Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๗๓

พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
luangpor_pramote

luangpor

หน้าที่แรกของชาวพุทธเนี่ยเรียนให้รู้เรื่อง พอเข้าใจแล้วก็บอกต่อ
คำว่าเข้าใจเป็นคำลึกนะ “เข้า” “ใจ” เข้าถึงใจ
เนี่ยเข้าหูเข้าสมองยังไม่ไหว
เข้าหูนี่แย่ที่สุดนะ เข้าหูนี่ออกนี่
เข้าสมองยังพอมีอะไรติดบ้าง จำๆเอาไว้

หลวงปู่มั่นนะท่านเคยพูดไว้คำหนึ่งนะน่าฟังมากเลย
เป็นความจริงอย่างที่ท่านพูดนะ แต่แสลงใจที่คนฟัง
ท่านบอกธรรมะเนี่ยเมื่อเข้าไปอยู่ในจิตของปุถุชนแล้วจะกลายเป็นสัทธรรมปฏิรูป
จะเพี้ยน เพี้ยนไปนิดๆหน่อยๆ แต่บางทีเพี้ยนมาก

เนี่ยธรรมะกระจัดกระจายนะ คนโน้นสอนอย่างนั้น คนนี้สอนอย่างนี้
บางทีถ้าศึกษาแล้วก็รู้มันเป็นมิจฉาทิฏฐิ
อย่างบอกไม่ให้ยึดอะไรเลยนะ ไม่ต้องทำอะไรหรอก พวกเราไม่ต้องทำอะไรหรอก
จิตของเราดีอยู่แล้ว เพราะจิตเราเป็นพุทธะอยู่แล้ว
ธรรมชาติจิตก็ประภัสสร เนี่ยพระพุทธเจ้าบอกนะจิตเราประภัสสร มันดีงามอยู่แล้ว
ศีล สมาธิ ปัญญาไม่สำคัญหรอก นี่มิจฉาทิฏฐิหนักๆเลยนะ

จิตของเราไม่ใช่ประภัสสรแบบบริสุทธิ์หรอก
ประภัสสรแปลว่าสว่าง ผ่องใส
เวลาที่กิเลสยังไม่มานะโดยธรรมชาติจิตมันก็สว่างผ่องใส แต่ไม่ได้บริสุทธิ์
คำว่าผ่องใสกับคำว่าบริสุทธิ์นะ คนละคำกัน
จิตพวกเรามีกิเลสต่างหากล่ะ มีอวิชชา ตัณหา อุปาทาน อยู่พร้อมเพรียง
จะมาบอกไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ทำอะไรเลยเป็นมิจฉาทิฏฐินะ เป็นมิจฉาทิฏฐิไม่ต้องมีการกระทำ

คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นกรรมวาที เป็นเรื่องของการต้องทำ
ถ้าพวกมิจฉาทิฏฐิเค้าเรียกอกิริยะ อกิริยทิฏฐิ ไม่ต้องทำอะไรเลย
หรือทุกอย่างในโลกนี้ว่างเปล่าอยู่แล้ว
เราไม่ต้องไปยุ่งกับมันหรอก ทุกอย่างว่างอยู่แล้ว
ชั่วแค่ไหนก็ได้นะ จะฆ่าใครก็ได้เพราะว่าไม่มีคน
ทุกอย่างว่างเปล่า ไม่มีคน เพราะงั้นเราไม่ได้ฆ่าคน เราทำร้ายวัตถุเฉยๆ
นี่พวกไม่มีอะไรเลย เรียกนัตถิกทิฏฐิ พวกมิจฉาทิฏฐิอีก

บางคนก็สอนกันนะให้รักษาจิตให้ว่าง
จิตให้นิ่งให้ว่างนะ ไม่ต้องไปทำอะไรหรอก
ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ต้องมี รักษาจิตว่างๆไว้อย่างเดียว นี่ก็มิจฉาทิฏฐินะ

พระพุทธเจ้าสอน ศีล สมาธิ ปัญญา
สอนศีลสิกขา จิตสิกขา ปัญญาสิกขา
ถ้าไม่เรียนมันก็ไม่บริสุทธิ์หมดจดขึ้นมาได้หรอก

