Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๐๓

คุยเรื่องสุขภาพ (๒) – ความสำคัญที่ควรรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 dharmajaree 203

(ต่อจากตอนที่แล้ว)

ในตอนที่แล้ว เราได้คุยเรื่องสายน้ำแห่งความเจ็บป่วย
โดยได้คุยถึงการรักษาที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำไปแล้ว
ในตอนนี้ เราจะคุยเรื่องความสำคัญที่เราควรจะ
แบ่งเวลามาศึกษาเรื่องการดูแลสุขภาพครับ ซึ่งบางท่านอาจจะมองว่า
เราไม่จำเป็นต้องแบ่งเวลามาศึกษาเรื่องการดูแลสุขภาพก็ได้
เพราะวิทยาการหรือวิทยาศาสตร์ในยุคสมัยนี้เจริญมากแล้ว
เราสามารถทำมาหาเลี้ยงชีพของเราไปได้เรื่อย ๆ ตามปกติ
แล้วหากเราป่วยเมื่อไร เราก็ค่อยไปหาแพทย์ เพื่อให้แพทย์ช่วยทำการรักษาให้ก็ได้

ในมุมมองดังกล่าวดูเหมือนน่าจะดี เพราะเราสามารถทุ่มเทเวลาไปทำงานหาเงิน
และสามารถใช้ชีวิตหรือประพฤติตนไปตามปกติที่เราเคยชินหรือสะดวกสบาย
โดยไม่ต้องมาสละเวลาศึกษาเรื่องการดูแลสุขภาพหรือปรับพฤติกรรมอะไร
แต่ว่าจริง ๆ แล้ว มุมมองดังกล่าวมีข้อเสียอยู่หลายประการเลยทีเดียว เช่น
ข้อแรก การเจ็บป่วยบางอย่างนั้น ไม่ใช่ว่ามีเงินแล้วจะรักษาได้หายเสมอไป
บางคนก็ถึงกับเสียชีวิต บางคนก็ต้องทนทรมานอยู่กับอาการป่วยไปเรื่อย ๆ
ยกตัวอย่างเช่น สตีฟ จ็อบส์ ซึ่งป่วยและรักษาไม่หายจนกระทั่งเสียชีวิต เป็นต้น
(ท่านผู้อ่านอาจพิจารณากรณีของท่านอื่น ๆ ที่เราเคยเห็นตามข่าวก็ได้
ซึ่งก็มีหลายกรณีมากมายนะครับที่ว่าป่วยแล้วรักษาไม่หาย)
หรือในบางกรณีแม้ไม่ถึงกับเสียชีวิต แต่ผู้ป่วยก็ต้องทรมานกับอาการเจ็บป่วยนั้น ๆ
หรือต้องอยู่กับอาการเจ็บป่วยนั้นไปเรื่อย โดยไม่ทราบว่าจะหายได้อย่างไร และเมื่อไร
เช่นนี้ กรณีที่ปล่อยให้เจ็บป่วยไปก่อนแล้วค่อยไปหาหนทางรักษา จึงเป็นกรณีที่เสี่ยง
เพราะเราไม่มีทางรู้ได้ว่า เราจะป่วยเป็นโรคร้ายถึงตายหรือไม่ และจะรักษาหายหรือไม่

ข้อสอง ในเมื่อเราไม่ได้ศึกษาเรื่องการดูแลสุขภาพแล้ว
เราก็ไม่มีความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพว่า เพราะเหตุที่ประพฤติอย่างไร จึงทำให้ป่วย
และเพราะเหตุที่ประพฤติอย่างไร จึงจะทำให้ไม่ป่วยหรือทำให้หายป่วย
ผลก็คือเราก็ประพฤติตนไปในทางที่เราเคยชิน หรือสะดวกสบาย
ซึ่งทางนั้นอาจจะเป็นเหตุและปัจจัยที่ทำให้ป่วยก็ได้
จึงย่อมเท่ากับว่าเราเองได้สร้างเหตุและปัจจัยที่ทำให้เราป่วยไปเรื่อย โดยไม่รู้ตัว

