Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๐๗

คุยเรื่องสุขภาพ (๕) – สมดุลร้อนเย็น

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 dhammajaree 207

(ต่อจากตอนที่แล้ว)

ในตอนที่แล้ว เราได้คุยกันในเรื่องเหตุที่ทำให้สุขภาพดีแล้ว
แต่ในเรื่องการสร้างเหตุที่จะทำให้สุขภาพดีนั้น ก็ยังมีรายละเอียดอื่น ๆ อีก
ซึ่งในคราวนี้ เราจะคุยกันในเรื่องของ “สมดุลร้อนเย็น” นะครับ
โดยเรื่องของสมดุลร้อนเย็นเป็นความรู้ที่นำมาจากพระสูตร
ซึ่งผมเห็นว่าท่านที่นำความรู้ในเรื่องนี้มาอธิบายได้ชัดเจนมากที่สุดคือ
อาจารย์หมอเขียว (ใจเพชร กล้าจน) ซึ่งเป็นผู้คิดค้นหลักการแพทย์วิถีธรรม

ในพระสูตรที่กล่าวถึงเรื่องสมดุลร้อนเย็นนี้ มีอยู่หลายพระสูตร ยกตัวอย่างเช่น
ใน “สังคีติสูตร” (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค) ได้กล่าวว่า
“ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีอาพาธน้อย มีทุกข์น้อย ประกอบด้วย
เตโชธาตุอันมีวิบากเสมอกัน ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก เป็นอย่างกลาง ๆ ควรแก่ความเพียร”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=11&A=4501&Z=7015&pagebreak=0
โดยในส่วนที่กล่าวว่า “ประกอบด้วยเตโชธาตุอันมีวิบากเสมอกัน
ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก เป็นอย่างกลาง ๆ” นี้แหละครับคือเรื่องสมดุลร้อนเย็น
ในทางกลับกันหากเตโชธาตุไม่เสมอกัน โดยเย็นเกิน หรือร้อนเกิน ก็ย่อมมีอาพาธมาก

นอกจากใน “สังคีติสูตร” แล้ว ยังมีพระสูตรอื่น ๆ อีกที่มีข้อความทำนองเดียวกัน
เพียงแต่อาจจะใช้คำอื่น ๆ เช่น ไฟธาตุสำหรับย่อยอาหารสม่ำเสมอ ยกตัวอย่างเช่น
ใน “โพธิราชกุมารสูตร” (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์) กล่าวว่า
“เธอเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง ประกอบด้วยไฟธาตุสำหรับย่อยอาหารสม่ำเสมอ
ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก เป็นปานกลางควรแก่ความเพียร”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=13&A=7663&Z=8236&pagebreak=0
ใน “กรรณกัตถลสูตร” (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์) กล่าวว่า
“ภิกษุเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง ประกอบด้วยไฟธาตุสำหรับย่อยอาหารอันสม่ำเสมอ
ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก เป็นปานกลาง ควรแก่การทำความเพียร”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=13&A=8962&Z=9194&pagebreak=0
ใน “ลักขณสูตร” (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค) กล่าวว่า
“มีพระโรคาพาธน้อย มีความลำบากน้อย
สมบูรณ์ด้วยพระเตโชธาตุอันยังอาหารให้ย่อยดี ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=11&A=3182&Z=3922&pagebreak=0
ใน “รัฐปาลสูตร” (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์) กล่าวว่า
“เดี๋ยวนี้เป็นผู้ไม่อาพาธ ไม่มีทุกข์ ประกอบด้วยไฟธาตุที่ย่อยอาหารสม่ำเสมอดี
ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก ไม่มีความเสื่อมเพราะความเจ็บไข้นั้นเลย”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=13&A=6825&Z=7248&pagebreak=0
ใน “อังคสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต) กล่าวว่า
“เป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง ประกอบด้วย
ไฟธาตุที่เผาอาหารให้ย่อยสม่ำเสมอ ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก เป็นปานกลาง”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=22&A=1505&Z=1521&pagebreak=0
ใน “มหาสุทัสสนสูตร” (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค) กล่าวว่า
“ทรงมีพระโรคาพาธน้อย มีทุกข์น้อย ประกอบด้วย
ไฟธาตุอันเกิดแต่วิบากสม่ำเสมอ ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=10&A=1888&Z=3915&pagebreak=0

