Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๐๔

คุยเรื่องสุขภาพ (๓) – เหตุที่ทำให้ป่วย

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 At Hand 140729

(ต่อจากตอนที่แล้ว)

ในตอนที่แล้ว ได้คุยเรื่องความสำคัญที่เราควรแบ่งเวลามาศึกษาเรื่องสุขภาพนะครับ
ซึ่งในเรื่องของความสำคัญนี้ บางที เราอาจจะมองว่าเรามุ่งปฏิบัติธรรมอย่างเดียวก็พอ
โดยไม่ต้องสนใจเรื่องศึกษาและดูแลสุขภาพก็ได้
เพราะก็ไม่กลัวตายแล้ว ถ้าไม่ตาย ก็ปฏิบัติธรรมต่อไป
ถ้าตาย ก็เชื่อว่าน่าจะได้ไปภพภูมิที่ดี แล้วก็ไปปฏิบัติธรรมต่อไป
ซึ่งมุมมองนี้ก็น่าอนุโมทนาอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ดี ผมก็จะขอเสริมว่า แต่หากเราสามารถมีสุขภาพที่ดีด้วยแล้ว
ก็ย่อมจะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติธรรมด้วยนะครับ
โดยใน “โพธิราชกุมารสูตร” (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์) นั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนโพธิราชกุมารว่า
องค์แห่งความเพียร ๕ ประการนี้ ได้แก่
๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคต
ว่าแม้เพราะเหตุนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์
ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก
เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม
๒. เธอเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง ประกอบด้วยไฟธาตุสำหรับย่อยอาหารสม่ำเสมอ
ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก เป็นปานกลางควรแก่ความเพียร
๓. เธอเป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา เปิดเผยตนตามความเป็นจริง
ในพระศาสดาหรือในเพื่อนพรหมจรรย์ผู้เป็นวิญญูทั้งหลาย
๔. เธอเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยังกุศลธรรมให้เข้าถึงพร้อม
เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย
๕. เธอเป็นผู้มีปัญญา เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาอันเห็นความเกิดและดับเป็นอริยะ
สามารถชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
ทั้งนี้ ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์แห่งความเพียร ๕ ประการนี้
เมื่อได้ตถาคตเป็นผู้แนะนำพึงทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=13&A=7663&Z=8236

อนึ่ง ใน “กรรณกัตถลสูตร” (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์)
ได้สอนเรื่ององค์แห่งความเพียร ๕ ประการเหมือนกับในโพธิราชกุมารสูตร
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=13&A=8962&Z=9194

เราจะเห็นได้ว่าองค์แห่งความเพียรประการที่ ๒ ใน ๕ ประการ ได้แก่
“เธอเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง ประกอบด้วยไฟธาตุสำหรับย่อยอาหารสม่ำเสมอ
ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก เป็นปานกลางควรแก่ความเพียร” ก็เป็นเรื่องของสุขภาพที่ดี
เพราะถ้าหากเราเจ็บป่วยมาก การที่จะทุ่มเทประพฤติปฏิบัติ ก็จะทำได้ยาก
อย่างสมมุติว่าเราจะปฏิบัติอานาปานสติ แต่ว่าขณะนั้นเราเป็นหวัดคัดจมูก
มีน้ำมูกมากมายทำให้หายใจทางจมูกไม่สะดวก
ก็ย่อมจะทำให้เราปฏิบัติอานาปานสติได้ยาก เป็นต้น
ฉะนั้นแล้ว หากสามารถจะประพฤติปฏิบัติโดยมีสุขภาพดีด้วย ก็ย่อมจะเป็นประโยชน์ครับ

อนึ่ง กรณีก็มีเหมือนกันสำหรับบางท่านที่เวลามีสุขภาพดีนั้น ก็มักจะประมาท
ไม่รู้สึกว่าต้องรีบภาวนา แต่เวลาที่เริ่มป่วยเมื่อไร ก็เริ่มเห็นภัยแห่งสังสารวัฏ
แล้วก็เร่งรีบสนใจภาวนาในเวลาที่ป่วย อย่างนี้ก็มีเหมือนกัน
หรือ กรณีก็มีเหมือนกันสำหรับบางท่านที่เวลาแข็งแรงนั้น ก็เป็นคนขี้โกรธ มีโทสะมาก
ทะเลาะกับคนอื่นไปเรื่อย นั่นก็ไม่ยอม นี่ก็ไม่ได้ โน่นก็ไม่ถูกต้อง
แต่พอตนเองป่วยเป็นโรคร้ายแรงขึ้นมา ก็เริ่มเห็นชีวิตไม่เที่ยง
เริ่มรู้จักปลงปล่อยวาง หันเข้าหาทางธรรม และเลิกเป็นคนขี้โกรธ อย่างนี้ก็มีนะครับ
ในขณะเดียวกัน บางท่านที่ป่วยหนักจะแย่แล้ว แต่ก็ไม่เห็นธรรมอะไรเลย ก็มีเยอะ

