Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๑๑

คุยเรื่องสุขภาพ (๖) – อาหาร

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 dharmajaree 211

(ต่อจากฉบับที่ ๒๐๗ คุยเรื่องสุขภาพ (ตอนที่ ๕) สมดุลร้อนเย็น)

ใน “คุยเรื่องสุขภาพ (ตอนที่ ๕)” นั้น เราได้คุยกันในเรื่องสมดุลร้อนเย็น
ซึ่งได้อธิบายในเรื่องของอาหารฤทธิ์ร้อนฤทธิ์เย็นแล้ว
ในคราวนี้ เราก็จะมาคุยต่อในเรื่องอื่น ๆ เกี่ยวกับอาหารครับ
เราจะสังเกตได้ว่า โดยสภาพของคนเมืองในยุคปัจจุบัน
เรามักจะทานอาหารฤทธิ์ร้อนกันมาก และใช้วิถีชีวิตที่ทำให้ร่างกายมีภาวะร้อนเกิน
ในการปรับสมดุลนั้น นอกจากการลดอาหารฤทธิ์ร้อน และเพิ่มอาหารฤทธิ์เย็นแล้ว
ก็ยังมีอีกหลายวิธีการที่จะสามารถช่วยปรับสมดุลร้อนเย็นได้
เช่น การดื่มน้ำคลอโรฟิลด์ หรือน้ำสมุนไพรปรับสมดุล เป็นต้น

การดื่มน้ำคลอโรฟิลด์ก็คือ การนำสมุนไพรฤทธิ์เย็นอย่างใดอย่างหนึ่ง
หรือหลายอย่างรวมกันก็ได้ มาโขลกให้ละเอียด หรือขยี้ผสมกับน้ำเปล่า
(หรือบางท่านที่ไม่มีเวลาจะใช้เครื่องปั่นก็ได้)
แล้วกรองเอาเฉพาะน้ำมาดื่ม หรือมาผสมกับน้ำเปล่าดื่ม
สมุนไพรฤทธิ์เย็นที่นิยมนำมาใช้ ก็ยกตัวอย่างเช่น
ใบย่านางเขียว ใบเตย บัวบก หญ้าปักกิ่ง ใบอ่อมแซบ (เบญจรงค์)
ผักบุ้ง รางจืด ใบเสลดพังพอน หยวกกล้วย ว่านกาบหอย เป็นต้น
โดยก็ไม่ต้องจำเป็นว่าจะต้องมีทุกอย่างที่กล่าวนะครับ
ก็พิจารณาตามที่เราสะดวกว่าเรามีอะไร หรือหาอะไรได้ ก็ใช้อย่างนั้น

ทั้งนี้ บรรดาสมุนไพรฤทธิ์เย็นเหล่านี้ก็ไม่ใช่ของสิ้นเปลืองที่ต้องเสียเงินเยอะ
โดยหลายอย่างนั้นเราสามารถนำมาปลูกไว้เอง แล้วก็ใช้ไปได้ตลอด
แต่หากเราไม่มีพื้นที่ปลูกเอง เราก็อาจจะซื้อผักฤทธิ์เย็นมาทำกับข้าว
เช่น ผักบุ้ง บัวบก ตำลึง ผักกาดหอม ใบเตย เป็นต้น
แล้วก็แบ่งบางส่วนมาทำน้ำคลอโรฟิลด์ก็ได้เหมือนกัน

โดยที่น้ำคลอโรฟิลด์ทำจากสมุนไพรฤทธิ์เย็น
ดังนั้นก็อาจจะมีบางท่านที่ทานแล้วรู้สึกไม่สบายตัว
เพราะท่านนั้น ๆ ไม่ได้มีแต่เพียงภาวะร้อนเกินเท่านั้น
แต่มีภาวะร้อนเย็นพันกัน คือทั้งร้อนเกินและทั้งเย็นเกินผสมกัน
ในกรณีดังกล่าวก็อาจจะผสมสมุนไพรฤทธิ์ร้อนลงไปด้วย เช่น
ผสมน้ำขิง น้ำตะไคร้ หรือน้ำมะขาม เป็นต้น
หรือสำหรับท่านที่มีภาวะเย็นเกิน ก็อาจจะใช้สมุนไพรฤทธิ์ร้อนเท่านั้นก็ได้
ขึ้นอยู่กับภาวะร่างกายของแต่ละท่าน (อันนี้ต้องดูตนเอง ไม่ต้องเลียนแบบกัน)

