Print

พาเที่ยว เอี่ยวธรรม - ฉบับที่ ๑๙๐

เปลี่ยนขยะให้เป็นบุญ

ngod-ngam2โดย งดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.


เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนในปี ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา
ผมได้เดินทางไปทำกิจธุระงานหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี
โดยภรรยาผมก็ได้เดินทางไปด้วยกันครับ
เธอบอกว่าเธอไปด้วยเผื่อว่าจะมีงานธุระอะไรให้เธอช่วยทำได้ จะได้แบ่งเบาภาระผม
แต่ในขณะเดียวกัน เธอก็ได้ทำรายชื่อร้านอาหาร และสถานที่ท่องเที่ยวที่เธออยากจะไป
และบอกให้ผมจัดสรรเวลาแวะสถานที่เหล่านั้นด้วย (เอ๊ะ ยังไงกัน ... ไปช่วยแน่หรือเปล่า?)

ในวันเดินทางกลับ เราก็ไปแวะน้ำตกเอราวัณ ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่ในรายการของเธอครับ
ผมจำไม่ได้ว่าผมเคยไปน้ำตกเอราวัณมาก่อนหรือเปล่า
ซึ่งถ้าเลือกได้แล้ว ผมก็อยากจะไปแวะชมวัดต่าง ๆ มากกว่าจะไปชมน้ำตก
ไม่ใช่ว่าน้ำตกไม่สวยนะครับ แต่ว่าจริตเราอยากจะไปเข้าวัดมากกว่า
แต่ว่าอันนี้ผมก็ไม่มีสิทธิเลือกนะครับ
เพราะบางทีนั้น คนเราก็พึงทำในสิ่งที่เราทำแล้วจะทำให้สันติภาพบังเกิดในชีวิต :)
โดยสิ่งนั้นก็ไม่ได้ผิดศีลธรรมอะไร และไม่ได้เป็นอกุศลอะไรด้วย เราก็พึงทำครับ

น้ำตกเอราวัณอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเอราวัณ
ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลท่ากระดาน อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี
น้ำตกจะมีทั้งหมด ๗ ชั้น โดยมีชื่อน้ำตก และระยะทางจากหน้าประตูเรียงลำดับ ดังต่อไปนี้
ชั้นที่ ๑ ไหลคืนรัง (๕๐๐ เมตร)
ชั้นที่ ๒ วังมัจฉา (๖๐๐ เมตร)
ชั้นที่ ๓ ผาน้ำตก (๗๐๐ เมตร)
ชั้นที่ ๔ อกผีเสื้อ (๑,๐๕๐ เมตร)
ชั้นที่ ๕ เบื่อไม่ลง (๑,๕๕๐ เมตร)
ชั้นที่ ๖ ดงพฤกษา (๑,๗๕๐ เมตร)
ชั้นที่ ๗ ภูผาเอราวัณ (๒,๐๐๐ เมตร)
สังเกตว่าชื่อน้ำตกทั้ง ๗ ชั้นจะอ่านออกเสียงได้คล้องจองกันนะครับ

ภรรยาผมซึ่งเป็นคนเลือกมาสถานที่นี้ แต่เธอบอกว่าเราไปแค่น้ำตก ๒ ชั้นก็พอ
คือไปชั้นที่ ๑ และชั้นที่ ๒ ก็พอ
เพราะถ้าจะเดินครบทั้ง ๗ ชั้นจะต้องใช้เวลาประมาณ ๓ ชั่วโมง
ระยะทางเดินไป ๒ กิโลเมตร และเดินกลับอีก ๒ กิโลเมตร รวมเป็น ๔ กิโลเมตร
โดยเธอเกรงว่าจะไม่มีเวลาเหลือพอสำหรับไปสถานที่อื่น ๆ อีกในวันนั้น
ผมเสนอกับเธอว่า ถ้าเราไปแค่ ๒ ชั้น ก็คือไปไม่ครบ
แล้วถ้าวันหลัง เธอเกิดอยากจะไปให้ครบขึ้นมา เราก็ต้องมาเดิน ๒ ชั้นนี้ใหม่อีก
ผมจึงเสนอว่าไหน ๆ ก็มาแล้ว เราก็ควรเดินไปให้ถึงและครบ ๗ ชั้นเลย
ดีกว่าจะมาหน่อยหนึ่งแล้วกลับ แล้ววันหลังก็จะมาอีก อย่างนั้นจะยิ่งใช้เวลามากกว่าเดิม
เธอฟังแล้วก็เห็นด้วย เราจึงตกลงกันว่าจะเดินน้ำตกให้ครบทั้ง ๗ ชั้น

