Print

สัพเพเหระธรรม - ฉบับที่ ๘๙

ขอบคุณ "ความเกลียดชัง"

โดย พัฒนเดช


ผมเคยเกลียด
?ความเกลียดชัง?

ปัจจุบันคนเราเกลียดชังกันง่าย
เพียงแค่ขับรถปาดหน้า บางครั้งถึงกับลงมายิงกันตาย

?ทำไมคนเราถึงได้เกลียดชังกัน...?

เมื่อได้ยินข่าว ผมจะรู้สึกเศร้าเช่นนี้เสมอ

ที่ผมรู้สึกเศร้าก็เพราะผม เกลียด ที่จะเห็นคนเกลียดชังกัน
โดยหารู้ไม่ว่า ขณะนั้น ?ความเกลียดชัง? ได้เกิดขึ้นในใจของตนเองแล้ว

ความเกลียดชังเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา
แต่ผมกลับมองไม่เห็น รู้ไม่ทัน
ไม่คิดสงสัย หรือเฉลียวใจ

ดั่งเส้นผมบังภูเขา

ทำให้จิตใจเศร้าหมอง


เมื่อจิตไม่มีสติคอยรู้ ไม่มีปัญญาคอยพิจารณาเห็นโทษ
กิเลส คือ โมหะ โลภะ โทสะ ย่อมเข้ามาบงการเราได้

ไม่ต่างอะไรกับคนตาบอด ถูกจูงพาไปไหนมาไหนตามใจชอบ

ไม่ต่างอะไรกับเรือที่ไร้คนถือหางเสือ ถูกคลื่นซัดไปมาไร้การควบคุม


แต่ความเกลียดชังก็ไม่ได้ มีแต่ข้อเสีย
หากเราเห็นการประพฤติชั่วทางกาย วาจา ใจ
ทั้งของตนเองก็ดี หรือของผู้อื่นก็ดี
แล้วพิจารณาเห็นโทษที่เกิดแก่คนผู้นั้น

ใจก็จะไม่คิดอยากทำเช่นนั้นอีก...


ยกตัวอย่างเช่น เราเป็นคนขี้โมโห
เจอเรื่องอะไรไม่ถูกใจนิดหน่อยก็พาลใส่คนอื่นเขาไปทั่ว

เมื่อเราพิจารณาเห็นว่าผลของความขี้โมโหนั้นทำให้เราพาลใส่คนอื่นเขาไปทั่ว
แล้วทุกครั้งจะต้องจบลงด้วยความเสียหาย ไม่มีอะไรดี
จากนั้นจึงค่อยมานึกเสียใจในสิ่งที่ตนได้ทำไปแล้ว

หากพิจารณาเห็นเช่นนี้เนืองๆ (บ่อยๆ) จนใจเริ่มระลึกได้เองโดยอัตโนมัติ
คราวต่อไปที่เราโกรธ ใจก็จะระลึกถึงผลเสียที่ตามมาได้
และสามารถระงับโทสะได้ในที่สุด


ความเกลียดชังโดยตัวของมันเองจึงไม่ใช่สิ่งเลวร้าย
หากแต่ขึ้นอยู่กับมุมมอง และท่าทีที่เราปฏิบัติต่อมัน

(หากขาดสติคอยรู้ตัว และปัญญาคอยรู้คิด
ไม่ว่า ?ความรัก? หรือ ?ความเกลียดชัง?
ก็จะกลายเป็นความรู้สึกที่รุนแรงเกินพอดี ที่ทำร้ายทั้งตนเองและผู้อื่นได้)

หากเรารู้จักเอาความผิดพลาดมาเป็นบทเรียน
?โทสะ? ก็จะกลายเป็นครูผู้ชี้ให้เราเห็นข้อบกพร่องของตนเอง
เตือนให้เราหมั่นฝึกสติ และเจริญปัญญา
เพื่อออกห่างจากความเป็นผู้เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น