Print

นิยาย/เรื่องสั้นอิงธรรมะ - ฉบับที่ ๒๑๑

สร่าง (ตอนจบ)

ธีระวัฒน์ อนันตวรสกุล
(ต่อจากตอนที่ ๑)

ฉิ่งเข้าไปในเมืองด้วยใจลิงโลด เทียวขึ้นลงรถไปดูตามร้านนั้นร้านนี้ แต่ก็กลับออกมาด้วยความผิดหวัง จนในที่สุดมาจอดใต้ป้ายโฆษณาเครื่องดื่มมึนเมายี่ห้อหนึ่ง ข้างร้านขายของชำ ฉิ่งถามหาสิ่งที่เขาต้องการขึ้นมาว่า

“มีน้ำองุ่นแดงไหม? ทำไมหาซื้อยากเย็นนัก อำเภอนี้ก็ปลูกกันเยอะนี่” คนขายจึงบอกว่าให้ไปร้านของชำ ของลุงที่อยู่หน้าวัดที่ฉิ่งเดินทางออกมา มันคือร้านนั้นเอง ร้านที่เขาหย่อนก้นนั่งคุยกับคนขายเมื่อเย็น

“น้ำองุ่นแดงอย่างดีอยู่ที่ร้านนั้น พวกเศรษฐีที่มาปฏิบัติธรรมนิยมซื้อไปทำบุญ และซื้อกลับไปดื่มที่บ้าน” แม่ค้าในเมืองบอก ฉิ่งตลกตัวเอง มัวแต่ดีใจที่ได้รู้ว่ามีพระสงฆ์ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เลยอยากถวายน้ำปานะเป็นน้ำองุ่นแดงซึ่งภรรยาที่ล่วงลับไปแล้วของเขาชอบ สมัยเธอมีชีวิตนานๆครั้งเธอจะได้กินสักที เขาตั้งใจถวายน้ำองุ่นแดงแก่พระสงฆ์เหล่านั้น แล้วอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ภรรยา แวบขึ้นมาว่า อาจเพราะเหล้าทำลายเซลล์สมองเขาไปมากแล้ว การคิดการตัดสินใจจึงไม่รอบคอบ ทำอะไรผิดๆถูกๆมั่วไปหมด อย่างน้อยก็น่าจะถามลุงเขาก่อนว่าที่ไหนมีขายน้ำองุ่นแดง ไม่รู้เลยว่าของที่เขาอยากได้อยู่ใกล้ๆตัว น่าเจ็บใจเป็นอย่างยิ่งที่เขาไม่ถามลุงคนขายแถววัดให้ดีแต่แรก หรือจริงๆลุงคนขายที่ผิดเพราะไม่ขึ้นป้ายโฆษณา

เมื่อกลับมาที่ร้านขายน้ำของลุงซึ่งอยู่ใกล้ๆวัดอีกครั้ง ลุงคนขายแปลกใจถามว่า “อ้าวไม่ได้ไปหาเหล้ากินในเมืองมาเหรอ”

“ผมไปหาซื้อน้ำองุ่นแดง ว่าจะถวายพระอุทิศส่วนกุศลให้ภรรยาของผม ในเมืองบอกต้องมาร้านลุง ลุงน่าจะติดป้ายไว้นะว่ามีขาย”

ลุงหัวเราะอารมณ์ดี พลางบอกว่า “คุณดูที่พื้นโต๊ะที่คุณนั่งเมื่อเย็นนั่นสิ เขียนว่าอะไร”

---ที่นี่ จำหน่าย น้ำองุ่นสดใหม่จากไร่---

อยากจะตบหัวตัวเองซักฉาด ขับรถไปกลับเมืองร่วมยี่สิบกิโลเมตร แต่สิ่งที่จะหาอยู่ที่นี่เอง พลาดเพราะเขาไม่ได้สังเกต

โชคร้ายกว่านั้นหรือเขาคงหมดบุญที่จะถวายน้ำองุ่นในวันนี้

“น้ำองุ่นทั้งหมดถูกเหมาไปถวายพระแล้ว หลังคุณขับรถออกไปไม่นาน” ลุงตอบ

ฉิ่งนึกถึงรถยุโรปคันงามที่สวนทางเข้าไปในขณะที่เขาขับรถออกไป

“เอาน่า คุณอนุโมทนาบุญกับคนที่เขามีศรัทธาถวายละกัน คุณจะได้มีส่วนแห่งบุญนั้น” ลุงตอบอย่างใจดี

