Print

พาเที่ยว เอี่ยวธรรม - ฉบับที่ ๒๖๘

 

ngod-ngam2โดย งดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.


 
 

เดินอ่านธรรมะที่วัดถ้ำยายปริก

เกาะสีชังเป็นเกาะขนาดเล็กที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์
เนื่องจากเป็นสถานที่ที่พระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ๓ พระองค์
ได้เสด็จประพาสและประทับบนเกาะแห่งนี้ ได้แก่
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
นอกจากนี้ ยังเป็นสถานที่ประสูติพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
(ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย)
และได้ทรงสร้างพระจุฑาธุชราชฐานบนเกาะแห่งนี้อีกด้วย
ทำให้เกาะสีชังเป็นเพียงเกาะแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีพระราชวังหรือเขตพระราชฐานตั้งอยู่
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%A0%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%87

สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจในเกาะสีชังมีหลายแห่ง
แต่หากท่านผู้อ่านจะเดินทางไปเกาะสีชังแล้ว
มีสถานที่แห่งหนึ่งที่ผมแนะนำให้เผื่อเวลาเพื่อไปเยี่ยมชมด้วย
ได้แก่ วัดถ้ำยายปริก ซึ่งเคยเป็นวัดที่หลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโร เคยจำพรรษาอยู่
ภายในวัดมีสถานที่หลายแห่งให้เยี่ยมชม
และมีป้ายพระธรรมคำสอนหรือธรรมเทศนาจำนวนมากให้เราได้อ่านด้วย

เมื่อผ่านเข้าประตูวัดมาแล้ว เราจะเห็นกุฏิเจ้าอาวาสอยู่ทางด้านขวา
ซึ่งหากเรามีของมาถวายสังฆทานด้วย เราก็สามารถถวายได้ ณ ที่นี้
ในกุฏิเจ้าอาวาสจะมีป้ายบอกว่า
“วัดนี้ไม่มีทำน้ำมนต์ ไม่มีแจกวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังทุกชนิด”
นอกจากนี้ ในกุฏิเจ้าอาวาสมีโต๊ะแจกหนังสือธรรมะ และซีดีธรรมะให้ฟรี
ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นหนังสือธรรมะ และซีดีธรรมะของหลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโร
โดยหากท่านที่สนใจร่วมทำบุญกองทุนธรรมทานแล้ว
ก็สามารถร่วมทำบุญได้ โดยใส่ปัจจัยในกล่องรับบริจาคในบริเวณนั้น

patieaw268 01    patieaw268 02

ภาพที่ ๑ กุฏิเจ้าอาวาส และภาพที่ ๒ บางส่วนของหนังสือธรรมะ และซีดีธรรมะที่แจกให้ฟรี

 

วัดยายปริกมีพื้นที่กว้างขวาง และมีสถานที่น่าสนใจหลายแห่ง
ในการที่เราจะเดินเยี่ยมชมให้ได้ครบถ้วนนั้น เราควรต้องมีแผนที่สถานที่ภายในวัด
ซึ่งตรงข้ามกุฏิเจ้าอาวาสนั้นจะมีศาลาหลังหนึ่งมีป้ายแสดงประวัติของวัด
และป้ายแสดงประวัติของหลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโร
โดยในศาลาดังกล่าวจะมีแจกคู่มือแนะนำสถานที่ภายในวัด
มีรายละเอียด และแผนที่สถานที่ต่าง ๆ ภายในวัด
ซึ่งผมแนะนำให้เราแวะหยิบคู่มือเล่มนี้ก่อนนะครับ เพราะเป็นประโยชน์มาก
นอกจากจะช่วยให้เราเดินไปสถานที่ที่ต้องการได้ โดยไม่หลงและไม่อ้อมแล้ว
ยังช่วยให้เราทราบความสำคัญและประวัติของสถานที่ต่าง ๆ ในวัดอีกด้วย

 