การทานน้ำคลอโรฟิลด์ที่ทำจากสมุนไพรฤทธิ์เย็นนี้ สามารถทานได้ทั้งวัน
แต่ยกเว้นว่าไม่ควรทานก่อน ระหว่าง และหลังการทานอาหาร
เพราะว่าเวลาย่อยอาหารเราต้องใช้กรด และใช้ธาตุไฟหรือความร้อนในการย่อย
แต่น้ำคลอโรฟิลด์ที่ทำจากสมุนไพรฤทธิ์เย็นจะเป็นด่าง และมีฤทธิ์เย็น
ก็จะไปทำให้ร่างกายย่อยอาหารได้ยากกว่าเดิม
โดยทั่วไป ควรจะเว้นก่อนทานอาหารและหลังทานอาหารสักหนึ่งชั่วโมงก็ได้

ในส่วนของกากที่เหลือจากการโขลกหรือคั้น เราก็สามารถนำไปทำประโยชน์อื่น ๆ ได้
ซึ่งในคราวก่อนที่คุยเรื่องสมดุลร้อนเย็นนั้น
ผมได้แนะนำข้อมูลเกี่ยวกับแพทย์วิถีธรรมไปบ้างแล้ว
โดยในหลักการดูแลสุขภาพหรือการรักษาโรคตามหลักแพทย์วิธีธรรมนั้น
มีเทคนิค ๙ ข้อ (หรือที่เรียกว่ายา ๙ เม็ด) ได้แก่
๑. การทานสมุนไพรปรับสมดุล
๒. การกัวซา หรือขูดพิษ
๓. การสวนล้างลำไส้ใหญ่ (หรือดีทอกซ์)
๔. การแช่มือแช่เท้าในน้ำสมุนไพร
๕. การพอก ทา หยอด ประคบ อบ อาบด้วยสมุนไพร
๖. การออกกำลังกาย การกดจุดลมปราณ กายบริหาร
๗. การทานอาหารปรับสมดุลร้อนเย็น
๘. การศึกษาและปฏิบัติธรรม
๙. รู้พัก รู้เพียรให้พอดี

(ทั้งนี้ ในเรื่องของเทคนิค ๙ ข้อนี้ ผมจะนำมาคุยย่อ ๆ ต่อไปจนครบนะครับ
แต่ขณะนี้ก็คุยไปแล้ว ๒ ข้อคือข้อ ๖ ทานอาหารปรับสมดุลร้อนเย็น
และข้อ ๑ ทานสมุนไพรปรับสมดุล หรือทานน้ำคลอโรฟิลด์)

กากที่เหลือจากการโขลกหรือการคั้นทำน้ำคลอโรฟิลด์ดังกล่าว
เราสามารถนำไปทำประโยชน์ได้
โดยนำไปใช้ทำน้ำสมุนไพรสำหรับแช่มือแช่เท้า (เทคนิคข้อที่ ๓ ข้างต้น)
หรือนำไปใช้พอก ทา ประคบ หรืออบ หรือทำน้ำสำหรับหยอด หรืออาบ
(เทคนิคข้อที่ ๖ ข้างต้น) แล้วแต่กรณีที่เหมาะสม

สำหรับท่านที่สนใจศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องการทำน้ำคลอโรฟิลด์ที่กล่าวนี้
ผมแนะนำให้ศึกษาเพิ่มเติมได้ตามคลิปวิดีโอของกลุ่มแพทย์วิถีธรรม ดังนี้ครับ
http://youtu.be/mWgmIGA8Igc
http://youtu.be/2tngy6ZNa4I