ใกล้สองทุ่มทางวัดจะมีการเทศน์หลังทำวัตรเย็น ลุงคนขายตั้งใจจะไปฟังเทศน์จึงปิดร้าน ฉิ่งให้ลุงติดรถไปด้วย ทำให้รู้ว่าลุงเคยทำงานในกรุงเทพ หลังเกษียณและเสียใจมากที่สูญเสียภรรยาไปจึงอยากมาอยู่ใกล้วัดนี้ เพราะมีพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เมื่อรู้ว่าภรรยาลุงก็ตายจากเช่นกัน เขารู้สึกสนิทใจที่จะพูดคุยมากขึ้น คิดได้ว่า “ไม่ใช่เราคนเดียวที่เสียใจจากภรรยาตายจาก”

ลุงยิ้มเมื่อเข้ามาในรถ “รถคุณนี่พระเยอะดีนะ สติ๊กเกอร์วัดต่างๆ ติดซะรอบเลย”

ฉิ่งบอกว่า “สมัยก่อนผมสอบได้นักธรรมเอกเชียวนะครับ”

ลุงบอกว่า “รู้ธรรมมากแต่ไม่ปฏิบัติก็ไม่พ้นทุกข์ไปได้หรอก คุณยังหนุ่มยังแน่นคงมีเวลาปฏิบัติธรรมอีกหลายปี ถ้าคุณไม่ประมาทสนใจลงมือปฎิบัติ”

เมื่อถึงวัด พระท่านเริ่มเทศน์ ท่านให้ฝึกสมาธิก่อน โดยสอนให้พิจารณาตามลมหายใจเข้าออก หลักการที่ท่านเมตตาชี้แนะ คือ

“หายใจเข้าให้สบาย หายใจออกให้สบาย หายใจสั้นให้รู้ว่าสั้น หายใจยาวให้รู้ว่ายาว กำหนดตามลมหายใจไปเรื่อยๆ อย่างสบายๆ”

จากนั้นท่านเมตตาเทศนา เรื่องที่ท่านเทศน์คือประวัติพระเถรีนามว่า ปฏาจาราเถรี เป็นเรื่องที่ฉิ่งเคยได้ยินได้ฟังมาแล้วสมัยเรียนนักธรรมเอก

พระเถรีผู้มีนามว่าปฏาจาราเป็นบุตรีเศรษฐีถูกเลี้ยงดูอย่างดี แต่กรรมเก่าทำให้ท่านไปรักกับคนรับใช้ จนหนีไปอยู่กับคนรับใช้ในป่า พอนางตั้งครรภ์ก็คิดว่าจะไปคลอดลูกที่บ้านพ่อแม่ แต่ก็มีอุปสรรคระหว่างเดินทางทั้งสองครั้ง ทำให้ท่านไปไม่ถึง และอยู่ในป่าดังเดิม ต่อมาสามีของนางตายลง นางจึงคิดจะพาลูกทั้งสองกลับไปอยู่กับบิดามารดา เมื่อเดินทางออกจากป่าถึงฝั่งแม่น้ำจิรวดีที่ไหลเชี่ยว นางก็อุ้มลูกคนโตข้ามน้ำ โดยวางลูกคนเล็กไว้ นกเหยี่ยวโฉบลงมาจับลูกคนเล็กของนางไป ในขณะที่นางวางลูกคนโตที่อีกฝั่งหนึ่ง นางตกใจรีบจะไปช่วยลูกคนเล็ก ลูกคนโตลุกขึ้นและวิ่งตกน้ำอันไหลเชี่ยวไปต่อหน้าต่อตา ทำให้นางสูญเสียลูกทั้งสองคนไป ยังความโศกเศร้าให้นางเป็นอันมาก เมื่อนางเสียใจเดินทางกลับไปหาบิดามารดา ก็พบว่าท่านทั้งสองเสียชีวิตไปแล้วจากเรือนถล่มทับ

นางเสียใจจนเสียสติ เดินทางไปจนได้ไปพบพระพุทธเจ้า พระองค์ได้ปลอบให้นางคืนสู่ความมีสติ เทศนาสั่งสองนางจนในที่สุดนางได้บรรลุอรหันต์

นางแม้เกิดมาในตระกูลที่มั่งคั่ง มีรูปงาม เนื่องจากเคยบริจาคทานรักษาศีลมายาวนาน เคยมีชาติกำเนิดเป็นถึงธิดาพระเจ้ากิงกิ ในสมัยพระพุทะเจ้านามว่าพระพุทธกัสปะ และเคยกำเนิดในสวรรค์เทวโลก ยังต้องมาเป็นทุกข์อย่างแสนสาหัสจากความพลัดพรากสูญเสีย

