Print

นิยาย/เรื่องสั้นอิงธรรมะ - ฉบับที่ ๑๓๘

โรงงานแห่งความสุข

ธีระวัฒน์ อนันตวรสกุล

short-story-138

หมุดหรือนายสมุทร ทำงานในฝ่ายทรัพยากรบุคคลบริษัทแห่งหนึ่ง และกำลังแสวงหาความก้าวหน้าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาโท ในสาขาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การหลักสูตรนอกเวลาราชการ เขากำลังทำวิทยานิพนธ์เรื่อง ความสุขในการทำงาน จึงต้องใช้เวลาในวันหยุดหรือลาพักร้อน เพื่อเก็บข้อมูลความสุขจากการทำงาน

สมุทรวางแผนในใจ หลังจากเรียนจบ เขาอาจจะทำงานด้านที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ สร้างความสุขในการทำงาน สร้างแรงจูงใจการทำงานให้องค์กรต่างๆ เขาฝันถึงการงาน หรือดีไม่ดีอาจเปิดบริษัทเป็นกิจการของตัวเองที่มั่นคง มีฐานะที่มั่งคั่งในวันใดวันหนึ่ง เพราะทุกองค์กรต่างก็อยากเห็นพนักงานของตนมีความสุขในการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดการลาออก ลดการฝึกอบรมพนักงานใหม่เพื่อทดแทนผู้ที่ลาออกไป

การเก็บข้อมูลต้องใช้แบบสอบถาม หมุดกับอาจารย์ที่ปรึกษาที่ศึกษาเรื่องความสุขในการทำงานอย่างจริงจัง ได้ร่วมกันพัฒนาแบบสอบถาม แบบเลือกตอบ
1-5 จากไม่เห็นด้วยมากที่สุด ถึงเห็นด้วยมากที่สุด มันเป็นแบบสอบถามที่มีประสิทธิภาพสูงมาก ทั้งความถูกต้องด้านเนื้อหา คำถามที่เหมาะกับวัฒนธรรมของคนไทย กอปรกับ อำนาจจำแนกที่ดีของข้อคำถามแต่ละข้อ ซึ่งทุกข้อล้วนมีความสอดคล้องของข้อคำถามที่ถามในประเด็นเดียวกัน แบบสอบถามนี้สามารถวัดประเมินความรู้สึกในแต่ละด้าน ทำการสลับไม่ให้เรียงหมวด เพื่อป้องกันการคาดเดาว่ากำลังถามในเรื่องใด มันเป็นแบบสอบถามวัดความสุขในการทำงานที่ดีที่สุด นอกจากนี้ยังมีหลุมพรางในแบบสอบถาม ที่ป้องกันคนตอบแบบไม่อ่าน อาทิเช่น ถ้าคุณอ่านข้อคำถามนี้อย่างละเอียดให้เว้นว่างข้อคำถามนี้ไว้ หรือแปดลบสี่เท่ากับเท่าไร (ต้องตอบ 4 เท่านั้น) นอกจากหลุมพรางตื้นๆ แบบนี้ ยังมีการคิดคะแนนที่ซับซ้อน มีการลบคะแนนจากคนที่พยายามตอบให้ตัวเองดูดีเกินไป หรือ Fake good และ เพิ่มคะแนนให้สำหรับคนที่พยายามตอบให้ตัวเองแย่จนเกินไป หรือ Fake bad จากสถิติแบบสอบถามร้อยละ 10 จะถูกคัดกรองออกไป จากหลุมพรางประเภทตอบแบบสอบถามโดยไม่อ่านว่าถามอะไร

ยิ่งไปกว่านั้น ภาษาที่ใช้ด้วยข้อคำถาม
30 ข้อ ก็ง่าย ชัดเจน ไม่มีศัพท์วิชาการ ขนาดที่พนักงานที่จบประถมก็เข้าใจได้ไม่ยาก ด้วยสมุทรและอาจารย์ที่ปรึกษาเห็นพ้องต้องตรงกันว่า จะมีประโยชน์อะไรที่จะเก็บข้อมูลจากแบบสอบถาม ที่แค่อ่านก็ไม่รู้เรื่องแล้ว และ 30 ข้อคำถามก็ไม่ยาวเยิ่นเย้อเกินไป มีหลุมพรางประมาณ 2-3 ข้อ รวมก็ประมาณ 32-33 ข้อเท่านั้น ทำให้ความยาวไม่มากเกินไปจนคนคร้านที่จะตอบ