ข้อสาม ในเวลาป่วย เราย่อมต้องเสียค่าใช้จ่ายและเวลาในการดูแลรักษาตัว
ซึ่งแม้ว่าบางท่านอาจจะมีบัตรประกันสุขภาพกลุ่มของที่ทำงานก็ดี
หรือมีบัตรประกันสังคมก็ดี หรือมีบัตรทอง ๓๐ บาทรักษาทุกโรคก็ดี
ทำให้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หรือเสียค่าใช้จ่ายน้อยก็ตาม
อย่างน้อยที่สุด เราก็ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการไปรับการรักษา
แต่หากกรณีที่เราไม่มีการประกันสุขภาพใด ๆ คุ้มครองแล้ว
ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคที่เราป่วยนั้นอาจจะสูงมากจนกระทั่ง
เงินที่เราเก็บสะสมไว้ หรือหามาได้นั้น ไม่เพียงพอ
ทำให้เราต้องไปกู้ยืมมาเพิ่มเติม หรือทำให้เราต้องขายทรัพย์สินสำคัญก็ได้

ข้อสี่ แม้ว่าแพทย์จะทำการรักษาให้เราหายจากการเจ็บป่วยนั้นได้ก็ตาม
แต่ในเมื่อเราไม่มีความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ จึงไม่ได้แก้ไขปัญหาที่ต้นน้ำ
แล้วเราก็จะยังสร้างเหตุและปัจจัยที่จะทำให้ป่วยขึ้นมาอีกไปเรื่อย
เราก็จะวนเวียนอยู่ในวงจรอุบาทว์ที่อยู่กับการป่วยและการรักษาไปเรื่อย ๆ
และเมื่อป่วยซ้ำไปซ้ำมา และรับยาเคมีมากขึ้น ๆ เป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว
เมื่อถึงจุดหนึ่ง ยาที่รับอยู่เดิมก็อาจจะไม่ได้ผล หรือต้องใช้ยาแรงขึ้น
หรือเปลี่ยนใช้วิธีการรักษาที่รุนแรงขึ้น หรือหมดทางรักษาก็ได้

ข้อห้า ในเมื่อเราเองก็ยังช่วยเหลือดูแลสุขภาพตัวเองไม่ได้แล้ว
ในเวลาที่คนในครอบครัวเราป่วย เช่น พ่อแม่พี่น้อง หรือลูกหลาน ก็ตาม
เราก็ไม่สามารถช่วยแนะนำหรือช่วยแก้ไขปัญหาที่ต้นน้ำให้แก่พวกเขาได้
พวกเขาก็ต้องมาวนวนเวียนอยู่ในวงจรอุบาทว์ที่อยู่กับการป่วย
และการรักษาเช่นเดียวกันกับเรา

ในทางตรงกันข้าม หากเราเลือกที่จะศึกษาและมีความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพไว้แล้ว
และเราสามารถปรับพฤติกรรม โดยลดหรือไม่ทำเหตุและปัจจัยที่ทำให้ป่วยแล้ว
ก็ย่อมจะส่งผลในทางตรงกันข้าม คือ
ข้อแรก เราไม่ต้องเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยก่อน แล้วไปหาแพทย์เพื่อให้ช่วยทำการรักษา
แต่เราลดเหตุและปัจจัยที่จะทำให้ป่วย ก็จะได้ผลคือความไม่ป่วย
และก็ไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ทำการรักษาใด ๆ
ข้อสอง เรามีความรู้ถึงเหตุและปัจจัยที่จะทำให้เราป่วย
เราก็ย่อมจะไม่หลงไปสร้างเหตุและปัจจัยที่ทำให้เราป่วย โดยไม่รู้ตัว
ข้อสาม เราไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและเวลาในการดูแลรักษาตัว เพราะเหตุเจ็บป่วย
ข้อสี่ เราสามารถเลี่ยงไม่ก่อเหตุและปัจจัยที่ทำให้เจ็บป่วย
อันเป็นการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาที่ต้นน้ำเช่นนี้แล้ว
เราก็ไม่ต้องวนเวียนอยู่ในวงจรอุบาทว์ที่อยู่กับการป่วยและการรักษาไปเรื่อย
ข้อห้า เราสามารถช่วยแนะนำหรือดูแลคนในครอบครัวได้ตามสมควร
(แต่ก็ไม่ได้แปลว่าแนะนำอะไรแล้วคนในครอบครัวจะเชื่อหรือปฏิบัติตามเสมอไป)

