Print

สัพเพเหระธรรม - ฉบับที่ ๑๘๓

“ขอโทษ” จากใจได้อะไรมากกว่าที่คุณคิด

วรารัตน์ บัญญัตินพรัตน์

suppe-183

คำว่า “ขอโทษ” คำ ๆ นี้จะถูกเปล่งออกมาเมื่อเราทำผิดต่อเขาหรือเธอ แม้จะไม่ตั้งใจหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตาม แต่หากเราทำผิดพลาดไปก็ควรแสดงความรับผิดชอบด้วยการกล่าวคำ ๆ นี้ด้วยใจจริง

ยิ่งในสังคมปัจจุบันที่ทุกคนต่างต้องทำงานแข่งกับเวลา และยังโดนบีบคั้นด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่างในชีวิต ส่งผลให้โอกาสที่เราจะผิดพลาด ทำให้ผู้อื่นไม่พอใจและเจ็บปวดย่อมมีมากตามไปด้วย นั่นเพราะเราพูดและทำอย่างไม่ทันคิด ใคร่ครวญ หรือ ระมัดระวังให้ดีเสียก่อน แต่สิ่งสำคัญคือ หากรู้ว่าเราทำผิด เราควรสำนึกผิดพร้อมทั้งรู้จักที่จะกล่าวคำ “ขอโทษ” แก่เขาหรือเธอที่ได้รับผลจากการกระทำของเรา

คราวนี้เรามาดูกันว่า คำว่า “ขอโทษ” ช่วยอะไรแก่ผู้ที่กล่าวมันออกมาบ้าง

ถึงแม้ว่าคำว่า “ขอโทษ” จะไม่ได้ทำให้ความเจ็บปวดหรือความเสียหายหมดไปหรือบรรเทาเบาบางลง แต่มันมีผลทางจิตใจที่ช่วยให้ผู้ได้รับผลกระทบรู้สึกดีขึ้น และพร้อมที่จะให้อภัยต่อผู้ที่กระทำความผิด

นอกจากนี้สำหรับตัวผู้กล่าวเอง การยอมรับผิดและกล่าวคำว่า “ขอโทษ” ออกไปจะช่วยปลดภาระอันหนักอึ้งในหัวใจของเรา บางครั้งการกลัวเสียหน้าทำให้เราไม่กล้ายอมรับผิดในเวลานั้น หลังจากเรื่องผ่านไปแล้วจึงมานึกไม่สบายใจที่หลบหลีกความผิด ดังนั้นอย่าปล่อยให้มันมาสร้างความไม่สบายใจให้กับเราอีกต่อไปเลยนะค่ะ

ทั้ง ๆ ที่คำว่า “ขอโทษ” ช่วยเราได้มากมายขนาดนี้ แต่ทำไมคำ ๆ นี้กลับเป็นคำที่ใครหลาย ๆ คนไม่ค่อยกล้าเอ่ยมันออกไป เพราะอะไรนั้นเหรอ? เหตุผลหลักคงไม่พ้นความเชื่อเหล่านี้

หากกล่าวคำว่า “ขอโทษ” ออกมา จะเป็นการเสียหน้าหรือเสียศักดิ์ศรี และอาจทำให้ผู้กล่าวดูด้อยค่า
ผู้ที่กล่าวคำว่า “ขอโทษ” ออกมา จะเป็นผู้แพ้หรือผู้อ่อนแอ

สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ผู้ที่มีทิฐิค่อนข้างมากไม่ยอมกล่าวคำ ๆ นี้ออกมา เพราะถือว่า ตนมีอายุมากกว่า มีฐานะทางสังคมสูงกว่า มีการศึกษาสูงกว่า มียศตำแหน่งสูงกว่า หรือ ประสบความสำเร็จมากกว่า คุณเคยเห็นไหมว่า บ่อยครั้งพ่อแม่ไม่กล้าขอโทษลูก หัวหน้าไม่กล้าขอโทษลูกน้อง เจ้าของบ้านไม่กล้าขอโทษคนรับใช้หรือคนสวน

ก่อนอื่นเลย ขอให้คุณตั้งสติแล้วลองคิดดูว่า ทั้งพ่อแม่ หัวหน้า เจ้าของบ้าน ผู้ที่มีอายุมากกว่า ผู้ที่มีฐานะทางสังคมสูงกว่า ผู้ที่มีการศึกษาสูงกว่า ผู้ที่มียศตำแหน่งสูงกว่า หรือ ผู้ที่ประสบความสำเร็จมากกว่าเรา ต่างก็เป็นปุถุชนคนธรรมดา ดังนั้นย่อมมีโอกาสที่จะทำผิดพลาดได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ๆ

ต่อมาลองพิจารณาให้ดีจะพบว่า การที่พ่อแม่กล่าวคำว่า “ขอโทษ” ต่อลูก หรือหัวหน้ากล่าวคำว่า “ขอโทษ” ต่อลูกน้อง ไม่ได้ทำให้ผู้ที่กล่าวดูด้อยค่าหรือดูอ่อนแอแต่ประการใด กลับทำให้ลูกหรือลูกน้อง เกิดความศรัทธา และยังเห็นความอ่อนโยนในตัวผู้กล่าว อย่าลืมนะค่ะว่า อ่อนโยนไม่ใช่อ่อนแอ เราสามารถเป็นคนที่มีความอ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอได้ ท้ายสุดผู้ที่กล่าวคำว่า “ขอโทษ” ย่อมถือได้ว่าเป็นผู้ชนะ เพราะสามารถชนะใจตนเองและกล้าหาญที่ยอมรับในความผิดนั้น ๆ

ต่อไปนี้ถ้าคุณเผลอทำอะไรผิดต่อใครทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ คุณไม่ควรที่จะเก็บคำว่า “ขอโทษ” ไว้ในใจของคุณเพียงอย่างเดียว กล่าวมันออกไปจากใจอย่างกล้าหาญเลยนะค่ะ

วันไหนมีเรื่องราวมากวนใจคุณทั้งวัน ทำให้คุณเผลอตวาดลูก หรือ คนรักของคุณไปอย่างไม่ตั้งใจ ในนาทีที่คุณมีสติ รู้ตัว คุณต้องรีบกล่าวคำว่า “ขอโทษ” ออกไปด้วยใจจริงและตั้งใจที่จะไม่ให้มันเกิดขึ้นมาอีก อย่าคิดว่าไม่เป็นไรเพราะพวกเขาเป็นคนที่รักคุณอยู่แล้ว ยิ่งเป็นคนที่รักคุณ คุณยิ่งต้องรักและใส่ใจเขาให้มาก ๆ ในกรณีการกล่าวคำว่า “ขอโทษ” กับคนที่รักคุณ นอกจากจะทำให้คุณได้บุญจากการแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือ การได้รักษาน้ำใจของคนที่คุณรักและรักคุณด้วยนะค่ะ

นับตั้งแต่นาทีนี้ลองปรับเปลี่ยนแนวคิดดูนะค่ะ และลองทบทวนดูว่าในอดีตที่ผ่านมาคุณเคยไม่กล้ากล่าวคำ ๆ นี้ออกมารึเปล่า ทำให้ต้องเสียมิตรภาพดี ๆ ไปหรือเปล่า แล้วรวบรวมพลังที่จะทำสิ่งดี ๆ นี้ออกไปนะค่ะ ไม่แน่ว่าคู่กรณีของคุณอาจจะรอเพียงคำขอโทษคำนี้คำเดียวอยู่ก็เป็นได้