที่สำคัญต่อมาก็คือว่า ทำอย่างไรจึงจะถือว่าลูก ๆ ได้ตอบแทนคุณของพ่อแม่
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนในเรื่องการตอบแทนคุณพ่อแม่ไว้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวการกระทำตอบแทนไม่ได้ง่ายแก่ท่านทั้งสอง
ท่านทั้งสองคือใคร คือ มารดา ๑ บิดา ๑
ภิกษุทั้งหลาย บุตรพึงประคับประคองมารดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง
พึงประคับประคองบิดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง เขามีอายุ มีชีวิตอยู่ตลอด ๑๐๐ ปี
และเขาพึงปฏิบัติท่านทั้งสองนั้นด้วยการอบกลิ่น การนวด การให้อาบน้ำ และการดัด
และท่านทั้งสองนั้นพึงถ่ายอุจจาระปัสสาวะบนบ่าทั้งสองของเขานั่นแหละ ภิกษุทั้งหลาย
การกระทำอย่างนั้นยังไม่ชื่อว่า อันบุตรทำแล้วหรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง บุตรพึงสถาปนามารดาบิดาในราชสมบัติอันเป็นอิสราธิปัตย์ ในแผ่นดินใหญ่
อันมีรตนะ ๗ ประการมากหลายนี้ การทำกิจอย่างนั้นยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้ว
หรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร.
เพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้แก่บุตรทั้งหลาย
ส่วนบุตรคนใดยังมารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธา ให้สมาทาน ตั้งมั่น ดำรงอยู่ในศรัทธาสัมปทา
ยังมารดาบิดาผู้ทุศีล ให้สมาทานตั้งมั่นในศีลสัมปทา ยังมารดาบิดาผู้มีความตระหนี่
ให้สมาทานตั้งมั่น ดำรงในจาคสัมปทา ยังมารดาบิดาผู้ทรามปัญญา
ให้สมาทานตั้งมั่นดำรงอยู่ในปัญญาสัมปทา ภิกษุทั้งหลาย ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล
การกระทำอย่างนั้นย่อมชื่อว่า อันบุตรนั้นทำแล้วและทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดา.”
(จากพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล พระสุตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย
ทุกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ สมจิตตวรรคที่ ๔
พระสูตรที่ ๒ ว่าด้วยบุคคล ๒ พวกที่กระทำตอบแทนไม่ได้ง่าย)

จากพระสูตรที่ยกมานี้ก็จะเห็นได้ว่าลำพังเพียงการดูแลพ่อแม่ให้สบายตัวสบายใจนั้น
ยังไม่ได้ชื่อว่าเป็นการตอบแทนคุณพ่อแม่นะครับ แต่การตอบแทนคุณพ่อแม่จริง ๆ นั้น
จะต้องช่วยให้พ่อแม่ที่ไม่มีศรัทธา ทุศีล ตระหนี่ หรือทรามปัญญา (แล้วแต่กรณี) นั้น
สมาทาน ตั้งมั่น และดำรงอยู่ในศรัทธาสัมปทา ศีลสัมปทา จาคสัมปทา หรือปัญญาสัมปทา
(แล้วแต่กรณี) จึงจะได้ชื่อว่าเป็นการทำตอบแทนแล้วแก่พ่อแม่นั้น

ในการที่ลูก ๆ จะยังให้พ่อแม่ที่ไม่มีศรัทธา ทุศีล ตระหนี่ หรือทรามปัญญา
สามารถสมาทาน ตั้งมั่น และดำรงอยู่ในศรัทธาสัมปทา ศีลสัมปทา จาคสัมปทา หรือปัญญาสัมปทาได้นั้น
ลูก ๆ เองจะต้องช่วยเหลือตนเองก่อน โดยจะต้องทำตัวเองให้สมาทาน ตั้งมั่น
และดำรงอยู่ในศรัทธาสัมปทา ศีลสัมปทา จาคสัมปทา หรือปัญญาสัมปทาได้เสียก่อน
จากนั้นลูก ๆ มีความรู้ความเข้าใจ และเห็นคุณประโยชน์แห่งศรัทธาสัมปทา ศีลสัมปทา
จาคสัมปทา หรือปัญญาสัมปทาเหล่านั้นแล้ว ลูก ๆ จึงจะสามารถช่วยเหลือพ่อแม่ได้
ซึ่งหากจะเปรียบเทียบก็อาจจะเปรียบได้กับวิชาคณิตศาสตร์นะครับที่ว่า
หากลูก ๆ ยังคำนวณไม่เป็นเลย แล้วลูก ๆ จะไปสอนให้พ่อแม่คำนวณเป็นได้อย่างไร

