Print

พาเที่ยว เอี่ยวธรรม - ฉบับที่ ๑๘๘

อ่านพุทธประวัติที่เขาดีสลัก

ngod-ngam2โดย งดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.


ผมเคยเดินทางไปจังหวัดสุพรรณบุรีอยู่หลายครั้ง
โดยส่วนใหญ่แล้วก็จะพาญาติผู้ใหญ่ไปทำบุญแวะเวียนอยู่ตามวัดในอำเภอเมือง
แต่เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ญาติท่านหนึ่งที่ไปด้วยแนะนำให้ไปที่อำเภออู่ทอง
ซึ่งเมื่อได้เดินทางไปแล้ว ก็พบว่ามีสถานที่น่าสนใจและน่าเที่ยวหลายแห่งนะครับ
ในบทความนี้ ผมก็ขอแนะนำวัดแห่งหนึ่งในอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
ชื่อ “วัดเขาดีสลัก” โดยภายในวัดแห่งนี้มีสถานที่น่าสนใจหลายแห่ง
เช่น รอยพระพุทธบาทวัดเขาดีสลัก ซึ่งเป็นรอยพระพุทธบาทจำลองสร้างด้วยหินทรายแดง
มีลักษณะแตกต่างจากรอยพระพุทธบาทที่พบตามที่อื่น ๆ คือ เป็นรอยพระพุทธบาทนูนต่ำ
รอยพระพุทธบาทวัดเขาดีสลักนี้ประดิษฐานอยู่ในมณฑปบนภูเขา ซึ่งสามารถขับรถขึ้นไปได้ครับ

patiew 01
(ภาพ ๐๑ รอยพระพุทธบาทวัดเขาดีสลัก ซึ่งเป็นรอยพระพุทธบาทนูนต่ำ)


ในวัดเขาดีสลักยังมีประติมากรรมหินแกะสลักเล่าเรื่องราวพุทธประวัติ จำนวน ๑๘ ภาพ
ซึ่งผมขอนำภาพประติมากรรมหินแกะสลัก และถ้อยคำบรรยายภาพ
ที่เกี่ยวข้องกับภาพทั้งหลายดังกล่าว มาฝากท่านผู้อ่าน ดังนี้

patiew 02
(ภาพ ๐๒ การทูลเชิญพระโพธิสัตว์ลงมาจุติ และสุบินนิมิตของพระนางสิริมหามายา)
พระอินทร์และเหล่าเทวดาทูลเชิญพระสันดุสิตเทวราชบนสวรรค์ชั้นดุสิต
ให้จุติมายังโลกมนุษย์ และพระนางสิริมหามายาทรงสุบินนิมิตว่า
มีช้างเผือกมาเข้าสู่อุทรเบื้องขวา อันแสดงถึงการปฏิสนธิสู่พระครรภ์พุทธมารดา

patiew 03
(ภาพ ๐๓ การประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ)
พระนางสิริมหามายาทรงประสูติพระกุมารสิทธัตถะที่ใต้ต้นสาละในสวนลุมพินี
ดินแดนระหว่างกรุงเทวทหะกับกรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อประสูติแล้ว
เจ้าชายสิทธัตถะทรงประกาศความยิ่งใหญ่ว่าไม่มีผู้ใดเสมอด้วยพระองค์

patiew 04
(ภาพ ๐๔ การเสด็จออกบรรพชาของเจ้าชายสิทธัตถะ)
เจ้าชายสิทธัตถะทรงเห็นความทุกข์ยากในชีวิตมนุษย์ จึงทรงตั้งปณิธานในการ
แสวงหาความหลุดพ้น พระองค์ได้ทรงม้ากัณฐกะออกผนวช
โดยมีนายฉันนะมหาดเล็กตามเสด็จไปด้วย ระหว่างนั้นพระยาวัสวดีมารเข้ามาขัดขวาง


patiew 05
(ภาพ ๐๕ การบำเพ็ญเพียรของเจ้าชายสิทธัตถะ)
เจ้าชายสิทธัตถะทรงปลงเกศาที่ริมน้ำอโนมา และบำเพ็ญเพียรด้วยวิธีการต่าง ๆ
แต่ก็ไม่บรรลุผล จนในที่สุดพระอินทร์ได้มาดีดพิณถวายเพื่ออุปมาอุปไมยถึง
ทางสายกลางที่จะเข้าสู่พระโพธิญาณ หลังจากนั้นนางสุชาดาได้ถวายข้าวมธุปายาส
และพราหมณ์โสตถิยะได้ถวายฟ่อนหญ้าคาเพื่อปูพื้นพุทธบัลลังก์