การที่จะพิจารณาว่าทำอย่างไรเตโชธาตุจึงจะไม่เย็นเกิน และไม่ร้อนเกิน
มีรายละเอียดที่เราต้องทำความเข้าใจอยู่พอสมควร
โดยปัจจัยที่ทำให้เตโชธาตุร้อนเกิน หรือเย็นเกินนั้นมาจาก ๓ ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่
๑. อาหาร
๒. พฤติกรรมในการดำรงชีวิต
๓. ฤดู หรืออากาศภายนอก

อาหารเป็นส่วนสำคัญมากในการปรับสมดุลร้อนเย็น
ซึ่งมีทั้งในส่วนอาหารฤทธิ์ร้อนและอาหารฤทธิ์เย็น
แต่ผมขอนำไปอธิบายเป็นข้อสุดท้ายนะครับ เพราะว่ามีรายละเอียดเยอะมาก

“พฤติกรรมในการดำรงชีวิต” มีส่วนที่จะทำให้ร่างกายมีเตโชธาตุร้อนเกินได้
โดยหากเรามีพฤติกรรมใช้ชีวิตเร่งรีบ มักเคร่งเครียด มักโกรธ มักโมโห
ชอบนอนดึก ดื่มน้ำน้อย หรือใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บ่อย ๆ เป็นต้น
ทั้งหลายเหล่านี้ย่อมมีส่วนทำให้ร่างกายมีภาวะร้อนเกิน และก็ทำให้เจ็บป่วยได้

ในส่วนของ “ฤดูหรืออากาศภายนอก” ก็มีผลต่อเตโชธาตุร้อนเกินหรือเย็นเกินได้
เหมือนอย่างที่เราไปเจออากาศร้อนจัด หรืออากาศเย็นจัด
ก็ทำให้เตโชธาตุในร่างกายแปรปรวนและทำให้เจ็บป่วยได้
นอกจากนี้แล้ว ฤดูหรืออาการภายนอกยังมีผลต่ออาหารที่เราทานด้วย
เช่น สมมุติว่าเราอยู่ในประเทศหรือเมืองที่มีอากาศเย็น
เราก็ย่อมทานอาหารฤทธิ์ร้อนได้มาก เพราะทานแล้วทำให้ร่างกายอุ่นสบาย
แต่หากเราอยู่ในเมืองร้อน แล้วเราไปทานอาหารฤทธิ์ร้อนมาก ๆ
ก็อาจทำให้ร่างกายเรามีภาวะร้อนเกิน และทำเกิดอาการเจ็บป่วยได้
ในทางกลับกัน หากเราอยู่ในประเทศหรือเมืองที่มีอากาศเย็น
แล้วเราทานอาหารฤทธิ์เย็นมาก ก็อาจทำให้ร่างกายมีภาวะเย็นเกิน
และทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้เช่นกัน

ในส่วนของ “อาหาร” จะมีทั้งอาหารฤทธิ์ร้อน และอาหารฤทธิ์เย็น
ซึ่งคำว่า “ร้อน” หรือ “เย็น” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงอุณหภูมิของอาหารนะครับ
แต่หมายถึงธาตุของอาหารว่าเป็นธาตุร้อนหรือธาตุเย็น
ยกตัวอย่างเช่น เราทานทุเรียน หรือลำไยเยอะ ๆ แล้ว อาจทำให้เราร้อนในได้
เพราะทุเรียนและลำไยเป็นผลไม้มีฤทธิ์ร้อน
หรือคนโบราณหรือบางท่านแนะนำว่า
เมื่อทานทุเรียนแล้ว ให้ทานมังคุดตามไปด้วย
ตรงนี้ก็เพราะว่ามังคุดเป็นผลไม้ฤทธิ์เย็น จะช่วยบรรเทาฤทธิ์ร้อนได้

สำหรับรายละเอียดของอาหารฤทธิ์ร้อน และอาหารฤทธิ์เย็นนั้น
ผมขอนำข้อมูลจากหนังสือมาระบุ ดังต่อไปนี้
(อนึ่ง ข้อมูลเหล่านี้นำมาจากหนังสือตามที่ระบุในหมายเหตุตอนท้ายนะครับ
ซึ่งก็มีผัก สมุนไพร เห็ด หรือผลไม้บางชนิดที่ผมเองก็ไม่รู้จักเหมือนกัน)


อาหารฤทธิ์ร้อน

- กลุ่มคาร์โบไฮเดรตฤทธิ์ร้อน เช่น ข้าวเหนียว ข้าวแดง ข้าวดำ (ข้าวก่ำ ข้าวนิล)
ข้าวอาร์ซี ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ เผือก มัน กลอย อาหารหวานจัด
ขนมปัง ขนมกรุบกรอบ บะหมี่ซอง เป็นต้น