ในเรื่ององค์แห่งความเพียรประการที่ ๒ นี้ เราอาจจะมองอีกมุมหนึ่งก็ได้ว่า
ในช่วงเวลาที่เรายังไม่ได้แก่ชราหรือเรายังมีสุขภาพแข็งแรงอยู่นี้
เรายังมีองค์แห่งความเพียรประการที่ ๒ อยู่
เราก็ควรจะใช้ช่วงเวลาที่เหมาะสมนี้มาประพฤติปฏิบัติธรรม
โดยหากปล่อยเวลาให้ผ่านพ้นไปแล้ว
เมื่อเราเข้าสู่ช่วงวัยชรา หรือมีสุขภาพร่างกายอ่อนแอ หรือมีโรครุมล้อมมากมาย
ก็ย่อมจะประพฤติปฏิบัติธรรมให้ถึงที่สุดแห่งพรหมจรรย์ได้ยากกว่า

ลำดับต่อมา เราจะเข้าเรื่องเหตุที่ทำให้เจ็บป่วยนะครับ
โดยใน “ปุตตสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต)
ได้กล่าวถึงเหตุที่ทำให้เกิดแก่เวทนาว่าเกิดได้จากปัจจัยเหล่านี้คือ
๑. มีดีเป็นสมุฏฐาน ๒. มีเสมหะเป็นสมุฏฐาน
๓. มีลมเป็นสมุฏฐาน ๔. ประชุมกันเกิดขึ้นก็ดี
๕. เกิดแต่ฤดูแปรปรวน ๖. เกิดแต่การบริหารไม่สม่ำเสมอ
๗. เกิดแต่บาดเจ็บก็ดี ๘. เกิดแต่ผลกรรม
หากเวทนาเหล่านี้ไม่บังเกิดขึ้นแก่เรามากนัก เราย่อมเป็นผู้มีอาพาธน้อย
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_line.php?B=21&A=2363

จากปุตตสูตร เราจะเห็นได้ว่าการเจ็บป่วยนั้น จะเกิดจากดี หรือเสมหะ
หรือลม (ภายในกาย) หรือทั้ง ๓ อย่างร่วมกันก็ได้
จะเกิดจากฤดูกาลแปรปรวนก็ได้ เช่น หากอากาศเปลี่ยนแปลงเร็ว ก็ทำให้เราป่วยได้
จะเกิดจากการบาดเจ็บก็ได้ จะเกิดจากผลกรรมก็ได้ จะเกิดจากการบริหารไม่สม่ำเสมอ
เช่น ออกกำลังกายไม่เหมาะสม หรือไม่ได้ออกกำลังกายก็ได้

ในส่วนที่ว่า “มีดีเป็นสมุฏฐาน” นี้ หนังสือบางเล่มบอกว่า “ดี” หมายถึง อวัยวะภายใน
แต่หากเราพิจารณา “สิวกสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค)
ซึ่งได้กล่าวถึงสมุฏฐาน ๘ ประการของเวทนาเช่นเดียวกับปุตตสูตร
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=18&A=6098&Z=6131
โดยในอรรถกถาของสิวกสูตรได้อธิบายว่า ปิตฺตสมุฏฺฐานานิ ได้แก่ มีดีเป็นปัจจัย
ก็อาจจะมองได้ว่า “ดี” หมายถึง “ปัตตัง” หรือ “น้ำดี” นะครับ
แต่ทั้งนี้ ในแหล่งข้อมูลบางแห่งได้อธิบายว่า
ปิตตะ (ดี) เป็นแหล่งกำเนิดความร้อน ทำให้ร่างกายอบอุ่น ช่วยย่อยอาหาร
วาตะ (ลม) เป็นแหล่งกำเนิดของกำลังการเคลื่อนไหว การไหลเวียนของเลือด
และควบคุมระบบร่างกาย ส่วนเสมหะ (เสลด) เป็นแหล่งกำเนิดกำลัง และความเข้มแข็ง
แต่สรุปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ ทั้งดี เสมหะ และลม หรือทั้งสามอย่างร่วมกันนี้
ย่อมอยู่ในกายนี้ และเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา และเกิดอาพาธได้
ดังนั้นแล้ว เราก็พึงจะต้องดูแลทั้งสามอย่างในกายนี้ให้เหมาะสมหรือสมดุล
โดยเราหลีกเลี่ยงไม่ใส่สิ่งที่เป็นพิษเข้าไปในร่างกาย และรู้จักวิธีขับพิษหรือล้างพิษออก

