Print

สัพเพเหระธรรม - ฉบับที่ ๙๕

แผนสอง

(inochi no poka-yoke)

malimalimalimali

 

 

อ่านย้อนหลังได้ที่นี่
ตอนที่ ๑
ตอนที่ ๒ & ๓

 

ตอนที่ 4

95_etc_01

มาเริ่มเขียนแผนสองกันเถอะ

 

ถ้าแผนแรกของชีวิตที่ทุกคนมี คือ
แผนในการกินอยู่กับความสุข หรือชีวิตขาขึ้น

 

แผนที่สอง คือ
แผนในการอยู่กินกับความทุกข์ หรือชีวิตขาลง
ที่จะมาอุดช่องโหว่มากมายในแผนแรก
ทำให้เรามีแผนชีวิตที่ครบ ไม่ว่าจะเจอสิ่งที่สมหวัง หรือวันที่ฟ้าไม่เป็นใจ
ซึ่งเป็นอะไรที่เราจะต้องประสบพบเจอสลับไปมาทั้งชีวิตอยู่แล้ว

 

เมื่อมีแผนสองในชีวิตแล้ว
เวลาเราพบเจอกับทุกข์
เราจะได้ไม่ต้องตั้งหน้าตั้งตาวิ่งหนีหรือดิ้นพล่านแบบเมื่อก่อน
เพราะเรารู้แล้วว่าต้องเตรียมรับมือกับมันอย่างไร


และข่าวดีอีกอย่างหนึ่งก็คือ
ไม่มีคำว่า ?สายเกินไป? สำหรับการมีแผนสอง
ตราบที่เรายังมีลมหายใจ
เพื่อเราจะได้มีชีวิตอย่างเต็มๆ ใบ

 

 

 

95_etc_02

 

 

 

เมื่อเรารู้และกำหนดจุดประสงค์ที่ชัดเจนของแผนสองแล้ว
สิ่งต่อไปที่เราต้องคำนึงในแผนก็คือ
เราต้องใช้แผนสองนี้เพื่อจัดการกับอะไร
เพื่อให้เราอยู่กินกับความทุกข์ในวันที่มันมาได้อย่างมีสไตล์
หาใช่วิ่งกระเซอะกระเซิง กระโจนร้อยลี้ โดดหนีลงตุ่ม เหมือนแต่ก่อน



ถ้าเราไม่รู้แน่ชัดว่าเราต้องจัดการกับอะไร
ก็เหมือนเราปิดตาตีหม้อ แบบไม่มีใครช่วยบอกทิศทาง
ตีไปก็ไม่ถูก เสียเวลา
แถมอาจจะสะดุดหม้อหกล้มเข่าถลอก ร้องไห้ขี้มูกโป่งด้วย

 

 

 

ถ้าเราปวดท้องเพราะเครียด เราก็ต้องจัดการกับความเครียด
ถ้าเราปวดท้องเพราะอาหาร เราก็ต้องจัดการกับอาหารที่จะทานเข้าไป


แล้วถ้าเราเป็นทุกข์ มันจะเป็นเพราะว่าอะไร
ถ้าเราพบ เราก็จะรู้ว่า สิ่งนั้นนั่นล่ะ เป็นสิ่งที่เราควรจัดการ





ตกลงควรจะจัดการกับอะไรเหรอ?

 


เอาอย่างนี้
มาตรวจสอบตัวเองกันก่อนว่า เรารู้จริงๆหรือเปล่าว่า
ความสุขคืออะไร? ความทุกข์คืออะไร?

 


ในแวบแรกที่เราได้ยินคำถามว่าความสุขคืออะไร ความทุกข์คืออะไร
เราอาจจะรู้สึกว่า
โอ้โฮ ถามอะไรได้เบเบ (เบสิค) ชะมัดยาด

  

แต่ก็นั่นสินะ ใครจะรู้จริงบ้างว่ามันคืออะไร?


มาดูสองรูปนี้อีกสักรอบ
ความสุข คือสิ่งที่อยู่ในรูปข้างบน ใช่ไหม?
ความทุกข์ คือสิ่งที่อยู่ในรูปข้างล่าง ใช่ไหม?

 

 

95_etc_03

 

หลายๆคนคงตะโกนในใจกลับมาว่า
ก็ใช่น่ะสิ(เฟ้ย) ถามอะไรประหลาดอีกแล้ว!






