Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๗๔

พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช

ถาม : ถ้าอยากเริ่มเรียนศาสนาพุทธควรเริ่มอย่างไรดีคะ

เนื้อหาของศาสนาพุทธแท้ๆ ก็คือ
เราต้องรู้สึกตัวขึ้นมา
เรียนรู้กาย เรียนรู้ใจ ของตัวเอง
คอยรู้กาย คอยรู้ใจ ของตัวเองบ่อยๆ

สังเกตมั้ยใจเราจะหนีไปเรื่อยๆ นะ ใจเราหนีแวบๆ ไป
หนีแล้วหนีไปไหน สังเกตมั้ย
หนีไปคิด ส่วนมากหนีไปคิด ใจเราหนีไปคิดแวบไป
พอเราไปคิดนะ บางครั้งก็มีความสุข บางครั้งก็มีความทุกข์
คิดบางเรื่องมีความสุขใช่มั้ย คิดบางเรื่องก็มีความทุกข์
มีความกลัว มีความกังวล อย่างคิดเรื่องจะเข้ามหาวิทยาลัย ชักกังวลแล้ว
ใจเราหนีไปตลอด ให้คอยรู้ไว้ รู้ทันนะ
อย่าไปบังคับ ไม่ได้ฝึกเพื่อจะบังคับตัวเอง
ศาสนาพุทธไม่ใช่ศาสนาเก็บกด
ศาสนาพุทธ พุทธะ แปลว่า รู้
เรานับถือศาสนาพุทธนะ บางทีเราไม่รู้ว่าศาสนาพุทธแปลว่าอะไร
พุทธะ
แปลว่า รู้ นะ แปลว่า ตื่น แปลว่า เบิกบาน
จิตใจของเราจะต้องเป็นจิตใจของผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
แต่จิตใจของคนในโลก ไม่ใช่ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
เป็นจิตใจของผู้หลับผู้ฝันไป
เราฝันตลอดเวลา คนในโลกนี้ฝันตลอดเวลา
ไม่มีใครที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานจริงๆ
ใจเราฝันยังไง สังเกตมั้ย ใจเราคิดไปเรื่อยๆ
ความคิด กับ ความฝัน เหมือนกันนะ
อย่างเราคิดเอาว่าเราเป็นนายกรัฐมนตรี เราก็คิดได้ใช่มั้ย
หรือสาวๆ คิดว่าจะเป็นนางงามจักรวาล ก็คิดได้ใช่มั้ย
คิดได้ แต่จริงๆ เป็นหรือไม่เป็นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ใจเราจะคิดไป
ให้คอยรู้นะ คอยรู้ทันใจที่ไหลไปคิด รู้สึกไปเรื่อยๆ
เดี๋ยววันนึงเราจะได้ของดีของวิเศษ จิตเราจะกลายเป็นผู้รู้ ผู้ตื่นขึ้นมา

หลวงพ่ออยากให้เด็กๆ ทั้งหลายเรียนนะ พยายามเรียนเข้า
เอาซีดีหลวงพ่อไปฟัง ได้ข่าวว่าอาจารย์เขาก็แจก
พยายามไปฟังนะ ฟังแล้วจะตื่นขึ้นมา การเรียนก็จะดีขึ้นด้วย
เพราะจิตใจมันจะสงบ จิตใจไม่ฟุ้งซ่านหรอก
จิตใจสงบ จิตใจตั้งมั่น เรียนหนังสือก็จะดีขึ้น เรียนง่ายขึ้น
ภาวนาไปเถอะ ดีทั้งนั้นเลย หรืออย่างเราหนุ่มๆ สาวๆ ใช่มั้ย
อยากมีแฟน อยากมีกิ๊ก อะไรอย่างนี้ เราภาวนาไปนะ เรารู้ทันใจเรา
ต่อไปเราจะรู้ทันใจคนอื่นด้วย มันมาไม้ไหนนะ เรารู้ทันมันหมดเลย
มันจะมาหลอกเราไม่ได้หรอก เว้นแต่เราเต็มใจให้มันหลอก
เพราะฉะนั้น เราคอยรู้สึกนะ หัดดูของเราไปเรื่อยๆ ไม่ยากเท่าที่คิดหรอก

