Print

สัพเพเหระธรรม - ฉบับที่ ๑๕๔

อาหารล้นถ้วย

โดย ปนัดดา ธรรมพาสุข

suppe-154

ตักอาหารแต่พอประมาณ ถ้ามากไปเดี๋ยวกินไม่หมด สงสารคนที่เขาไม่มีกิน

นี่เป็นความคิดในใจช่วงที่ไปปฏิบัติธรรมที่วัดปฏิบัติฯ แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ
ญาติโยมทั้งหลายต่างมุ่งหน้ามาถวายอาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ และผู้ปฏิบัติธรรม
มีอาหารน่ากิน ถูกจัดวางเรียงรายตามแบบอาหารที่เรียกกันว่าบุฟเฟ่ต์
ซึ่งหลายคนชอบหลงระเริงมัวเมาไปกับการกินนั้น
ติดในรสชาติ ติดในความอร่อย ปรุงแต่งไปต่างๆ นานา

กินเพื่อให้มีชีวิตอยู่ต่อไปเท่านั้น

ใช่แล้ว, ความรู้สึกตัวบอกไว้ว่า กินเพื่อให้มีชีวิตอยู่ต่อไปเท่านั้น
ถ้ากินมาก กินหรู เท่ากับว่าจิตของเรากำลังถูกกิเลสครอบงำ!
บางความคิดก็บอกใจเราว่า ตักเยอะๆ หน่อย อันนี้ก็ชอบ อันนี้ก็อร่อย รสชาติดี ฯลฯ
หากขาดสติ ความคิดนั้นก็ตักตัวกิเลสไปเรียบร้อยแล้ว
หลังจากอิ่ม ท้องรับปริมาณอาหารที่เยอะไว้ไม่ไหว ก็กลายเป็นล้นถ้วย
กินไม่หมด สุดท้าย
ก็ต้องทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย

นี่แหละคือความไม่รู้จัก พอของจิตที่คิดอยาก
เมื่อจิตคิดอยากอยู่เรื่อยๆ ความทุกข์ก็เขยิบเข้ามาใกล้ตัวอยู่ร่ำไป
จิตที่คิดอยาก มักแปรผันตามความทุกข์
กล่าวง่ายๆ คือ จิตปรารถนามาก ก็มีความทุกข์ใจมากเช่นกัน

 

ในขณะเดียวกันหากรู้สึกพอใจในสิ่งที่มี เราก็จะรู้สึกพอดีกับสิ่งที่ได้หรือสิ่งที่เป็นอยู่
เมื่อมีแล้ว ก็ควรรู้จักแบ่งปัน ถ่ายเท มอบให้คนรอบกายบ้าง
ดีใจทั้งผู้รับ สุขใจทั้งผู้มอบให้ จริงไหม
?

 

บางคนทุกข์ ทุกข์ แล้วก็ทุกข์
เพราะตัวเองมีน้อย อยากมีมากเหมือนคนโน้นคนนี้
เห็นเขามีรถ ก็อยากมีรถบ้าง
ถ้าความอยากมันมีมาก กิเลสนั้นก็จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นเสมือนผู้ยั่วยุ
ให้จิตเราหาหนทาง หาเหตุผลมาสนับสนุนให้ซื้อรถจนได้ โดยที่ไม่ได้คิดถึงผลที่ตามมาเลยสักนิด
คิดแต่ว่า ถ้ามีรถ ก็จะสามารถไปไหนมาไหนสะดวก ปลอดภัย ดูมีฐานะ มีคนนับหน้าถือตา ฯลฯ
หากลืมคิดไปว่า รายรับเพียงพอต่อการซื้อความสะดวกนั้นมาใช้หรือเปล่า
พอสิ้นเดือนที กลุ้มใจเพราะไม่รู้จะหาเงินที่ไหนมาผ่อน
แต่ละเดือนแบกความคิด (หนัก) มาในสมอง
ไหนจะค่าที่พัก ค่าอยู่ค่ากิน ค่าเลี้ยงดูลูก ค่าน้ำค่าไฟ ค่าของใช้ในบ้าน ค่าน้ำมันรถ ฯลฯ
มั่นใจแล้วหรือว่าสะดวกจริง
? สะดวกใจ สบายตัวหรือเปล่า?
นี่แหละหนา ความอยากที่มากเกินควร