ทีนี้ ย้อนกลับมาที่เนื้อหาเรื่องการสร้างเหตุและปัจจัย ซึ่งบางท่านก็อาจจะมีคำถามต่อไปว่า
แล้วลูก ๆ จะสร้างเหตุและปัจจัย เพื่อส่งให้พ่อแม่ไปสู่ภพภูมิที่ดีได้อย่างไร
ตอบว่า ดีที่สุดเลยก็คือว่า ช่วยให้พ่อแม่ได้สมาทาน ตั้งมั่น และดำรงอยู่ในศรัทธาสัมปทา
ศีลสัมปทา จาคสัมปทา หรือปัญญาสัมปทานั้น ๆ แต่การจะทำดั่งนั้นได้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาท้าย ๆ ที่พ่อแม่ป่วยหนัก อาการโคม่า หรืออาจจะใกล้ตายแล้ว

ผมเองเคยมีประสบการณ์ที่คุณพ่อป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย และเหลือเวลาอยู่ได้อีกไม่กี่เดือน
เนื่องด้วยมีเวลาอันจำกัดมาก ผมเองจึงสับสนและตั้งหลักไม่ถูกว่าควรจะมุ่งเน้นทำอะไรแค่ไหน
เพื่อที่จะช่วยสร้างเหตุและปัจจัยเพื่อส่งให้คุณพ่อได้ไปสู่ภพภูมิที่ดี เพราะก็มีอะไรให้เลือกทำเยอะเหลือเกิน
จะให้ท่านทำทานเยอะ ๆ รักษาศีลและระลึกถึงศีลมาก ๆ หรือจะให้สวดมนต์มาก ๆ หรือ
ให้ทำสมาธิมาก ๆ หรือให้เจริญสติภาวนาดี ซึ่งก็มีอะไรหลายอย่างที่จะต้องทำ แต่ว่าเวลาไม่เอื้ออำนวยแล้ว
ในอดีตที่ผ่านมา ผมเองเป็นคนศึกษาธรรมะประเภทเรียนทางไกล และอยู่ห่างครูบาอาจารย์นะครับ
แต่ถึงเวลาที่คุณพ่อป่วยหนักใกล้ตายแล้ว และผมก็จนปัญญาคิดไม่ออกแล้วว่าควรจะทำอย่างไรดี
ผมก็ตัดสินใจไปสอบถามครูบาอาจารย์ท่านหนึ่งนะครับว่า “ผมจะดูแลคุณพ่ออย่างไรดีในช่วงท้ายนี้?
ครูบาอาจารย์ท่านนั้นได้ให้คำแนะนำเพียงประมาณหนึ่งนาทีนะครับ แต่มีคุณค่ามากมายเกินบรรยาย
โดยท่านได้แนะนำผมว่าในช่วงเวลาท้ายนี้ “ไม่ต้องเปลี่ยนกรรมฐานของคุณพ่อ”
และให้บอกคุณพ่อว่า ร่างกายนี้เป็นของที่ต้องแตกสลายแน่นอน ให้ท่องพุทโธไว้
ท่องพุทโธแล้วใจฟุ้งซ่านก็ให้รู้ ใจสงบก็ให้รู้ทัน รักษาใจไว้โดยให้อยู่กับพุทโธไว้ ส่วนร่างกายนั้นให้หมอรักษาไป