- กลุ่มโปรตีนฤทธิ์ร้อน เช่น เนื้อ นม ไข่ เห็ดโคน (เห็ดปลวก) เห็ดก่อ เห็ดไค
เห็ดหอม เห็ดหลินจือ ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วลิสง ถั่วทอดทุกชนิด
โปรตีนจากพืชและสัตว์ที่หมักดอง เช่น เต้าเจี้ยว มิโสะ โยเกิร์ต ซีอิ๊ว
แทมเป้ กะปิ น้ำปลา ปลาร้า เป็นต้น

- กลุ่มไขมัน เช่น รำข้าว จมูกข้าว ลูกก่อ งา เนื้อมะพร้าว กะทิ
เมล็ดทานตะวัน เมล็ดอัลมอนด์ เมล็ดฟักทอง เมล็ดมะม่วงหิมพานต์
เมล็ดกระบก น้ำมันพืช น้ำมันสัตว์ เป็นต้น

- กลุ่มผักฤทธิ์ร้อน ได้แก่ ผักที่มีรสเผ็ด เช่น กระชาย กระเพรา ยี่หร่า โหระพา
พริก แมงลัก กุ้ยช่าย (ผักแป้น) ต้นหอม หอมหัวใหญ่ หอมแดง กระเทียม
ผักชี พริกไทย (ร้อนมาก) ขิง ข่า (ข่าแก่จะร้อนมาก) ขมิ้น ไพล ใบมะกรูด ตะไคร้
เครื่องเทศ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีพืชบางชนิดที่ไม่มีรสเผ็ด แต่มีฤทธิ์ร้อน
(มีพลังงานความร้อนหรือแคลอรี่ที่มาก) เช่น คะน้า แครอท บีทรูท กะหล่ำปลี ชะอม
ถั่วฝักยาว ถั่วพู สะตอ ลูกเนียง กระเฉด ลูกตำลึง ฟักทองแก่ โสมจีน โสมเกาหลี
แปะตำปึง (ร้อนเล็กน้อย) ผักกาดเขียวปลี ใบยอ ผักโขม ใบปอ ผักแขยง
ยอดเสาวรส หน่อไม้ เม็ดบัว ไข่น้ำ (ผำ) สาหร่ายทะเล สาหร่ายน้ำจืด (เทา)
ไหลบัว รากบัว แพงพวยแพง ใบยอดและเมล็ดกระถิน พืชที่มีกลิ่นฉุน เป็นต้น

- กลุ่มผลไม้ฤทธิ์ร้อน เป็นกลุ่มผลไม้ที่ให้น้ำตาล วิตามินหรือธาตุอาหาร
ที่นำไปสู่ขบวนการเผาผลาญเป็นพลังงานความร้อน (แคลอรี่) ที่มาก เช่น
ฝรั่ง ขนุนสุก ลิ้นจี่ เงาะ ลำไย ทุเรียน น้อยหน่า สละ องุ่น ส้มเขียวหวาน กล้วยไข่
มะตูม ละมุด กล้วยปิ้ง ลูกลำดวน ลูกยางม่วง ลูกยางเขียว ลูกยางเหลือง ลองกอง
กระทกรก (เสาวรส) มะเฟือง มะปราง สมอพิเภก มะไฟ มะแงว ทับทิมแดง มะม่วงสุก
ลูกยอ กระเจี๊ยบแดง ระกำ (ร้อนเล็กน้อย) มะขามสุก (ร้อนเล็กน้อย) เป็นต้น

นอกจากนั้นแล้ว อาหารดังต่อไปนี้เป็นอาหารที่มีฤทธิ์ร้อนมาก ได้แก่
- อาหารที่ปรุงเค็มจัด มันจัด หวานจัด เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ฝาดจัด และขมจัด
- อาหารกลุ่มไขมัน เช่น รำข้าว จมูกข้าว ลูกก่อ งา เนื้อมะพร้าว กะทิ
เมล็ดทานตะวัน เมล็ดอัลมอนด์ เมล็ดฟักทอง เมล็ดมะม่วงหิมพานต์
เมล็ดกระบก น้ำมันพืช น้ำมันสัตว์
- เนื้อ นม ไข่ที่มีไขมันมาก รวมถึงที่มีสารเร่งเคมีมาก
- พืช ผัก ผลไม้ที่มีสารเคมีมาก
- อาหารที่ปรุงผ่านความร้อนนาน ๆ หรือผ่านความร้อนหลายครั้ง
ใช้ไฟแรงหรือใช้คลื่นความร้อนแรง ๆ
- อาหารใส่สารสังเคราะห์ ใส่สารเคมี
- อาหารใส่ผงชูรส
- สมุนไพร หรือยาที่กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดหรือบำรุงเลือด
- วิตามิน แร่ธาตุ และอาหารเสริมที่สกัดเป็นน้ำ ผง หรือเม็ด
(ยกเว้นว่ามีข้อบ่งชี้ชัดว่าขาดสารอาหารดังกล่าว)
- เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ คาเฟอีน หรือน้ำตาลที่มากเกินไป เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์
ชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น
- อาหารที่มีโซเดียมสูง ได้แก่ อาหารแปรรูปหรือสำเร็จรูปต่าง ๆ เช่น
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมอม ขนมกรุบกรอบ ขนมปัง อาหารกระป๋อง ไส้กรอก
หมูยอ กุนเชียง น้ำหมัก ข้าวหมาก ปลาเค็ม เนื้อเค็ม ไข่เค็ม ของหมักดอง
อาหารทะเล (จะมีทั้งไขมันและโซเดียมสูง) เป็นต้น
- น้ำร้อนจัด เย็นจัด และน้ำแข็ง

