Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๗๕

พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
luangpor_pramote

luangpor

หลวงพ่อเวลาออกมาบวช มาสอนเรื่องจิตที่ตั้งมั่น เนี่ยสอนเยอะเลย
จิตที่ไม่เผลอ จิตที่ไม่เพ่งนะ เบื้องต้นจะสอนเรื่องพวกนี้
แต่ถ้าจิตที่เผลอไปเนี่ยไม่รู้สึกตัว มันลืมตัว
จิตที่เพ่งไว้เนี่ยรู้สึกตัวได้นะ แต่รู้สึกแบบเครียดๆแข็งๆ
งั้นแต่ถ้าไม่เผลอไม่เพ่งนะก็จะเป็นจิตที่รู้สึกตัวได้พอดีๆ

วิธีฝึกให้ได้จิตชนิดนี้เนี่ย ไม่ถึงขนาดที่ต้องเข้าฌานให้ได้ทุกคนหรอก
พวกเราส่วนใหญ่เข้าฌานไม่ได้ เราก็ใช้วิธีที่ง่ายกว่านั้นนะ
เบื้องต้นทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ทำอะไรก็ได้ที่เราถนัด
ถนัดพุทโธเราก็ใช้พุทโธ ถนัดรู้ลมหายใจเราก็ใช้ลมหายใจ
ถนัดดูท้องพองยุบเราก็ใช้ท้องพองยุบ ถนัดเดินจงกรมก็ไปเดินจงกรม

กรรมฐานอะไรก็ได้นะ ทำขึ้นมาสักอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทำเพื่อให้จิตสงบอยู่กับกรรมฐานอันนั้น
ทำกรรมฐานอย่างหนึ่งขึ้นมาเพื่อจะคอยรู้ทันเวลาจิตมันหนีไป
อย่างเราพุทโธๆ บางทีจิตก็หนีไปคิด เราก็รู้ทัน โอ้เผลอไปแล้ว
ตรงที่รู้ทันว่าจิตเผลอไป จิตไหลไปคิดเนี่ย จิตจะตั้งมั่นขึ้นอัตโนมัตินะ
เราจะได้จิตที่เป็นตัวรู้เนี่ยชั่วขณะ อันนี้เรียกว่าขณิกสมาธิ
จะเกิดขณิกสมาธิที่ถูกต้องขึ้นชั่วขณะเท่านั้น
เดี๋ยวก็ไหลใหม่ ไหลใหม่รู้ใหม่ ไหลใหม่รู้ใหม่นะ
ไม่ชอบพุทโธก็รู้ลมหายใจ แต่รู้ลมหายใจไม่ใช่เพื่อให้จิตไปสงบอยู่กับลมหายใจ
รู้ลมหายใจแล้วจิตเคลื่อนไปคิดรู้ทัน จิตเคลื่อนเข้าไปเกาะอยู่ที่ลมหายใจรู้ทัน
สรุปก็คือทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตที่เคลื่อนไป

จิตจะเคลื่อนไปในสองลักษณะนะ
ส่วนใหญ่ก็เคลื่อนไปคิดกับเคลื่อนไปเพ่ง เนี่ยสองตัวนี้มีมากที่สุดเลย
ส่วนเคลื่อนไปดูเคลื่อนไปฟังอะไร เวลาเราทำในรูปแบบนั้นไม่ค่อยมีนะ
มันจะมีเคลื่อนไปคิดเนี่ยเป็นตัวหลักเลย แล้วก็เคลื่อนไปเพ่ง
ดูท้องพองยุบ จิตก็หนีไปคิดบ้าง จิตไหลไปเกาะนิ่งๆอยู่ที่ท้องบ้าง
ตรงที่รู้ทันจิตที่เคลื่อนไปเคลื่อนมาเนี่ย จิตจะตั้งมั่นขึ้นโดยอัตโนมัติ