จริงๆก็เป็นเรื่องง่ายๆที่ใครๆก็รู้ว่า
แต่ละคนมีความสุขกับสิ่งต่างๆในแบบที่แตกต่างกันไปบ้าง
เหมือนกันบ้าง
คล้ายคลึงกันบ้าง





ในภาษาทั่วไปของเรา เวลาเราชอบทำ ชอบมี หรือชอบเป็นอะไร
ก็จะแปลความหมายไปเลยว่า สิ่งนั้นสิ่งนี้คือความสุข
ส่วนเวลาไม่ชอบทำ ไม่ชอบมี หรือไม่ชอบเป็นอะไร
ก็จะแปลความหมายไปเลยว่า สิ่งนั้นสิ่งนี้คือความทุกข์


นั่นคือสิ่งที่เราเข้าใจกันมาตลอด





ซึ่งถ้าสิ่งเหล่านั้นกับความสุข เป็นตัวเดียวกัน
ทุกคนก็จะต้องยอมรับเหมือนกันหมดว่า
ทุกสิ่งที่คนอื่นมี คนอื่นทำ คนอื่นเป็น นั่นคือความสุข





แต่...


โอ๊วโน่ว
?


มันเป็นไปไม่ได้...






ในความเป็นจริง
บางคนกระโดดโลดเต้นดีใจที่ได้เงินเดือนหมื่นสาม
ในขณะที่บางคนเศร้าโศกเสียใจที่ได้เงินเดือนหมื่นสาม

แล้วเราก็พยายามอธิบายปรากฏการณ์นี้กันว่า
เป็นเพราะว่าความสุขของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

แต่เรามักลืมคิดง่ายๆ ลืมตระหนักไปว่า
สิ่งต่างๆเหล่านั้น กับความสุข มันไม่ใช่ตัวเดียวกัน

 

95_etc_04

 

เช่นเดียวกับความทุกข์
เรามักลืมคิดง่ายๆ ลืมตระหนักไปว่า
สิ่งต่างๆเหล่านั้น กับความทุกข์ มันก็ไม่ใช่ตัวเดียวกัน

 

95_etc_05

 

งงใช่ไหมล่ะ?
(คุณผู้ชม : งงสิยะ!)





ก็ทั้งชีวิตเราน่ะ
เราไม่เคยสังเกตเลยว่า
ความสุข กับสิ่งต่างๆรอบตัวเรา มันไม่ใช่ตัวเดียวกัน






เราถึงได้ไม่เข้าใจว่า
เราไม่จำเป็นต้องสุข เวลาที่ได้รับคำชม
เราไม่จำเป็นต้องร้อนรน เวลาที่ได้รับคำติเตียน





เราไม่เข้าใจ
เราก็เลยไม่รู้ว่า
มันไม่ใช่แม้แต่ปลายเหตุ

 

 




 

ต้นไม้ในโลกนี้มันมีหลากหลายชนิดนับแทบไม่ถ้วน
ต้นไม้ในเมืองไทยก็มีมากมายหลายพันธุ์หลายชื่อ เรียกต่างกันไป

มีต้นไม้อยู่ต้นหนึ่ง คนไทยเคยให้ชื่อว่า ลั่นทม
ไม่มีใครปลูกตามบ้าน เพราะว่ากลัวว่ามีต้นนี้ไว้ในบ้านแล้ว
ชีวิตจะ "ระทม" เป็นต้นไม้อัปมงคล

แต่หลังจากที่ได้ชื่อว่า "ลีลาวดี" แล้ว
กลับเป็นที่นิยมในการปลูกในทุกๆที่
เพราะว่า มันสวย


ต้นไม้ก็อยู่ของมันดีๆ
อยู่มาวันหนึ่ง ใครก็ไม่รู้ไปตั้งชื่อให้มันว่า "ลั่นทม"
มันก็เลยเป็นกลายเป็นข้อจำกัดเฉพาะคนที่รู้ภาษาไทยหลายๆคน
ให้ต้องคิดหนัก กลัวชื่อนั้นจะทำให้ชีวิตตัวเองวอดวาย


หลายๆคนลืมไปว่า
ก่อนหน้าคนคนนั้นจะตั้งชื่อให้ต้นไม้นี้
มันก็เป็นต้นไม้ของมันอย่างนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไร
เมื่อก่อนมันไม่ได้มีชื่อมีป้ายแปะอะไรเสียด้วยซ้ำ
ก่อนที่ใครจะมาตีความว่ามันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ตั้งนาน

 



 

