Print

สัพเพเหระธรรม - ฉบับที่ ๙๗

แผนสอง

(inochi no poka-yoke)

malimalimalimali

 

 

อ่านย้อนหลังได้ที่นี่
ตอนที่ ๑
ตอนที่ ๒ & ๓
ตอนที่ ๔

 

ตอนที่ 5

เป้าหมายแผนสอง

 

 

 

 

 

ลองทบทวนเรื่องราวทั้งหลายในชีวิตเราดู

เราจะพบว่า มันเป็นธรรมดา

ที่เราจะรู้สึกว่า

อยากได้บางอย่าง ไม่อยากได้บางอย่าง

บางเรื่องไม่ควรเอา ก็ยังจะเอาอยู่นั่นแหละ

หรือบางเรื่องไม่อยากเอา มันก็สะบัดไม่หลุดสักที

 

 

 

เราจะเอาไปทำไม?

 

 

 

 

 

คำตอบก็คือ

ก็เอามาเป็นของเราไงล่ะ!

 

 

 

โอ้โห ทำไมฟังดูกำปั้นทุบดินยิ่งกว่าเดิมอีกล่ะ?

จะเอา ก็ต้องเอาเป็นของเราอยู่แล้ว จะบอกทำไม?

 

 

 

 

ความรู้สึกที่เป็น "ของเรา" หรือ "ไม่ใช่ของเรา" นี่ มันเป็นยังไง

ไม่ต้องมานั่งอธิบายกันให้ยืดยาว

เพราะความรู้สึกนี้ มันฝังลึกราวกับสลักลงในดีเอ็นเอกันเลยทีเดียว

 

สำหรับใครที่อยากจะแน่ใจว่า

ความเป็น "ของเรา" ในที่นี้เป็นอย่างไร

ก็ลองดูอย่างนี้ก็แล้วกัน...

 

 

 

 

ลองนึกสถานการณ์ง่ายๆขึ้นมาหนึ่งเรื่อง
สมมติว่า เป็นเรื่องอกหักเรื่องหนึ่ง...

 

ถ้าเกิดกับคนไม่รู้จัก

เราจะรู้สึกว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นในโลกนี้

 

ถ้าเกิดกับเพื่อนหรือคนใกล้ชิด

เราจะรู้สึกอิน เห็นใจเขา ในระดับหนึ่ง ตามความสนิท

 

แต่ถ้าเกิดกับตัวเอง

เราจะอิน มากที่สุด

 

 

 

สิ่งที่แตกต่างในเรื่องเดียวกัน

ไม่ใช่เป็นเพราะเรารู้เรื่องของเราละเอียดที่สุด

แต่เป็นเพราะเราให้ความสำคัญกับเรื่องของเรา

มากกว่าเรื่องของคนอื่น ที่เรามองว่า ไม่ใช่เรื่องของเรา

 

 

 

ทีนี้เริ่มเห็นความเป็น "ของเรา" บ้างแล้วใช่ไหมล่ะ?

 

 

 

 

 

 

 

เรื่อง "ของเรา" มันก็คือเรื่องนี้แหละ

และเรากำเรากำทุกข์เสมอๆ ถ้าเราไม่ได้สังเกตมันให้ดี

 

เหมือนกับเราทำงานเสียภาษีให้กับประเทศ

โดยที่เราไม่เคยตั้งคำถามว่าประเทศคืออะไร

ใครควบคุมดูแลอยู่ เอาเงินภาษีเราไปทำอะไรบ้าง

ความเชื่อมั่นในประเทศนี้

ทำให้เรามีความสุข หรือมีความเดือดร้อนอะไรบ้าง

 

อย่าปล่อยให้มันตรวจสอบเรา

ว่าเรายังทำตามคำสั่ง ทำตามกฎที่มันตั้งไว้อยู่หรือเปล่า

 

เราต้องตรวจสอบมันกลับไป

 

 


ตั้งแต่เกิดมา

เราก็ได้รับการสั่งสอนว่า

นี่คือของเรา นี่เป็นของเรา ตั้งแต่ยังจำความไม่ได้

ร่างกายของเรา พ่อแม่ของเรา ครอบครัวของเรา

แฟนของเรา สามีภรรยาของเรา ลูกของเรา

เงินของเรา ทรัพย์สินของเรา บ้านของเรา รถของเรา

 