บางท่านอาจจะบอกว่าการสละเวลามาศึกษาเรื่องการดูแลสุขภาพนี้
เป็นการเสียเวลาที่จะไปทำมาหากิน หรือหาเงินมาเลี้ยงชีพ
ในประเด็นนี้ ผมขอให้ท่านลองพิจารณาว่า แล้วเวลาที่เราป่วยหนัก
และต้องไปรับการรักษา โดยต้องหยุดงานก็ดี หรือนอนค้างที่โรงพยาบาลก็ดี
ไม่ได้เป็นการเสียเวลาทำมาหากินหรือ? ไม่ได้เป็นการเสียเวลาหาเงินหรอกหรือ?
ในบางกรณีนั้น เงินที่เราหามาได้นั้นอาจจะไม่พอที่จะจ่ายค่ารักษาบางโรคด้วยซ้ำ
อนึ่ง ในประเด็นนี้ ผมเคยอ่านคำกล่าวของท่านหนึ่งซึ่งบอกว่า
มนุษย์บางคนนั้นยอมสละสุขภาพเพื่อให้ได้เงินมา
แต่หลังจากนั้น เขาก็ใช้เงินที่ได้มานั้นไปเพื่อการฟื้นฟูรักษาสุขภาพที่สละไป

ในกรณีของความสำคัญของการศึกษาและประพฤติเรื่องการดูแลสุขภาพนี้
ก็จะมองได้คล้าย ๆ กับความสำคัญของการศึกษาและประพฤติธรรมนะครับ
โดยความรู้และการประพฤติธรรมมีส่วนช่วยให้เราพ้นทุกข์ได้ตามลำดับ
และใช้ชีวิตในทางที่ถูกที่ควร โดยไม่ตกไปอยู่ในเส้นทางแห่งอกุศลธรรม
ซึ่งบางท่านก็อาจจะบอกว่าการศึกษาและประพฤติธรรมนี้ ยังไม่จำเป็นหรอก
โดยเราก็สามารถที่จะทำมาหาเลี้ยงชีพ หรือหาเงินไปเรื่อย ๆ ก่อนได้
แล้วเมื่อไรก็ตามที่เราทุกข์มากจนไม่สามารถแก้ไขได้แล้ว เราค่อยเข้าไปฟังธรรม
หรือค่อยหันไปศึกษาและประพฤติธรรม เพื่อคลายทุกข์นั้นก็ได้

ในมุมมองดังกล่าวดูเหมือนน่าจะดี เพราะเราสามารถทุ่มเทเวลาไปทำงานหาเงิน
โดยสามารถใช้ชีวิตไปตามปกติที่เราเคยชินหรือสะดวกสบาย
โดยไม่ต้องมาสละเวลาศึกษาและประพฤติธรรมอะไร
แต่ว่าจริง ๆ แล้ว มุมมองดังกล่าวมีข้อเสียอยู่หลายประการเลยทีเดียว เช่น
ข้อแรก เป็นการสูญเสียโอกาสที่จะได้เรียนรู้สิ่งสำคัญที่มีคุณค่าที่สุดในสังสารวัฏ
โดยเมื่อถึงเวลาที่เรามีความทุกข์มากจริง ๆ หรือเรามีปัญหาชีวิตหนักจริง ๆ
เราอาจจะไม่ได้มีโอกาสมาศึกษาและประพฤติธรรมแล้วก็ได้
หรือในเวลานั้น เราอาจจะหาพระธรรมคำสอนแท้ ๆ ไม่พบ เพราะแยกไม่ออก
และได้ไปศึกษาแต่สิ่งปลอมปนที่ไม่ใช่พระธรรมคำสอน
ซึ่งไม่ได้ช่วยให้เราพ้นทุกข์ได้ก็ได้
นอกจากนี้ มุมมองดังกล่าวย่อมเป็นการเสี่ยงที่เราเลือกจะปล่อยให้
ชีวิตตนเองประสบทุกข์หนักเสียก่อนแล้ว ค่อยไปหาทางแก้ไขในภายหลัง