นอกจากเหตุ ๘ ประการในปุตตสูตร แล้ว ใน “สุขุมาลสูตร”
(พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต) ได้กล่าวถึงเหตุ ๘ ประการว่า
เวทนามีดีเป็นสมุฏฐานก็ดี มีเสมหะเป็นสมุฏฐานก็ดี มีลมเป็นสมุฏฐานก็ดี
ที่เกิดเพราะสันนิบาตก็ดี ที่เกิดเพราะฤดูเปลี่ยนแปรก็ดี
ที่เกิดเพราะการบริหารไม่เสมอก็ดี ที่เกิดเพราะความแก่ก็ดี ที่เกิดเพราะผลกรรมก็ดี
ย่อมไม่บังเกิดแก่เธอมาก เธอเป็นผู้มีอาพาธน้อย
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=22&A=3003&Z=3047
โดยในสุขุมาลสูตรได้เพิ่มอีกเหตุหนึ่งคือเหตุเพราะ “ความแก่” นะครับ

อีกพระสูตรหนึ่งที่กล่าวถึงเหตุที่ทำเกิดอาพาธคือ “อาพาธสูตร”
(พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต) โดยได้กล่าวว่า
“อาทีนวสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี
อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
กายนี้มีทุกข์มาก มีโทษมาก เพราะฉะนั้น อาพาธต่างๆ จึงเกิดขึ้นในกายนี้
คือโรคตา โรคหู โรคจมูก โรคลิ้น โรคกาย โรคศีรษะ โรคที่ใบหู โรคปาก โรคฟัน
โรคไอ โรคหืด โรคไข้หวัด โรคไข้พิษ โรคไข้เซื่องซึม โรคในท้อง โรคลมสลบ
โรคบิด โรคจุกเสียด โรคลงราก โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ โรคลมบ้าหมู
โรคหิดเปื่อย โรคหิดด้าน โรคคุดทะราด หูด โรคละออง บวม โรคอาเจียนโลหิต
โรคดีเดือด โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวง
อาพาธมีดีเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีเสมหะเป็นสมุฏฐาน
อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีไข้สันนิบาตเป็นสมุฏฐาน
อาพาธอันเกิดแต่ฤดูแปรปรวน อาพาธอันเกิดแต่การบริหารไม่สม่ำเสมอ
อาพาธอันเกิดแต่ความเพียรเกินกำลัง อาพาธอันเกิดแต่วิบากของกรรม
ความหนาว ความร้อน ความหิว ความระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ
ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นโทษในกายนี้ ด้วยประการดังนี้
ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าอาทีนวสัญญา”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=24&A=2597&Z=2711
โดยในอาพาธสูตรนี้ได้กล่าวเหตุที่ทำให้เกิดอาพาธอีกเหตุหนึ่งคือ
การเพียรเกินกำลังก็ย่อมทำให้เกิดอาพาธได้

สำหรับ “ไข้สันนิบาต” เป็นสมุฏฐานนี้ แหล่งข้อมูลบางแห่งอธิบายว่า
ไข้สันนิบาตเป็นอาการไข้ชนิดหนึ่ง มีอาการสั่นเทิ้มและเพ้อ
ซึ่งเชื่อกันว่า เกิดจากธาตุทั้งสาม คือ ดี เสมหะ และลม ไม่สมดุลกัน

ในบรรดาสมุฏฐานทั้งหลายที่ทำให้เกิดอาพาธดังที่ได้กล่าวมานี้
ส่วนใหญ่แล้ว เราสามารถจะบริหารจัดการได้บ้างเหมือนกันนะครับ
อย่างเช่นกรณีสมุฏฐาน คือดี เสมหะ ลม หรือทั้งสามอย่างร่วมกัน
เราก็สามารถดูแลร่างกายให้เหมาะสม โดยไม่ใส่สิ่งที่เป็นโทษลงไปในร่างกาย
กรณีสมุฏฐานคือการเพียรเกินกำลัง เราก็สามารถเพียรและพักให้พอดีได้
กรณีสมุฏฐานคือการบริหารไม่สม่ำเสมอ เราก็สามารถออกกำลังกายให้พอดีได้
(แต่ปัญหาของหลาย ๆ ท่านอาจจะเป็นว่าออกกำลังกายน้อยไปเสียมากกว่า)
กรณีสมุฏฐานคือวิบากกรรม อันนี้เราไปแก้ไขกรรมเก่าไม่ได้
แต่เราสามารถสร้างกรรมใหม่ดี ๆ ขึ้นมาเพื่อให้เกิดวิบากกรรมดี ๆ ได้
กรณีสมุฏฐานคือความแก่ อันนี้เราทำอะไรไม่ได้ครับ เราฝืนความแก่ไม่ได้
กรณีกรณีสมุฏฐานคือฤดูแปรปรวน อันนี้เราไปห้ามฤดูไม่ได้
แต่เราสามารถสังเกตและระวังดูแลสุขภาพตนเองในเวลาอากาศแปรปรวนได้ครับ

(ขอไปคุยต่อในตอนหน้าครับ)