Print

สัพเพเหระธรรม - ฉบับที่ ๑๑๑

ความรักในกรรม(มือ)

สังสารวัฏปกปิดเงื่อนงำ เวลาผ่านไปเราก็ลืม
เริ่มต้นก็ถูกเข้าใจผิด
ความรักตนเอง หลงว่ามีตนเอง
ถูกกิเลสครอบงำ ทำกรรม
ทำร้ายคนอื่นด้วยความไม่รู้ว่ากิเลสกำลังเผาใจ เผาคนอื่น
และเป็นเชื้อให้เผาตนเองอีกในอนาคต
พอต้องรับผลกรรม โดนกระทำ ก็ลืมไปว่าตนเป็นผู้ทำมา
อาฆาตแค้น ไม่ยอมอภัยคนที่มาทำกับเรา
วงจรเป็นเช่นนี้ ทุกคนถูกปกปิดด้วยความไม่รู้อย่างเดียวกัน

"แท้ที่จริงโลกของเรามันคือโลกของกรรมที่เราทำ
ที่ต้องรับเพราะสร้างเองแต่ผู้เดียว
คนอื่นก็เป็นหุ่นชักใยโดนหลอกแบบเดียวกัน
เขาก็ต้องไปรับกรรมที่เขาสร้างของเขา"

"ไม่มีใครทำร้ายใครหรอก มีแต่กรรมที่เราทำ
ทั้งที่กระทำไป ทั้งที่พูดไป ทั้งที่คิดต่อ ที่ทำร้ายตัวเรา"

เมื่อเราเข้าใจกรรม เราก็เลือกทำกรรมใหม่ที่ดีได้
ที่ทำไม่ดีไปแล้ว มันทุกข์ ใครจะหลีกเลี่ยงได้
มีสติก็ไม่ถือ ขาดสติก็รับมา แค่นั้นเอง
ตราบใดที่เกิดก็ยังต้องทุกข์ไม่มีทางสิ้นสุดหรอก เรื่องธรรมดา

"
โลกหมุนอยู่ด้วยสมมติ ด้วยความคิดของเราที่ไม่อาจจับต้องได้"
แต่สิ่งที่ไม่อาจจับต้องได้นี้คละเคล้าอยู่กับกิเลสปั่นหัวเราให้หมุนให้ทุกข์ตลอด
น่าจะถึงเวลาที่เราจะพยายามแสวงหา ทางรู้ ทางตื่น ออกจากโลกเสียที
หยุดสร้างโลก ให้มีให้เป็นเพิ่ม แต่หันมาสร้างธรรมให้เกิดมีในใจมากขึ้นๆ

ฉันเองสนใจอยากรู้สาระของการเกิดตั้งแต่เด็ก
มาเรียนรู้เข้มข้นขึ้นเพราะทุกข์
มามุ่งมั่นเพิ่มขึ้นเพราะอยากไปกับใครคนหนึ่ง
แต่เพิ่งมารู้สึกเห็นอะไรชัดเจนขึ้นก็เมื่อตอนย้อนมาดูตนเองมากๆ เพราะทุกข์ในรัก

"
แท้จริงความรักมันก็เป็นมายาผลแห่งกรรมที่เราทำอีกอย่างหนึ่ง"
ยิ่งจิตใจเราซึมซับธรรมะไว้ในใจมากขึ้นเท่าไหร่
เราจะยิ่งเข้าใจความรักที่แท้จริงได้มากขึ้น

ฉันเคยฝันที่จะมีรักแท้กับเขาเหมือนกัน
ฝันว่าจะมีคนที่เรารักเขามากๆ เขารักเรามากๆ อยู่ด้วยกันตลอดไป
จนมาศึกษาธรรมะมากขึ้นก็ได้เข้าใจมากขึ้นว่ามันไม่มีอยู่จริง
"เพราะอะไรที่แท้มันคือความไม่แปรเปลี่ยน
แต่รักของคนบนโลกมันยังมีขึ้นมีลงตามอารมณ์
นั่นไม่ใช่ความรัก แต่นั่นคือการทำตามกรรม ตามกิเลสต่างหาก"