อาหารฤทธิ์เย็น

- กลุ่มคาร์โบไฮเดรตฤทธิ์เย็น เช่น น้ำตาล เส้นขาว (เส้นหมี่, เส้นก๋วยเตี๋ยวที่ไม่มีน้ำมัน)
วุ้นเส้น ข้าวขาว ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง (เหลือง) เป็นต้น
อนึ่ง อาหารกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ให้พลังงานความร้อน
ถ้าทานมากเกินไป ก็จะทำให้ร้อนเกินได้เช่นกัน
โดยปกติแล้ว ควรจะทานข้าวซ้อมมือหรือข้าวกล้องเป็นหลัก เพราะมีไฟเบอร์วิตามิน
และแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าคาร์โบไฮเดรตชนิดอื่น ๆ

- กลุ่มโปรตีนฤทธิ์เย็น เช่น ถั่วขาว ถั่วเขียว ถั่วเหลือง เห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า เห็ดหูหนู
เห็ดขอนขาว เห็ดลม (เห็ดบด) เห็ดตาโล่ เห็ดตีนตุ๊กแก เป็นต้น

- กลุ่มผักฤทธิ์เย็น เช่น อ่อมแซบ (เบญจรงค์) ผักบุ้ง ตำลึง ก้านตรง ผักหวานบ้าน
ผักหวานป่า บวบ ฟัก แฟง แตงต่าง ๆ มะละกอดิบหรือห่าม พญายอ (เสลดพังพอนตัวเมีย)
สายบัว หยวกกล้วย ก้านกล้วย กล้วยดิบ หัวปลี ยอดฟักข้าว ยอดฟักแม้ว
มะรุม หญ้าปักกิ่ง ว่านกาบหอย ว่านหางจระเข้ ว่านมหากาฬ ว่านง๊อก ทูน (ตูน)
ถั่วงอก มะเขือเทศ กระหล่ำดอก บร็อคโคลี่ กวางตุ้ง ผักกาดขาว
หัวไชเท้า (ผักกาดหัว) ผักกาดหอม อีหล่ำ อีสึก (ขุนศึก) ย่านางเขียว-ขาว
หมอน้อย ใบเตย รางจืด เหงือกปลาหมอ ลิ้นปี่ ผักแว่น ผักโหบเหบ มังกรหยก
ผักติ้ว ดอกสลิด (ดอกขจร) มะเดื่อ มะอึก ดอกแค ฟักทองอ่อน ยอดฟักทอง
ดอกฟักทอง ผักโสมไทย ยอดมะม่วงหิมพานต์ ใบก้างปลา ใบมะยม
ปวยเล้ง ตังโอ๋ ข้าวโพด ขนุนดิบ ใบมะขาม ใบส้มป่อย ส้มเสี้ยว ส้มรม ส้มกบ เป็นต้น

- กลุ่มผลไม้ฤทธิ์เย็น เช่น มังคุด มะยม แตงโม แตงไทย แคนตาลูป สับปะรด
ส้มโอ ส้มเช้ง ส้มซ่า ส้มเกลี้ยง กล้วยน้ำว้า กล้วยหักมุก แก้วมังกร กระท้อน
ลูกหยี เชอรี่ พุทรา สมอไทย ชมพู่ มะขวิด มะดัน มะละกอดิบหรือห่าม
(มะละกอสุกจะร้อนเล็กน้อย) มะม่วงดิบ มะขามดิบ หมากเม่า หมากผีผ่วน
น้ำมะนาว น้ำมะพร้าว ลูกท้อ แอปเปิ้ล สาลี่ ลางสาด สตรอเบอรี่ ทับทิมขาว เป็นต้น