ความต้องการตัวอย่างจำนวนมากเพื่องานวิจัยที่สมบูรณ์ ทำให้หมุดต้องเก็บข้อมูลจากแบบสอบถามจำนวนมาก เขาอยากให้งานของเขามีคุณภาพ ใช่ว่าสักแต่ว่าจบเพื่อให้ได้ปริญญาโท

การศึกษาของเขา ทำให้เขาพบตัวอย่างพนักงานคนหนึ่งซึ่งเขาอยากพบเจอเพื่อสัมภาษณ์ตัวจริง เขาเป็นผู้ที่ตอบแบบสอบถามได้คะแนนความสุขในการทำงานได้สูงมากที่สุดในทุกด้าน และผ่านหลุมพรางสำหรับคนที่มั่วตอบโดยไม่อ่านทุกข้อ ตลอดจนผ่านเงื่อนไขในการคัดกรองที่ผู้ตอบคำถามพยายามตอบให้ตนเองมีคะแนนมากๆ เขาอยู่ในโรงงานเล็กๆ แห่งหนึ่ง ซึ่งนอกจากเขาแล้ว พนักงานในโรงงานแห่งนี้ได้คะแนนภาพรวมความสุขในการทำงานมากกว่าองค์กรอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ โดยมีคะแนนความสุขโดยรวมติดอันดับหนึ่งในสาม ทั้งที่โรงงานแห่งนี้ ไม่ได้ให้ค่าจ้างค่าแรงมากนัก อยู่ระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อยด้วยซ้ำ ทำให้สมุทรอยากพบและสัมภาษณ์เจ้าของโรงงานแห่งนี้ด้วย ในขณะที่อันดับหนึ่งและสอง เป็นบริษัทใหญ่ที่มีสวัสดิการดีมากกว่านี้หลายเท่า

สมุทรขอเข้ามาศึกษาโรงงานอย่างละเอียด และอากงเจ้าของโรงงานก็อนุญาต

จากการศึกษาอย่างละเอียดพบว่า โรงงานเล็กๆ แห่งนี้ มีเจ้าเป็นคนจีนแก่ๆ ใจดี ที่ลูกหลานไม่รับช่วงกิจการโรงงานเล็กๆ นี้ต่อ แต่ต่างพากันไปทำงานในบริษัทใหญ่โตกันหมด ทิ้งโรงงานขนาดห้าสิบคนนี้ให้คนแก่ดูแล โรงงานนี้เป็นโรงงานที่นำเสื้อผ้ามือสองที่ซื้อเป็นตู้คอนเทรนเนอร์จากต่างประเทศ มาซักทำความสะอาด ด้วยเครื่องซักผ้าขนาดใหญ่ และแยกเกรดออกขาย ให้พ่อค้าตามตลาดนัดที่มารับซื้อ อดีตโรงงานนี้เคยเป็นโรงงานทำถัง
Fiber Glass แต่ถูกให้ระงับการผลิต เพราะฝุ่นเริ่มมีปัญหากับชุมชนที่ขยายตัวเข้ามา โรงงานนี้มีบ้านพักให้พนักงานอยู่ฟรี ถ้าต้องการก็จะหุงข้าวกลางวันให้กินฟรีหนึ่งมื้อ แต่พนักงานต้องซื้อกับข้าวมาเอง จากแผงหรือร้านใกล้ๆ โรงงาน พนักงานค่อนข้างสนิทสนมกัน