สถานที่น่าสนใจภายในวัดมีหลายแห่ง โดยผมจะขอยกมาเพียงบางแห่งเท่านั้น
เริ่มด้วย “ถ้ำยายปริก” เป็นสถานที่ที่หลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโร ได้มาพบเมื่อปี ๒๕๑๓
เนื่องจากท่านได้มีนิมิตเห็นหญิงชราท่านหนึ่งนิมนต์ให้ท่านมาปฏิบัติธรรมที่นี่
ถ้ำยายปริกเป็นถ้ำหินปูนธรรมชาติมี ๓ คูหา แต่ละคูหามีปล่องถ้ำระบายอากาศ
โดยปัจจุบันทำเป็นห้องกรรมฐาน ๓ ห้องคือห้องศีล ห้องสมาธิ ห้องปัญญา

 

patieaw268 03

ภาพที่ ๓ บริเวณด้านหน้าถ้ำยายปริก

 

patieaw268 04   patieaw268 05

ภาพที่ ๔ - ๕ บริเวณด้านในถ้ำยายปริก

“สถูปพระเจดีย์สังเวชนียสถาน” ซึ่งหลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโร ได้เดินทางไปสังเวชนียสถาน
คือ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน
ที่ประเทศอินเดีย และเนปาล ในปี ๒๕๒๖
ท่านได้อธิษฐานเก็บดินและน้ำมาจากสังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่ง
นำมาปั้นรวมกันเป็นลูกกลมคล้ายลูกนิมิตบูชาไว้ในถ้ำยายปริก
ต่อมาปรากฏว่ามีพระบรมสารีริกธาตุเสด็จมาอยู่ใต้ลูกนิมิตนี้
จึงได้อัฐเชิญทั้งลูกกลมและพระบรมสารีริกธาตุขึ้นบรรจุไว้
ที่ส่วนบนของเจดีย์นี้ในปี ๒๕๓๙

ทั้งนี้ ในส่วนของลูกกลมและพระบรมสารีริกธาตุที่ด้านบนของเจดีย์นั้น
ไม่มีทางบันไดให้ขึ้นไปกราบที่ด้านบนของเจดีย์ได้นะครับ
แต่เราก็สามารถสักการะ โดยเดินประทักษิณรอบสถูปพระเจดีย์นั้นได้

 

patieaw268 06  patieaw268 07

ภาพที่ ๖ สถูปพระเจดีย์สังเวชนียสถาน และภาพที่ ๗ ทิวทัศน์จากบริเวณสถูปพระเจดีย์สังเวชนียสถาน

 

“อุโบสถ” เดิมทีหลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโรท่านจะใช้ถ้ำยายปริกเป็นอุโบสถสมมุติ
แต่ต่อมาในปี ๒๕๓๙ หลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโรได้มีนิมิตธรรมะให้สร้างอุโบสถ
ท่านจึงเตรียมการโดยสร้างบ่อน้ำ เพื่อสำหรับนำน้ำมาใช้ในการก่อสร้าง
และสร้างถนน เพื่อสำหรับขนส่งวัสดุก่อสร้าง
หลังจากนั้น ได้มีพระภิกษุแนะนำให้หลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโร
ทำป้ายบอกบุญราคาวัสดุที่จะใช้ในการก่อสร้าง
แต่นิมิตธรรมะได้บอกท่านว่าเป็นการกดบุญคนที่เงินน้อย
หลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโร จึงไม่ทำป้าย และให้โยมทำบุญตามที่ศรัทธา
แต่ปรากฏว่ากลับสร้างเสร็จได้เร็ว โดยอุโบสถแห่งนี้สร้างในปี ๒๕๔๑
และใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้นเพียง ๙ เดือน ๙ วัน

บริเวณตรงข้ามอุโบสถนั้น มีศาลาแห่งหนึ่ง ด้านในมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์อยู่
ศาลามีลักษณะเปิดโล่งอากาศเย็นสบาย เหมาะแก่การนั่งสมาธิหรือเดินจงกรมได้

 

patieaw268 08  patieaw268 09

ภาพที่ ๘ อุโบสถ และภาพที่ ๙ ศาลาตรงข้ามอุโบสถ

 

“วิหารรูปเหมือนหลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโร” เป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนของ
หลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโร ซึ่งท่านได้ละสังขารเมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๐
โดยฐานของรูปเหมือนเป็นที่ประดิษฐานอัฐิธาตุของหลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโรด้วย

patieaw268 10 

ภาพที่ ๑๐ วิหารรูปเหมือนหลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโร

 

“ลานธรรม” เป็นสถานที่แสดงธรรมของหลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโร
โดยมีลักษณะเป็นอุโบสถธรรมชาติ
และมีพระพุทธชินราชจำลองเป็นพระประธานในลานธรรมดังกล่าว

patieaw268 11

ภาพที่ ๑๑ ลานธรรม

 

“ศาลาสัจธรรม” ภาพผนังด้านหน้าศาลาเป็นภาพของ
เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จชมสวนอุทยาน
และได้ทรงเห็นเทวทูต ๔ คือ คนเกิด คนเจ็บ คนตาย และสมณะ
ภายในศาลาเป็นสถานที่สำหรับเจริญมรณสติ และพิจารณาอสุภกรรมฐาน
จากซากศพ และโครงกระดูก เพื่อให้เห็นตามความเป็นจริงว่า
ร่างกายนี้เป็นของไม่สวยไม่งาม

patieaw268 12

ภาพที่ ๑๒ ศาลาสัจธรรม

 

“ศาลาเพ่งความว่าง” เป็นสถานที่สำหรับเพ่งความว่าง
โดยเพ่งไปที่เส้นที่ท้องฟ้าจรดกับผืนน้ำ

patieaw268 13   patieaw268 14

ภาพที่ ๑๓ ศาลาเพ่งความว่าง และภาพที่ ๑๔ ทิวทัศน์จากศาลาเพ่งความว่าง

 

“ลานธง” สถานที่นี้ได้จัดสร้างขึ้นเพราะหลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโร ได้นิมิตเห็น
ลำแสงใหญ่สว่างพุ่งลงมาจากท้องฟ้ามาที่บริเวณตรงหน้าผาสูง
ด้านทิศตะวันออกของอุโบสถ จึงได้จัดสร้างลานธงขึ้น
เป็นที่ตั้งธงชาติ และธงธรรมจักร
ต่อมา ได้มีการสร้างบ่อบัว ๔ เหล่าไว้ เพื่อให้พิจารณาธรรมะ


 patieaw268 15   patieaw268 16

ภาพที่ ๑๕ ลานธง และภาพที่ ๑๖ ทิวทัศน์จากลานธง

 
“วิหารพุทธปรินิพพาน” ตั้งอยู่บนสถานที่ที่เดิมเป็นสถานที่ประชุมเพลิง
สรีระหลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโร โดยการก่อสร้างจำลองมาจาก
สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา ประเทศอินเดีย
ภายในวิหารได้ประดิษฐานพระพุทธรูปปางปรินิพพาน
ใต้ฐานพระพุทธรูปได้บรรจุอัฐิธาตุของหลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโร
นอกจากนี้ ภายในวิหารยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
ของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน และพระพุทธเจ้าในอดีต ๒๘ พระองค์ด้วย

patieaw268 17   patieaw268 18

ภาพที่ ๑๗ วิหารพุทธปรินิพพาน และภาพที่ ๑๘ พระพุทธรูปปางปรินิพพาน

patieaw268 19 

ภาพที่ ๑๙ พระบรมสารีริกธาตุพระพุทธเจ้าในอดีต ๒๘ พระองค์

 

ในระหว่างทางที่เราเดินเยี่ยมชมสถานที่ต่าง ๆ ภายในวัดนั้น
เราจะได้พบป้ายแสดงพุทธพจน์ของพระพุทธเจ้า
ป้ายแสดงธรรมเทศนาของหลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโร
รวมทั้งป้ายแสดงข้อธรรมซึ่งไม่ได้ระบุที่มาอีกด้วย
ซึ่งผมขอนำธรรมเทศนาหรือข้อธรรมจากป้ายดังกล่าวบางส่วน
มาฝากท่านผู้อ่าน ดังต่อไปนี้ครับ