ข้อสอง ในเมื่อเราไม่ได้ศึกษาและประพฤติธรรมแล้ว
เราก็ไม่มีความรู้ว่ากุศลเป็นอย่างไร อกุศลเป็นอย่างไร ศีลเป็นอย่างไร
สติเป็นอย่างไร สมาธิเป็นอย่างไร ปัญญาเป็นอย่างไร
เราก็อาจจะหลงไปใช้ชีวิตอยู่ในเส้นทางของอกุศลธรรม โดยไม่รู้ตัว
และโดยที่เราหลงเข้าใจว่าเส้นทางนั้นน่าจะดี และเป็นประโยชน์
(ทั้ง ๆ ที่เส้นทางนั้นเป็นเส้นทางที่ไม่ดี และเป็นโทษมหันต์)
ซึ่งก็ย่อมจะเป็นเหตุและปัจจัยให้เราประสบผลร้ายและทุกข์หนักในภายหน้า

ข้อสาม ในเมื่อเราไม่ได้ศึกษาและประพฤติธรรมแล้ว
เราก็ย่อมโดนความโลภเข้าครอบงำใจได้ง่าย
เช่นนี้แล้ว การหามาซึ่งทรัพย์ก็ดี การใช้จ่ายทรัพย์ก็ดี และการเก็บรักษาทรัพย์ก็ดี
ก็อาจเป็นไปอย่างไม่เหมาะสม เช่น หลงไปใช้เวลาชีวิตหาทรัพย์มาเกินที่จะใช้จ่าย
(ทำให้สูญเสียเวลาชีวิตไปโดยไม่คุ้มค่า แทนที่จะได้ใช้เวลาชีวิตทำสิ่งที่สำคัญอื่น ๆ)
หลงไปใช้ทรัพย์ที่หามาได้นั้นไปซื้อของฟุ่มเฟือยที่ไม่จำเป็น
หรือหลงไปเก็บสะสมทรัพย์ไว้เกินจำเป็น (และทำให้อยู่อย่างลำบากเกินสมควร) เป็นต้น

ข้อสี่ แม้ว่าเราจะไปศึกษาและประพฤติธรรมบ้าง เพื่อให้รู้สึกสบายใจก็ตาม
แต่หากเราไม่ได้มุ่งศึกษาและประพฤติธรรมตามที่สมควรแก่ธรรมแล้ว
เมื่อเราลดละเลิกการศึกษาและประพฤติธรรมดังกล่าวเมื่อไรแล้ว
เราก็จะกลับมาประสบความทุกข์ต่าง ๆ ในทำนองเช่นเดิมอีก
โดยเราก็ยังจะวนเวียนอยู่ในวงจรอุบาทว์นี้ต่อไปเรื่อย ๆ
คล้าย ๆ กับกรณีที่ผมเคยเห็นบางท่านที่มีแฟนแล้วอกหัก ก็เลยเข้าวัดเพื่อคลายทุกข์
พอทุกข์เบาบางแล้ว ก็กลับไปมีแฟนใหม่ แล้วก็อกหักอีก แล้วก็ไปเข้าวัดเพื่อคลายทุกข์
เรื่องราวก็จะวนเวียนซ้ำไปซ้ำมาอยู่อย่างนี้เป็นวงจรอุบาทว์
เพราะไม่ได้ตั้งใจที่จะศึกษาและประพฤติธรรมให้สมควรแก่ธรรม

ข้อห้า ในเมื่อเราเองก็ยังช่วยเหลือดูแลตัวเองไม่ได้แล้ว
ในเวลาที่คนในครอบครัวเราทุกข์มาก เช่น พ่อแม่พี่น้อง หรือลูกหลานก็ตาม
เราก็ไม่สามารถช่วยเหลือแนะนำให้พวกเขาประพฤติตนเพื่อคลายทุกข์ได้