นอกเหนือจากเรื่องการทานอาหารช่วยปรับสมดุลร้อนเย็นที่กล่าวแล้ว
ในปัจจุบันก็มีอาหารอื่น ๆ บางอย่างที่เราควรจะลดหรือเลี่ยงตามที่เหมาะสม
โดยผมจะขอยกมาในตัวที่สำคัญ ๆ ดังต่อไปนี้ครับ
๑. ไขมันทรานส์ (Trans Fat)
หากเราทานไขมันทรานส์เข้าไปมาก ๆ แล้ว จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ
โดยถ้าจะคุยเรื่องไขมันทรานส์ให้เข้าใจแล้ว จะต้องคุยกันยาวมากนะครับ
ผมจึงขอให้ท่านที่สนใจในเรื่องนี้ไปศึกษาข้อมูลจาก
บทความเรื่องปฏิวัติน้ำมันพืช โดยอาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ซึ่งเนื้อหามีอยู่ทั้งหมดสิบกว่าตอน แต่ผมจะให้ลิงค์ไว้ ๓ ตอนเท่านั้นครับ
ส่วนที่เหลือหากท่านไหนสนใจ ก็สามารถจะค้นหาอ่านเองได้ครับ
http://www.manager.co.th/AstvWeekend/ViewNews.aspx?NewsID=9560000125053
http://www.manager.co.th/AstvWeekend/ViewNews.aspx?NewsID=9560000128088
http://www.manager.co.th/AstvWeekend/ViewNews.aspx?NewsID=9560000130977
หรือจะลองดูคลิปเกี่ยวกับปฏิวัติน้ำมันพืชก็ได้
http://youtu.be/f6wztoE313U
http://youtu.be/b-vktYj37Eo
http://youtu.be/fOiLQFxvBxk
http://youtu.be/KYOEmhjIBfo

ไขมันทรานส์จะมีปะปนอยู่ในอาหารหลายประเภทนะครับ
ที่เราจะเห็นได้ชัด ๆ ก็พวกที่ทอดน้ำมันในกระทะที่เราเห็น เช่น
ปาท่องโก๋ หรือไก่ทอด หมูทอด หรือเนื้อทอดที่เราเห็นและทานอยู่บ่อย ๆ
แต่ในอาหารอื่น ๆ ก็มีนะครับ เช่น เนยเทียม มาการีน ครีมเทียม โดนัท คุ้กกี้
ขนมกรุบกรอบในบรรจุภัณฑ์แทบทุกชนิด (รวมถึงมันฝรั่งทอด) ข้าวโพดคั่ว เป็นต้น
โดยหากต้องการให้สุขภาพดี ก็พึงลด หรือเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานส์เหล่านี้ครับ

๒. อาหารที่มีความเป็นกรดสูง
หากร่างกายเรามีความเป็นกรดสูงเกิน ก็จะเป็นผลเสียต่อสุขภาพ
ซึ่งแม้ว่าร่างกายแต่ละส่วนของเราจะมีความเป็นกรดด่างที่แตกต่างกันไปก็ตาม
หากเราทานอาหารที่มีความเป็นกรดสูงเป็นประจำแล้ว
ก็ย่อมจะทำให้ร่างกายเรามีความเป็นกรดสูงไปด้วย ก็จะเป็นผลเสีย
ในเรื่องนี้ ก็มีบางท่านบอกว่าไม่เกี่ยวกัน
เพราะร่างกายเราสามารถปรับความเป็นกรดด่างได้
โดยส่วนตัวแล้วผมไม่ค่อยเชื่อความเห็นแนวทางดังกล่าว เพราะว่าขัดแย้งกับเรื่องเหตุและปัจจัย
ยกตัวอย่างเช่น หากบอกว่าเราทานน้ำอัดลมเยอะ ๆ ทุกวันแทนน้ำเปล่า
แล้วจะส่งผลในทางสุขภาพเหมือนกับทานน้ำเปล่า ผมไม่เห็นด้วยครับ
เพราะใส่เหตุปัจจัยที่แตกต่างกัน ผลก็ย่อมจะแตกต่างกัน

ในเรื่องความเป็นกรดด่างของอาหารนี้ ก็ต้องคุยกันยาวมากเช่นกัน
ผมจึงขอให้ท่านที่สนใจในเรื่องนี้ไปศึกษาข้อมูลจาก
คลิปวิดีโอเรื่องการดูแลตัวเอง โดยอาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ดังนี้ครับ
http://youtu.be/_8-hvxXe5D0
http://youtu.be/M5yBg0xtCJ8
http://youtu.be/WoMMCsmNnjs