เมื่อได้หลักแล้ว ผมก็กลับมาพิจารณากรรมฐานเดิมของคุณพ่อและก็สามารถวางวิธีการดูแลท่าน
และทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อที่จะช่วยสร้างเหตุและปัจจัยเพื่อส่งให้คุณพ่อได้ไปสู่ภพภูมิที่ดีได้ต่อไป
ทีนี้ ในส่วนของลูก ๆ ที่ประสบปัญหาเดียวกัน ผมก็ขอถ่ายทอดคำแนะนำเดียวกันที่ผมเคยได้รับมานี้ครับ
ว่าไม่ต้องพยายามเปลี่ยนกรรมฐานของพ่อแม่นะครับ เพราะว่าเวลานั้นมีไม่เพียงพอแล้ว
การที่จะเปลี่ยนกรรมฐานของคน ๆ หนึ่งนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย และเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา
จึงไม่เหมาะอย่างยิ่งที่จะมาทำกันในช่วงที่พ่อแม่ป่วยหนักใกล้ตายแล้ว
หากฝืนทำไปแล้ว จะยิ่งทำให้พ่อแม่ฟุ้งซ่านเสียมากกว่า และจะทำให้ลูก ๆ ฟุ้งซ่านไปด้วยเช่นกัน

ดังนั้น ลูก ๆ จึงต้องย้อนกลับไปพิจารณาครับว่า พ่อแม่เราปฏิบัติธรรมในแนวทางใดได้
ท่านเจริญสติปัฏฐานภาวนาได้ไหม หากท่านสามารถเจริญสติปัฏฐานภาวนาได้ ก็ให้ท่านทำต่อไป
ท่านทำสมถะภาวนาได้ไหม หากท่านสามารถทำสมถะได้ ก็ให้ท่านทำสมถะทำใจให้สงบต่อไป
หากท่านเจริญสติปัฏฐานภาวนาไม่ได้ ทำสมถะภาวนาไม่ได้ ก็ต้องพยายามหาสิ่งที่เป็นกุศลให้ท่านระลึกไว้
โดยในที่นี้ก็ขอแนะนำให้ระลึกถึงอนุสติ ๖ ประการอันได้แก่
๑. ระลึกถึงพระพุทธเจ้าว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรมสอนภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ เรียกว่าทำพุทธานุสสติให้เป็นอารมณ์
๒. ระลึกถึงพระธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน
ปฏิบัติและให้ผลได้ไม่จำกัดกาล ฯลฯ เรียกว่าทำธรรมานุสสติให้เป็นอารมณ์
๓. ระลึกถึงพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติสมควรแล้ว ฯลฯ
เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า เรียกว่าทำสังฆานุสสติให้เป็นอารมณ์
๔. ระลึกถึงศีลของตน อันไม่ขาด และได้รักษาไว้ดีแล้ว เรียกว่าทำสีลานุสสติให้เป็นอารมณ์
๕. ระลึกถึงจาคะของตนว่าตนเองได้ทำทานไว้ดีแล้ว ยินดีในทานทั้งหลายที่ได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
เรียกว่าทำจาคานุสสติให้เป็นอารมณ์
๖. ระลึกถึงเทวดาว่า เหล่าเทวดาในสวรรค์ชั้นต่าง ๆ นั้นมีอยู่
เทวดาเหล่านั้น ประกอบด้วยศรัทธาเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้ว อุบัติในเทวดาชั้นนั้น
ศรัทธาเช่นนั้นแม้ของเรามีอยู่ เทวดาเหล่านั้น ประกอบด้วยศีลเช่นใด ด้วยสุตะเช่นใด
ด้วยจาคะเช่นใด ด้วยปัญญาเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้ว อุบัติในเทวดาชั้นนั้น
ศีล สุตะ จาคะ และปัญญาเช่นนั้นแม้ของเราก็มีอยู่ โดยระลึกถึงศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ
และปัญญาของตนและของเทวดาเหล่านั้น เรียกว่าทำเทวตานุสสติให้เป็นอารมณ์
โดยหากช่วยให้พ่อแม่สามารถระลึกถึงพุทธานุสสติ ธรรมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ
จาคานุสสติ หรือเทวตานุสสติให้เป็นอารมณ์อยู่เสมอเช่นนี้แล้ว
ก็ถือว่าเป็นการ
ช่วยสร้างเหตุและปัจจัยเพื่อส่งให้คุณพ่อได้ไปสู่ภพภูมิที่ดีเช่นกัน