ถ้าเป็นสมัยก่อนที่ผมยังไม่ได้หันมาศึกษาธรรมะและสนใจการภาวนาและปฏิบัติธรรมแล้ว
ผมก็คงจะเดินกับภรรยา โดยช่วยป้องกันการลื่นล้ม ช่วยถ่ายรูป และช่วยถือของเท่านั้น
แต่ในเมื่อได้เริ่มมาสนใจการภาวนาและปฏิบัติธรรมแล้ว
ในการเดินขึ้นไปชมน้ำตกนี้ เราก็สามารถเดินฝึกเจริญสติรู้สึกตัวไปด้วยได้ครับ
โดยไม่ว่าเราจะไปเดินเที่ยวที่ไหนก็ตาม เราสามารถเดินเจริญสติรู้ตัวได้

เมื่อผมเดินไปได้สักระยะหนึ่งแล้ว มองไปตามพื้นก็เห็นมีเศษขยะชิ้นเล็ก ๆ อยู่บ้าง
ใจก็รู้สึกว่าอยากจะทำประโยชน์โดยช่วยเก็บขยะตามพื้นหรือตามทางเหล่านี้
ขยะชิ้นเล็ก ๆ ส่วนมากที่เห็นก็จะเป็นสติ๊กเกอร์ทัวร์ของชาวต่างประเทศครับ
เพราะว่ามีชาวต่างประเทศมาเที่ยวสถานที่นี้เยอะมาก
โดยแต่ละท่านก็จะมีสติ๊กเกอร์แปะไว้ว่ามาจากทัวร์ไหนกันบ้าง
แล้วสติ๊กเกอร์เหล่านี้ก็หล่นตามทางเยอะมาก
นอกจากนี้ ก็มีก้นบุหรี่ กระดาษห่อพลาสเตอร์ยา ชิ้นพลาสเตอร์ยา
เศษกระดาษ เศษชิ้นพลาสติก หนังยาง เป็นต้น

ตอนที่เริ่มอยากจะช่วยเก็บขยะนั้น ผมอยู่ที่บริเวณน้ำตกชั้น ๒ นะครับ
แต่ผมก็ไม่ได้มีถุงพลาสติกที่จะมาเก็บขยะด้วย
แต่เมื่อเดินไปอีกหน่อย และมองไปรอบ ๆ แล้ว
ก็ได้เห็นถุงพลาสติกสีขาวใบหนึ่งจมอยู่บนพื้นดินใกล้ ๆ ธารน้ำ
จึงไปหยิบมาล้างน้ำเสียหน่อย แล้วก็ใช้เป็นถุงสำหรับงานเก็บขยะได้ครับ
ดังนั้นแล้ว ในการเดินน้ำตกคราวนี้ นอกจากจะเดินช่วยป้องกันการลื่นล้ม ช่วยถ่ายรูป
ช่วยถือของของภรรยา และเดินเพื่อฝึกเจริญสติแล้ว ยังได้ทำประโยชน์ช่วยเก็บขยะด้วย

ในโอกาสนี้ ผมก็ขอนำภาพและคลิปวิดีโอน้ำตกทั้ง ๗ ชั้นมาฝากท่านผู้อ่านนะครับ
ซึ่งขอเรียนก่อนว่า ถ้าไปค้นดูภาพในอินเตอร์เน็ตแล้ว จะพบภาพที่ท่านอื่นถ่ายได้สวยกว่านี้นะครับ
โดยผมถ่ายแบบมือสมัครเล่น ก็ถ่ายได้เท่าที่ถ่ายได้นะครับ (บรรยากาศจริงจะสวยกว่าที่ผมถ่ายด้วย)
กล้องที่ผมใช้ถ่ายภาพ และถ่ายคลิป ก็เป็นกล้องถ่ายรูปอัตโนมัติแบบธรรมดาครับ
ประกอบกับช่วงที่ผมเดินทางไปนี้ เป็นช่วงที่น้ำไม่ค่อยเยอะครับ ถ้าน้ำเยอะก็จะสวยกว่านี้


ภาพที่ ๐๑ น้ำตกชั้นที่ ๑ ไหลคืนรัง
01-F1


ภาพที่ ๐๒ ปลาพลวงในบริเวณน้ำตกชั้นที่ ๑
02-F1

คลิปวิดีโอที่ ๐๑ น้ำตกชั้นที่ ๑ ไหลคืนรัง ซึ่งจะเห็นว่ามีปลาพลวงในบริเวณน้ำตกด้วยนะครับ
http://youtu.be/8Idp3kEb7zU


ภาพที่ ๐๓ น้ำตกชั้นที่ ๒ วังมัจฉา โดยจะสังเกตได้ว่ามีคนเล่นน้ำอยู่ใต้น้ำตกด้วย
03-F2

คลิปวิดีโอที่ ๐๒ น้ำตกชั้นที่ ๒ วังมัจฉา โดยจะเห็นว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศ
http://youtu.be/L41ST7Tytiw


