Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๗๔

พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
luangpor_pramote

luangporสิ่งที่พระพุทธเจ้าค้นพบ แต่คนอื่นค้นไม่พบ
ที่เป็นศาสตร์โดยเฉพาะของชาวพุทธเรา ก็คือเรื่องของการเจริญปัญญา
การเจริญปัญญานี้ไม่ใช่เรื่องของการนั่งคิดเอาเอง
เป็นศาสตร์ที่แปลก ศาสตร์แห่งการเจริญปัญญา
ถ้าพวกเราเจริญปัญญาไม่เป็น ถึงเราจะไปใส่บาตรให้ตายเลย
แล้วก็อธิษฐานทุกครั้งที่ใส่บาตรขอให้ได้มรรคผลนิพพานก็ไม่ได้
ถ้าไม่ได้เดินปัญญานะ ไม่เจริญปัญญา ไม่มีโอกาสเข้าถึงมรรคผลนิพพาน
มรรคผลนิพพานเนี่ยจิตใจจะเข้าถึงความบริสุทธิ์
พระพุทธเจ้าท่านย้ำตรงนี้ว่า “บุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา”

คำว่าปัญญา wisdom, ปัญญา ไม่ใช่ความฉลาดแบบโลกๆ
มันเป็นความรู้ความเข้าใจความเป็นจริงของสิ่งที่เรียกว่าตัวเรา
เราเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าตัวเรา สิ่งที่เรียกว่าตัวเราประกอบด้วยร่างกายจิตใจนี้เอง
เข้าใจความจริงของร่างกาย เข้าใจความจริงของจิตใจ
เข้าใจว่าอย่างไร? เข้าใจว่าร่างกายจิตใจนี้ไม่เที่ยง
ร่างกายจิตใจนี้ ถูกบีบคั้นให้แตกสลายอยู่ตลอดเวลา
ร่างกายจิตใจนี้ มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้
สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นไปตามเหตุ ไม่ใช่ตามที่เราสั่ง เรียกกันว่าอนัตตา

ปัญญาอย่างนี้เกิดขึ้นนะ
มันจะเกิดจากกระบวนการทางจิตที่แปลกประหลาดมหัศจรรย์ที่สุดเลย
คือการที่จิตมันจะปล่อยวางความถือมั่นในกายในใจนี้ได้
เนี่ยเมื่อไหร่มันมีปัญญาเห็นความจริงว่าร่างกายนี้เป็นตัวทุกข์ล้วนๆ
จิตจะหมดความยึดถือร่างกาย ร่างกายเป็นทุกข์แล้วจิตจะเอาทำไม
ทุกวันนี้เราไม่เคยเห็นว่าร่างกายของเราเป็นตัวทุกข์
สังเกตมันก็เห็นว่าร่างกายของเราทุกข์บ้างสุขบ้าง รู้สึกไหม
เดี๋ยวมันสุขเดี๋ยวมันทุกข์ สุขๆทุกข์ๆหมุนไปหมุนมา
เราก็ยังอยากได้ความสุข อยากหนีความทุกข์
ความอยากเกิดขึ้น ความดิ้นรนภายในใจก็มีขึ้นมา

ทุกคราวที่ความอยากเกิด ความทุกข์ทางใจจะเกิด นี่เป็นกฏของธรรมะนะ
ทุกคราวที่ความอยากเกิด ความทุกข์ทางใจจะเกิด
คนทั่วๆไปเค้าไม่เคยไม่รู้เคยเห็นศาสตร์อันนี้
เค้าก็คิดแค่ว่ามีความอยากเกิดขึ้นยังไม่ทุกข์ ต้องไม่สมอยากก่อนถึงจะทุกข์
ถ้าพวกเราภาวนาเป็นนะเราจะรู้เลยว่า แค่มีความอยากเกิดขึ้นความทุกข์ก็เกิดแล้ว
เวลามีความอยากเกิดขึ้น สบายใจไหม? ไม่สบายใจ
บางทีก็ลุ้นใช่ไหมจะได้หรือจะไม่ได้ ไม่มีความสุขหรอก

ทันทีที่ความอยากเกิด ความทุกข์ก็เกิด
ความอยากเกิดก็เพราะความไร้เดียงสา
เพราะความไม่รู้ความจริงของธาตุขันธ์ ของกายของใจ
เราไปเห็นว่าร่างกายของเรานี้เป็นของดีของวิเศษ
เป็นของมีคุณค่ามาก เราก็หวงแหนมาก รักมาก
ร่างกายแก่ เราทนไม่ได้ เพราะของดีมันแก่
ร่างกายมันเจ็บ เราทนไม่ได้ เพราะของดีมันเจ็บ
ร่างกายจะตาย เราทนไม่ได้ เพราะของดีมันจะตาย

