Print

จากใจ บ.ก. ใกล้ตัว - ฉบับที่ ๓๓๙

dungtrin_editor_cover

dungtrin_new2

 

 

 

 

 

 

 

 รักษาโรคทางใจ

 

 

 
 

editor339

 

การเป็นคนเจ้าโทสะ ไม่ได้หมายถึง

การแสดงอารมณ์ปึงปังง่ายอย่างเดียว

เขาวัดกันตั้งแต่ที่รู้แก่ใจตนว่า

มีความหงุดหงิดง่าย ขัดเคืองง่าย

เกิดอารมณ์กรี๊ดง่าย เป็นทุกข์ง่าย

เมื่อไม่ได้อย่างใจ

 

ยิ่งถ้าปึงปัง ออกอาการทางกาย

อาละวาดฟาดงวงฟาดงาง่าย

อย่างนั้นเข้าขั้นโมโหร้ายแล้ว

เป็นทุกข์กับตัวเองง่ายไม่พอ

ผลิตทุกข์ให้คนอื่นบ่อยๆด้วย

พยากรณ์ได้เลยว่า

นั่นจะเป็นชีวิตที่ก่อบาปก่ออกุศลไว้มาก

ชีวิตถัดไปต้องเป็นทุกข์มาก

แม้จะสร้างบุญสร้างกุศลไว้

ในระดับที่กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ได้อีกก็ตาม

 

เพื่อให้ความเจ้าโทสะเบาบางลง

มีสองแนวทาง

หนึ่งคือสร้างต้นทุนเป็นเมตตา

สองคือใช้เมตตา ณ จุดเกิดโทสะทุกครั้ง

 

สร้างต้นทุนด้วยการฝึกแผ่เมตตา

โดยพิจารณาบ่อยๆ ในสถานการณ์ปกติว่า

ความยืดเยื้อของโทสะ เรียกว่า พยาบาท

นับเป็นโรคทางใจ

เมื่อพิจารณาอยู่อย่างนี้

แล้วเกิดสติเห็นก้อนเชื้อโรคในอกได้

ก็จะเกิดพลัง ล้างเชื้อโรคได้ครั้งหนึ่ง

เห็นผลง่ายๆ คือ ใจเปิดแผ่ออกเป็นสุข

อยากให้คนอื่นพลอยเป็นสุขตาม

นั่นเรียกว่าสร้างทุนขึ้นมาหนหนึ่งแล้ว

ยิ่งมากหนเท่าไร ยิ่งทุนหนาเท่านั้น

 

จากนั้น ฝึกใช้เมตตา ณ จุดเกิดโทสะให้ได้ทุกครั้ง

คือ เจอเรื่องชวนปี๊ดเมื่อใด

ให้มีสติรู้เมื่อนั้นว่า อกใจกำลังจะระเบิด

หรือระเบิดไปแล้วก็ช่าง

ให้เห็นว่านั่นแหละ โรคกำเริบหนัก

หากมีทุนหนา สะสมไว้มาก

ก็จะทำให้เกิดสติมาก ล้างเชื้อโรคได้ทันที

แต่หากสะสมทุนไว้เพียงน้อย

ก็จะเกิดสติเพียงน้อย

กว่าจะล้างเชื้อโรคได้ ก็ต้องใช้เวลาหน่อย

อันนั้นไม่เป็นไร

จะล้างได้มากหรือน้อย

ก็ยังนับว่าดีที่ได้ล้าง

และอยู่บนเส้นทางการพยายามฆ่าเชื้อโรค

ประเสริฐกว่าหลายคน

ที่เดินหน้าเข้าสู่กองไฟในชาติหน้า

ที่สร้างขึ้นจากโทสะในชาตินี้แล้ว!

 

ดังตฤณ

ตุลาคม ๖๒