 

รวมไปถึง ใจของเรา ด้วย

 

 

 

 

โดยธรรมชาติ เรามักแปลคำว่า "ของเรา"

ในเรื่องของการครอบครอง การควบคุม

มีสิทธิที่จะทำให้เป็นไปตามที่ใจต้องการ

 

แฟนของเรา ลูกของเรา พ่อแม่ของเรา

โรงเรียนของเรา บ้านของเรา ร้านของเรา

งานของเรา ความฝันของเรา โครงการของเรา

ความคิดของเรา อารมณ์ของเรา เรื่องราวต่างๆของเรา

 

การเป็น "ของเรา" จึงเต็มไปด้วยความคาดหวัง

การยึดแน่นทางอารมณ์

เมื่อเราพบว่า สิ่งที่เป็น"ของเรา" เกิดมีอะไรไม่ถูกใจ"ของเรา"ขึ้นมา

เมื่อสิ่งที่เราต้องการมาเป็นของเรา มันยังไม่เป็น "ของเรา" แบบนั้น

เมื่อเราพบว่าสิ่งที่เป็น "ของเรา" มันจะไม่กลายเป็น "ของเรา" แล้ว

เราจึงต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้เป็นไปตามที่เราว่าควรจะเป็น

 

แต่ ถ้าจะให้พูดว่า มันไม่ใช่ของเราๆอยู่ท่าเดียว เป็นนกแก้วนกขุนทอง

เราก็ไม่เก็ตหรอก นกแก้วนกขุนทองก็คงจะบอกว่าไม่เก็ตเหมือนกัน

ก็แน่นอน

ที่ใจมันยังปฏิเสธ

ก็เพราะเห็นๆอยู่ทนโท่ รู้สึกอยู่ชัดๆ ว่าเป็น "ของเรา"

 

 

 

 

 

 

ทำไม "ของเรา" จึงสำคัญนักล่ะ?

 

 

คำตอบที่ทุบดินรอบที่สามก็คือ

"การมีของเรา" ทำให้ "การมีเรา" ชัดเจน มีตัวมีตน!

 

 

 

 

 

 

เราอาจจะคิดแย้งว่า เราก็มีเรา

อยู่ของเรามาตั้งแต่เกิดอย่างนี้อยู่แล้ว

แล้วจะทำไมล่ะ

มันไม่ใช่เรื่องปรกติที่ใครๆเขาก็มีตัวตนของตัวเองเหรอ?

 

ให้ละคำว่า ใครๆก็มีตัวตนเป็นของตัวเอง เป็นเรื่องปรกติไว้ก่อน

แล้วมาคิดดูว่า เคยไหมที่รู้สึกว่า

ลุกลน ต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อตอบสนองอะไรสักอย่าง

ลุกลน เมื่อมีคนมองเราไม่ดี

 

เคว้งคว้าง ไม่รู้ว่าต้องการอะไรต่อไป

เคว้งคว้าง เหมือนขาดอะไรไปก็ไม่รู้

 

ไร้คุณค่า เมื่อชีวิตไม่ได้สิ่งนั้นสิ่งนี้อย่างที่ต้องการ

ไร้คุณค่า เมื่อไม่มีอะไรต่อมิอะไรให้ใครเห็น

ไร้คุณค่า ไม่มีใครเข้าใจ

ไร้คุณค่า ไม่มีใครเห็นสิ่งที่เราทำ

ไร้คุณค่า ไม่มีใครเห็นสิ่งที่เรามี

 

ไร้ตัวตน เมื่อไม่มีใครมาสนใจ

ไร้ตัวตน ไม่มีคนคุยด้วย ไม่มีใครเหลียวแล

ไร้ตัวตน ไม่มีที่ยืนในสังคม

 

 

 

 

 

เหล่านี้แหละ

เรากลัวว่า ความเป็นเรา มันจะหายไป

แล้วมันทุกข์ไหมล่ะ?