ภาพที่ ๐๔ น้ำตกชั้นที่ ๓ ผาน้ำตก
04-F3

คลิปวิดีโอที่ ๐๓ น้ำตกชั้นที่ ๓ ผาน้ำตก
http://youtu.be/KUYdbx7E1bg


ภาพที่ ๐๕ น้ำตกชั้นที่ ๔ อกผีเสื้อ
05-F4

คลิปวิดีโอที่ ๐๔ น้ำตกชั้นที่ ๔ อกผีเสื้อ ซึ่งคลิปนี้สนุกกว่าคลิปอื่น
เพราะจะมีนักท่องเที่ยวเล่นสไลเดอร์ลงมาจากก้อนหินทางด้านขวาด้วย
http://youtu.be/DimPSnUwIK8


ภาพที่ ๐๖ น้ำตกชั้นที่ ๕ เบื่อไม่ลง
06-F5

คลิปวิดีโอที่ ๐๕ น้ำตกชั้นที่ ๕ เบื่อไม่ลง
http://youtu.be/UbbkpkRIdjw


ภาพที่ ๐๗ น้ำตกชั้นที่ ๖ ดงพฤกษา ซึ่งต้องขอเรียนว่า ในอันที่จริงแล้ว
น้ำตกชั้นที่ ๖ จะมีมุมอื่นที่ถ่ายภาพได้สวยกว่านี้นะครับ (โดยผมดูจากภาพในแผนพับที่แจกในอุทยาน)
แต่ว่าผมสามารถเข้าไปถ่ายได้ถึงแค่มุมนี้ครับ เพราะไม่ได้เล่นน้ำ ถ้าเข้าไปอีกก็ต้องเปียกทั้งตัวแล้ว
หรือไม่ผมก็อาจจะไม่ทราบทางเดินที่เข้าไปถ่ายมุมสวยได้โดนไม่ต้องลุยน้ำครับ
07-F6

คลิปวิดีโอที่ ๐๖ น้ำตกชั้นที่ ๖ ดงพฤกษา ซึ่งขอเรียนเช่นกันครับว่า
น้ำตกชั้นที่ ๖ จะมีมุมอื่นที่ถ่ายคลิปได้สวยกว่านี้ แต่ว่าผมสามารถเข้าไปถ่ายได้แค่มุมนี้ครับ
http://youtu.be/hCdfKKkRjpo

ภาพที่ ๐๘ มุมหนึ่งระหว่างทางไปน้ำตกชั้นที่ ๖ ดงพฤกษา
เห็นว่าเป็นหินแนวกลมโค้งน่าแปลกตาจึงถ่ายไว้
08-F6

คลิปวิดีโอที่ ๐๗ มุมหนึ่งระหว่างทางไปน้ำตกชั้นที่ ๖ ดงพฤกษา
http://youtu.be/h3dlwu5f8KI

ภาพที่ ๐๙ น้ำตกชั้นที่ ๗ ภูผาเอราวัณ
09-F7


ภาพที่ ๑๐ น้ำตกชั้นที่ ๗ ภูผาเอราวัณ
10-F7


ภาพที่ ๑๑ ป้ายสิ้นสุดเส้นทาง (End of trail) ในบริเวณน้ำตกชั้นที่ ๗ ภูผาเอราวัณ
11-F7

คลิปวิดีโอที่ ๐๘ น้ำตกชั้นที่ ๗ ภูผาเอราวัณ
โดยก็จะเห็นนักท่องเที่ยวมาถ่ายรูปกับป้าย End of trail กันด้วยนะครับ
http://youtu.be/nX8QllhyuJ8


ทางเดินนี้จากน้ำตกชั้น ๒ ไปถึงน้ำตกชั้นที่ ๗ นี้ไม่ใช่จะเดินง่าย ๆ นะครับ
บางช่วงก็ต้องปีน บางช่วงก็เป็นดินลื่น บางช่วงก็ต้องลุยน้ำครับ
ซึ่งหลังจากที่เราได้เดินไปถึงน้ำตกชั้นที่ ๗ ภูผาเอราวัณแล้ว เราก็เดินกลับลงมาครับ
โดยระหว่างทางที่เก็บขยะนี้ ผมได้เจอขยะชิ้นใหญ่เหมือนกัน
คือเจอกล่องโฟมกล่องหนึ่ง และรองเท้าอีก ๒ ข้าง
และผมได้มีโอกาสเจอถังขยะระหว่างทางใบหนึ่ง
จึงได้ทิ้งขยะชิ้นใหญ่ และเทขยะออกจากถุงไปรอบหนึ่ง
ซึ่งเมื่อลงกลับมาถึงที่น้ำตกชั้น ๑ แล้ว ผมก็เหลือขยะในถุงตามภาพด้านล่างนี้ครับ


