Print

สัพเพเหระธรรม - ฉบับที่ ๑๘๕

การเดินทางด้วยใจปลอดโปร่ง

วรารัตน์ บัญญัตินพรัตน์


traffic jam
รูปประกอบจาก: http://www.maceducation.com/e-knowledge/2373104110/03.htm

คุณเคยคิดบ้างไหมคะว่า ในปีหนึ่งๆ คุณต้องเดินทางออกจากบ้านหรือที่พักไปยังสถานที่ต่างๆ และเดินทางจากสถานที่ต่างๆกลับมายังบ้านหรือที่พักกี่ครั้งกัน

เรามาลองคิดกันแบบคร่าวๆนะคะ เอาแค่วันการเดินทางไปกลับระหว่างบ้านกับที่ทำงาน

เดือนหนึ่งๆเรามีวันทำงาน ๒๐ วัน
ดังนั้น ปีหนึ่งๆเราจะทำงาน ๒๔๐ วัน (๒๐ วันต่อเดือน x ๑๒ เดือน)
แสดงว่า ปีหนึ่งๆเราจะเดินทางไปกลับระหว่างบ้านกับที่ทำงานถึง ๔๘๐ ครั้ง (๒๔๐ วัน x ๒ เที่ยวต่อวัน)
เห็นตัวเลขนี้แล้ว อยากให้ลองคิดต่อไปว่า แล้วระยะเวลาที่เราใช้ในการเดินทางไปกลับระหว่างบ้านกับที่ทำงานทั้งปีล่ะ

สมมติว่า ระยะเวลาที่เราใช้ในการเดินทางระหว่างบ้านกับที่ทำงานอยู่ที่ ๓๐ นาที
ดังนั้น ปีหนึ่งๆเราใช้เวลาในการเดินทางอยู่ที่ ๑๔,๔๐๐ นาที (๔๘๐ ครั้ง x ๓๐ นาที) หรือ ๒๔๐ ชั่วโมง หรือ ๑๐ วันเต็มๆ

นี่เป็นการคิดคร่าวๆสำหรับผู้ที่ใช้เวลาการเดินทางระหว่างบ้านกับที่ทำงานเพียง ๓๐ นาที แล้วถ้าคุณต้องใช้เวลาเดินทางระหว่างบ้านกับที่ทำงานมากกว่านี้ล่ะ และนี่ยังไม่นับรวมการเดินทางไปยังสถานที่อื่นๆอีกนะคะ

คิดแล้วน่าตกใจเหมือนกันนะคะว่า เราต้องเสียเวลาไม่น้อยในชีวิตไปกับการเดินทาง หลายคนจึงปล่อยให้การเดินทางเป็นเพียงความเคยชินในชีวิตเท่านั้น คิดเพียงแต่ว่า ต้องนั่งรถเมล์สายนี้ นั่งรถไฟฟ้าสถานีนี้ ขับรถไปตามเส้นทางนี้ เพื่อให้ไปถึงที่ทำงานทันเวลา แล้วเลือกที่จะฆ่าเวลาไปกับการนั่งเล่นมือถือบ้าง คุยโทรศัพท์ล้าง นอนหลับบ้าง หรือ อ่านหนังสือบ้าง

แต่ถ้าเราทราบเคล็ดลับแสนง่ายของการได้บุญจากการเดินทาง เราจะเปลี่ยนจากการเดินทางด้วยความเคยชินให้กลายเป็นการเดินทางด้วยใจปลอดโปร่งพร้อมได้รับบุญ

ถ้าคุณเป็นหนึ่งในผู้ที่ใช้บริการรถประจำทาง (รถเมล์) รถไฟฟ้าบีทีเอส หรือรถไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อเดินทางไปกลับระหว่างบ้านกับที่ทำงานอยู่เป็นประจำ แน่นอนว่า คุณคงได้เห็นและสัมผัสกับความสับสนวุ่นวายของผู้คนที่ขึ้นลงในแต่ละป้ายหรือแต่ละสถานี และการเบียดเสียดกันของผู้คนบนรถที่อัดแน่นเหมือนปลากระป๋อง ซ้ำร้ายในบางครั้งผู้คนรอบข้างก็อาจทำให้คุณรู้สึกหงุดหงิด

