Print

สัพเพเหระธรรม - ฉบับที่ ๑๓๙

ทำไมเราเรียกพระอานนท์ว่าพระพุทธอนุชา และที่มาของศากยวงศ์

ตรัง สุวรรณศิลป์

พวกเราทั้งหลายต่างทราบกันดีว่า พระอานนท์คือพระพุทธอนุชา (น้องชายของพระพุทธเจ้า) แต่ว่าท่านจะเป็นน้องชายของพระพุทธเจ้าได้อย่างไร?
ในเมื่อพระนางสิริมหามายา (พระมารดาของพระพุทธเจ้า) สวรรคตหลังจากพระพุทธเจ้าประสูติได้เพียง ๗ วัน และจริงๆ แล้วพระอานนท์ท่านประสูติวันเดียวกับพระพุทธเจ้า

คำตอบเรื่องนี้คือ พระอานนท์ท่านทรงเป็นลูกพี่ลูกน้องกับพระพุทธเจ้าครับ
โดยท่านมีศักดิ์เป็นน้องของพระพุทธเจ้า ทั้งนี้คือพระบิดาของพระอานนท์เป็นพระอนุชาของพระบิดาพระพุทธเจ้า

นอกจากพระอานนท์แล้ว บุคคลสำคัญในพุทธกาลที่เป็นลูกพี่ลูกน้องของพระพุทธเจ้ายังมีอีกหลายท่าน เช่น พระนันทะเถระ พระนางนันทาเถรี พระอนุรุทธเถระและพระเจ้ามหานามะ ฯลฯ

ซึ่งตระกูลของพระพุทธเจ้านี้ มีนามว่า “ศากยวงศ์” ทั้งนี้ยังมีกษัตริย์อีกตระกูลที่สำคัญมากและเป็นญาติของพระพุทธเจ้าด้วย ได้แก่ กษัตริย์ตระกูล “โกลิยวงศ์” ซึ่งบุคคลสำคัญของราชวงศ์นี้คือ พระนางสิริมหามายา พระนางมหาปชาบดี พระนางพิมพาและพระเทวทัต

กษัตริย์ศากยวงศ์นั้นปกครองเมือง “กบิลพัสดุ์” ส่วนกษัตริย์โกลิยวงศ์ปกครองเมือง “เทวทหะ”

ถ้าเราได้ศึกษาดูก็จะพบว่ามีการอภิเษกสมรสกันเองระหว่าง “ศากยวงศ์” และ “โกลิยวงศ์” อยู่โดยตลอดในทุกๆ รุ่น เรื่องนี้มีที่มาครับ ซึ่งต้องเล่าย้อนกลับไปถึงต้นกำเนิดของศากยวงศ์เลยทีเดียว เรื่องย่อๆ มีดังนี้ครับ

“โคตมโคตร”

ว่ากันว่าต้นตระกูลของพระพุทธเจ้านั้นมาจากฤๅษีนามว่า “โคตม” ลูกหลานทั้งปวงของท่านฤๅษีผู้นี้จะเรียกว่ามาจาก “โคตมโคตร” และนี่ก็คือสาเหตุว่า ทำไมบุคคลทั้งหลายจึงเรียกพระพุทธเจ้าของเราว่า “พระสมณโคดม” (สมณะผู้อยู่ในตระกูลโคตมะ)

กำเนิด “ศากยวงศ์”

ในสมัยโบราณ มีกษัตริย์ทรงพระนามว่า “พระเจ้าโอกกากราช” พระองค์และพระอัครมเหสี ทรงมีพระราชโอรส ๔ พระองค์และพระราชธิดา ๕ พระองค์ รวมทั้งสิ้น ๙ พระองค์

ภายหลังพระอัครมเหสีสวรรคต พระเจ้าโอกกากราชทรงแต่งตั้งพระอัครมเหสีองค์ใหม่ขึ้นมา ซึ่งต่อมาได้ประสูติพระราชโอรส ทำให้พระเจ้าโอกกากราชพอพระทัยมาก ถึงกับเอ่ยว่ายินดีให้ทุกอย่าง และสิ่งที่พระนางทูลขอก็คือให้ราชสมบัติทั้งหมดนั้นเป็นของพระราชโอรสของพระนาง ไม่ใช่ของมเหสีพระองค์ก่อน

พระเจ้าโอกกากราชทรงไม่สามารถเสียสัตย์ได้ จึงตอบตกลงแต่ตรัสกับพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้ง ๙ ของมเหสีพระองค์ก่อนว่า ให้ออกไปสร้างเมืองใหม่ โดยยังทรงอนุญาตให้นำ ช้าง ม้า และอำมาตย์ ติดตามไปด้วยได้ ทั้งนี้ยังมีประชาชนที่ยังภักดีติดตามไปด้วยเป็นจำนวนมาก

ทั้ง ๙ พระองค์ได้ทรงสร้างเมืองใหม่ ณ ป่าสากใหญ่ และเมื่อสร้างเมืองเรียบร้อยแล้ว ก็ไม่เห็นมีผู้ใดสมควรที่จะอภิเษกสมรสด้วย จึงอภิเษกสมรสกันเองในหมู่พี่น้อง ยกเว้นไว้แต่พระธิดาองค์โต ซึ่งได้ถูกยกไว้ให้อยู่ในฐานะพระราชมารดา