ภาพที่ ๑๒ ถุงใส่ขยะที่เก็บได้
12


หากจะให้ผมกะประมาณแบบคร่าว ๆ แล้ว
ผมเชื่อว่าผมน่าจะเก็บพวกขยะเล็ก ๆ (เช่น สติ๊กเกอร์ ก้นบุหรี่ ฯลฯ) ได้ไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ ชิ้นนะครับ
ส่วนจำนวนที่แน่นอนนั้นไม่ได้นับไว้
จากเหตุการณ์นี้ ผมขอเสนอทางเลือกให้กับท่านผู้อ่านนะครับว่า
ถ้าเราได้มีโอกาสไปเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวแห่งไหนแล้ว
เรามีโอกาสช่วยทำประโยชน์ใด ๆ ได้แล้ว (เช่น เก็บขยะ) ก็น่าจะช่วยกันครับ

อนึ่ง ผมเคยไปเที่ยววัดแห่งหนึ่งที่ต่างจังหวัด และได้แวะเข้าห้องน้ำ
ญาติธรรมที่ได้ไปด้วยและเข้าห้องน้ำก่อนผมออกมาบอกว่าห้องน้ำไม่สะอาดเลย
พอผมเข้าไปแล้ว ก็เห็นว่าไม่สะอาดจริง ๆ แต่ว่าเห็นมีไม้ขัดห้องน้ำวางอยู่ด้วย
แทนที่ผมจะใช้ห้องน้ำเฉย ๆ พอใช้ห้องน้ำเสร็จแล้ว ผมก็ล้างห้องน้ำเสียเลย
ซึ่งญาติธรรมที่ไปด้วย ก็รอผมอยู่พักหนึ่งเหมือนกันครับ แต่เขาเข้าใจว่าเราปวดท้องหนัก
ซึ่งผมพอล้างเสร็จแล้ว ห้องน้ำก็สะอาดครับ
กรณีนี้ย่อมเท่ากับว่า เราได้ทำประโยชน์ให้กับวัดนั้น ๆ ครับ
หรือเราอาจจะระลึกในใจว่าทำความสะอาดห้องน้ำถวายสงฆ์ทั้งปวง
และทำประโยชน์ให้กับโยมทั้งหลายที่มาวัดอย่างไม่มีประมาณก็ได้
เมื่อทำเสร็จแล้ว เราก็อุทิศบุญกุศลให้เจ้ากรรมนายเวรและสัตว์โลกทั้งหลายได้อีกด้วย

เมื่อลงมาถึงน้ำตกชั้นที่ ๑ และผมได้ถ่ายรูปถุงขยะไว้แล้ว ใจผมก็คิดนะครับว่า
“เอ ทำไมถึงได้มีขยะเยอะเหมือนกันนะ ขยะบางชิ้นนั้น คนทิ้งเขาคงไม่ตั้งใจ
อย่างเช่นสติ๊กเกอร์นี้สามารถหลุดหล่นได้โดนไม่ทันเห็น
แต่บางชิ้นนั้น เป็นการตั้งใจทิ้ง เช่น ก้นบุหรี่ เป็นต้น ทำไมเขาถึงทิ้งขยะล่ะ”
แต่เมื่อใจคิดดังนั้นแล้ว ใจมันก็คิดไปเองอีกนะครับว่า
“อ้าว แล้วถ้าไม่มีคนทิ้งขยะเหล่านี้ และไม่มีขยะเลย ก็จะไม่มีขยะให้เราเก็บในวันนี้น่ะสิ”
ฉะนั้นแล้ว ขยะในสถานที่ท่องเที่ยวแม้ว่าจะไม่ดี แต่เราสามารถทำดีจากขยะได้นะครับ
โดยที่เราไม่ต้องไปโกรธหรือไม่พอใจขยะ หรือคนทิ้งขยะเหล่านั้นเลย
ใจเราก็แสดงความเป็นอนัตตาให้เราดูนะครับ โดยเขาคิดเรื่องไม่พอใจคนอื่นขึ้นมา
แล้วก็มาคิดเรื่องกุศล มาสอนธรรมะให้เราเองได้ด้วย

กรณีก็เหมือนกับห้องน้ำในวัดที่ไม่สะอาดนะครับ หรือจะมีคนทิ้งขยะในวัดก็ตาม
ถ้าเราจะดีแต่จะบ่นตำหนิคนที่ทำไม่สะอาด หรือคนที่ทิ้งขยะนั้นแล้ว
เราน่าจะลองเปลี่ยนมุมมองเราว่า เราน่าจะทำประโยชน์หรือสร้างกุศลได้จากตรงนั้น
โดยช่วยกันทำความสะอาด หรือช่วยกันเก็บขยะได้ครับ
อันนี้ก็เป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนขยะให้เป็นบุญ
หรือเปลี่ยนอกุศล (ของคนอื่น) ให้เป็นกุศล (ของเรา) นะครับ