บางท่านอาจจะบอกว่า การสละเวลามาศึกษาและประพฤติธรรมนี้
เป็นการเสียเวลาที่จะไปทำมาหากิน หรือหาเงินมาเลี้ยงชีพ
ในประเด็นนี้ ผมขอแย้งว่าจริง ๆ แล้ว การศึกษาและประพฤติธรรมนี้แหละ
กลับจะช่วยให้เราประหยัดเงินได้มากกว่าเสียอีก
เพราะในเมื่อเรามีสติและมีปัญญาทางธรรม เราไม่โดนความโลภครอบงำใจแล้ว
เราก็จะไม่โดนความโลภนำพาเราไปใช้จ่ายซื้อของฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น
หรือนำพาเราเข้าสู่อบายมุขต่าง ๆ เช่น เราไม่ต้องเสียเงินเพื่อดื่มสุรา
ไม่ต้องเสียเงินเพื่อเล่นการพนัน ไม่ต้องเสียเงินเพื่อเที่ยวกลางคืน เป็นต้น
นอกจากนี้แล้ว เมื่อเรามีความรู้สึกว่า “พอ” แล้ว
เราก็จะไม่หลงไปใช้เวลาชีวิตหาทรัพย์มาเกินความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่าย
ทำให้เรามีโอกาสใช้เวลาชีวิตไปกับเรื่องสำคัญที่เป็นประโยชน์และคุ้มค่าต่อชีวิตเรา

ในเรื่องเหล่านี้ หากเราจะพิจารณาถึงพระธรรมคำสอนแล้ว
ใน “มหาสุตโสมชาดก” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก) ได้สอนว่า
นรชนพึงสละทรัพย์เพราะเหตุแห่งอวัยวะอันประเสริฐ
เมื่อจะรักษาชีวิตไว้ พึงสละอวัยวะ
เมื่อระลึกถึงธรรม พึงสละทั้งอวัยวะ ทั้งทรัพย์ และแม้ชีวิตทั้งหมด
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=28&A=2258&Z=2606&pagebreak=0

หรือที่เราอาจจะเคยได้ยินคำสอนว่า พึงสละทรัพย์ เพื่อรักษาอวัยวะ
พึงสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต
พึงสละชีวิต อวัยวะ และทรัพย์ เพื่อรักษาธรรม นั่นเองนะครับ
จากคำสอนดังกล่าว แม้เรื่องสุขภาพนั้นจะไม่สำคัญเท่าเรื่องธรรมก็จริง
แต่ว่าเรื่องสุขภาพก็ยังสำคัญกว่าเรื่องทรัพย์นะครับ

ในเรื่องของการเจ็บป่วยนี้ หากเราจะพิจารณากัน โดยละเอียดจริง ๆ แล้ว
ครูบาอาจารย์ท่านสอนว่า จริง ๆ แล้ว กายนี้ก็เจ็บหรือป่วยอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้วล่ะ
เพียงแต่ว่าเราไม่ได้สังเกตเห็น หรือเราไม่ได้สนใจมองเห็นว่าร่างกายมันเจ็บ
ยกตัวอย่างเวลาเรานั่งเฉย ๆ นาน ๆ ก็จะมีอาการปวดหรือเมื่อยเป็นธรรมดา
ซึ่งการปวดหรือเมื่อยดังกล่าวก็ถือเป็นอาการเจ็บของร่างกายแล้ว
หรือหากเราไม่ได้ทานอาหารหรือดื่มน้ำ แล้วเกิดหิวหรือกระหายขึ้นมา
อาการหิวหรือกระหายนั้นก็ย่อมถือเป็นอาการเจ็บของร่างกายแล้ว
(บางท่านก็สอนว่าอาหารและน้ำเปรียบเสมือนยารักษาโรคหิวหรือกระหายด้วย)
หรือแม้การที่เราหายใจเข้าหรือหายใจออกอยู่ตลอดเวลา
ก็เป็นการทำเพื่อป้องกันอาการเจ็บของร่างกาย
เพราะหากเรากลั้นหายใจหรือหายใจไม่สะดวกแล้ว ก็ถือเป็นอาการเจ็บได้
ดังนั้น ถ้าจะพิจารณาในเชิงของการเกิด การแก่ การเจ็บ และการตายแล้ว
เราก็ย่อมเห็นได้ว่าร่างกายก็มีการแก่อยู่ตลอดเวลา และมีการเจ็บอยู่ตลอดเวลา
นอกจากนี้ ร่างกายถือเป็นรูป ก็มีการเกิด และการดับอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน
แต่ผมขอเรียนว่าในซีรีส์บทความเรื่องนี้
เราจะไม่ได้ไปเน้นคุยในเรื่องของการเจ็บโดยละเอียดในทำนองนี้นะครับ
แต่เราจะเน้นคุยในเรื่องของการเจ็บป่วยหรือโรคต่าง ๆ ตามความเข้าใจทั่ว ๆ ไป