งั้นเราต้องระมัดระวังมากหน่อยนะบางทีฟังธรรมะแล้วเพี้ยน
หรืออ่านหนังสือจิตคือพุทธะของหลวงปู่ดูลย์
จิตมันดีอยู่แล้วอย่างโน้นอย่างนี้นะ ศีล สมาธิ ปัญญาไม่สำคัญ
อันนั้นท่านพูดถึงจิตหนึ่ง คำว่าจิตหนึ่งเป็นจิตของพระอรหันต์ ไม่ใช่จิตของเรา
ถ้าจิตของพระอรหันต์เนี่ยท่านไม่ต้องไปศึกษาเรื่องศีลสิกขา จิตสิกขา ปัญญาสิกขาอีกแล้ว
ศีล สมาธิ ปัญญาของท่านบริบูรณ์แล้วต่างหาก ไม่ใช่ว่าท่านไม่มี มีบริบูรณ์แล้วต่างหาก
เนี่ยเวลาฟังเวลาคิดนะ ฟุ้งซ่านเพ้อเจ้อไปนะ พลาดอย่างแรงเลย

หน้าที่เรามีอยู่นะ คือเรียน
หน้าที่ของชาวพุทธคือหน้าที่เรียน
คนที่เรียนจบแล้วเรียก อเสขบุคคล คือพระอรหันต์เท่านั้น
พระโสดาบันยังเป็นนักเรียนอยู่เลย
พระสกทาคามีก็เป็นนักเรียน พระอนาคามีก็เป็นนักเรียน เรียกเสขบุคคล
พวกเราปุถุชนยิ่งต้องเรียนให้หนัก
ขนาดพระโสดาบัน, สกทาคามี, อนาคามี ยังเป็นนักเรียนเลย แล้วพวกเราล่ะ?
ประเภทเตรียมหรือเปล่า โรงเรียนเตรียม เตรียมอนุบาลนะ

หน้าที่เรียนนะ เรียน เบื้องต้นเรียนให้รู้เรื่อง
ฟังธรรมะให้ดีนะ ศึกษาธรรมะ พระพุทธเจ้าสอนอะไร
สอนเราเรื่องศีลสิกขา เราต้องรักษาศีล
สอนเรื่องจิตสิกขา เราต้องเรียนรู้จิตของตัวเอง
สอนเรื่องปัญญาสิกขา รู้วิธีเอาจิตที่เหมาะสมถูกต้องแล้วเอามาเจริญปัญญา

รักษาศีลอย่างเดียวไม่พอ ไม่พอนะรักษาศีลอย่างเดียวไม่พอ
ทำสมาธิอย่างเดียวไม่พอ มีศีลกับสมาธิก็ยังไม่พอ
เจริญปัญญาอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องมีศีลต้องมีสมาธิด้วย
มีสิ่งที่ต้องเรียนต้องทำไม่ใช่น้อยนะ

แต่ศีล สมาธิ ปัญญาเนี่ยมันจะดีขึ้นได้ถ้ามีเครื่องมือสำคัญ
เบสิคที่สุดเลยคือคำว่า สติ
ถ้ามีสตินะถึงจะมีศีล มีสติถึงจะมีสมาธิ มีสติถึงจะมีปัญญาได้
สติสำคัญมาก จำเป็นในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ
ฝึกสติให้มาก วิธีฝึกสตินะก็หัดเจริญสติปัฏฐาน

สติปัฏฐานมีสองขั้นตอน
ขั้นตอนแรกเจริญไปเพื่อความมีสติ
ขั้นตอนที่สองเมื่อมีสติและมีสมาธิที่ถูกต้องแล้ว
ก็เจริญสติปัฏฐานเพื่อให้เกิดปัญญาเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของรูปนามกายใจ
เมื่อมีปัญญาเห็นความจริงของรูปนามกายใจแล้วจิตจะเบื่อหน่ายคลายกำหนัดแล้วก็หลุดพ้น