แต่ถ้าเรามาเจริญปัญญา เราคอยมามีสติระลึกรู้ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายไปเรื่อยๆ
เราจะพบว่าร่างกายไม่ใช่ของดีอย่างที่เรานึกหรอก
ร่างกายนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ มีความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา
หายใจออกก็ทุกข์นะ หายใจเข้าก็ทุกข์นะ
คนไม่มีปัญญานะไม่เคยเรียนรู้ตัวเองเข้าไม่ถึงความจริงตรงนี้

เราลองมาทดสอบว่าจริงไม่จริง
ลองหายใจเข้าซิ อย่าหายใจออกนะ
ลองหายใจเข้าให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้...
...สบายไหม? ไม่สบาย
หายใจออกซิ อย่าหายใจเข้านะ
หายใจออกเรื่อยๆ ดูซิว่าสุขหรือทุกข์... มีความสุขไหม?
ทำไมเราต้องหายใจเข้า? เพราะเราแก้ทุกข์ของการหายใจออก
ทำไมเราต้องหายใจออก? เพราะเราแก้ทุกข์ของการหายใจเข้า
เพราะจริงๆแล้ว หายใจเข้าก็ทุกข์นะ หายใจออกก็ทุกข์
ถ้าหายใจเข้าก็ทุกข์ หายใจออกก็ทุกข์
เรียกว่าเรามีความทุกข์อยู่ในร่างกายนี้ทุกลมหายใจเข้าออก ไม่เห็นจะสุขตรงไหนเลย

ทำไมเราต้องเปลี่ยนอิริยาบท?
นั่งนานๆก็ทนไม่ได้ ต้องไปเดินหรือต้องไปนอน
เดินมากก็เมื่อย ต้องไปนั่งไปนอน ต้องเปลี่ยนอิริยาบทเพื่อไปแก้ทุกข์
นั่งนานๆทุกข์ไหม? นั่งนานๆทุกข์
นอนนานๆทุกข์ไหม? คืนหนึ่งเรานอนพลิกซ้ายพลิกขวาหลายสิบครั้ง, สามสิบสี่สิบครั้ง
ทำไมเรานอนต้องพลิกไปพลิกมา? เพราะว่าร่างกายนี้ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่

เนี่ยถ้าเรามีสติระลึกรู้อยู่ในร่างกายนี้
เราจะเห็นว่าร่างกายนี้มีความทุกข์บีบคั้นอยู่
หายใจออกก็ทุกข์ หายใจเข้าก็ทุกข์
ยืนก็ทุกข์ เดินก็ทุกข์ นั่งก็ทุกข์ นอนก็ทุกข์
ร่างกายไม่ใช่ของดีของวิเศษเลย ร่างกายเป็นก้อนทุกข์แท้ๆเลย
แล้วก็เป็นแค่วัตถุ มีธาตุไหลเข้ามีธาตุไหลออกตลอดเวลา
หายใจเข้า หายใจออก ธาตุหมุนไป
อย่างกินอาหารแล้วก็ขับถ่าย ธาตุมันก็หมุนไป เป็นแค่วัตถุเท่านั้น

เฝ้ามีสติรู้ลงมาในร่างกายบ่อยๆ เราก็จะเริ่มเห็นความจริงในร่างกาย
ว่าร่างกายไม่ใช่ของดีของวิเศษอย่างที่เราเคยคิดเคยนึกหรอก
ร่างกายนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ ร่างกายเป็นแค่วัตถุ เป็นแค่ก้อนธาตุ

เนี่ยถ้าเราค่อยฝึกค่อยดูไปเรื่อย ความรักความหวงแหนในร่างกายนี้จะน้อยลงๆ
ถึงจุดหนึ่งนะถ้าเราบรรลุธรรมะในขั้นที่เรียกว่าพระอนาคามี
ความรักความหวงแหนความยึดถือในร่างกายนี้จะหมดสิ้นไป
เมื่อเราหมดความรักใคร่หวงแหนในร่างกายแล้ว
ร่างกายเจ็บ ใครเจ็บ? ร่างกายจะเจ็บไม่ใช่เราเจ็บอีกต่อไป
ร่างกายจะแก่ ใครแก่? ร่างกายมันแก่นะไม่ใช่เราแก่อีกต่อไป
มันไม่ใช่ของดี ร่างกายเป็นก้อนทุกข์
ก้อนทุกข์มันจะเจ็บ ก้อนทุกข์มันจะแก่ ก้อนทุกข์มันจะตาย
ไม่เกี่ยวอะไรกับเราเลย ใจจะไม่เข้าไปยึดถือ

พระพุทธเจ้าสอนธรรมะเอาไว้อันหนึ่งนะ น่าฟังมากเลย แต่ว่าคนทั่วๆไปเข้าไม่ถึง
ท่านบอก “ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์” เคยได้ยินไหม บางศาสนาเขาก็สอนให้มีความรักใช่ไหม
“ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์” เรารักอะไรมากที่สุด เรารักตัวเองมากที่สุด
งั้นอย่างสาวๆนะ ถ้าใครมาบอกเราว่ารักเราที่สุดในโลกเลย เค้าโกหกนะ
เพราะสิ่งที่เค้ารักที่สุดคือตัวของเค้าเอง ตนนั้นเป็นที่รักที่สุดเลย