คิดในมุมกลับให้มีความพอดี พอใจกับสิ่งที่มีอยู่ มีเท่าไหร่ก็ใช้เท่านั้น
อย่าอยากได้ อยากมี (มาก) เกินไปเหมือนคนอื่น จะได้ไม่ทุกข์หนัก ก็ให้คิดไว้เถิดว่า

 

ถ้าเปรียบเทียบ จะแตกต่าง, ถ้าพอใจ จะพอดี

เมื่อใดก็ตามที่เปรียบเทียบชีวิตเรากับชีวิตคนอื่น เราจะรู้สึกถึงความแตกต่างของชีวิตนั้นทันที
แต่ถ้าเราพอใจในสิ่งที่เรามีและเป็นอยู่ ความพอดีของทุกสิ่งในชีวิตเรานั้นจะปรากฏขึ้นทันที
ความทุกข์ก็จะค่อยๆ เขยิบหายไปจากจิตที่คิดอยาก
เมื่อความทุกข์หายไป กิเลสก็หมดหน้าที่ของมันด้วยเช่นกัน
เพราะจิตที่เข้มแข็ง จิตที่ใฝ่ดี และเพียงพอ จะเปิดโอกาสให้เราอยู่ได้ด้วยความสุขเสมอๆ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราทรงตรัสไว้ว่า
สิ่งใดที่เรามีดีอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องหาสิ่งอื่นมาทดแทน
ประโยคสั้นๆ แต่ลึกซึ้งด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์

สิ่งใดที่เรามีดีอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องหาสิ่งอื่นมาทดแทน
ความพอดี คือ ความสุขใจที่เพียงพอแล้ว
คุณล่ะ
บางครั้งยังรู้สึกว่ามีแล้วอยากมีอีกไหม?
มีเยอะแล้ว
เคยคิดแบ่งปันไหม?
มีเพียงพอต่อชีวิตแล้ว ยังอยากมีอีกกว่าเดิมไหม
?
มีเยอะขึ้นมาอีก สบายใจไหม
? สุขใจอยู่ไหม? เดือดร้อนใครไหม?

ลองทบทวนชั่งใจว่าตอนนี้เรากำลังคิดอะไรอยู่?
อยากได้อะไรที่มากไปกว่าความพอดีที่มีอยู่แล้ว
?
คำถามเหล่านี้
คนที่หาคำตอบได้ดีที่สุด คือ ตัวเราเอง มิใช่ใครที่ไหน

ถึงเวลาแล้วล่ะที่เราทุกคนจะต้องสำรวจ ความอยากที่มีอยู่ในใจของเรา
วันนี้กินข้าวกับน้ำพริก กับผักลวก อิ่มไหม
?
หรือ อยากกินอาหารที่ต้องจ่ายจานละหลายๆ พัน
ถ้ายังอยากอยู่ ขอถามหน่อยว่า อิ่มเหมือนกันไหม
? ตอบใจตัวเองให้ได้
แล้วเราจะพบว่า ไม่ว่าอะไรก็ตามถ้าเราพอใจกับมันซะอย่าง เราจะพอดีอย่างมีความสุข

บทสรุป กินเพื่อให้มีชีวิตอยู่ต่อไปเท่านั้น
ถ้าเมื่อไหร่ที่อาหาร ล้นถ้วย หรือความอยากต่างๆ นานา ล้นใจ ล้นความคิดไปหมด
ให้ลองคิดถึงความว่างเปล่าที่ไม่มีอะไร คิดถึงอาหารที่ไม่มีรสชาติ
หยุดปรุงแต่งจิต หยุดความยาก (ที่มากเกิน)
หยุดความหิวโหย (ที่ท่วมท้น) และให้ก้าวผ่านความอยากต่างๆ นั้นด้วยความพอดี
แล้วเราจะพบว่าความสุขจะขยายวงกว้างให้ตัวเอง และคนอื่นอีกหลายเท่าตัว

ข้อคิดนำสุขถ้าเปรียบเทียบ จะแตกต่าง, ถ้าพอใจ จะพอดี.

วันนี้คุณต่อสู้กับกิเลสความอยากได้หรือยัง?

ปรารถนาให้ทุกคนมีความสุขกับสิ่งที่มี และพอใจกับสภาวะที่เป็นอยู่