"
ความรักที่แท้ต้องเริ่มสร้างจากตัวเรา
ตราบเท่าที่ใจเรายังไม่เต็มไม่สมบูรณ์
เราก็ไม่สามารถพบความรักที่ไม่พาให้ทุกข์ได้"

ถ้ายิ่งเข้าใจธรรมะ เราจะยิ่งรู้จักรักเป็นโดยลำดับ
เมื่อเรารู้จักรักด้วยธรรมแล้ว เราจะไม่สนใจต้องคอยความรักจากอีกฝ่าย หรือจากใครเลยด้วยซ้ำ

"
เพราะรักในธรรม มันไม่มีตัวตน
ไม่เจือด้วยกิเลสความอยาก ความติดใจยึดถือ
ความเคียดแค้นเมื่อไม่ได้ดังหวัง"

ถ้าเราเข้าใจกรรม เข้าใจจิตใจตนเอง
เราจะเข้าใจว่า ที่จริงแล้วเขาจะรักเรามากเราน้อย มันควรจะขึ้นอยู่กับว่าเขารักเรามากเราน้อย
แต่ในแง่ความเป็นจริงเราจะรับได้มากหรือน้อยมันขึ้นอยู่กับตัวเรา กรรมเรา ใจเราที่เปิดรับ ใจเราที่คิดไป

เราไม่มีทางรู้ได้จริงๆหรอกว่าใครรักเรามากน้อย จริงไม่จริง
รับรู้ได้เพียงส่วนหนึ่ง แต่ไม่มีทางรู้ได้ทั้งหมด
ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะมันขึ้นอยู่กับกรรมของเรา ของใครของมัน
ที่เลือกสร้างเหตุไว้ และรับได้แค่ไหน
เพราะกรรมมันส่งที่ความรู้สึก

ความสุขของเราจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนอื่น
ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเขาไม่รัก
เขารักมาก เขารักน้อย
เขาให้หรือไม่ให้อะไรอย่างที่ใจเราต้องการ
แต่มันขึ้นอยู่กับกรรมของเราที่สมควรจะได้อะไร
มีความสุข มีความทุกข์แค่ไหน
และมันขึ้นอยู่กับความพอใจของเราที่เราเลือกจะคิดจะเป็น

คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ตรงจุดนี้
คิดว่าเรามีความสุขจากการได้ จากคนอื่น จากสิ่งอื่น
เราก็เลยเป็นคนช่างขอ ช่างคาดหวัง
พอไม่ได้ดังใจก็ทุกข์ ก็มีปัญหา ก็ทะเลาะ ก็เลิก ก็เปลี่ยนคน
สร้างความสุขให้ตนเองไม่เป็น แล้วยังสร้างปัญหาให้กับคนอื่น
และมันก็ย้อนกลับมาที่ตัวไปเรื่อยๆ ไม่ได้ออกจากวงจรซะที

ถ้ารู้อย่างนี้แล้ว หันมาสร้างธรรมในใจตนเองให้สมบูรณ์ดีกว่า
อย่าหวังให้ใครเปลี่ยนหรือสร้างอะไรเลย
"สุดท้ายจะมีความสุขก็เพราะเราทำกรรมเลือก"

และถ้าไม่อยากเหนื่อยต้องทุกข์แล้วสุข สุขแล้วทุกข์ไปเรื่อยๆ
ก็เพียรหาทางออกจากวงจรนี้เสียเถอะ
โอกาสที่เราจะเกิดมาในชาติที่ยังมีพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์นั้นมีไม่มาก
ถ้าพลาดโอกาส ก็จะต้องมาหลงโลก หลงทุกข์ไปเรื่อยๆ