ทั้งนี้ หากเราทานอาหารฤทธิ์ร้อนมากเกิน
ก็ย่อมมีส่วนทำให้มีภาวะร้อนเกิน และทำให้เจ็บป่วยได้
ในทางกลับกัน หากเราทานอาหารฤทธิ์เย็นมากเกิน
ก็จะทำให้มีภาวะเย็นเกิน และทำให้เจ็บป่วยได้เช่นกัน
โดยอาการเจ็บป่วยนั้นไม่ใช่แค่เพียงร้อนในหรือเป็นไข้เท่านั้นนะครับ
แต่อาการเจ็บป่วยในหลาย ๆ โรคที่หลายท่านเป็นอยู่นั้น
อาจะเกิดเพราะร่างกายขาดสมดุลร้อนเย็นดังที่กล่าว

หากเราลองพิจารณาสภาพการใช้ชีวิต และการทานอาหาร
ของเรา ๆ ท่าน ๆ ที่เป็นคนเมืองในสมัยปัจจุบันแล้ว
เราก็จะพบว่าสภาพการใช้ชีวิตของเรา และอาหารที่ทานนั้น
เป็นไปในทางที่จะทำให้ร่างกายเรามีภาวะที่ร้อนเกินเป็นส่วนมาก
เช่น ทำอะไรรีบเร่ง มีเรื่องเร่งด่วนมากมาย มีเรื่องให้เคร่งเครียดมาก
นอนดึก ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาก และทานอาหารฤทธิ์ร้อน เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้ย่อมทำให้ภาวะในร่างกายขาดความสมดุลและเกิดอาการเจ็บป่วยได้

ในการแก้ไขเรื่องดังกล่าวที่ต้นเหตุ เราก็พึงปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต
และปรับการทานอาหารของเราให้สมดุลมากขึ้น
โดยหากเรามีภาวะร้อนเกินในร่างกาย เราก็พึงทานอาหารฤทธิ์เย็นให้มากขึ้น
อนึ่ง ในส่วนของอาหารฤทธิ์ร้อนนั้นทำได้ไม่ยาก
แต่อาหารฤทธิ์เย็นนั้นทำค่อนข้างยากนะครับ
เพราะหากพิจารณาที่กล่าวข้างต้นแล้ว
จะเห็นได้ว่าในการปรุงอาหารฤทธิ์เย็นนั้น จะต้องไม่ปรุงอาหารรสจัด
และต้องไม่ปรุงผ่านความร้อนนาน ๆ ไม่ผ่านความร้อนหลายครั้ง
และไม่ใช้ไฟแรง ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะทำให้อาหารดังกล่าวกลายเป็นอาหารฤทธิ์ร้อน
ดังนั้น การปรุงอาหารฤทธิ์จึงจะต้องใช้ไฟอ่อน หรือไฟกลาง (ค่อย ๆ ทำใจเย็น ๆ)
หรือไม่อย่างนั้น ง่ายที่สุดก็คือทานผักฤทธิ์เย็นสด หรือผลไม้ฤทธิ์เย็นสดครับ
แต่ก็ต้องล้างให้สะอาด เพราะว่าผักและผลไม้ในยุคนี้ก็มียาฆ่าแมลงไม่น้อย
แม้กระทั่งในบางแห่งที่อ้างว่าเป็นปลอดยาฆ่าแมลงก็ตาม
เราก็ไม่แน่ใจว่าจะเชื่อถือได้แค่ไหน เพียงไร ดีที่สุดก็คือล้างให้สะอาดไว้ก่อน
(ขอไปคุยต่อในตอนหน้าครับ)


หมายเหตุ ๑. ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับอาหารฤทธิ์ร้อนและอาหารฤทธิ์เย็น
นำมาจากหนังสือข้อมูล “ถอดรหัสสุขภาพ เล่ม ๒
ความลับฟ้า: ถ้าสุขภาพพึ่งตนเกิดไม่ได้ หมอและคนไข้จะพากันป่วยตาย"
โดยหมอเขียว (ใจเพชร กล้าจน)
๒. ท่านที่สนใจศึกษาเรื่องสมดุลร้อนเย็นในรายละเอียดมากกว่านี้
แนะนำให้ศึกษาได้จากคลิปวีดีโอของกลุ่มแพทย์วิถีธรรม ในเว็บไซต์ youtube ดังนี้
https://www.youtube.com/user/fansclubmorkeaw/videos