patiew 06
(ภาพ ๐๖ มารผจญ)
พระยาวัสวดีมารพยายามขัดขวางการบำเพ็ญเพียรของเจ้าชายสิทธัตถะ
แต่พระองค์ไม่หวั่นไหว และทรงอ้างแม่พระธรณีมาเป็นพยานแห่งบารมีธรรม
พระยามารสู้ไม่ได้จึงทำความเคารพแล้วหลีกหนีไป

patiew 07
(ภาพ ๐๗ การตรัสรู้)
พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญเพียรตลอดราตรี จนรุ่งเช้าของวันเพ็ญ เดือน ๖
(วิสาขมาส) พระองค์ทรงบรรลุพระอนุตรสัมโพธิญาณ อันเป็นการรู้แจ้ง
ถึงกำเนิดของทุกข์ และหนทางสู่การดับทุกข์ของมนุษย์

patiew 08
(ภาพ ๐๘ การเสวยวิมุติสุขทั้ง ๗ สัปดาห์ภายหลังการตรัสรู้)
ภายหลังการตรัสรู้ พระพุทธองค์ทรงเสวยวิมุติสุขอยู่ เป็นเวลา ๗ สัปดาห์
หลังจากนั้นพ่อค้าสองคนที่ชื่อ ตปุสสะกับภัลลิกะ ได้ถวายข้าวสัตตูก้อนและสัตตูผง

09
(ภาพ ๐๙ การปฐมเทศนา)
ท้าวสหัมบดีพรหมได้ทูลอาราธนาให้พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม
เพื่อโปรดสัตว์โลก พระองค์จึงได้เสด็จไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
แขวงเมืองพาราณสี เพื่อแสดงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์

10
(ภาพ ๑๐ การโปรดพุทธบิดา และพระนางยโสธราพิมพา)
พระพุทธองค์เสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์ เพื่อทรงแสดงธรรมโปรดพระเจ้าสุทโธทนะ
และพระญาติวงศ์ จากนั้นได้เสด็จไปยังตำหนักของพระนางยโสธราพิมพา
ทรงแสดงธรรมเทศนาแก่พระนางพิมพา และพระราหุล

11
(ภาพ ๑๑ การทรมานช้างนาฬาคิรี)
พระเทวทัตต้องการเป็นประมุขแห่งพุทธบริษัท จึงไปยุยงพระเจ้าอชาตศัตรู
พระราชบุตรของพระเจ้าพิมพิสาร ให้ปล่อยช้างตกมันชื่อ นาฬาคิรี เพื่อไปทำร้ายพระพุทธเจ้า
แต่เมื่อช้างนาฬาคิรี ได้ยินพระสุรเสียงของพระพุทธองค์ก็กลับแสดงความเคารพ

12
(ภาพ ๑๒ ปาเลไลยกะ)
ในพรรษาที่ ๑๐ เหล่าสาวกทั้งหลาย ไม่ตั้งอยู่ในความสามัคคี
พระพุทธองค์จึงเสด็จจาริกไปในป่า “ปาเลไลย์”
โดยมีช้างชื่อ ปาเลไลย์หัตถี และพระยาวานรมาเฝ้ากระทำวัตรปฏิบัติ

13
(ภาพ ๑๓ กรณีพิพาทเรื่องแย่งน้ำกสิกรรม)
ครั้งหนึ่งพระญาติวงศ์ฝ่ายพุทธบิดา กับพระญาติวงศ์ฝ่ายพุทธมารดา ทะเลาะวิวาทกัน
จนจะเกิดการสู้รบ อันเนื่องมาจากการแย่งน้ำในแม่น้ำโรหินี เพื่อใช้ทำเกษตรกรรมในเมืองของตน
พระพุทธองค์จึงเสด็จมาไกล่เกลี่ยจนพระญาติวงศ์ทั้งสองฝ่ายปรองดองกันเช่นเดิม

14
(ภาพ ๑๔ การแสดงยมกปาฏิหาริย์ของพระพุทธองค์)
พระพุทธองค์กระทำปาฏิหาริย์ใกล้สวนมะม่วง (คณฑามพฤกษ์) ที่เมืองสาวัตถี
เพื่อเป็นการทรมานพวกเดียรถีย์ โดยเสด็จอยู่ในอากาศแล้วเนรมิตแยกพระองค์
ให้ปรากฏเป็นสอง จากนั้นจึงทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดเวไนยสัตว์