ในท้ายนี้ ขอเรียนว่าอีกประการหนึ่งที่เราควรจะศึกษาเรื่องการดูแลสุขภาพนั้น
เนื่องจากคนป่วยในโลกนี้จะแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม
โดยใน “คิลานสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต) สอนว่า
ภิกษุทั้งหลาย คนไข้ ๓ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก คนไข้ ๓ จำพวกเป็นไฉน?
คือคนไข้บางคนในโลกนี้ ได้โภชนะที่สบายหรือไม่ได้ก็ตาม ได้เภสัชที่สบายหรือไม่ได้ก็ตาม
ได้อุปัฏฐากที่สมควรหรือไม่ได้ก็ตาม ย่อมไม่หายจากอาพาธนั้นได้เลย
คนไข้บางคนในโลกนี้ ได้โภชนะที่สบายหรือไม่ได้ก็ตาม ได้เภสัชที่สบายหรือไม่ได้ก็ตาม
ได้อุปัฏฐากที่สมควรหรือไม่ได้ก็ตาม ย่อมหายจากอาพาธนั้นได้
คนไข้บางคนในโลกนี้ ได้โภชนะที่สบายจึงหายจากอาพาธนั้น เมื่อไม่ได้ย่อมไม่หาย
ได้เภสัชที่สบายจึงหายจากอาพาธนั้น เมื่อไม่ได้ย่อมไม่หาย
ได้อุปัฏฐากที่สมควรจึงหายจากอาพาธนั้น เมื่อไม่ได้ย่อมไม่หาย
ภิกษุทั้งหลาย บรรดาคนไข้ ๓ จำพวกนั้น
เพราะอาศัยคนไข้ผู้ที่ได้โภชนะที่สบายจึงหายจากอาพาธนั้น เมื่อไม่ได้ย่อมไม่หาย
ได้เภสัชที่สบายจึงหายจากอาพาธนั้น เมื่อไม่ได้ย่อมไม่หาย
ได้อุปัฏฐากที่สมควรจึงจะหายจากอาพาธนั้น เมื่อไม่ได้ย่อมไม่หายนี้
เราจึงอนุญาตคิลานภัต อนุญาตคิลานเภสัช อนุญาตคิลานุปัฏฐากไว้
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=20&A=3167&Z=3200&pagebreak=0

อนึ่ง คิลานสูตรในพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยของมหามกุฏราชวิทยาลัย
ใช้คำว่า “ได้อาหารที่เหมาะ” “ได้ยาที่เหมาะ” “ได้พยาบาลที่สมควร”
ซึ่งส่วนตัวแล้ว ผมเห็นว่าเราน่าจะอ่านเข้าใจง่ายกว่า
คำว่า “โภชนะที่สบาย” “เภสัชที่สบาย” และ “อุปัฏฐากที่สมควร” นะครับ
ทีนี้ ในพระสูตรได้สอนว่าในโลกนี้จะมีคนไข้อยู่ ๓ กลุ่ม คือ
คนไข้กลุ่มแรกที่จะได้อาหาร ยา หรือพยาบาลอย่างไร ก็ไม่หายป่วย
คนไข้คนกลุ่มที่สองที่จะได้อาหาร ยา หรือพยาบาลอย่างไร ก็หายป่วยได้
และมีคนไข้คนกลุ่มที่สามที่จะต้องได้อาหาร ยา
หรือพยาบาลที่เหมาะหรือสมควรเท่านั้นจึงจะหายป่วยได้
แต่หากได้อาหาร ยา หรือพยาบาลที่ไม่เหมาะหรือไม่สมควรแล้ว ก็ไม่หายป่วย
เช่นนี้ ในเมื่อเราไม่สามารถทราบได้ว่าเราจะอยู่ในคนไข้กลุ่มที่สามหรือไม่
เราก็ควรที่จะศึกษาไว้ก่อนว่า อาหาร ยา หรือพยาบาลที่เหมาะและสมควรคืออะไร
เพื่อที่เราจะได้เลือกอาหาร ยา หรือพยาบาลที่เหมาะและสมควรนะครับ

(ขอไปคุยต่อในตอนหน้าครับ)