เช่นเดียวกัน

ตั้งแต่เกิดมา
แม้ว่าเราจะไม่ได้ถูกสอนโดยตรง
ว่าสิ่งไหนคือความสุข ความทุกข์
แต่เรา
รู้สึกได้ด้วยตนเอง
ว่านั่นคือความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์
ด้วยกระบวนการเรียนรู้ ที่จะแสวงหาความสุข หลีกหนีทุกข์ เพื่อตัวเอง




สิ่งที่คนทั่วไปทำก็คือ
เราวิ่งไปแปะป้ายสิ่งนั้นสิ่งนี้ ว่าเป็นความสุข ความทุกข์
ตามแต่ใครจะคิดว่าสิ่งนั้นๆเป็นอะไร
หรือเห็นชาวบ้านรอบๆข้างคิดว่าเป็นอะไร
บางสิ่งก็โดนแปะป้ายความสุขมากหน่อย
บางสิ่งก็โดนแปะป้ายความทุกข์มากหน่อย


 


แล้วในที่สุด
เราก็นึกทึกทักว่าสิ่งนั้นเป็นความสุขจริงๆ
สิ่งนี้เป็นความทุกข์จริงๆ

โดยที่ลืมไปว่าเราเป็นคนไปแปะป้ายมันเองนี่นา

 

 

95_etc_06

  

เมื่อเราเริ่มแยกได้และเริ่มยอมรับ
ว่าเราเป็นคนแปะป้ายเองดังนี้
เราก็จะเริ่มเห็นแล้วว่า
ลั่นทม มันก็เป็นของมันอย่างนั้น ไม่ว่าจะชื่ออะไร
ไม่ว่าฝนตก รถติด หงุดหงิด หมาตาย นาย
ด่า สามีหนีเที่ยว
มันก็เป็นของมันไปตามเรื่องตามราวอย่างนั้น
เป็นไปตามธรรมชาติอย่างนั้น


ส่วนที่เราจะรู้สึกอย่างไรกับมัน

เราจะแปะป้ายให้มันว่าอะไร มันเป็นคนละเรื่องแต๊ๆ

 

95_etc_07

 




แผนสองของเรา เริ่มขึ้นแล้ว

เมื่อเราได้เห็นปมแรกที่เราต้องจัดการ
นั่นคือ การแปะป้ายให้ค่า

 

95_etc_08

 

 

แล้วสาเหตุที่ทำให้เราต้องคอยแปะป้ายให้ค่าล่ะ?
มันคืออะไรเหรอ?

95_etc_09

 

 

เราชอบเพลงเพราะๆ
เพราะฟังแล้วเรามีความสุข

เราชอบคนหล่อๆสวยๆ
เพราะเห็นแล้วสบายตา มีความสุข

เราไม่ชอบคนโกง
เพราะคบแล้วเดือดร้อน มีความทุกข์

เราไม่ชอบการโดนว่ากล่าว
เพราะได้ยินแล้วเสียเซลฟ์ มีความทุกข์

 

95_etc_10

 

 

แล้ว...ยังไงล่ะเนี่ย?

 

ก็ถ้าแค่รัก แค่เกลียด แค่ชอบ แค่ไม่ชอบ แล้วมันก็จบ
ถ้ามันเท่านี้จริงๆ มันก็คงไม่มีอะไรวุ่นวาย
ไม่มีอะไรให้โลกยุ่งเหยิงอย่างทุกวันนี้นัก



........



แต่มันไม่จบน่ะสิ พ่อแม่พี่น้องจ๋า...
มันมีอะไรมากกว่านั้นอีกมหาศาลบานตะเกียง


ก็เพราะว่าพอเรารัก เราก็จะเอามาเป็นของเรา
พอเราเกลียด เราก็จะไม่เอา เอาไปให้พ้นสายตา น่ะสิ
เราไม่ยอมที่จะรักเฉยๆ เกลียดเฉยๆ หรอก

 


ก็เลย...
เป็นเรื่อง!

 








สรุปเรื่องตรงนี้ได้ว่า
การแปะป้ายให้ค่า


มีสาเหตุมาจาก
การรับรู้ความสุขสบาย ทุกข์ยากลำบาก


ที่ผันให้เกิด
ความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ รัก เกลียด

 


แล้วเราก็
"แปะป้าย"
เพื่อที่จะ
"เลือก"
ว่าจะ
เอาอะไรเข้าตัวเอง
เอาอะไรออกจากตัวเอง

 

95_etc_11