พระเจ้าโอกกากราชเมื่อได้ทราบว่าพระราชโอรสธิดาของพระองค์ทั้ง ๙ ได้สร้างเมืองใหม่ขึ้นแล้ว ก็ทรงยินดีพระทัยเปล่งอุทานว่า “กุมารผู้อาจหาญหนอ กุมารผู้อาจหาญอย่างยิ่งหนอ” ตั้งแต่นั้นมาพระราชโอรสและพระราชธิดาก็ถูกเรียกว่า “ศากยวงศ์” (คำว่า สักก แปลว่า กล้าหาญ, บ้างว่า อาจจะมาจากต้นสากก็ได้)

กำเนิด “โกลิยวงศ์”

ต่อมาภายหลังพระธิดาองค์โตได้ประชวรเป็นโรคเรื้อน พระอนุชาทั้ง ๔ จึงหาที่อยู่ใหม่ให้ โดยได้ขุดหลุมขนาดใหญ่ เตรียมอาหารไว้ให้พร้อมและปูไม้กระดานปิดปากหลุมไว้

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน “พระเจ้าราม” พระราชาแห่งเมืองพาราณสี ประชวรด้วยโรคเรื้อนเหมือนกัน พระองค์ถูกผู้คนในวังรังเกียจ จึงทรงตัดสินใจยกราชสมบัติให้แก่พระราชโอรส แล้วทรงออกไปอยู่ในป่าตามลำพัง เก็บผลไม้และรากไม้ในป่าเป็นอาหาร ครั้นต่อมาก็ทรงหายจากโรคเรื้อน แล้วทรงเร่รอนไปในป่าจนไปพบต้นโกละ (ต้นกระเบา) ต้นหนึ่งซึ่งมีโพรงกว้าง จึงทรงได้อาศัยอยู่ที่ต้นไม้นั้น

ต่อมาวันหนึ่ง พระองค์ทรงสดับเสียงผู้หญิงกรีดร้องด้วยความกลัวจึงได้เดินตาม
หาที่มาของเสียง และ ได้พบว่ามีรอยเท้าเสือคุ้ยดินใกล้กับไม้กระดานบนปากหลุม มองลงไปในหลุมก็ได้พบกับพระธิดาคนโตของพระเจ้าโอกกากราช จึงได้เข้าช่วยเหลือและช่วยรักษาจนหายจากโรคเรื้อน

ภายหลังพระราชโอรสของพระเจ้ารามได้ทรงทราบข่าวว่าพระราชบิดาได้หายจากการเป็นโรคเรื้อนแล้ว จึงไปทูลเชิญให้กลับมายังเมืองพาราณสี แต่พระเจ้ารามทรงปฏิเสธ แต่ขอให้พระราชโอรสช่วยสร้างเมืองใหม่ให้ โดยให้ใช้ไม้จากต้นโกละที่ทรงเคยอาศัยอยู่

เมืองใหม่ที่สร้างนั้น ชื่อเมือง “เทวทหะ” ส่วนคำว่า โกละ ได้กลายมาเป็นชื่อวงศ์ตระกูลคือ “โกลิยวงศ์”

ความสัมพันธ์ระหว่าง ศากยวงศ์ กับ โกลิยวงศ์

กษัตริย์ศากยวงศ์นั้นมีความทะนงในสายเลือดของตระกูลตนสูงมากครับ พวกท่านจะไม่ยอมให้สายเลือดต้องปนเปื้อน ลูกหลานทั้งหลายในศากยวงศ์ต่างก็แต่งงานกันเองระหว่างพี่น้องหรือไม่ก็ระหว่างลูกพี่ลูกน้อง เว้นแต่โกลิยวงศ์เท่านั้นที่ศากยวงศ์จะยอมแต่งงานด้วย เพราะถือว่ามีต้นกำเนิดมาจากต้นตระกูลเดียวกัน

ซึ่งดังที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น พระนางพิมพาพระชายาของพระเจ้าชายสิทธัตถะ ทรงมาจากโกลิยวงศ์ครับ

ผมเคยอ่านเจอมาว่า ด้วยความทะนงในสายเลือดนี้ มีข้อดีคือทำให้พระพุทธเจ้าของเราทรงเป็นผู้มีความบริสุทธิ์ทางสายเลือด คือทรงเป็นวรรณะกษัตริย์โดยบริสุทธิ์ ไม่มีผู้ใดสามารถตำหนิพระชาติกำเนิดได้ ทว่าด้วยความทะนงในสายเลือดนี้เหมือนกัน ที่ทำให้ศากยวงศ์ถึงกับต้องล่มสลายตั้งแต่ก่อนพระพุทธเจ้าจะทรงปรินิพพานเสียอีก เรื่องนี้ถ้ามีโอกาสผมจะเอามาเล่าให้ฟังครับ

ข้อดีประการหนึ่งของการรู้ที่มาของศากยวงศ์ คือช่วยให้เราเข้าใจเหตุการณ์ในพุทธประวัติได้มากขึ้นครับ โดยเฉพาะในช่วงที่เกี่ยวกับพระญาติของพระพุทธองค์

อ้างอิง: อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค อัมพัฏฐสูตร

misc-139

ภาพ “อภิเษกสมรส พระสิทธัตถะกับพระนางพิมพายโสธรา”
วาดโดย อ.เหม เวชกร