เห็นไหมว่าเราใช้วิธีที่มีสติรู้ทันจิตตัวเองนั่นแหละ
อย่างตอนจะมีศีลนะ เรามีสติรู้ทันกิเลสที่เกิดขึ้น
พอรู้ทันกิเลส กิเลสดับ ศีลอัตโนมัติจะเกิด
เรามีสติรู้ทันจิตที่เคลื่อนไป จิตจะหยุดการเคลื่อนแล้วก็ตั้งมั่นขึ้นโดยอัตโนมัติ
จิตที่เคลื่อนไปเนี่ย เคลื่อนไปด้วยอำนาจของกิเลสทั้งสิ้นเลย
อันแรกมีความหลงอยู่นะ ต่อมาก็มีความโลภ หิวอารมณ์
หิวอารมณ์ อยากจะไปดู อยากไปฟัง อยากไปคิด อยากปฏิบัติ
มีความอยากแทรกเข้ามา ตัวนี้เป็นตัวโลภนะ
ถ้าเรามีสติรู้ทันจิต จิตมีความโลภขึ้นมาแล้ว
อยากจะไปดู หรืออยากจะไปคิด รู้ทันนะ มันจะไม่ไปดู มันจะไม่ไปคิด
ถ้าดูไม่ทันมันก็ไปคิดหรือมันไปดู
ตรงที่มันไปคิดแล้ว รู้ว่าไปคิดแล้วเนี่ย เราจะเห็นว่าจิตมันเคลื่อนไป
ตรงที่จิตเคลื่อนเนี่ยเรียกว่าอุทธัจจะ จิตฟุ้งซ่าน เป็นโมหะ
ตรงที่จิตเคลื่อนเนี่ยเป็นโมหะ คือจิตมันเคลื่อนไป
แรงขับที่ให้เคลื่อนเนี่ยคือตัวตัณหานะซ่อนอยู่อีกที
ถ้าเมื่อไหร่เรามีสติรู้ทันความฟุ้งซ่าน
ความฟุ้งซ่านจะดับโดยอัตโนมัติตามกฏของธรรมะที่ว่าเมื่อไหร่มีสติเมื่อนั้นไม่มีกิเลส

เห็นไหมว่าการที่เรามีสติรู้ทันจิตนะ นอกจากจะได้ศีลแล้วเราจะได้สมาธิขึ้นมาด้วย
แค่รู้ทันว่าจิตไหลไป รู้ทันว่าจิตไหลไป จะได้สมาธิอัตโนมัติขึ้นมา
ถ้ารู้ทันกิเลสที่เกิดขึ้นมา จะได้ศีลอัตโนมัติขึ้นมา

การที่เรามีสติรู้ทันจิตของเราเนี่ยดีมากเลย
เป็นวิธีปฏิบัติที่รวบย่อเลยนะ ได้ทั้งศีล ได้ทั้งสมาธิ แล้วต่อขึ้นถึงปัญญาได้ด้วยนะ
เจริญปัญญาด้วยการดูจิตดูใจเนี่ย ดูรวดต่อไปได้เลย

ส่วนใหญ่ครูบาอาจารย์ที่ผ่านมาเนี่ย ท่านทำความสงบแล้วท่านดูกาย
มีน้อยองค์ที่ว่าก้าวกระโดดมาดูจิตเลยอย่างหลวงปู่ดูลย์
หลวงปู่ดูลย์เป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น
ลูกศิษย์เกือบทั้งหมดของหลวงปู่มั่นนะ หลวงปู่มั่นจะสอนพุทโธๆ
พอจิตสงบแล้วเนี่ยออกจากความสงบท่านให้มาดูกาย
แต่ท่านสอนหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่มั่นสอนหลวงปู่ดูลย์ให้ดูจิต
ท่านบอกว่า “สัพเพสังขารา สัพพะสัญญา อนิจจา” สังขารทั้งหลาย สัญญาทั้งหลาย ไม่เที่ยง
“สัพเพสังขารา สัพพะสัญญา อนัตตา” สังขารทั้งหลาย สัญญาทั้งหลาย บังคับไม่ได้
เนี่ยสอนให้ดูตัวนี้เลย นี่คือการดูจิตดูใจให้เกิดปัญญานะ

เพราะงั้นเราต้องฝึกนะ ฝึกให้ได้ตามลำดับนะ
คอยรู้ทัน กิเลสเกิดรู้ทันๆนะ เราจะได้ศีล
แล้วเวลาเราต้องการความสงบนะ เราก็รู้ทันใจที่ฟุ้งซ่าน
ใจก็จะสงบ ใจก็จะตั้งมั่น กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว
ไม่ใช่แค่น้อมจิตไปอยู่นิ่งๆในอารมณ์อันเดียว
ถ้าน้อมจิตให้นิ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียวจะได้สมถะเฉยๆ
แต่ถ้ารู้ทันจิตที่เคลื่อนๆ จะได้ทั้งความสงบ จะได้ทั้งความตั้งมั่น