ก่อนเข้างานตอนเช้า อากงเจ้าของโรงงานที่เป็นคนจีน จะมานำออกกำลังกายด้วยการรำมวยจีน ซึ่งใครจะรำหรือไม่รำก็ได้ จะนั่งดูอยู่เฉยๆ ก่อนที่จะเข้าแถวเคารพธงชาติ และประกาศแจ้งเรื่องที่อากงต้องการแจ้งให้ทราบ อากงที่ดูใจดีมักจะอุดหนุนรถกระบะบรรทุกผลไม้ที่ผ่านมาหน้าโรงงานเป็นประจำ โดยจะซื้อทีละมากๆ เพื่อแจกพนักงาน หลังโรงงานยังเป็นสวนซึ่งอากงซื้อไว้ติดกับโรงงาน และยังอนุรักษ์มันไว้อย่างเป็นธรรมชาติของสวนดั้งเดิม มีกล้วยและมะม่วงลูกดกอยู่หลายต้นที่ออกลูกทั้งปี นอกจากนี้ยังมีมะยม มะดัน ละมุด มะเฟือง ตะลิงปลิง และมีแปลงผักสวนครัวให้พนักงานช่วยกันดูแลและเก็บกิน ใครจะเชื่อว่า หลังโรงงานที่จ่ายค่าแรงมากกว่าขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนดเล็กน้อยจะมีสระว่ายน้ำ มันมีจริงๆ แต่เป็นสระน้ำที่น้ำเขียวด้วยตะไคร่ อากงแกจ้างรถมาขุดไว้เป็นสระน้ำซึม เอาน้ำซึมมากรองเพื่อใช้แทนน้ำประปาบางส่วน กลางสวนห่างไกลจากแหล่งน้ำเสียไม่น้อยกว่า
50 เมตรในทุกทิศทาง กว้าง 15 เมตร ยาว 25 เมตร ลึกประมาณ 1.5 เมตร ตกลงไปไม่ตายแน่นอน

อากงใจดี ใส่กางเกงขาสั้นหูรูดและเสื้อกล้ามสีขาว ใส่รองเท้าแตะแบบสอด เดินไปมาตรวจงาน บางครั้งแกก็ไม่ใส่เสื้อและเดินออกไปร้านค้าหน้าโรงงานด้วยชุดนี้ จนเป็นที่คุ้นตาของผู้พบเห็น

โรงงานนี้มีมาตรการลงโทษ พนักงานที่มาสายเหมือนกัน แต่เป็นการลงโทษแบบสนุกๆ ด้วยการให้ไปออกกำลังกาย ด้วยการปั่นจักรยานขับปั๊มชักสูบน้ำ ส่งน้ำจากสระว่ายน้ำ ไปถังกรองหยาบดัดแปลงจากถัง
200 ลิตร บรรจุทรายถ่านแกลบเผาเพื่อดูดกลิ่นสี สลับชั้นที่เชื่อมก้นถังกัน 2 ถังให้ไหลลงและขึ้นเป็นรูปตัว U เมื่อน้ำไหลผ่านจากบนของถังแรกผ่านตัวกรองไปสู่ก้นถังแรก ไหลต่อไปก้นถังสอง และเอ่อผ่านตัวกรองไปที่ปากถัง 2 น้ำจะใสขึ้นมากเลยทีเดียว ก่อนที่จะลงไปสู่ถังเก็บระดับเพดานของห้องน้ำพนักงานขนาด 1 ลูกบาศก์เมตร ที่ต่อไปยังชักโครกของห้องน้ำพนักงาน ซึ่งช่วยในการลดการใช้น้ำประปา สมุทรแอบคิดในใจว่าเป็นการลงโทษที่ไร้สาระจริงๆ ค่าไฟสูบน้ำหรือค่าน้ำประปาคิวละ 10 บาทยังถูกกว่าจะมาใช้คนสูบจากบ่อตั้งเยอะ แต่อากงก็บอกว่าใช้แบบนี้แหละ พนักงานจะได้ออกกำลังกาย ตอนนี้กระแสลดโลกร้อนกำลังมา แค่น้ำราดส้วม อย่าเอาน้ำประปามาราดเลย น้ำประปาสะอาดเกินไป

