ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ ฉบับที่ ๔๕๘
มิถุนายน ๒๕๖๗
นั่งสมาธิแล้วรู้สึกว่าร่างกายโคลงเคลง เกิดจากสาเหตุใด
ถาม – นั่งสมาธิแล้วรู้สึกว่าร่างกายโคลงเคลง เกิดจากสาเหตุใดครับ
ตอบ – ที่ตัวโคลงเคลงเนี่ย คืออยากให้เข้าใจอย่างนี้ก็แล้วกัน
ที่คุณนึกว่าร่างกายมันเป็นอะไรแข็งๆ แบบนี้ จริงๆ แล้วมันไม่ใช่นะ
ข้างในมันเต็มไปด้วยน้ำเลือดน้ำเหลือง เต็มไปด้วยไออุ่น
แล้วก็ที่สำคัญเต็มไปด้วยความพัดไหว
อาการพัดไหวเนี่ยเขาเรียกว่าธาตุลม
แล้วก็ลักษณะโคลงเคลง บางทีมันเกิดขึ้นขณะที่ธาตุยังไม่สมดุล
ยังไม่เข้าที่ในแบบที่จะทำให้เกิดความนิ่ง ตั้งมั่น
มันก็พร้อมที่จะมีอาการเคลื่อนไหว มีแรงขับดันอยู่ข้างใน
ตรงนี้เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน คือให้สังเกตไป
ว่าตอนที่นั่งสมาธิแล้วมีอาการโคลงเคลง เรารู้อะไรบ้าง
บางทีเนี่ย บางคนนะคือมีอาการนิ่งๆ รู้ๆ อยู่
เหมือนกับจิตเนี่ยทรงๆ ตรงๆ อยู่กับที่อย่างนี้
แต่ว่ามันเห็นร่างกายโคลงไปเคลงมา
กับบางคนเนี่ยจิตมันส่ายไปส่ายมาตามร่างกาย
ให้สังเกตดูอย่างนี้ก่อน
ว่าตอนที่ร่างกายโคลงเคลง จิตของเราเป็นอย่างไรอยู่
ถ้าเราสังเกตอยู่ ถ้าเรารู้อยู่
ว่าสภาพของจิตมันต่างกับกายหรือเหมือนกับกายที่โคลงเคลง
สติตรงนั้นมันจะทำให้แยกออกว่าร่างกายกับจิตมันคนละอันกัน
ไม่มีอะไรให้น่าพะวง
แต่ถ้าจิตมันโคลงเคลงตามกายไปด้วย
มันปั่นป่วน มันกังวล มันมีความฟุ้งซ่าน ก็ให้รู้ว่าตอนนี้มันฟุ้งซ่าน
แล้วก็ดูไปว่าความฟุ้งซ่านจะลดระดับลงได้ไหม
ความกังวล ความห่วง ความพะวง
ว่าเดี๋ยวกายมันจะมีอาการผิดปกติอย่างไรไหม
จิตจะเตลิดไหม สติมันจะแตกไหม อะไรต่างๆ เนี่ย
ความกังวลแบบนั้นถ้าหากว่ายังคงอยู่เราก็ดูไป
แต่ถ้ามันหายไปเราก็รับรู้
รับรู้เพื่อให้เกิดอะไร เพื่อให้สติมันทำงาน
เห็นความไม่เที่ยงอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งเสียบ้าง
ไม่ว่าจะเป็นความไม่เที่ยงทางกาย หรือว่าเป็นความไม่เที่ยงทางใจ
จำไว้เลยสูตรสำเร็จของการเจริญสติ
ถ้าเห็นว่าสิ่งใดไม่เที่ยง ใจเรานะจิตเรานะจะฉลาดขึ้น
แล้วก็วางสิ่งนั้น ไม่ยึดไม่ถือให้หนัก
การที่ไม่ยึดไม่ถือให้หนักเนี่ย
ตัวนี้แหละที่จะทำให้คุณภาพของจิตมันสูงขึ้น
จิตมีความประณีตมากขึ้น มีความสว่างมากขึ้น
แล้วกายมันก็จะปรับไปตามจิต
พอจิตมีคุณภาพกายก็จะเริ่มมีคุณภาพตาม
อาการโคลงเคลงอาการสั่นไหวอะไรทั้งหลายเนี่ย
เดี๋ยวมันจะค่อยๆ หายไปเองนะครับ