สังเกตมั้ย ตอนที่หลวงพ่อหยุดพูด สังเกตมั้ยใจหนีไปคิดแล้ว ดูออกมั้ย
ไหลแวบๆ ดูออกมั้ย มันจะแอบไปคิด เพราะใจของเราฝันตลอดเวลา
ใจของเราไม่ได้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น เวลาเราหลงไปคิดนะ บางทีก็คิดตามกิเลส
คิดไปตามความอยาก คิดไปตามความโกรธ คิดอะไรสารพัดนะ
ใจเราไม่มีความสุขหรอก ให้คอยรู้สึกตัว
ใจไหลไปรู้สึก ใจไหลไปแล้วรู้สึก ใจมันจะไหลไปคิดตลอดเวลา
ถ้ารู้สึกได้ ต่อไปใจจะเป็นผู้รู้ผู้ตื่นขึ้นมา
แล้วเราจะรู้ว่า ศาสนาพุทธนะ เป็นศาสนาที่มีอะไรอยู่
ไม่ใช่ศาสนาที่ว่างเปล่า สอนๆ เลื่อนๆ ลอยๆ เป็นปรัชญา ไม่ใช่
ไม่ได้สอนให้เราเชื่อด้วย แต่ว่าบอกวิธีให้เราพิสูจน์ด้วย
วิธีพิสูจน์ศาสนาพุทธนะ ก็คือรู้สึกตัวขึ้นมา คอยรู้ทัน
ร่างกายเคลื่อนไหวคอยรู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวคอยรู้สึก
พยายามรู้สึกบ่อยๆ เดี๋ยวเราจะรู้ว่าศาสนาพุทธสอนอะไร

ถ้าใครทำตามที่หลวงพ่อบอกนะ
ประมาณเดือนเดียวเท่านั้น ก็จะเริ่มเข้าใจ
มีคนไปหาหลวงพ่อเยอะแยะ แต่ละวันหลายร้อยคน เยอะแยะ
ไปเรียนๆ นะ เวลาให้ส่งการบ้าน จะบอกหลวงพ่อกันทุกวัน
มีทุกวันแหละ บอกว่าชีวิตจิตใจเปลี่ยนไปหมดแล้ว
อย่างบางคนมีแต่ความทุกข์มานานนะ จมอยู่ในความทุกข์
มาหัดรู้สึกตัว รู้กายรู้ใจตัวเอง ความทุกข์ตกหายไปแล้ว
เพราะฉะนั้น พวกเราฝึกนะ เดี๋ยววันนึงเราจะได้ลิ้มรสชาติของความสุข
เป็นศาสนาที่ประหลาดมากเลย ไม่ได้สอนให้เชื่อ
แต่สอนให้เราพิสูจน์ด้วยตัวเอง บอกกระทั่งวิธีที่จะพิสูจน์

วิธีพิสูจน์ก็คือ อย่าลืมตัว อย่าใจลอยไป คอยรู้สึก
เห็นร่างกายเคลื่อนไหว เห็นจิตใจเคลื่อนไหว
แต่อย่าไปเพ่งให้นิ่งนะ อย่าไปบังคับให้นิ่ง
พวกเราหลายคนภาวนาแล้วชอบเอานิ่ง ภาวนานิ่งๆ จะได้อะไรขึ้นมา
ก็ได้ความนิ่ง เราต้องการให้เห็นความเป็นจริงในกายในใจ
ร่างกายเราเคลื่อนไหวตลอดเวลา จิตใจของเราเคลื่อนไหวตลอดเวลา
นี่คือความจริงของมัน เพราะฉะนั้น เราคอยรู้ทัน
ถึงวันนึงเราจะเห็นเลย ทั้งกายทั้งใจนี้ทำงานของมันเอง
มันไม่ใช่ตัวเราที่แท้จริง ค่อยฝึกนะ แล้วเราจะมีความสุขที่สุดเลย