สมุทรไม่เข้าใจในความคิดอากงเจ้าของโรงงานคนนี้หลายอย่าง แกน่าจะขายโรงงานไปทำหอพัก แล้วเก็บเงินค่าเช่ากินสบายๆ แบบที่แถบนี้ทำกัน จะเก็บโรงงานที่กำไรต่ำและ สวนกลางเมืองแบบนี้ไว้ทำไม

วันหนึ่ง ขณะที่ สมุทร มาเก็บข้อมูลบางอย่างเพิ่ม ก็พบอากงกำลังเล่นสับย่อยผักตบชวาด้วยเครื่องสับ หรือว่าแกแก่จนเพี้ยนขนาดที่ปลูกผักตบชวาไว้ในบ่อบำบัดน้ำเสียของโรงงานไว้มากมายเชียวหรือเนี่ย สมุทรคิดในใจ เมื่อถามแกก็ได้ความว่า

น้ำเสียจากโรงงานอั๊ว มีผงซักฟอกอยู่เยอะ มันมีฟอตเฟต อั๊วให้ผักตบที่โตเร็ว ดูดน้ำเสียเป็นปุ๋ยให้มันโตไวๆ สร้างชีวะมวล แล้วอั๊วก็เอามันมาสับทำปุ๋ยหมักด้วยจุลินทรีย์แจกพนักงานของอั๊ว และก็ชาวบ้านแถวนี้ด้วย น้ำเสียอั๊วผ่านมาตรฐานของกรมโรงงานนะ แต่กว่าจะผ่านออกไป เจอด่านผักตบและต้นพุทธรักษาสวยๆ ที่ตั้งกระถางขวางไว้ในรางคอนกรีต ดูดเอาสารอาหารในน้ำไปก่อนแล้ว ทุกอย่างมีประโยชน์หมด ไม่ทิ้งให้เสียเปล่า

อากงพาสมุทรไปดูบ่อหมักน้ำจุลินทรีย์จากขยะเศษอาหารในโรงงาน ที่เอามาทำปุ๋ยเหมือนกัน มีหลายถังตามวงรอบการหมัก ได้น้ำจุลินทรีย์มาราดส้วมกำจัดกลิ่นเหม็น

แล้วพนักงานในครัวผู้หญิง ก็ขอให้อากงช่วยหมุนฝาขวดที่แน่นเปิดไม่ออกให้ อากงยังมีข้อมือที่แข็งแรงกว่าที่หมุดคิด หมุนทีเดียวออกเลย พลางสอนพนักงานผู้หญิงคนนั้นว่า

คราวหลังถ้าฝาแน่น ลื้อลองเอายางวงหนังสติ๊กรัดรอบปากขวด แล้วค่อยหมุนเปิด ยางมันหนึบๆเพิ่มแรงเสียดทานทำให้เปิดง่ายขึ้น พนักงานงานลองทำกับอีกขวด แล้วพบว่าง่ายจริงจึงชมว่า
อากงเก่งจังรู้ทุกเรื่องเลย ถามอะไรก็รู้แล้วถามกวนๆ ต่อว่า
แล้วถ้ามันใหญ่มาก ยางรัดไม่ได้ละ
อากงจึงตอบว่า
ก็ไปหายางรถจักรยานเก่าๆ มาตัดเป็นเส้นๆ รัดแทนสิ ลื้อไปหามาตัดยาวๆ ผูกไว้แถวนี้เส้นนึงก็ได้ คนอื่นจะได้ใช้เปิดขวดที่เปิดยากด้วยแล้วอากงก็ยิ้มอย่างใจดี

สมุทรตกใจว่า ทำไมอาแป๊ะแก่ๆ คนนี้ จึงรู้เรื่องราวทางวิทยาศาสตร์เยอะจัง แถมยัง ดูเป็นคนชอบอ่านชอบค้นคว้าเรียนรู้ไม่สิ้นสุด ทราบว่าตอนนี้ แกในวัย
80 กว่ากำลังให พนักงานในออฟฟิศสอนแกเล่นอินเตอร์เน็ตอยู่ จะได้ไม่ต้องให้พนักงานหาข้อมูลให้ เป็นตัวอย่างของคนที่รักการเรียนรู้แบบไม่สิ้นสุดจริงๆ