พระอริยะสาวกหลายรูปสละความรักความหลงในโลกเพื่อแลกธรรม พ้นโลก
พระพุทธองค์เองครั้งเมื่อชาติสุดท้ายก็ยอมสละความสุขจากทรัพย์สมบัติอันบริบูรณ์หาใครเทียบ
แม้แต่พระมเหสีและบุตรอันเป็นที่รักก็ทรงสละ เพื่อมาค้นพบสัจธรรมและนำมาเผยแพร่แก่ชาวโลก
เมื่อเรามีทุกข์ในรักที่ไม่สมบูรณ์ เราจะสละออกจากใจเพื่อมาค้นหาธรรมไม่คุ้มหรือ :)

~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

โลกของฉัน

Ying Leolino~

หลายคนเข้าใจว่าโลกคือ สิ่งแวดล้อมภายนอก

ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส สัมผัสได้ความรู้สึก
มะระสำหรับคนหนึ่ง ขม อร่อย
มะระสำหรับอีกคนหนึ่ง ขม ไม่อร่อย

คนหนึ่งเห็นสิ่งหนึ่ง บอกว่าถูก
แต่อีกคนเห็นสิ่งเดียวกัน บอกว่าผิด

คนๆ หนึ่งมีข้อดี ๓ เราก็คิดว่ามีเป็น ๗ ข้อได้ เพราะเราชอบ
คนๆ หนึ่งมีข้อเสียแค่ ๓ เราก็คิดว่ามีข้อเสียสัก ๑๐ ข้อก็ได้ เพราะเราไม่ชอบ

เป็นเพราะแต่ละคน “คิดไม่เหมือนกัน”
นี้เป็นหลักฐานว่าเรามองโลก และมีโลกของตัวเองในทุกๆเรื่อง

ในมุมมองของการยอมรับ
ถ้าเข้าใจเรื่องการมอง เราจะรู้ว่าแค่เปลี่ยนความคิดได้ โลกของเราก็เปลี่ยนไปแล้ว
เพราะต่อให้เราเปลี่ยนคนกี่คน ย้ายไปอยู่ประเทศไหน

แต่ถ้าใจเราเหมือนเดิม โลกเราก็ใบเดิมอย่างที่เราคิด เรามองนั่นแหละ
ฉากข้างนอกเปลี่ยน แต่ของข้างในเหมือนเดิม

“เราก็สุขเพราะความคิดของเรา ทุกข์เพราะความคิดของเรา” เหมือนเดิม

ในมุมมองของการเปลี่ยนแปลง
เพราะความคิดที่แตกต่าง เพราะความชอบที่ไม่เหมือนกัน

ทำให้เราพยายามแสวงหาทางตามวิถีของตนเอง
ที่เราคิดอย่างไร ก็เพราะเราสะสมกรรมทางการคิด การพูด การทำ มาแบบนั้น

เราพยายามจะเลือกสิ่งที่ดี สิ่งที่ชอบ หลีกหนีสิ่งที่ไม่ชอบ
ก็คือ การเดินตามเส้นทางชีวิตเดิมๆ สะสมประสบการณ์เดิมๆ นำไปสู่การกระทำเดิมๆ
นั่นคือโลกที่เราสร้างขึ้น

เราพยายามจะเลือกสิ่งที่ดี สิ่งที่ชอบ ก็เพราะเราคิดเห็นไปอย่างนั้น
แต่บางครั้งก็ไม่รู้เลยว่ามันเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษกับตนเอง
นี่เป็นเหตุผลที่เราควรมาเรียนรู้เรื่อง “กรรมวิบาก”
เราเปลี่ยนคนกี่คน ย้ายไปอยู่ประเทศไหน

แต่ถ้ายังทำกรรมแบบเดิมๆ ก็เจออะไรแบบเดิมๆ
ไม่เปลี่ยน

คนเรามักเข้าใจว่าการเปลี่ยนโลกคือการเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนคนอื่น เปลี่ยนสิ่ง “ภายนอก”
แต่ถ้าเข้าใจเรื่องกรรมวิบากเราจะรู้ว่าเราเจออะไร เราได้อะไร เหมาะสมอย่างเดียวกับที่เราทำมา
เราเปลี่ยนโลกของเราได้ด้วยการสร้างกรรมของเราเอง จาก “ข้างใน”
อยากได้อย่างไร ก็ให้กับผู้อื่นอย่างนั้น