หลวงพ่อหัดภาวนาครั้งแรกอายุเจ็ดขวบ
หัดเจ็ดขวบนะ หัดภาวนาตอนนั้น ไปเรียนกับท่านพ่อลีวัดอโศการาม
หัดหายใจ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ฝึกแล้วได้แต่ความสงบ
ไม่ใช่ท่านไม่ดีนะ ท่านดี แต่ว่าเราเด็กมากตอนที่ไปเรียน
ท่านเลยสอนพื้นฐาน ทำใจให้สงบก่อน ยังไม่ได้สอนถึงขั้นเจริญปัญญา
แล้วท่านก็มรณภาพไปก่อน หลวงพ่อก็เลยไม่มีอาจารย์
ภาวนาเอาเอง หายใจเอาเองทุกวันๆ นะ ฝึกทุกวันเลย
จนมาถึงอายุยี่สิบเก้าแล้ว ถึงได้เจอครูบาอาจารย์คือหลวงปู่ดูลย์
ใครเคยได้ยินชื่อหลวงปู่ดูลย์บ้างมั้ย มีมั้ย
ยุคนี้คนได้ยินชื่อนะ ยุคหลวงพ่อไม่มีคนรู้จักหรอก
สมัยที่หลวงปู่ดูลย์ยังอยู่นะ ท่านเป็นพระที่มีความสุขมากเลย
เพราะเป็นพระที่ไม่มีคนรู้จัก สบาย
พระที่คนรู้จักไม่มีความสุขเลย เหนื่อย วิ่งไปโน่นวิ่งไปนี่
หลวงพ่อไปหาหลวงปู่ดูลย์นะ ไปเรียนกับท่าน
ไปถึงก็เข้าไปกราบ บอกหลวงปู่ครับ ผมอยากปฏิบัติ
แทนที่หลวงปู่จะสอนนะ หลวงปู่กลับนั่งหลับตา
นั่งนิ่งๆ ไปเกือบชั่วโมงแน่ะ
เราก็ โอ้ หลวงปู่ สงสัยเพิ่งฉันข้าวเสร็จ เลยหลับไปแล้ว
พอท่านลืมตาขึ้นมา ท่านสอนง่ายๆ เลยบอกว่า
การปฏิบัตินั้นไม่ยาก จำไว้นะ
การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะคนที่มันไม่ปฏิบัติ
เพราะการปฏิบัติจริงๆคือการรู้ทันตัวเอง
เพราะฉะนั้น การที่คอยรู้ทันตัวเองนั้น ไม่ได้ยากอะไร

การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ
อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้ อ่านจิตตนเอง

ให้อ่านจิตตนเอง
จิตเรามีความสุขให้คอยรู้ จิตเรามีความทุกข์ให้คอยรู้นะ
จิตเราเฉยๆ เราก็รู้ จิตใจเรามีความอยากเกิดขึ้นเราก็รู้
จิตใจเราหงุดหงิดขึ้นมา มีความโกรธขึ้นมา
มีความกลัว มีความกังวล มีความเสียใจขึ้นมา เราก็รู้
จิตใจมีความสุขก็รู้ จิตใจเป็นยังไงคอยรู้ไปเรื่อย
แล้วทำตัวเป็นนักสังเกตการณ์ที่ดี
นักสังเกตการณ์ที่ดีเนี่ยนะ ต้องไปดูว่าของจริงๆ เป็นยังไง
วิธีการศึกษาด้วยการสังเกตการณ์ ถึงเป็นวิธีการที่สำคัญของชาวพุทธ
อย่างศาสนาอื่นเขาก็ดีเขาน่ะนะ แต่ว่าวิธีการของเขานี้ ให้เชื่อก่อน
เชื่อพระเจ้า มอบกายถวายชีวิตให้พระเจ้าแล้วชีวิตมีความสุข
ศาสนาพุทธไม่ได้สอนให้มีความภักดีหรือศรัทธาอะไรอย่างนั้น
แต่สอนให้เราพิสูจน์ด้วยตนเอง

คอยรู้กาย คอยรู้ใจไป
แล้ววันหนึ่ง เราจะมีความสุขที่สุดเลย

หลวงพ่อไม่เคยเทศน์ให้เด็กฟัง ไม่รู้ฟังยากเกินไปหรือเปล่า
รู้เรื่องมั้ย รู้เรื่องด้วยเหรอ เนี่ยนะ หัดดูใจของเราเรื่อยๆ
เห็นมั้ย เมื่อกี้ใจเราขำรู้สึกมั้ย ใจเราขำมันผ่อนคลายเราก็รู้
ตอนนี้ใจของเราเริ่มนิ่งๆ แล้ว รู้สึกมั้ย ใจเราเริ่มนิ่งๆ เราก็รู้
รู้เล่นๆ นะ อย่าไปกดไว้ อย่าไปเพ่งมัน อย่าไปข่มมัน
ปล่อยให้มันทำงานแล้วรู้ อย่าไปบังคับมันให้นิ่ง ปล่อยไป
แล้่วคอยรู้สึกนะ รู้สึกของเราเอง ไม่ยากเท่าที่คิดนะ
หลวงปู่ดูลย์บอกหลวงพ่อว่าไม่ยาก แล้วหลวงพ่อก็พบว่าไม่ยากจริงๆ
ง่ายกว่าที่คิดเยอะเลย ไม่ใช่เรื่องต้องบังคับตัวเองมากมาย

๗ มกราคม ๒๕๕๒ (ตอนที่สอง)
สถาบันกวดวิชา ซุปเค เซ็นเตอร์