เมื่อถามอากงถึงโรงงานนี้ อากงตอบว่า
อั๊วอยากมีกิจการที่ทำให้สังคมมีความสุข คนมีงานทำเลี้ยงตัวได้ คนจนๆ มีเสื้อผ้าสวยๆ ใส่ในราคาถูกๆ คนเอาไปขายต่อกำไร อั๊วแก่แล้ว กำไรพอเลี้ยงตัวได้ก็พอ ถึงไม่พอลูกหลานอั๊วก็ยังส่งเงินมาให้ทุกเดือน ตอนอั๊วมาจากเมืองจีนเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อั๊วไม่มีอะไรติดตัวมาเลย นอกจากกางเกงเก่าๆ ขาดๆ ตัวเดียว ผ้าห่มก็ไม่มี เอาฟักหนุนหัวแทนหมอน หิวก็กินฟัก กลัวเรือล่มไม่กล้ากินฟักเยอะ เดี๋ยวตกทะเลไม่มีอะไรเกาะ ทั้งบ้านทั้งโรงงานทั้งสวนนี่ อั๊วหาได้จากเมืองไทยทั้งนั้น ต้องรู้จักคืนๆ ให้เมืองไทยบ้าง ตายไปก็เอาไปไม่ได้ ใครๆ ก็อยากมีความสุข อั๊วก็อยากมีความสุข แต่ก็อยากให้คนอื่นมีความสุขด้วย

พนักงานคนหนึ่งเข็นรถใส่ผ้ามาใกล้คนทั้งสอง

นี่อาเอ๋อ คนที่ลื้ออยากเจอไง คนนี้ที่ลื้อว่าได้คะแนนความสุขมากที่สุด คนนี้แหละอากงแนะนำ

สมุทรตกใจเล็กน้อย เอ๋อที่แค่ดูก็รู้ว่าเป็นคนสติไม่ค่อยดีที่ยังพูดรู้เรื่อง อาเอ๋อหันมามองสมุทรด้วยหน้าตานิ่งเฉย และยกมือไหว้สวัสดีอากง และทำงานเข็นรถต่อไป อาจารย์ที่ปรึกษาคงหัวเราะร่วน ถ้ารู้ว่าพนักงานที่มีความสุขที่สุด คือคนที่แค่ดูก็รู้ว่ สติไม่ดี

อาเอ๋อจบชั้น ป. 4 ความรู้แน่นหนา เพราะเรียนมาชั้นละ 2 ปี อ่านหนังสือออก พูดจารู้เรื่อง สามารถทำงานในรูปแบบงานซ้ำๆ ได้ดี และตั้งใจในการทำงานมาก ไม่อู้ ไม่คุย ไม่เคยป่วย ไม่เคยมาทำงานสาย ไม่เคยกลับก่อน อั๊วสงสารอี ที่อื่นคงไม่รับอีเข้าทำงาน แต่อั๊วมีงานง่ายๆ ซ้ำๆ เยอะแยะ ถ้าลื้อเจอคนประมาณนี้ ลื้อเอามาให้อั๊วดูตัวได้นะ

อาเอ๋อนี้ อั๊วรู้จักกับแม่ของอี อั๊วว่าแม่อีโชคดีมากนะที่รับอาเอ๋อมาเป็นลูก จริงๆ อาเอ๋อไม่ใช่ลูกแท้ๆ หรอก แม่อีเก็บจากกองขยะเพราะสงสาร แต่พอโตขึ้น ลูกแท้ๆ ที่สติปัญญาดีๆ มีการงานทำ กลับไม่ดูแลแม่ที่แก่ชราที่อยู่คนเดียวหลังพ่อตาย มีลูกมีเมียลืมแม่หมด ทิ้งให้อาเอ๋อน้องเล็กสุดที่แม่เก็บมาเลี้ยง ให้น้องที่ใครๆ ก็บอกว่า สติไม่ดี ทำงานหาเลี้ยงแม่