 

มันทำให้เราต้องหาหลักฐาน หาทรัพย์สิน สิ่งของ

หาคนที่จะอยู่กับเรา หาคนที่สนใจเรา

หาความรัก ความเข้าใจ ความปรารถนาดี การชื่นชมสรรเสริญ

ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่า

"เรา" มีที่ยืนอยู่บนโลกนี้จริงๆ

แล้วมันทุกข์ไหมล่ะ?

 

และการหาที่ยืนบนโลกนี้แหละ

ที่เป็นเครื่องยืนยันกลับอีกชั้นหนึ่งว่า

มี "การมีเรา" อยู่

เพราะถ้าไม่มี "เรา"

เราก็ไม่ต้องหาที่ยืนอะไรให้เมื่อยกายเมื่อยใจ

แต่มันมี "เรา" ไปแล้วนี่สิ

ก็เลยต้องเมื่อยกันอยู่อย่างนี้

แล้วมันทุกข์ไหมล่ะ?

 

 

การมี "เรา" จึงเป็นตาน้ำต้นสาย

ในการที่ทำให้การเอา - ไม่เอา มาเป็นของเรา

เป็นเรื่องสลักสำคัญระดับชีวิต

 

เราอยากยืนยันกับโลกนี้ และคนอื่นๆว่า เรามีตัวตน

และเป็นตัวตนที่ชัดเจน สวยงาม

เราเลือกตัวตนในแบบที่ชอบได้

มีแต่สิ่งที่เราพึงพอใจมาครอบครองได้

เราก็จึงดึงเอาแต่สิ่งที่พึงพอใจเข้าตัว

นี่แหละ ฉันเอง ตัวตนของฉัน

 

และคงไม่มีใครอยากจะเป็นคนโง่ คนอัปลักษณ์

อับโชคด้านการเงินการงาน อับเฉาเรื่องสุขภาพ

เพราะนั่นคือสิ่งที่เราไม่พึงพอใจ ไม่อยากได้

เราไม่อยากยอมรับกับโลกว่า

เรามีสิ่งยี้ๆเหล่านี้อยู่เป็นส่วนหนึ่งของเรา

เราก็จึงผลักไสไล่ส่งสิ่งที่ไม่พึงพอใจออกจากตัว

ไม่น่ะ นี่ไม่ใช่ชั้น ไม่ใช่ของช้านนน

 

 

 


เมื่อมี "เรา" เช่นนี้

จึงมีศูนย์กลางในการผลักออก หรือดึงเข้า

ตามความความต้องการ - ไม่ต้องการ ที่เกิดขึ้น

 

 

 

แล้วถ้าในโลกนี้มี สอง "เรา" ล่ะ?

 

 

แล้วถ้า สาม "เรา" ล่ะ?

 

 

 

 

เอาเข้าจริง ในโลกจริงๆมีไม่รู้ตั้งกี่ล้าน "เรา"

โอ้โฮ ยุ่งจนจินตนาการไม่ถูกเลยล่ะ

 

 

แต่...

ถ้าให้สมมติว่า ในโลกนี้มี "เรา" อยู่คนเดียว

ก็ใช่ว่า จะสุขสมปรารถนา

เอาทุกอย่างมาครอบครองได้สมใจอยากซะที่ไหนกัน?

 

 

แค่ดินฟ้าอากาศ ก็ควบคุมให้เป็นอย่างใจไมได้แล้ว

แถมยังจะเหงาเงก ผลักเหงาขนาดไหนมันก็ไม่ไป

ไม่มีคนอื่นมารับรู้ว่าเรามีตัวตนอยู่ในโลกนี้ด้วยอีกต่างหาก

 

 

 

เห็นหรือยัง?

มันเป็นเพราะ "เรา" จริงๆเลยน้อออ

 

 

กำปั้นทุบดินแรก

เราชอบความรู้สึกสุข ไม่ชอบความรู้สึกทุกข์

 

 

 

กำปั้นทุบดินสอง

เราเอานู่น เอามี เพื่อเอามาเป็นของเรา

 

 

กำปั้นทุบดินสาม

การเอามาเป็นของเรา ทำเพื่อยืนยันการมีตัวตน

 

 

คำตอบกำปั้นทุบดินทั้งสาม

ช่วยให้เราค้นพบเป้าหมายตัวจริง สำหรับแผนสอง อย่างนี้แหละ