Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๗๒

พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
luangpor_pramote

luangporพวกเรานึกออกหรือยังว่าเจริญสติปัฏฐานแล้วทำไมรู้แจ้งอริยสัจ
ถ้าเจริญสติปัฏฐาน มีสติ มีปัญญา รู้กายเวทนาจิตธรรม
ย่อลงมาก็คือรูปธรรมนามธรรมนั้นแหละ
รูปธรรมนามธรรมนี้เราจะแจกแจ งออกไปในลักษณะของขันธ์ ๕ ก็ได้
เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นส่วนนาม นามธรรม ตัวรูปขันธ์ ก็เป็นรูปธรรรม
แจกแจงเป็นอายตนะ ๖ ก็ได้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็เป็นรูปธรรม ใจเป็นนามธรรม
แจกแจงไปได้หลายแบบนะ เป็นธาตุ ๑๘ ธาตุ อินทรีย์ ๒๒ อย่าง
หรือปฏิจจสมุปบาท ๑๒ + ๑๒ เป็น ๒๔
รวมความนะ มันก็คือรูปธรรมนามธรรม

การที่เรารู้ความจริง เรียนรู้ความจริงของรูปธรรมนามธรรม ก็คือการรู้ทุกข์นั่นเอง
ว่าสิ่งที่เรียกว่าทุกข์ในคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นท่านบอกว่า
“สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา” ว่าโดยสรุป ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตัวทุกข์
การที่เราเจริญสติปัฏฐานนั้นเราก็รู้ความจริงของขันธ์ทั้ง ๕ เรียกเรา “รู้ทุกข์” นั่นเอง
ก็เท่ากับเราได้ปฏิบัติใน “กิจต่อทุกข์” เรียบร้อยแล้ว
การที่เรา “รู้ทุกข์อย่างแจ่มแจ้ง” ว่าขันธ์ ๕ เนี่ยเป็นตัวทุกข์
เมื่อรู้ว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวทุกข์อย่างแจ่มแจ้งแล้ว กิจที่ ๒ คือการ “ละสมุทัย” จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
ทันทีที่ รู้ทุกข์ ขณะนั้นแหละ ละสมุทัย
เราละ สมุทัย ละความอยากเนี่ย ด้วยการ รู้ทุกข์

สมุทัยคือตัวตัณหา ตัวความอยาก
เป็นเหตุให้เราเข้าไปหยิบฉวยเอารูปธรรมนามธรรมหรือขันธ์ ๕ นี้ซึ่งเป็นตัวทุกข์
เอามากอดเอาไว้ มากกไว้ เอามาครอบครองไว้ กลายเป็นไปหยิบฉวยเอาตัวทุกข์ขึ้นมา
ความอยากนี้แหละทำให้เราไปหยิบฉวยเอารูปธรรมนามธรรมขึ้นมาไว้กับตัวเอง
ก็เลยนำความทุกข์เข้ามาสู่จิตใจ

ถ้ามีสติมีปัญญามากพอ รู้ความจริงว่าขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
จะไม่เกิดความอยากที่จะไปหยิบฉวยมันเข้ามา
ไม่มีการเข้าไปครอบครองรูปนามขันธ์ ๕
ก็เท่ากับไม่หยิบฉวยเอาตัวทุกข์เข้ามาไว้กับตัวเอง

งั้นรู้ทุกข์เมื่อไหร่ ก็ละสมุทัยเมื่อนั้น
ละสมุทัยเมื่อไหร่ก็แจ้งนิโรธ คือแจ้งพระนิพพานเมื่อนั้น
เพราะพระนิพพานนั้นเป็นสภาวะที่สิ้นตัณหา สิ้นตัวสมุทัยแล้ว
จิตใจก็เข้าถึงความสงบระงับ
พระนิพพานนั้นคือสันติ คือความสงบ
สงบจากอะไร? สงบจากกิเลส สงบจากกิเลสทั้งหลาย
สงบจากตัณหา สงบจากความยึดถือ
สงบจากสังขารคือความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง
ทั้งที่เป็นรูปธรรมนามธรรมนี่เป็นตัวสังขารทั้งหมด
สงบจากการดิ้นรนปรุงแต่ง
ไม่ปรุงแต่งก็พ้นจากภพ ภพก็คือความปรุงแต่งของจิต

งั้นนิพพานนะ เมื่อไหร่สิ้นตัณหา
รู้ความจริงของขันธ์ ก็จะสิ้นตัณหา
เมื่อสิ้นตัณหา ก็ไม่สร้างภพ
ไม่ดิ้นรนปรุงแต่งขึ้นมา ก็พ้นจากภพกันตรงนั้นเอง พ้นจากความทุกข์กันตรงนั้นเอง
งั้นถ้าคนถามเราว่านิพพานมีลักษณะยังไง ก็ตอบเค้าไปตรงๆ นิพพานมีสันติลักษณะ มีลักษณะสงบ
สงบจากอะไร? สงบจากกิเลสตัณหา สงบจากความดิ้นรนปรุงแต่ง
สงบจากอะไรอีก? สงบจากรูปนามขันธ์ ๕ พ้นจากรูปนามขันธ์ ๕

นิพพานมีอยู่แล้ว แต่ว่าเราไม่รู้ เราไม่เห็น
เพราะจิตเรามีความอยาก จิตเรามีกิเลส จิตเรามีความดิ้นรนปรุงแต่ง
เราเลยไม่สามารถจะเห็นสภาวะที่พ้นความปรุงแต่งได้
ขณะใดที่จิตเราหมดตัณหาหมดกิเลสนะ เมื่อสิ้นตัณหาก็สิ้นความปรุงแต่งของจิตด้วย
พระนิพพานคือสภาวะที่สิ้นตัณหาสิ้นความปรุงแต่ง ก็จะปรากฏขึ้นให้รับรู้ในขณะนั้นเลย