อาเอ๋อ เข็นรถเปล่ากลับมาอีกครั้ง

อาเอ๋อหน้าตาฮึกเหิมดูเอาจริงเอาจัง เข็นรถอย่างตั้งใจ และท่องคำพูดเหล่านี้
คนดีต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ ตั้งใจทำงานจะได้มีเงินไปเลี้ยงแม่ แม่แก่แล้วจะได้อยู่สบาย

อากงลูบหัวอาเอ๋อด้วยความเอ็นดู แล้วถามว่า
รถที่อั๊วให้ลื้อไปยังอยู่ไหม ตอนเที่ยงกินข้าวเสร็จ ขี่ให้อั๊วดูหน่อยจะได้ไหมอาเอ๋อรับคำ ได้ครับอากงแล้วทำหน้าฮึกเหิมเข็นรถเข็นผ้าต่อไป
........................

เที่ยงวันนั้น อาเอ๋อใส่หมวกกันน็อค สนับเข่า สนับศอก แสดงการขี่รถสกู๊ตเตอร์แบบที่ใช้เท้าถีบยันพื้นที่เด็กเขาใช้เล่นกันไปเรื่อยๆ ให้อากงและเพื่อนพนักงานดูด้วยความสนุกสนาน ในระดับความเร็วที่เร็วกว่าเดินอยู่มากพอสมควร รู้จากอากงว่า มันเป็นของเล่นที่หลานชายคนหนึ่งของแกเบื่อแล้ว อาม่าเมียแกเลยขอมา อากงเอามาซ่อมให้แข็งแรงขึ้น แล้วยกให้อาเอ๋อ ซึ่งใช้รถคันนี้เดินทางไปกลับที่ทำงานทุกวัน

สับปะรดครับสับปะรด สับปะรดศรีราชาสวยๆ หวานฉ่ำมาแล้วรถกระบะขายสับปะรดผ่านมา ประกาศเชิญชวนหาลูกค้า

อากงสั่งให้อาเอ๋อไปเรียกรถให้เลี้ยวเข้ามาที่โรงงาน แล้วก็ซื้อสับปะรดแจกพนักงานเป็นอาหารว่างพิเศษของวันนั้น คนละหนึ่งหัว สร้างรอยยิ้มให้พนักงานทุกคน

ณ โรงงานแห่งนี้ ทุกคนมีความสุขในการทำงาน เพราะความเอื้ออารีของอากงเจ้าของกิจการนั่นเอง
.............................................................

สมุทรได้รู้จักเจ้าของกิจการที่มุ่งทำให้สังคมมีความสุข มากกว่าหากำไรของตนเองให้ได้มากที่สุด เปลี่ยนความคิดของสมุทรที่เคยคิดฝันจะทำกิจการมุ่งหวังกำไรเยอะๆ ให้ปรับเปลี่ยนเป็นทำเพื่อสังคม ยิ่งไปกว่านั้นอาเอ๋อสอนให้สมุทรรู้ว่า การเลี้ยงดูพ่อแม่เป็นเรื่องสำคัญ เขาคงต้องดูแลพ่อแม่ของเขาให้มากกว่านี้ ตลอดม เขาเคยคิดอย่างเห็นแก่ตัวว่า พ่อแม่มีเงินบำนาญกินทุกเดือนไม่จำเป็นต้องให้เงินช่วยเหลือ รู้สึกอยากด่าตัวเองว่ อุตสาห์กำลังเรียนถึงปริญญาโท กลับต้องให้คนที่คนทั่วไปตัดสินว่าสติไม่ดี มาสอนเรื่องความรักความกตัญญูต่อพ่อแม่

วิทยานิพนธ์นี้ไม่แค่ทำให้เขาเรียนจบเท่านั้น แต่ยังนำพาเขามาให้รู้จักกับอากงใจดี ผู้ที่เห็นคุณค่าของของเหลือทิ้งทุกอย่าง และมุ่งทำกิจการเพิ่มเติมความสุขให้สังคม และรู้จักอาเอ๋อที่สอนคำว่ากตัญญูกตเวที ที่เขาลืมไปเสียนาน