ท่านเทศน์ตอนหนึ่งว่า “พระพุทธองค์ตรัสว่า น้ำตาอันปุถุชนสูญเสียไปกับความโศกเศร้าในวัฏสงสาร มากกว่า น้ำในมหาสมุทรทั้งสี่รวมกัน” ฉิ่งนั่งนิ่ง ซาบซึ้งในพระธรรมเทศนาจนน้ำตาไหลออกมา ตัวเขาก็สูญเสียภรรยาอันเป็นที่รัก แถมยังหลงผิดไปใช้เหล้าดับความทุกข์มาเสียหลายปี เขาตัดสินใจเลิกเหล้าในนาทีนั้นเอง เขาสร่างแล้วจากความหลงผิด จริงๆเคยอยากเลิกเหล้ามาหลายครั้ง แต่ไม่มีแรงใจเพียงพอ

พระนางปฏาจาราเคยสร้างบุญบารมีรักษาศีล ยังต้องมาทุกข์ขนาดนั้น แล้วส่วนตัวเขาเล่า หลังจากภรรยาตายก็เอาแต่ดื่มเหล้าจนขาดสติ เขาจะต้องเลิกมันให้ได้ ก่อนที่มันจะทำลายชีวิตเขาในชาตินี้และชาติหน้าไปมากกว่านี้

พอเทศน์จบ ลุงก็ชี้ไปให้ฉิ่งเห็นว่ เศรษฐีท่านใดเหมาน้ำองุ่นไปถวายพระทั้งวัด ฉิ่งยกมืออนุโมทนาบุญ ยังความแช่มชื่นให้บังเกิดในใจของฉิ่งเป็นอย่างยิ่ง แล้วจึงมีศรัทธาบริจาคเงินที่เดิมคิดว่า จะนำไปซื้อน้ำองุ่น เป็นเงินค่าก่อสร้างให้ทางวัด ลุงบอกว่า “นี่เป็นบุญเพราะจะขยายศาลา ให้คนมาใช้สวดมนต์ไหว้พระปฏิบัติธรรม บุญจะเกิดขึ้นกับผู้ทำบุญทุกวัน เพราะมีคนมาใช้ประโยชน์ทุกวัน” จิตใจแช่มชื่นขึ้นไปอีก แล้วตั้งจิตอธิษฐาน “ขอบุญนี้จงแผ่ไปถึงพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ภรรยา มิตรสหายที่ล่วงลับ ตลอดจนสรรพสัตว์ในห้วงทุกข์ทั้งหลาย และจงประทับฝังแน่นในจิตให้มีกำลังใจอยู่ในศีลธรรม เลิกเหล้าได้สำเร็จ” เขารู้เรื่องภพภูมิการแผ่เมตตาดี เนื่องด้วยเขามีความรู้เป็นถึงนักธรรมเอก

คืนนั้นเขาอิ่มเอมในบุญ หลับด้วยความเป็นสุขมากกว่าหลายวันที่ผ่านมาในชีวิตเขาที่ส่วนใหญ่จะต้องเมาหลับไป

วันที่สอง ฉิ่งตื่นแต่ตีสามด้วยเสียงระฆัง ไปร่วมทำวัตรเช้าตอนตีสี่ นั่งสมาธิตอนตีห้า ก่อนที่จะเดินไปเตรียมตัวใส่บาตร โดยพนักงานบริษัทรวมเงินกันสั่งทำอาหารมังสวิรัติ และซื้อข้าวสวยจากร้านอาหารที่อยู่ไม่ไกลวัด

เมื่อขบวนสงฆ์นำโดยพระสงฆ์ที่มีอาวุโสรองจากเจ้าอาวาส เนื่องด้วยท่านเจ้าอาวาสชราไม่สะดวกที่จะออกมาเดินบิณฑบาตทุกวัน ฉิ่งก็ได้เห็นความสง่างามน่าเลื่อมใสของพระอาจารย์อย่างเต็มที่ คล้ายกับว่ามีสง่าราศีของผู้ปฏิบัติธรรม ท่านยิ้มน้อยๆและทักทายญาติโยมตามสมควร

เมื่อท่านมาถึงฉิ่ง ท่านเอื้อมมือมาแตะมือซ้ายของฉิ่งที่กำลังประคองขันข้าวสุก แล้วถามว่า