งั้นเมื่อไรรู้ทุกข์ เมื่อนั้นแหละละสมุทัย
เมื่อใดละสมุทัย เมื่อนั้นแหละแจ้งนิโรธ เห็นพระนิพพาน
การที่เรารู้ทุกข์ ละสมุทัย แจ้งนิโรธ ในขณะนั้นน่ะคือขณะแห่งอริยมรรค
งั้นการที่เรารู้ทุกข์ ละสมุมัย แจ้งนิโรธ เจริญมรรคเนี่ย
กิจกรรมทั้ง ๔ เนี่ยทำเสร็จในขณะจิตเดียวกัน ในแว๊บเดียว
ในพริบตาเดียวนั้นเอง ก็ข้ามพ้นจากความทุกข์ไปได้

ธรรมะอย่างนี้นะธรรมะประณีต ลึกซึ้งมาก ต้องภาวนา
ถ้าภาวนาเราอยากแค่มีทุกข์น้อยๆ ก็เอาแค่โสดาบัน สกทาคามี
เรายังติดใจในกาม ยังห่วงเมีย ห่วงสามี
ยังอะไรต่ออะไรอยู่นะ ห่วงทรัพย์สมบัติอยู่ เอาโสดาบัน สกทาคามี ก็พอ
ถ้าถึงขึ้นอนาคามีเนี่ยมันพ้นจากกามไป

จากปุถุชนเนี่ย ขึ้นไปเป็นพระโสดาบันยากมากนะ
คนจำนวนมากอยากได้ แต่มันไปไม่ถูก ที่รู้ทางที่ถูกแล้วก็ขี้เกียจปฏิบัติ
ถ้ารู้ทางถูกแล้วขยันปฏิบัตินะมันก็เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามีอะไร ไม่ยาก
ทีนี้คนส่วนใหญ่มันติดในความสุข ความหลงโลกอะไรอย่างนั้นไป ไม่ยอมภาวนา
ถ้าเราภาวนาเนี่ย พระโสดาบัน พระสกทาคามี
ไม่ใช่เรื่องยากเกินวิสัยมนุษย์ธรรมดาอย่างพวกเราจะทำได้

ไม่ต้องละอะไรมากนะ รักษาศีล ๕ ไว้
มีสติ รู้เนื้อรู้ตัว ให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวไว้ อย่าให้มันฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไป
รู้สึกตัวบ่อยๆ นั่นแหละเรียกว่ามีสมาธิ มีสติ มีสมาธิ รักษาศีลไว้
ค่อยดูกายทำงาน ดูใจทำงาน เห็นกายกับใจแยกออกจากกัน
เห็นความสุขทุกข์ แยกออกจากร่างกาย แยกออกจากจิตใจ
เห็นความปรุงดีปรุงชั่ว เช่นความโลภความโกรธความหลงทั้งหลายเนี่ย แยกออกจากจิตใจ
แยกออกเป็นส่วน ๆ ๆ ไป แต่ละอันเนี่ยทำหน้าที่ของมันไป แต่ละอันก็เกิดดับไป

เนี่ยฝึกดูอย่างนี้ ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปีนะ ก็จะได้ธรรมะขึ้นมา
ถ้าบารมีมากก็เป็นพระอรหันต์
บารมีลดลงมาก็ได้อนาคามี สกทาคามี เป็นพระโสดาบัน เป็นลำดับไป
ก็พากเพียรเข้า รักษาศีล ๕ ไว้ ฝึกจิตใจให้อยู่กับเนื้อกับตัว
อย่าฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไป รู้ตัวบ่อยๆ
ถัดจากนั้นดูกายทำงาน ดูใจทำงาน ทำอย่างนี้แหละ
ให้เวลากับการรู้กายรู้ใจให้เยอะๆหน่อย
มรรคผลอะไรไม่ใช่เรื่องเหลือวิสัยที่ฆราวาสจะทำได้

สมัยพุทธกาล ฆราวาสไม่ได้จีเนียสกว่าพวกเรานะ คนสมองมันก็พอๆกันแหละ
มีงานศึกษาอันหนึ่งเคยอ่าน พวกหมอนั่นแหละศึกษาบอก
คนสมัยโรมันสมัยกรีกนะ กับคนยุคนี้สมองพอๆกัน ไม่รู้ไปขุดสมองโรมันมาดูได้ไงนะ
คนสมัยพุทธกาล กับยุคเรา ก็พอๆกันแหละ
ไม่ได้โง่ ไม่ได้ฉลาดกว่ากันน่ะ เค้าทำได้ เราก็ต้องทำได้
มีมือมีตีนเหมือนกันนะ มีใจเหมือนกัน ต้องทำเอาให้ได้

รักษาศีล ๕ ไว้ ฝึกจิตใจให้อยู่กับเนื้อกับตัว
แล้วก็ดูกายทำงาน ดูใจทำงานไปเรื่อยๆ วันหนึ่งก็เข้าใจ
เราดูกายดูใจทำงานมากๆ ในที่สุดก็เข้าใจความเป็นจริงของกายของใจ
ว่ากายนี้ใจนี้ไม่ใช่ตัวเรา กายนี้ใจนี้เป็นตัวทุกข์
ถ้าเข้าใจในระดับที่เห็นกายนี้ใจนี้ไม่ใช่ตัวเรา ก็เป็นพระโสดาบัน
ถ้าเข้าใจความจริงระดับที่ว่ากายนี้ใจนี้เป็นตัวทุกข์ จะเป็นพระอรหันต์นะ


สวนสันติธรรม
วันอาทิตย์ที่ 30 ธันวาคม 2555

ฟังเนื้อหา