15
(ภาพ ๑๕ การโปรดพุทธมารดาที่ดาวดึงส์เทวโลก)
พระพุทธองค์เสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
พระอินทร์เสด็จขึ้นไปทูลเชิญพระนางสิริมหามายา
ซึ่งได้เสวยพระชาติเป็นเทพบุตรอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิตให้ลงมายังดาวดึงส์เทวโลก
ครั้งนั้นพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดพุทธมารดาจนบรรลุโสดาปัตติผล

16
(ภาพ ๑๖ การเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์)
หลังจากจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ครบพรรษาแล้ว ในวันเพ็ญเดือน ๑๑
พระพุทธองค์ได้เสด็จลงมายังโลกมนุษย์ที่เมืองสังกัสสะ
พระอินทร์ได้เนรมิตบันไดแก้วสำหรับพระพุทธองค์
ครั้งนั้นเกิดปาฏิหาริย์ทำให้โลกทั้งสามมองเห็นซึ่งกันและกัน

17
(ภาพ ๑๗ องคุลีมาล)
อหิงสกะเป็นศิษย์แห่งสำนักตักศิลาถูกอาจารย์กลั่นแกล้งให้ไปฆ่าคนพันคน
เพื่อเป็นค่าบูชาครู (คุรุทักขิณา) อหิงสกะฆ่าคนแล้วนำนิ้วมือมาร้อยเป็นมาลัยคล้องคอ
จึงเรียกกันว่า “องคุลีมาล” พระพุทธองค์เสด็จไปแสดงธรรมเทศนาโปรด
จนสำนึกผิด และขออุปสมบทกับพระพุทธองค์

18
(ภาพ ๑๘ การปรินิพพาน)
หลังจากพระพุทธองค์ทรงปลงอายุสังขารแล้ว พระองค์ได้เสด็จไปยังเมืองกุสินารา
ที่บริเวณป่าสาละของมัลละกษัตริย์ จากนั้นทรงประทัปสีหไสยาสน์ใต้ต้นสาละคู่หนึ่ง
และเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ในวันเพ็ญเดือน ๖

19
(ภาพ ๑๙ การแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ)
หลังจากการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว
เหล่ากษัตริย์ ๗ หัวเมืองยกทัพมาเพื่อแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุ
โทณะพราหมณ์ได้ไกล่เกลี่ยโดยแบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น ๗ ส่วนเพื่อให้แก่กษัตริย์เหล่านั้น
โทณะพราหมณ์แอบซ่อนพระทันตธาตุไว้ที่มวยผม แต่พระอินทร์สังเกตเห็นจึงเหาะมาหยิบ
แล้วนำไปประดิษฐานไว้ในเจดีย์จุฬามณีบนดาวดึงส์พิภพ

การนำเสนอเรื่องราวพุทธประวัติ โดยจัดทำเป็นหินแกะสลัก ประกอบกับถ้อยคำบรรยายเช่นนี้
นับว่าน่าสนใจมากนะครับ ซึ่งเป็นบรรยากาศการศึกษาที่แตกต่าง
จากการอ่านหนังสือพุทธประวัติหรือชมวีดีทัศน์ในเรื่องพุทธประวัติ
โดยเราสามารถพาเด็ก ๆ หรือผู้สูงอายุไปเที่ยวชม และเราก็อ่านเรื่องพุทธประวัติให้พวกเขาฟังได้
อันทำให้ได้ความรู้เกี่ยวกับพุทธประวัติมากขึ้น และเป็นประโยชน์ในการสร้างศรัทธาให้ยิ่งขึ้นไป

เมื่อเวลาที่เราได้อ่านเรื่องราวพระพุทธประวัติตั้งแต่ต้นจนจบแล้ว
ในบางคราว เราก็อาจจะเกิดความรู้สึกอย่างหนึ่งนะครับว่า
คนเราทุกคนที่เกิดมานั้น ย่อมจะต้องตายเป็นธรรมดา
แม้แต่พระพุทธองค์ซึ่งเป็นผู้ประเสริฐที่สุดก็ยังต้องเสด็จดับขันธปรินิพพาน
ดังนั้นแล้ว สิ่งสำคัญก็คือว่าเราใช้เวลาในระหว่างที่เรามีชีวิตอยู่นี้ทำอะไร
เราใช้เวลาชีวิตเราเพื่อเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
หรือเราใช้เวลาชีวิตเราเพื่อสร้างประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น