ถามว่าเรารักร่างกาย ถ้าร่างกายแก่
ของรัก ของดี ของวิเศษ ของหวงแหน แก่ไปนะก็ทุกข์ มันจะทุกข์ขึ้นมา
ร่างกายซึ่งเป็นที่รักของเราเองมันเจ็บไข้ได้ป่วย เราก็ทุกข์
ร่างกายเป็นที่รักของเรามันจะตาย เราก็ทุกข์
เราดิ้นรนแทบแย่เลยเพื่อจะไม่ให้มันตาย
อย่างอุตส่าห์ดูแลมันอย่างดีเลย หาอาหารมาให้มันกินนะ
หาเสื้อผ้าให้มันใส่ หาบ้านให้มันอยู่ ดูแลมันอย่างดีเลย
สุดท้ายมันก็แก่ มันก็เจ็บ มันก็ตาย มันไม่ได้อยู่ในอำนาจของเราจริง

แต่ถ้าเรามีสติปัญญานะ
เราเห็นเลยร่างกายไม่น่ารักไม่น่าหวงแหน เป็นแค่วัตถุ จะเห็นอย่างนั้นนะ
วัตถุมันจะแก่ วัตถุมันจะเจ็บ วัตถุมันจะตาย เราจะไม่เดือดร้อนใจ
แต่ถ้าใจเรามีความรักในร่างกายนี้มากหวงแหนมาก เป็นอะไรนิดหนึ่งก็กลุ้มใจ
อย่างตอนสาวๆ เป็นสาวใหม่ๆสิวขึ้นกลุ้มใจไหมหรือภูมิใจ กลุ้มใจหรือภูมิใจ
ทีแรกอาจจะภูมิใจว่าเป็นสาวนะ แต่ว่าเอ๊ะพอขึ้นเรื่อยๆไม่เอาแล้ว ไม่ชอบแล้ว
ดิ้นรนหาอะไรต่ออะไรมาทานะ อยากเป็นสาวนะแต่กลัวเป็นสิว อะไรอย่างนี้นะใจมันเป็นอย่างนั้น

อยากเป็นหนุ่มขึ้นมา แต่กลัวแก่
จากเด็กเป็นหนุ่มขึ้นมามันก็แก่ขึ้นมานะ จะกลัวสิ่งที่มันต้องเป็น
งั้นถ้าเรามามีสตินะ คอยรู้ความจริงในร่างกายบ่อยๆ
จะเห็นร่างกายไม่ใช่ของดีของวิเศษอย่างที่คิดหรอก
พอความรักความหวงแหนในร่างกายลดลง ความทุกข์เพราะร่างกายก็จะลดลง
เรารักใครมากเราจะทุกข์เพราะสิ่งนั้นมาก
อย่างเวลาเราไปซื้อรถยนต์ใหม่ๆสักคันใช่ไหม
รถเราไปโดนกิ่งไม้เกี่ยวหน่อยเราก็กลุ้มใจแล้ว เสียดายไม่สบายใจ
หรือซื้อบ้านมาใหม่ๆ มีอะไรนิดหน่อยกลุ้มใจ
ไปเช่าบ้านเค้าอยู่ไม่ค่อยกลุ้มนะ ไปซื้อบ้านอยู่กลุ้มใจ
เพราะอะไร? เป็นของเรา เรารักมาก รักอะไรก็ทุกข์เพราะอันนั้น
เรารักผู้หญิงสักคนหนึ่งเราก็ทุกข์เพราะเค้า ต้องคอยเอาใจเค้า
เหนื่อยนะ ต้องคอยเอาใจเค้า เราเสียอิสระภาพไป

พระพุทธเจ้าจึงบอก “ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์”
เราเข้าไปรักใคร่หวงแหนสิ่งใด ผูกพันกับสิ่งใด
มันจะเป็นภาระทางใจขึ้นมาทั้งหมดเลย เป็นทุกข์ขึ้นมา

งั้นสิ่งที่เรารักที่สุดก็คือกายกับใจ
เราจะมาถอนความรักในกายในใจออกด้วยการเห็นความจริงของมัน
ถ้าเราเห็นความจริงของกายของใจแล้วจะรักมันไม่ลงเลย เพราะมันเป็นตัวทุกข์จริงๆ

งั้นเราคอยมีสตินะ รู้สึกอยู่ที่ร่างกายบ่อยๆ
เห็นร่างกายมันทำงานไป เห็นร่างกายหายใจ ร่างกายยืนเดินนั่งนอน
แล้วก็มีสติคอยรู้สึกอยู่เรื่อย สุดท้ายปัญญามันจะเกิด
ปัญญาเนี่ยก็คือการที่จิตมันเห็นความจริง เรียกว่าปัญญา


ศาลาเฉลิมพระเกียรติฯ วัดธรรมาราม
ชิคาโก้, อิลลินอยส์, สหรัฐอเมริกา
วันอาทิตย์ ที่ 31 พฤษภาคม 2556