อนึ่ง ในคลิปเรื่องการดูแลตัวเองข้างต้น จะมีการกล่าวถึงเครื่องทำน้ำด่างด้วย
แต่ส่วนตัวแล้วผมเห็นว่าไม่จำเป็นนะครับ
เพียงแต่ว่าเราควรต้องทานอาหารที่เป็นด่างให้มากพอ
ซึ่งหลัก ๆ ก็คือบรรดาผักและผลไม้นั่นเอง
นอกจากนี้แล้ว หากเราทำน้ำคลอโรฟิลด์ทานเอง (ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น)
เราทานน้ำคลอโรฟิลด์ลงไป น้ำคลอโรฟิลด์นั้นก็จะมีฤทธิ์เป็นด่างครับ
ทำนองเดียวกับเราทานผักสมุนไพรต่าง ๆ นั้นลงไปแล้วมีฤทธิ์เป็นด่าง

๓. น้ำตาล
การทานอาหารที่ผสมน้ำตาลเยอะ ๆ ก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพเช่นกัน
ซึ่งในเรื่องของภัยอันตรายจากน้ำตาลนี้ ผมคงไม่ต้องให้ลิงค์อ้างอิงอะไร
เพราะท่านสามารถเข้ากูเกิ้ลแล้วค้นหาเองได้เลยครับ ง่ายมาก
โดยในเรื่องน้ำตาลนี้ เราไม่ได้มองแค่เพียงน้ำตาลที่เราตักปรุงในชามก๋วยเตี๋ยวเท่านั้น
แต่เราพิจารณารวมไปถึงอาหารหรือเครื่องดื่มทั้งหลายที่ผสมน้ำตาลมาเสร็จแล้ว
บางท่านอาจจะรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ตักน้ำตาลปรุงใส่อาหารที่ทานเลย
แต่ท่านอาจจะทานน้ำตาลมากในอาหาร ขนม และเครื่องดื่มที่ปรุงมาเสร็จแล้วก็ได้

๔. นมวัว
ในอดีตสมัยที่ผมยังเป็นเด็กก็มีการรณรงค์ให้ดื่มนมวัวนะครับ
แต่มาถึงยุคปัจจุบันก็เริ่มมีข้อมูลหลายแห่งที่แย้งว่า
จริง ๆ แล้วนมวัวนั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ซึ่งในเรื่องนี้ ท่านก็สามารถค้นหาข้อมูลในกูเกิ้ลได้เช่นกัน
แต่ผมขอให้ลิงค์บทความของอาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ดังนี้
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9550000134270

อนึ่ง ในเรื่องนมวัวนี้ บางครั้งเราก็ไม่ได้ทานนมวัวโดยตรง
แต่เราอาจจะทานอาหารที่มีส่วนผสมของนมวัวก็ได้
เช่น ขนม ไอศกรีม หรือเค้กบางประเภท หรือเราทานชาหรือกาแฟผสมนม เป็นต้น
โดยหลายท่านทานนมวัวแล้วเกิดอาหารเจ็บป่วยหรืออาการแพ้
แต่เมื่อลดละเลิกนมวัวแล้วทำให้อาการเจ็บป่วยหรืออาการแพ้ดีขึ้นก็มี

ทีนี้ บางท่านอาจจะสงสัยว่าแล้วถ้าไม่ให้เด็กดื่มนมวัวแล้ว เด็กจะเอาโปรตีนมาจากไหนล่ะ
ตอบว่ามีเด็กบางคนที่ผมรู้จักเขามีอาการแพ้นมวัว เขาก็ดื่มนมธัญพืชอื่น ๆ แทนได้นะครับ
แต่ทั้งนี้ ก็ไม่ได้เป็นการบังคับว่าจะต้องให้เด็กทุกคนเลิกดื่มนมวัว
โดยก็ขอให้เป็นทางเลือกและวิจารณญาณของพ่อแม่และผู้ปกครองครับ

๕. อาหารรสจัด และอาหารที่ปรุงแต่งโดยเคมี
ในส่วนของอาหารรสจัดนั้น ได้เคยคุยไปแล้วว่าควรเลี่ยงนะครับ
ไม่ว่าจะเค็มจัด หวานจัด เผ็ดจัด หรืออื่น ๆ ก็ตาม
ส่วนอาหารที่ปรุงแต่งด้วยเคมีมาก ๆ ก็ควรเลี่ยงเช่นกันครับ