สงบกับตั้งมั่นไม่เหมือนกัน
สงบเนี่ยมันแค่ไม่ฟุ้งซ่านไป ตั้งมั่นเนี่ยนะคือจิตใจมันอยู่กับเนื้อกับตัว
ภาษาไทยเนี่ยคำว่าสมาธิแท้ๆเลยนะมันตรงกับคำว่าสภาวะที่จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่ลืมเนื้อลืมตัว
พวกเราลืมตัวเองบ่อยไหม? เห็นไหมเราลืมตัวเองแทบทั้งวัน
ตื่นขึ้นมาคิดถึงอะไร คิดถึงเรื่องอื่นคิดถึงคนอื่นใช่ไหม ร่างกายนอนอยู่ท่าไหนไม่รู้
ใครรู้ตัวบ้างว่าตอนตื่นน่ะหายใจออกหรือหายใจเข้า?
เนี่ยตื่นนอนมาหายใจท่าไหนก็ไม่รู้
อย่าว่าแต่จะหายใจออกหายใจเข้าเลย นอนอยู่ท่าไหนยังไม่รู้เลย
ตอนตื่นใช่ไหมบิดไปบิดมายังไม่รู้เลย ลืมตัวเองตลอดเลย
น้อยคนนะที่จะรู้สึกตัวได้ ต้องฝึก ต้องค่อยๆฝึกสติไปเรื่อย
จนหายใจออกก็รู้สึกตัว หายใจเข้าก็รู้สึกตัว
ยืนเดินนั่งนอนก็รู้สึกตัว จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่ใช่ลืมเนื้อลืมตัว
เราลืมเนื้อลืมตัวทั้งวันเลย คิดไปโน่นคิดไปนี่ตลอดเวลา ลืมตัวเอง
พยายามมาฝึกนะให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว
ถ้าจิตลืมตัวเองไปเราก็รู้ จิตลืมตัวเองไปเราก็รู้

จิตที่ลืมตัวเองได้ก็มีสองอันเท่านั้นแหละ เผลอไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้แล้วลืมตัวเอง
หรือเผลอไปดู เผลอไปฟัง เผลอไปดมกลิ่นลิ้มรส
เผลอไปรู้สัมผัสทางกาย เผลอไปคิดนึกทางใจ
คือจิตเผลอไปหาอารมณ์ภายนอกนั่นแหละ
แต่ส่วนใหญ่นะจะเผลอไปทางใจ คือเผลอไปคิดเนี่ยบ่อยที่สุด
เผลอไปทางตา เผลอไปดูเนี่ยรองลงมา เผลอทางหูก็รองลงไปอีกนะ
ส่วนใหญ่เผลอทางใจ ไปเผลอคิด

อีกอันหนึ่งก็คือพอคิดถึงการปฏิบัติก็เข้าไปเพ่งเลย ไม่เผลอไปก็เพ่งไว้
ถ้าเผลอไปเนี่ยก็พักอยู่นะ จมลง
ถ้าเพ่งอยู่ก็คือเคร่งเครียดนะ มีความเพียรอยู่หนักเกินไป จะลอยขึ้น
อย่างมากก็ไปเป็นเทวดา เป็นพรหม ไม่นิพพานนะ

เนี่ยเราต้องมาฝึกนะ มีสติคอยรู้ทันกิเลสที่เกิดที่จิต
มีสติคอยรู้ทันจิตที่ไหลไปไหลมา เนี่ยจะได้ศีล ได้สมาธิขึ้นมา
พอจิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวแล้วเนี่ย ถึงจะถึงขั้นเจริญปัญญา
วิธีเจริญปัญญาเนี่ยก็คือ พอเรามีใจที่รู้สึกตัวอยู่นะ
ร่างกายเคลื่อนไหวคอยรู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวคอยรู้สึก

บางคนที่เคยมีบุญบารมีเก่ามาแล้ว เคยเจริญปัญญามาแล้ว
ทันทีที่จิตรู้เนื้อรู้ตัวขึ้นมานะ จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวมีสมาธิขึ้นมาปุ๊บเนี่ย
มันเห็นทันทีเลยว่าร่างกายอยู่ส่วนหนึ่งจิตอยู่ส่วนหนึ่งนะ
ถ้าคนมีบุญมาแล้ว เคยเจริญปัญญามาแล้ว เห็นร่างกายอยู่ส่วนหนึ่งจิตอยู่ส่วนหนึ่ง
ร่างกายเคลื่อนไหว จิตเป็นคนดู
หรือเห็นความสุขความทุกข์ที่เกิดขึ้นในกายในใจอยู่อีกส่วนหนึ่ง จิตเป็นคนดู
หรือเห็นว่ากิเลสทั้งหลาย โลภ โกรธ หลงทั้งหลายอยู่อีกส่วนหนึ่ง จิตเป็นคนดู
คือมันมีจิตที่เป็นคนดู จิตที่เป็นคนดูเนี่ยเราได้มาจากการฝึกตรงที่รู้ทันจิตที่ไหลนั่นแหละ
ถ้าจิตไหลไปเรารู้ ไหลไปเรารู้ เราจะได้จิตที่เป็นคนดูที่เรียกว่าผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานนั่นเองนะ