เค้าเป็นของเค้าเองนะ
ไม่มีใครทำจิตให้เบื่อหน่ายได้
ไม่มีใครทำจิตให้หมดราคะหมดตัณหาได้
ไม่มีใครทำจิตให้หลุดพ้นได้
จิตเค้าเป็นเอง ถ้าเค้าเป็นเอง เราก็ต้องทำเงื่อนไขให้เค้าเป็น

เหมือนอย่างลูกเรา เราให้ไปเรียนหนังสือนะ
เราทำลูกของเราให้ฉลาดไม่ได้
แต่ว่าเราให้โอกาสในการเรียนรู้กับเค้า แล้วเค้าฉลาดของเค้าเอง
อย่างบางคนเนี่ยอยากจะให้ลูกฉลาด
ตั้งใจว่าจะต้องฉลาดอย่างโน้นอย่างนี้ ทำไม่ได้หรอก
เราให้การศึกษาได้ เค้าจะฉลาดหรือไม่อยู่ที่ตัวเค้าเอง

เราก็ให้การศึกษากับจิต ด้วยศีลสิกขา เรียนเรื่องวิธีรักษาศีล
จิตสิกขา เรียนเรื่องวิธีเรียนรู้จิต
จนได้จิตที่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบาน จิตที่มีสมาธิที่ถูกต้อง
ถ้าตอนไหนฟุ้งซ่าน ก็ใช้จิตโน้มนำไปทำความสงบ ทำสมถะ สมาธิอย่างที่หนึ่ง
ตอนไหนมีกำลังมากพอ ก็ให้จิตตั้งมั่นขึ้นมา เป็นสมาธิอย่างที่สอง
พอได้จิตที่ตั้งมั่นแล้ว ก็มาดูกายเค้าทำงาน มาดูจิตเค้าทำงาน
ดูอย่างที่เค้าเป็นนะ ดูกายอย่างที่กายเป็น ดูจิตอย่างที่จิตเป็น
เห็นไหมมีงานต้องทำ คือการดูกายดูใจตามความเป็นจริง
ไม่ใช่ไม่ต้องทำอะไรเลยแล้วก็บรรลุพระอรหันต์นะ นั้นมันมิจฉาทิฏฐิ ไม่มีการกระทำ
พอเข้าใจแล้วนะ เข้าใจแล้วก็ค่อยบอกต่อกันไป

พวกเราที่มาเรียนที่หลวงพ่อเนี่ย
มาเรียนแล้วช่วงหนึ่งพอเข้าใจหลักของการปฏิบัติแล้วเนี่ย
บางคนปฏิบัติเป็นไปแล้ว เก่งไปแล้วนะก็ไปช่วยเผยแพร่ช่วยอะไร
ที่รู้หลักแม่นๆรองลงมาหน่อย ก็มาช่วยกันเป็นพี่เลี้ยง
เป็นพี่เลี้ยงคอยช่วยประคับประคองคนที่ยังอินทรีย์อ่อนกว่า
เนี่ยเป็นหน้าที่นะ พวกเราวันหนึ่งต้องช่วยกัน
บางคนมีกำลัง เก่งคอมพิวเตอร์ ก็ไปทำเว็บไซด์
บางคนก็ไปทำซีดี ทำบันทึกเสียง เอาไปทำเทปทำซีดีแจก
บางคนทำอะไรไม่เป็น ก๊อปซีดีแจกอย่างเดียวก็ยังดีนะ
ก็ยังบุญนะ ก็ได้ช่วยกันเผยแพร่ไป
หรือบางคนทำการ์ตูน มีนะเขียนการ์ตูน

งั้นพวกเราเรียนนะ แล้วต่อไปเรามีหน้าที่
หน้าที่ของชาวพุทธคือเรียนให้รู้เรื่องแล้วก็บอกๆต่อนะ
นี่หน้าที่ ที่พระพุทธเจ้าท่านบอกไว้


สวนสันติธรรม
วันเสาร์ที่ 26 มกราคม 2556

ฟังเนื้อหา