๖. เนื้อสัตว์
เรื่องการงดทานเนื้อสัตว์นี้ก็เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันวุ่นวายมาก
ผมไม่ได้บอกว่าเราทุกคนจะต้องงดทานเนื้อสัตว์นะครับ (ผมเองก็ยังทานอยู่)
โดยขอให้ขึ้นกับจริตและเจตนาของแต่ละท่าน
แต่ถึงแม้ว่าเราจะไม่งดทานเนื้อสัตว์ก็ตาม
การที่ทานเนื้อสัตว์เยอะมากเกินไป ก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพเช่นกัน
เพราะเนื้อสัตว์ย่อยยาก มีฤทธิ์เป็นกรด และมีฤทธิ์ร้อนด้วย
นอกจากนี้ ยังอาจจะมีสารปรุงแต่งหรือเคมีอื่น ๆ ผสมมาด้วย
เช่น ฟอร์มาลีน หรือสารเร่งเนื้อแดง ในอาหารเนื้อสัตว์บางประเภท

๗. ยาและเคมีภัณฑ์อื่น ๆ
ในกรณีที่ไม่จำเป็น เราก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาและเคมีภัณฑ์ทั้งหลาย
อย่างบางท่านไม่ได้ป่วยอะไร แต่ก็ไปหายาหรือวิตะมินมาทาน โดยไม่จำเป็น
เหล่านี้ก็ควรหลีกเลี่ยงครับ โดยนอกจากเคมีภัณฑ์ที่ทานแล้ว
ในส่วนที่ทาภายนอก ก็ควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน เช่น กรณีที่เราย้อมผมก็ดี หรือทาเล็บก็ดี
เคมีภัณฑ์เหล่านั้นก็สามารถซึมเข้าร่างกาย และร่างกายก็ต้องทำงานกำจัดออก
ถ้ากำจัดไม่ออก ก็จะสะสมอยู่ในร่างกาย (เครื่องสำอางก็ด้วยนะครับ)
แต่ในเรื่องความสวยความงามนี้ ก็พูดยากครับ
บางท่านอาจจะบอกว่าเรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องจำเป็น อันนี้ก็แล้วแต่ละท่านครับ

นอกจากอาหารที่ควรเลี่ยงดังที่กล่าวแล้ว
ผมขอกล่าวถึงสิ่งที่ควรทานให้เพียงพอ ซึ่งก็คือ น้ำ
โดยการทานน้ำที่เพียงพอในแต่ละวันเป็นสิ่งที่จะช่วยเรื่องสุขภาพได้มาก
เพราะน้ำจะเข้าไปช่วยปรับสมดุลร้อนเย็น และช่วยเหลือการทำงานต่าง ๆ ในร่างกาย
ดังนั้นแล้ว หากท่านไหนที่ทานน้ำน้อยในแต่ละวัน
ก็ควรจะฝึกทานน้ำให้มากขึ้น โดยต้องทานให้เพียงพอครับ
โดยน้ำที่ทานควรจะเป็นน้ำเปล่าในอุณหภูมิปกตินะครับ
การทานน้ำเย็นช่วยให้รู้สึกเย็นสบายในบางครั้งก็จริง แต่จะส่งผลเสียครับ
เพราะร่างกายต้องสร้างความร้อนขึ้นมาสู้กับความเย็นของน้ำ
นอกจากนี้ ในเวลาทานอาหารก็ไม่ควรทานน้ำเย็น
เพราะว่าร่างกายต้องใช้ธาตุไฟ หรือความร้อนในการย่อยอาหาร

เรื่องของอาหารนี้สำคัญมากนะครับ
หลาย ๆ โรคที่ป่วยกันนั้นก็มาจากอาหารที่เราทานกันนี่แหละ
ผมรู้จักน้องคนหนึ่งที่มีอาการคลอเลสเตอรอลสูง
ซึ่งเขาก็ได้รับคำแนะนำว่าให้ควรทานยาลดคลอเลสเตอรอล
แต่เขาไม่เลือกเส้นทางที่จะทานยา โดยเลือกเส้นทางที่จะปรับอาหาร
ผมลองถามพฤติกรรมว่าปกติแล้วเขาทานอะไรบ้าง ซึ่งพอทราบข้อมูลแล้ว
ผมก็แนะนำให้เขาลดอาหารแค่ ๓ อย่าง คือ
ขนมทอดกรุบกรอบ (ที่เขาทานในที่ทำงานเวลาหิว)
นมวัว (ที่เขาทานพร้อมกับกาแฟ)
และอาหารทอดหรืออาหารมันต่าง ๆ (ที่เขาทานในมื้ออาหาร)
ผ่านไปประมาณ ๒ เดือน มาเจอกันอีกที ปรากฏว่าคลอเลสเตอรอลเขาปกติแล้ว