ถามว่า ทำอย่างไรจึงจะช่วยให้พ่อแม่ได้ระลึกถึงประการหนึ่งหรือหลายประการในอนุสติ ๖ ประการได้
สำหรับพุทธานุสสตินั้น ก็สามารถทำได้โดยให้ท่านสวดมนต์ ฟังบทสวดมนต์เกี่ยวกับคุณของพระพุทธเจ้า
หรือลูก ๆ สวดมนต์ให้ฟัง หรือเปิดบทสวดมนต์ไปด้วยและลูก ๆ สวดมนต์ตามไปด้วย
หรือเปิดธรรมเทศนาเกี่ยวกับคุณของพระพุทธเจ้าให้ฟัง
หรืออาจจะวางพระพุทธรูป หรือภาพพระพุทธรูปให้เห็นได้ง่าย ๆ ประเภทว่าลืมตามาก็เห็นเลย
ผมรู้จักญาติธรรมท่านหนึ่งที่นำภาพของพระพุทธรูปไปติดไว้บนเพดานเลย
ซึ่งพอพ่อแม่ที่ป่วยลืมตามองเพดาน ก็เห็นภาพพระพุทธรูปทันที
หรืออาจจะให้พ่อแม่สวดพุทโธ พุทโธ พุทโธ และระลึกถึงพระพุทธเจ้าก็ได้ ก็ทำได้หลายวิธีครับ

ธรรมานุสสติ และสังฆานุสสตินั้น ก็สามารถทำได้ในทำนองเดียวกัน คือให้ท่านสวดมนต์ ฟังบทสวดมนต์
เกี่ยวกับคุณของพระธรรม และพระสงฆ์ หรือลูก ๆ สวดมนต์ให้ฟัง
หรือเปิดบทสวดมนต์ไปด้วยและลูก ๆ สวดตามไปด้วย หรือหรือเปิดเทศนาธรรมให้ฟัง
หรือลูก ๆ อ่านหนังสือธรรมเทศนาก็ได้หรืออาจจะนำภาพของพระอริยสงฆ์ที่พ่อแม่นับถือมาติดให้เห็นง่าย ๆ ก็ได้

สำหรับสีลานุสสตินั้น ลูก ๆ ก็หมั่นคุยให้พ่อแม่ได้ระลึกถึงเรื่องราวสมัยอดีตที่ตนเองได้ถือศีลไว้ดีแล้ว
(เช่นว่าสมัยอดีตที่ตนเองได้บวชเป็นพระ หรือได้ถือเนกขัมมะ เป็นต้น) พ่อแม่บางคนถือศีลห้าตลอดชีวิต
พ่อแม่บางคนถือศีลแปดตลอดชีวิต ลูก ๆ ก็คุยให้พ่อแม่ได้ระลึกถึงศีลที่ได้ถือไว้นั้น
หรืออาจจะนำรูปสมัยที่พ่อแม่ได้เคยบวชเป็นพระ หรือถือเนกขัมมะนั้นมาปิดให้เห็นง่าย ๆ ด้วย