“เปลือก กระพี้ แก่น จะขาดไม่ได้เลย
ศีลแท้คือสติ ให้มีสติสัมปชัญญะควบคุมอิริยาบถ ๔
พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม”
(ถาวโรภิกขุ)

“ผู้ด้อยปัญญาย่อมกล่าวหาผู้อื่นว่าไม่ดี
ผู้มีปัญญาย่อมเห็นเป็นธาตุเหมือนกัน”
(ถาวโรภิกขุ)

“คนมีเงินหมื่นล้านแสนล้าน เอาเงินไปใช้จ่ายหาความสุข มันก็ทุกข์
ทุกข์เพราะอะไร ไม่กินมันก็ทุกข์ กินเข้าไปแล้วไม่ออกมันก็ทุกข์
ด้วยเหตุนั้น พระพุทธเจ้าตรัสให้เจริญทาน ศีล ภาวนา เพื่อพ้นจากกองทุกข์
ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ ในโลกแห่งสมมุติ”
(ถาวโรภิกขุ)

คลื่นใหญ่คืออิริยาบถ ๔ ยืน เดิน นั่ง นอน
คลื่นเล็กคืออิริยาบถย่อย ขยับเขยื้อนทำงานทุกอย่าง
หลับตาลืมตา มือหยิบมือวาง กระทั่งอยู่เฉย ๆ มีลมหายใจเข้าออก
มีแต่เกิดดับ ว่างเปล่า อนิจจัง อนัตตา สุญญตา ไม่มีตัวตนอะไร
เห็นการเกิดดับเป็นธรรมชาติจริง ๆ
(ถาวโรภิกขุ)

“หายใจเข้าหายใจออกเหมือนกันทั่วโลก
ไม่เข้าไม่ออกตายเหมือนกันทั่วโลก
แล้วเราจะชิงดีชิงเด่นทะเลาะเบาะแว้งกันทำไม”
(ถาวโรภิกขุ)

“วันเวลาเหมือนสายน้ำ มันเอาทุกสิ่งทุกอย่าง
ไม่ว่าสิ่งนั้นจะมีวิญญาณครอง หรือไม่มีวิญญาณครอง
เอาไปหมด ไม่มีอคติ
แม้แต่มนุษย์เราจะเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี มีเงินก็ซื้อไม่ได้
ซื้อมันไม่ได้ มันไหลไปทุกเวลา”  
(ถาวโรภิกขุ)

“สมมุติสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา บัง รูปนาม
รูปนาม บัง นิพพาน
ทาง ศีล ภาวนา เป็นทางพ้นจากวัฏจักร”
(ถาวโรภิกขุ)

“ไม่ว่ากินอะไร  ไหลเข้าไปอยู่ในท้อง
แล้วมันก็ไหลออกมา ลงส้วมตั้งแต่เกิดมา”
(ถาวโรภิกขุ)

“ลูกตถาคตคำว่าถอยหลังไม่มี”
(ถาวโรภิกขุ)

“หลับตามันดับ ลืมตามันเกิด
เห็นสมมุติ สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา มันจึงวุ่นวาย
เห็นรูปนามเกิดดับ จิตสงบ”
(ถาวโรภิกขุ)

“ข้างนอกเกิดดับ ข้างในก็เกิดดับ
ทุกสิ่งล้วนเกิดดับ ธรรมะมีแต่เกิดดับ
พิจารณาให้ดี ๆ ในเกิดดับนั้นจะมีความว่างอยู่
เมื่อเห็นความว่าง ก็จะเกิดเป็นภาพปรมาณูขึ้นมา
แต่เอาแค่เห็นเกิดดับ ก็ไม่ตกต่ำแล้ว”
(ถาวโรภิกขุ)