นอกจากนี้ ผมเคยสนทนากับพระภิกษุบางรูปที่จำวัดที่วัดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ
ท่านบอกว่าท่านเลือกอาหารไม่ได้ เพราะว่าเป็นพระรับบิณฑบาต
ผมกราบเรียนท่านว่า แม้ท่านเป็นพระภิกษุก็ตาม ท่านก็เลือกอาหารได้
เพราะว่าในบาตรของท่านรับอาหารมานั้น มีอาหารที่หลากหลาย
บางแห่งตักบาตรกันจนล้นบาตร จนต้องใส่ย่าม หรือมีศิษย์วัดช่วยถือก็มี
ในบรรดาอาหารที่ถวายมานั้น ท่านก็เลือกทานอาหารที่ไม่เสียสุขภาพ
โดยผมยกตัวอย่างว่าพี่น้อง ๒ คนอยู่ด้วยกันทุกวัน
ทานอาหารโต๊ะเดียวกัน แบ่งกับข้าวกินกันทุกวัน
แต่คนหนึ่งป่วย อีกคนหนึ่งไม่ป่วย เพราะการทานอาหารก็ได้
เช่น มีแกงเขียวหวานไก่ คนหนึ่งตักแต่ไก่ อีกคนหนึ่งตักมะเขือ
มีผัดผักบุ้งหมูกรอบ คนหนึ่งตักแต่หมูกรอบ อีกคนหนึ่งตักผักบุ้ง
มีต้มจืดฟักกระดูกหมู คนหนึ่งตักแต่กระดูหมู อีกคนหนึ่งตักฟัก เป็นต้น
คนที่ทานเนื้อสัตว์หรือของทอดของมันเยอะ ก็ป่วยง่ายกว่า
ส่วนคนทานผักเยอะ ก็ป่วยยากกว่า ก็เป็นธรรมดาของเหตุปัจจัยที่ใส่ลงไป

ดังนี้แล้ว การที่เรามีความรู้เรื่องการทานอาหารโดยไม่เสียสุขภาพ
และการที่เราปรับพฤติกรรมทางอาหารนี้
ไม่ได้แปลว่าจะทำให้เราต้องทำตัวผิดปกติหรือผิดมนุษย์คนอื่นทั่วไป
หรือร่วมโต๊ะอาหารกับเขาไม่ได้ หรือไปทานอาหารกับใครไม่ได้
เพียงแต่ว่าเราจะเลือกตักอาหารให้แก่ร่างกายอย่างเป็นประโยชน์
และจริง ๆ แล้ว หากลองปรับพฤติกรรมในเรื่องอาหารแล้ว
เราจะพบว่าการปรับพฤติกรรมดังกล่าวช่วยประหยัดเงินให้เราอีกด้วย

บางคนอาจจะบอกว่าหากปรับพฤติกรรมในเรื่องอาหารบางอย่างแล้ว
ตนเองก็จะสูญเสียความสุขในการได้เสพรสชาติอาหารบางอย่างนั้นไป
จึงเห็นว่าไม่คุ้มค่าที่ตนเองจะต้องปรับพฤติกรรมในเรื่องอาหาร
ในกรณีนี้ ผมจะขอเปรียบเทียบว่ากรณีคล้ายกับ
สมัยเด็ก ๆ เราอาจจะชอบเล่นของเล่นเด็กบางอย่างมาก ๆ
แต่พอโตขึ้นมาแล้ว เราก็เลิกชอบเล่นของเล่นเด็กดังกล่าวแล้ว
เราไม่สนใจแล้ว เราไม่ติดใจในของเล่นนั้นแล้ว เพราะเราเจอสิ่งอื่นที่น่าสนใจกว่า
ในทำนองเดียวกันครับ หากเราปรับพฤติกรรมในเรื่องอาหารได้แล้ว
เราจะได้เจอสิ่งที่น่าสนใจกว่า และน่าพอใจกว่า
ซึ่งก็คือการมีสุขภาพดี และการลดอาการเจ็บป่วยในร่างกาย
และที่สำคัญการพ้นจากการเป็นทาสของรสชาติอาหารเสียสุขภาพที่เราลดละเลิกได้นั้น

(ขอไปคุยต่อในตอนหน้าครับ)