“เมื่อคืนหลับสบายไหมโยม” ท่านถามอย่างเมตตา

“หลับสบายดีครับหลวงพ่อ” ฉิ่งตอบ จริงๆอยากบอกว่าเป็นความสบายมากที่สุดแบบที่ไม่ได้รู้สึกอย่างนี้มานานแล้ว

วันที่สองและวันที่สามผ่านไป ดูเหมือนฉิ่งจะตั้งใจจริงจังกว่าพนักงานของบริษัทที่ว่าจ้างเขามาหลายคนเสียด้วยซ้ำ เขาถึงขนาดขอป้าย “งดพูด” มากลัดไว้ที่เสื้อ เพราะพระอาจารย์แนะนำว่า การงดเว้นจากการพูดทำให้ผู้ปฏิบัติอยู่กับตัวเองได้มากขึ้น

พระอาจารย์แนะนำให้โอวาทก่อนกลับว่า “การมาฝึกหัดปฏิบัติธรรมที่วัดนั้น เป็นเพียงสนามซ้อม ซึ่งสนามซ้อมมีสภาวะที่เอื้ออำนวย มีบุคคลที่คิดตั้งใจมาปฏิบัติธรรมเป็นส่วนมาก มีกรอบการปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรม ทำให้มีความวุ่นวายน้อย จึงทำให้มีสิ่งรบกวนน้อยกว่า สิ่งที่สำคัญคือการปฏิบัติธรรมในสังคม ในชีวิตประจำวัน ที่เราต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนหลายรูปแบบ มีกิเลสมากบ้างน้อยบ้าง และอาจทำสิ่งใดๆ ที่อยู่นอกกรอบแห่งศีลธรรม ซึ่งอาจจะมีสิ่งรบกวนที่ท้าทายกว่าหลายต่อหลายเท่า หากสามารถผจญกับสิ่งเหล่านั้นและผ่านไปได้ด้วยดี ผู้ปฏิบัติก็จะสามารถพัฒนาระดับการปฏิบัติ ระดับจิตใจให้สูงยิ่งๆขึ้นไป ให้คิดเสียว่า กิเลสกำลังทดสอบผู้ปฏิบัติ”

….

รถสองแถวใหญ่กลับมาวิ่งให้บริการตามเส้นทาง ในวันปกติแล้วเพื่อรับส่งบุคคลในเส้นทาง ฉิ่งเช็ดล้างทำความสะอาดรถครั้งใหญ่จนสะอาดผิดหูผิดตา เขาไม่ได้ทำความสะอาดรถครั้งใหญ่แบบนี้มานานตั้งแต่ ภรรยาตายจากไป

ภายในใจของฉิ่งนั้นเปลี่ยนไปอย่างมาก เคยขับรถแบบขับไปวันๆ มีแต่ความหงุดหงิดขุ่นข้องขัดเคืองใจ กับสภาพรถติด คนขึ้นลงช้า จักรยานที่คนขี่มาขับเกะกะข้างทาง หรือบางครั้งเคยลงไปทะเลาะกับผู้โดยสาร หรือคนที่ขับรถมาเบียดเลน หรือแม้กระทั่งหมาแมวที่มาเกะกะใต้ล้อรถ

ตอนนี้เขาขับรถด้วยใจมีความสุข ลดความโกรธเคืองหงุดหงิดลงไปได้มาก แต่ไม่ใช่ไม่มีเลย เขาคิดได้และเตือนตัวเองบ่อยๆว่า “คนอื่นก็มีความทุกข์กันทั้งนั้น คนเราตลอดจนสัตว์ทั้งหลายล้วนเป็นเพื่อนร่วมห้วงทุกข์ในวัฏสงสาร” เขาคงต้องประคองใจไปเรื่อยๆ และเมตตากรุณาต่อคนอื่นต่อสัตว์อื่น

ใครที่ได้นั่งรถของเขาจะเห็นคติเตือนใจ ถูกเขียนและติดในระดับที่มองเห็นด้วยสายตา เป็นข้อความง่ายๆ สั้นๆ แต่ลึกซึ้งเมื่อพิจารณา ฉิ่งหวังว่าอาจจะเตือนในใครบางคนได้

------------------------------------------------------------------------------------------------------

ข้อมูลประกอบการเขียน
ประวัติ พระปฏาจาราเถรี เอตทัคคมหาเถรีเลิศทางผู้ทรงวินัย คัดลอกจากสารานุกรม พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
http://www.dharma-gateway.com/bhikunee/pra-pata-jara.htm