Print

สัพเพเหระธรรม - ฉบับที่ ๙๑

มอบความรักความสุขใจให้แก่ตนเองก่อน แล้วจึงแบ่งปันให้ผู้อื่น (๑)

shortstoryพัฒนเดช

 

 

เรายินดีที่จะฟังคำพูดที่ไพเราะ อบอุ่น และอ่อนโยนเช่นไร
เราก็จะพูดให้คนอื่นฟังเช่นนั้น

เราไม่ชอบถูกนินทา ไม่ชอบถูกด่าว่าด้วยถ้อยคำหยาบคายเช่นไร
เราก็จะไม่ทำกับคนอื่นเช่นนั้น

ความรักจึงเริ่มจากตัวเอง ก่อนที่จะเผื่อแผ่ไปยังผู้อื่น
เมื่อรู้ว่าสิ่งใดมีประโยชน์ต่อตนเอง เราจึงคิดแบ่งปันสิ่งนั้นให้ผู้อื่น

เราจะมอบความรักและสิ่งที่มีคุณค่าให้กับคนอื่นได้ก็ต่อเมื่อ
เรารู้จัก ?รัก? และมอบสิ่งที่มีคุณค่าให้แก่ตนเอง

แต่เรารู้จริงๆ หรือว่าอะไรคือสิ่งที่มีคุณค่าแก่ตัวเองอย่างแท้จริง...


เราอาจจะคิดว่าตัวเองจะมีความสุขก็ต่อเมื่อร่ำรวย มีชื่อเสียง เป็นที่รัก
มีตำแหน่งหน้าที่การงานหรือฐานะทางสังคมที่ดี

แต่สิ่งเหล่านั้นสามารถมอบความสุขให้เราได้จริงๆ หรือ...


เราเชื่อว่าถ้าตัวเองร่ำรวย มีเงินมีทอง มีฐานะมั่นคงก็จะมีความสุข
เพราะเงินสามารถซื้อความสะดวกสบายได้
เงินทำให้เราซื้อสิ่งของมากมายที่มีขายอยู่ตามท้องตลาดได้

จริงอยู่ ที่เราอาจจะมีความสุขเมื่อได้กินอาหารที่อร่อย...

จริงอยู่ ที่เราอาจจะมีความสุขเมื่อได้นอนบนที่นอนนุ่มๆ แอร์เย็นๆ ...

แต่เพื่อนๆ ลองคิดดูนะครับ
ถ้าเกิดวันไหนเราไปทำอะไรไม่ดีมาแล้วต้องกังวลร้อนใจ
เช่นมีเรื่องโกหกปิดบังพ่อแม่ ผิดใจกับเพื่อนที่โรงเรียนหรือที่ทำงาน
หนักเข้าหน่อยก็แอบยักยอกเงินบริษัท ฉ้อราษฎร์บังหลวง
หรือลักขโมยของคนอื่น แล้วกลัวว่าสักวันจะถูกเปิดโปง ฯลฯ

ต่อให้ได้กินอาหารที่อร่อยระดับกุ๊กเทวดาเหาะลงมาทำก็ไม่ช่วยให้จิตใจเบิกบาน

ต่อให้ได้นอนบนที่นอนที่นุ่มราวกับปุยเมฆก็ไม่ช่วยให้เรานอนหลับสบาย

ทั้งนี้เพราะความสบายใจที่แท้จริงของเราไม่ได้อยู่ที่
"ความสุขทางกาย" "ลาภ" (เงินทองทรัพย์สมบัติ)
"ยศ" (ตำแหน่งหน้าที่การงาน) หรือ
"สรรเสริญ" (ชื่อเสียง คำชม ความนิยม เกียรติยศ)

พระพุทธเจ้าตรัสว่า
?ทำกรรมใดแล้วร้อนใจภายหลัง กรรมที่ทำแล้วนั้นไม่ดี?

เราจะมีใจเป็นปรกติไม่ทุกข์ร้อนก็ต่อเมื่อเราไม่ได้
"คิด" "พูด" หรือ "ทำ" สิ่งใดที่เป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

และเราจะพบความสุขที่แท้จริงก็ต่อเมื่อ
มีใจที่ไม่หวั่นไหวแม้เผชิญความทุกข์ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ และนินทา



ทรัพย์สมบัตินั้นอาจช่วยมอบความสะดวกสบายให้เรา
แต่มันไม่สามารถมอบความสุขใจที่ยั่งยืนให้แก่เราได้

ตำแหน่งหน้าที่การงานก็เป็นเพียงหัวโขนที่เขาสมมุติให้เราเป็น
(แต่ก็แน่นอนว่าเราต้องรับผิดชอบให้ดีตามตำแหน่งหน้าที่ที่ได้รับ
เช่นเป็น "พ่อที่ดี" ของลูก
เป็น "สามีที่ดี" ของภรรยา
เป็น "หัวหน้าที่ดี" ของลูกน้อง ฯลฯ)

ความนิยมชมชอบและสรรเสริญก็ไม่ใช่สิ่งที่เราจะไปบังคับใจทุกคนได้
ไม่มีใครไม่เคยถูกนินทาและไม่มีใครไม่เคยทำเช่นนั้นกับคนอื่น
แม้แต่พระพุทธเจ้าซึ่งดีพร้อมทุกอย่าง
ยังมีคนเกลียด มีคนนินทา และถูกใส่ร้ายป้ายสี

ความสบาย ลาภ ยศ สรรเสริญ จึงเป็นสิ่งที่เมื่อ "มีได้" ก็ "มีเสื่อม"
คนที่ดิ้นรนไขว่คว้าสิ่งเหล่านี้...
คนที่มัวเมาอยู่กับสิ่งเหล่านี้...
คนที่หวาดกลัวว่าจะสูญเสียสิ่งเหล่านี้...
จึงไม่พ้นต้องเป็นทุกข์ กระวนกระวายใจอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง

หากเราเรียนหนังสือหรือทำงานโดยมี "เป้าหมายหลัก"
ที่จะมีแสวงหาความสบาย ลาภ ยศ สรรเสริญนั้น
ถือเป็นความพยายามเพื่อสิ่งที่มีคุณค่าน้อยจนน่าเสียดาย

อย่างไรก็ดีไม่ได้หมายความว่า
ผมสนับสนุนให้เพื่อนๆ เป็นคนขี้เกียจ ไม่หนักเอาเบาสู้
หรือขาดความตั้งใจนะครับ (- -")

ตรงกันข้ามเรา ควรจะมีความเพียร มุ่งมั่นตั้งใจเรียนและทำงานให้ดีที่สุด
เพื่อที่จะพัฒนาตนเอง ยกระดับจิตใจของตนเอง

หากเรามองว่าการทำงาน และปัญหาต่างๆ ที่เข้ามา
เป็นบททดสอบที่เราต้องฝ่าฟัน
การทำงานย่อมเป็นการฝึกให้เรารู้จัก
"อดทน" "เพียรพยายาม" "มีระเบียบวินัย" "เสียสละ" "กล้าหาญ"
"ให้อภัย" "มีสติ" "มีไหวพริบ" และ "ใช้ปัญญา"

คุณธรรมเหล่านี้เป็นสมบัติที่จะติดตัวเราไป
และใครก็พรากมันไปจากเราไม่ได้
แต่สิ่งเหล่านี้ก็เสื่อมได้เช่นกัน
หากเราไม่หมั่นฝึกฝนให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป

(อ่านต่อฉบับหน้า)