ส่วนจาคานุสสติ ลูก ๆ ก็หมั่นคุยให้พ่อแม่ได้ระลึกถึงทานกุศลที่พ่อแม่ได้ทำไว้ดีแล้วในอดีต
เช่นว่า อาจจะได้เคยไปถวายสังฆทานที่วัด อาจจะได้เคยไปทำบุญที่โรงพยาบาลสงฆ์
อาจจะได้เคยไปร่วมงานกฐิน งานผ้าป่า งานบวช หรืองานบุญต่าง ๆ ที่วัด หรือได้ทำบุญกับโรงเรียน
หรือทำบุญร่วมสร้างวัด สร้างวิหาร สร้างโรงพยาบาล สร้างถนนหนทาง
หรือร่วมทำบุญนำทองคำเข้าคลังหลวงกับท่านหลวงตามหาบัว เป็นต้น
โดยลูก ๆ อาจจะนำภาพงานบุญต่าง ๆ ที่พ่อแม่ได้เคยร่วมทำนั้นมาปิดหรือวางให้ท่านได้เห็นง่าย ๆ
เช่น ภาพพ่อแม่ทำบุญในงานบวชของลูกชาย หรือร่วมทำบุญในงานกฐินสำคัญ ๆ
หรือหากนำภาพหลวงตามหาบัวมาวางให้พ่อแม่ได้เห็นได้ระลึกถึง
ก็ย่อมจะช่วยให้ระลึกได้ทั้งพระอริยสงฆ์ เป็นสังฆานุสสติ
และอาจช่วยให้ระลึกถึงทานที่ได้เคยถวายกับหลวงตามหาบัว ซึ่งก็ถือเป็นจาคานุสสติอีกด้วย

ท้ายสุดสำหรับเทวตานุสสติ ก็ให้พ่อแม่ได้ระลึกถึงเทวดา และบุญกุศลที่เทวดานั้นได้ทำไว้
อันส่งผลให้ได้ไปเป็นเทวดา และตนเองก็ได้ทำบุญกุศลนั้นไว้เช่นกัน
ในการนี้จะแนะนำให้พ่อแม่ระลึกถึงเทวดาองค์ไหนก็ได้ที่ท่านนับถือ โดยมีเงื่อนไขเพียงว่า
ต้องเป็นเทวดาที่สร้างบุญกุศล และพ่อแม่สร้างบุญกุศลนั้นเช่นกัน เช่น ระลึกถึงโพธิ์สัตว์กวนอิม ก็ได้
ระลึกว่าโพธิ์สัตว์กวนอิมเป็นผู้มีศีล เป็นผู้เจริญเมตตา และสร้างบุญกุศลแก่สัตว์ทั้งหลาย
และพ่อแม่ก็เป็นผู้มีศีล เจริญเมตตา และสร้างบุญกุศลตามท่านเช่นกันทำนองนี้
หรือระลึกถึงท้าวสักกะเทวราชว่า เป็นผู้ที่
ปฏิบัติวัตตบท ๗ ประการอยู่จนตลอดชีวิต
(ได้แก่ เลี้ยงมารดาบิดาตลอดชีวิต ๑ ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูลตลอดชีวิต ๑
พูดวาจาอ่อนหวานตลอดชีวิต ๑ ไม่พึงพูดวาจาส่อเสียดตลอดชีวิต ๑
มีใจปราศจากความตระหนี่ ยินดีในการสละ ยินดีในการแจกจ่ายทานตลอดชีวิต ๑
พูดคำสัตย์ตลอดชีวิต ๑ ไม่พึงโกรธตลอดชีวิต ถ้าแม้ความโกรธเกิดขึ้น พึงกำจัดเสียโดยฉับพลัน ๑)
ส่วนบรรดาเทวดาอื่น ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับการสร้างบุญกุศลอะไรนั้น ไม่ต้องนำมาระลึกนะครับ
เช่น เจ้าป่าเจ้าเขา เจ้าบ้านเจ้าเรือน นางไม้ เจ้าพ่อเจ้าแม่ต่าง ๆ หรือกระทั่งเทพเทวดาของกรีก
เช่น ซีอุส อพอลโล อาเทน่า โพเซดอน ฯลฯ เป็นต้น เพราะไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องสร้างบุญกุศลอะไรเลย

(ในตอนต่อไปจะมาคุยต่อว่า หากระลึกอะไรไม่ได้เลยแล้วจะทำอย่างไร
และข้อควรประพฤติปฏิบัติในเวลาชั่วโมงสุดท้ายก่อนพ่อแม่จะสิ้นใจ
ซึ่งก็น่าจะเป็นตอนสุดท้ายแล้วล่ะครับ)