“ตราบใดมนุษย์เรายังทำนาอยู่ คงไม่ว่างจากข้าวเปลือก
ตราบใดยังมีเด็กนักเรียนเรียนหนังสืออยู่ คงไม่ว่างจากครู
ตราบใดพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา
ปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ คงไม่ว่างจากพระอริยเจ้า”
(ถาวโรภิกขุ)

“อิริยาบถบังอนิจจัง  ทุกขังบังอนัตตา”
(ถาวโรภิกขุ)

“ทำไม่เอา มันก็เบา
ถ้าทำเอา มันก็หนัก”
(ไม่ปรากฏที่มาในป้ายธรรมะ)

“ธรรมะไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง”
(ไม่ปรากฏที่มาในป้ายธรรมะ)

“ทางโลก ทำเอากลับไม่ได้
ทางธรรม ทำไม่เอากลับได้”
(ไม่ปรากฏที่มาในป้ายธรรมะ)

“เชื่อคนไม่เห็นพระ  เชื่อพระไม่มีคน”
(ไม่ปรากฏที่มาในป้ายธรรมะ)

“ทุกข์ที่กำหนดรู้ คือประตูแห่งนิพพาน”
(ไม่ปรากฏที่มาในป้ายธรรมะ)

“เห็นความจริง สิ่งสมมุติ ก็สุดสิ้น
อยู่บนดิน ใต้ฟ้า เพียงอาศัย
สร้างกุศล สร้างเหตุ เป็นปัจจัย
เพื่อจะได้ พ้นทุกข์ สุขนิพพาน”
(ไม่ปรากฏที่มาในป้ายธรรมะ)

“โดยหลักธรรมชาติแล้วทุกคน หญิง-ชายล้วนมีสิทธิและโอกาส
ที่จะเข้าถึงพระธรรมคำสอนโดยเท่าเทียมกัน
แม้ว่าความสามารถของคนจะต่างกัน
แต่ความสามารถนั้นก็สามารถที่จะปรับเปลี่ยนสร้าง
ให้เพิ่มไพบูลย์ขึ้นได้ตามวันและเวลาที่มีอย่างดีที่สุด
คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตนั้นไม่ใช่คนร่ำรวยหรือใหญ่โต
แต่เป็นคนที่รู้สึกว่าชีวิตของตนมีความสุข
สงบเยือกเย็น ปราศจากความเร่าร้อนกระวนกระวาย”
(ไม่ปรากฏที่มาในป้ายธรรมะ)

“เมื่อตอนเช้า เคล้าชื่น ระรื่นรส
พอสายหมด ลมลับ ลงดับขันธ์
เมื่อตอนบ่าย ได้สนุก สุดสุขครัน
พอบ่ายพลัน ชีวาตม์ ลงขาดรอน
เมื่อตอนบ่าย รายล้อม พร้อมหน้าญาติ
พอเย็นขาด ชีวา ลงคาหมอน
เมื่อตอนเย็น เล่นสนุก ไม่ทุกข์ร้อน
พอค่ำมรณ์ ม้วยมิด อนิจจัง
การนึกถึง ความตาย สบายนัก
มันหักรัก หักหลง ในสงสาร
บรรเทามืด โมหันธ์ อันธการ
ทำให้หาญ หายสะดุ้ง ไม่ยุ่งใจ”
(ไม่ปรากฏที่มาในป้ายธรรมะ)

“เหงื่อนั้นแหละ คือน้ำมนต์ ให้ผลเลิศ
นำให้เกิด สุขสวัสดิ์ พิพัฒน์ผล
น้ำมนต์รด รดเท่าใด ไม่ช่วยคน
จนกว่าตน จะมีเหงื่อ เมื่อทำจริง
จงรักเหงื่อ เชื่อมั่น บากบั่นเถิด
หน้าที่เกิด สมบูรณ์ดี มีผลยิ่ง
เป็นพระเจ้า มาช่วยเรา อย่าประวิง
จะเป็นมิ่ง ขวัญแท้ แก่ทุกคน
พระพุทธองค์ ทรงเคารพ ซึ่งหน้าที่
ดูให้ดี เหงื่อออกมา มหาผล
ใช้บูชา พระพุทธองค์ มิ่งมงคล
สาธุชน มีสุขเหลือ เพราะเหงื่อเอย”
(ไม่ปรากฏที่มาในป้ายธรรมะ)