จิตที่เป็นคนดู ตัวนี้สำคัญนะ
ถ้าพวกเราไม่มีจิตที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
ไม่มีจิตที่รู้เนื้อรู้ตัว มีแต่จิตที่ลืมเนื้อลืมตัว เราไม่สามารถเจริญวิปัสสนา ไม่สามารถเจริญปัญญา
เพราะอะไร? เวลาที่เราลืมตัวเอง เรามีร่างกายเราก็ลืม เรามีจิตใจเราก็ลืม
เมื่อเราลืมกาย เมื่อเราลืมใจแล้วเนี่ย เราจะไปเห็นความจริงของกายของใจไม่ได้เลย
เพราะงั้นเราต้องคอยรู้สึกกายรู้สึกใจบ่อยๆ รู้สึกแล้วต้องไม่เข้าไปแทรกแซงกายและใจ
แค่รู้สึกถึงความมีอยู่ของมัน รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของมันโดยที่ไม่เข้าไปแทรกแซง
เราถึงจะเป็นกายอย่างที่กายเป็น เห็นใจอย่างที่ใจเป็น เรียกว่าเห็นตามความเป็นจริง
ถ้าเห็นแล้วก็เข้าไปแทรกแซง เช่นเวลามีความสุขเกิดขึ้น เราพอใจ เราก็ไปรักษาความสุข
เวลามีความสงบเกิดขึ้น เราพอใจ พยายามรักษาจิตให้สงบตลอดเวลา อย่างนี้เรียกว่าแทรกแซง
หรือมีความทุกข์เกิดขึ้น มีกิเลสเกิดขึ้น หาทางให้หาย หาทางแก้ไข
บางวันจิตใจฟุ้งซ่าน พวกเราเคยเป็นไหม ทำสมาธิบางวันจิตใจฟุ้งซ่าน
พอจิตใจฟุ้งซ่านเราก็คิดว่าทำอย่างไรจะหายฟุ้งซ่าน นี่แทรกแซงแล้ว

ถ้าหลักของการปฏิบัติก็คือ จิตฟุ้งซ่านให้รู้ว่าฟุ้งซ่าน
จิตมีราคะให้รู้ว่ามีราคะ ไม่ใช่ว่าจิตมีราคะก็ไม่ได้ จะต้องแทรกแซงไม่ให้มีราคะ
พอมีราคะแล้วก็แทรกแซงให้หาย อันนั้นไม่ใช่วิปัสสนานะ จะเป็นเรื่องของสมถะ
จิตไม่ดีทำให้ดี จิตไม่สุขทำให้สุข จิตไม่สงบทำให้สงบ อันนั้นสมถกรรมฐาน

ถ้าเป็นวิปัสสนากรรมฐานนะใช้หลักที่พระพุทธเจ้าสอนเลย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตมีราคะให้รู้ว่ามีราคะ ...ให้รู้นะ ให้รู้ว่ามันมี ไม่เข้าไปแทรกแซง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตไม่มีราคะก็รู้ว่าไม่มีราคะ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตมีโทสะให้รู้ว่ามีโทสะ จิตไม่มีโทสะก็รู้ว่าไม่มีโทสะ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตมีโมหะรู้ว่ามีโมหะ จิตไม่มีโมหะรู้ว่าไม่มีโมหะ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตฟุ้งซ่านให้รู้ว่าฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ให้รู้ว่าหดหู่
คือจิตมันเป็นยังไง ให้รู้ว่ามันเป็นอย่างนั้น รู้อย่างที่มันเป็นนะ

เนี่ยหลักของการเดินปัญญานะ รู้ตามความเป็นจริง
เพราะรู้ตามความเป็นจริงเนี่ย พระพุทธเจ้าท่านวางหลักเอาไว้เลยว่า
เพราะรู้ตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย เพราะเบื่อหน่ายจึงคลายกำหนัดคือคลายความยึดถือ
เพราะคลายกำหนัดจึงหลุดพ้น เพราะหลุดพ้นก็รู้ว่าหลุดพ้นแล้ว
ชาติคือความเกิดสิ้นแล้ว พรหมจรรย์คือการปฏิบัติธรรมจบแล้ว คือเรียนธรรมะจบแล้ว
กิจที่ต้องทำๆเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นไม่มีอีกแล้ว
ล้างกิเลสแล้วก็ล้างเลยไม่ต้องล้างอีกแล้ว ไม่มีอะไรจะต้องล้างอีกแล้ว
เนี่ยอาศัยตรงที่เริ่มต้นมาจากการรู้ตามความเป็นจริงนี่แหละ


วัดมงคลรัตนาราม
แทมป้า, ฟลอริด้า, สหรัฐอเมริกา
วันเสาร์ ที่ 8 มิถุนายน 2556