ต่อไปนี้เมื่อคุณพบเจอสิ่งเหล่านี้ ขอให้คิดเสียว่า ต่างคนต่างต้องดิ้นรนเหมือนกัน เราอาจกระทบเขาบ้าง เขาก็อาจจะกระทบเขาบ้าง ถือว่าเป็นธรรมดาของการอยู่ร่วมกัน จิตใจของเราจะได้ปลอดโปร่ง และไม่ขุ่นมัว ทั้งยังเป็นการปิดกั้นการทำความชั่วไม่ให้เกิดขึ้น (ทั้งกาย วาจา และใจ) อีกด้วย เพราะเมื่อใจเราคิดดีได้แล้ว เราย่อมไม่แสดงพฤติกรรมที่ไม่ดีออกมาทั้งทางกายและวาจา

หากคุณพบเห็นเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ หรือ สตรีมีครรภ์ แล้วคุณเสียสละที่นั่งของคุณให้กับเขาหรือเธอเหล่านั้นด้วยใจเมตตา บุญก็จะเกิดขึ้นกับเราแล้ว นอกจากนี้คุณจะรู้สึกถึงความภูมิในตัวเองกับสิ่งที่ทำลงไปเมื่อได้เห็นผู้ที่อ่อนแอกว่าได้รับความสะดวกสบายขึ้น โดยที่คุณไม่ต้องไปคิดว่า ทำไมผู้ชายคนนั้น คนนี้ ไม่เสียสละล่ะทั้งๆที่เป็นผู้ชาย หรือ คนนั้นอยู่ใกล้กับผู้สูงอายุมากกว่าเรา ต่อไปนี้ให้คิดใหม่ว่า ใครทำคนนั้นจะได้รับทั้งบุญและความภูมิใจ ถ้าเราอยากได้ทั้งบุญและความภูมิใจไม่ต้องไปสนใจใคร ยิ่งไม่มีใครทำ ก็เป็นโอกาสทองของคุณแล้ว รีบคว้าบุญและความภาคภูมิใจนี้ไว้กับตัวคุณเถอะค่ะ
นอกจากนี้ถ้าคุณเป็นคนที่ขับรถไปทำงานด้วยตัวเองในทุกวัน คุณก็สามารถได้รับบุญและความภูมิใจได้เช่นกัน โดยการหยุดรถให้ทางคนข้ามถนนหรือให้ทางรถคันอื่นไปก่อน บุญและความภูมิใจก็เกิดขึ้นกับคุณได้เช่นกัน

เพราะอะไรการทำสิ่งเหล่านี้จึงได้บุญ?

การที่เราเสียสละที่นั่ง การให้ทางคนข้ามถนน หรือการให้ทางรถคันอื่นไปก่อน ถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ดังนั้นเราจะได้รับบุญเฉกเช่นเดียวกับการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นซึ่งเป็นหนึ่งในบุญข้อหนึ่งที่อยู่ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐
อานิสงส์ของการช่วยเหลือเกื้อกูลนั้นย่อมส่งผลให้ไปไหนมีแต่คนรัก เวลาชีวิตลำบากจะมีคนมาช่วยเหลือและค้ำจุน
เห็นแล้วใช่ไหมคะว่า การเดินทางด้วยใจปลอดโปร่งพร้อมได้รับบุญนั้นทำได้ไม่ยากเลย ไม่ต้องใช้เงินทองใดๆเลย ทั้งยังสามารถทำได้ง่ายในชีวิตประจำวัน เป็นข้อดีสำหรับตัวผู้ปฏิบัติแน่นอนค่ะ และสิ่งที่สำคัญไปกว่านี้ คุณลองคิดดูสิคะว่า ถ้าบนท้องถนนของประเทศเราเต็มไปด้วยความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ภาพการไม่ยอมกันของผู้คนบนท้องถนน (จนทำให้เกิดการปะทะคารมกันของทั้งสองฝ่าย หรือร้ายแรงถึงขั้นทำร้ายกันถึงชีวิต) คงไม่มีให้เราเห็นหรือได้ยินอีกต่อไป