 

ในเวลาที่เราได้มีโอกาสเดินในวัดที่มีป้ายธรรมะและมีพื้นที่กว้างขวางนั้น
เราไม่ควรจะมุ่งเพียงว่าจะเดินไปทั่วเดินเดินให้ครบ เพื่อจะได้ถ่ายรูปนะครับ
เพราะนั่นถือว่าเราย่อมจะได้ประโยชน์น้อย
หากจะได้ให้ประโยชน์มากกว่านั้นแล้ว
เราควรใช้เวลาอ่านและพิจารณาข้อธรรมที่เหมาะสมกับเรา  
และนำข้อธรรมดังกล่าวนั้นไปใช้พัฒนาตนเองต่อไป
อนึ่ง ในระหว่างที่เราเดินภายในวัดนั้น
เราก็ควรจะเดินอย่างมีสติรู้กายรู้ใจไปด้วย ก็ย่อมจะได้ประโยชน์มาก

ดังที่เรียนแล้วว่าวัดถ้ำยายปริกมีพื้นที่กว้างขวางนะครับ
หากท่านผู้อ่านจะไปที่วัดแล้ว ผมขอแนะนำให้เตรียมเวลาเผื่อไว้
สักประมาณ ๑.๓๐ – ๒.๐ ชั่วโมงสำหรับเดินภายในวัด (เดินแบบไม่รีบ)
หากท่านจะใช้เวลานั่งสมาธิด้วย และเดินจงกรมด้วย ก็เผื่อเวลาเพิ่มขึ้นไปอีก
นอกจากนี้แล้ว ขอแนะนำให้เตรียมน้ำดื่มขวด และร่ม (หรือหมวก) ไปด้วยนะครับ
เพราะว่าอากาศร้อน และต้องเดินเยอะพอสมควร ก็ย่อมทำให้กระหายน้ำได้
เรื่องอากาศร้อนนี้ เราก็คงทราบดีว่าไม่ได้ร้อนเฉพาะที่เกาะสีชังเท่านั้น
แต่ในปัจจุบันนี้อากาศเมืองไทยเราร้อนมาก ๆ

นอกจากนี้ วัดถ้ำยายปริกยังเปิดรับฆราวาสที่สนใจมาปฏิบัติธรรมที่วัดอีกด้วย
โดยรายละเอียดนั้นสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของทางวัดถ้ำยายปริก
(ตามลิ้งค์เว็บไซต์ด้านล่างนี้) ครับ
http://www.watthamyaiprig.com/
ทั้งนี้ ทางวัดจะสงวนสิทธิ์การใช้โทรศัพท์สำหรับท่านที่ไปปฏิบัติธรรมที่วัด
โดยในระหว่างการปฏิบัติธรรมจะให้ฝากโทรศัพท์ไว้ที่เจ้าอาวาส แล้วค่อยรับคืนเมื่อลากลับ
ดังนั้น ท่านที่ติดโทรศัพท์มือถือ ก็พึงพิจารณาให้ดีก่อนนะครับ

ในท้ายนี้ หากท่านไม่ได้จะเดินทางไปที่วัดหรือว่าไม่สะดวกเดินทางก็ตาม
แต่ว่ารู้สึกสนใจในธรรมเทศนาของหลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโรแล้ว
ก็สามารถดาวน์โหลดมาฟังได้ จากเว็บไซต์ของทางวัดถ้ำยายปริก
หรือเว็บไซต์ฟังธรรมดอทคอม (ตามลิ้งค์เว็บไซต์ด้านล่างนี้) ครับ
http://www.watthamyaiprig.com/
http://www.fungdham.com/sound/prasit-thavaro.html