Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๖๗

พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
luangpor_pramote

luangpor

ธรรมะเป็นของที่พวกเราต้องฟังด้วยความเคารพ ด้วยความอ่อนน้อม ด้วยความเอาใจใส่
ถ้าเราได้เข้าใกล้สัตตบุรุษ ได้ฟังธรรม ได้ตั้งอกตั้งใจฟัง
ได้พิจารณาใคร่ครวญในเนื้อหาของธรรมด้วยจิตที่มีสมาธิพอ เราก็จะรู้วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง
เมื่อเรารู้วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องแล้วก็ถึงขั้นที่เราจะต้องลงมือปฏิบัติให้สมควรแก่ธรรมะ
ธรรมะเป็นของดีเป็นของสูง เราจะมาทำเล่นๆไม่ได้ ต้องทำด้วยความเคารพ

ปฏิบัติธรรมเนี่ย ไม่ใช่เพื่อจะเอาธรรมะนะ
ปฏิบัติธรรมเนี่ย ถือว่าเราปฏิบัติเพื่อเป็นพุทธบูชาได้ยิ่งดีที่สุดเลย
ถ้าเราปฏิบัติธรรมโดยหวังว่าเราจะได้สิ่งนั้น จะได้สิ่งนี้ เราจะไม่ได้อะไรเลยเพราะเราโลภอยู่
งั้นเราต้องปฏิบัติด้วยความอ่อนน้อม ด้วยความสำรวมนะ
พระพุทธเจ้าสอนให้เราปฏิบัติ เราก็จะปฏิบัติ
ปฏิบัติเพื่ออะไร? เพื่อบูชาคุณของท่าน
ถ้าเราตั้งใจได้อย่างนี้การปฏิบัติจะไม่ยากอะไรหรอก

ในความเป็นจริงการปฏิบัติธรรมไม่ใช่เรื่องยากอะไร
แต่คนทั้งหลายนั้นไม่เคยได้ยินธรรมะก็เลยปฏิบัติไม่เป็น
การปฏิบัติธรรมที่แท้จริงก็คือการเรียนรู้ความจริงของชีวิต
การเรียนรู้ความจริงของกายของใจตัวเอง เท่านี้เอง

ถ้าเราได้เห็นความจริงของกายของใจมากเข้าๆนะ
จิตใจเราจะยอมรับความจริงทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตเราได้
อย่างเราคอยรู้สึกอยู่ในร่างกาย เราก็เห็นร่างกายนี้แสดงความไม่เที่ยง
แสดงความเป็นทุกข์ แสดงความบังคับไม่ได้อยู่ตลอดวัน

ร่างกายเราหายใจเข้าก็เพื่อแก้ทุกข์ของการหายใจออก
หายใจออกก็เพื่อแก้ทุกข์ของการหายใจเข้า
ร่างกายของเราต้องเปลี่ยนอิริยาบทก็เพื่อแก้ทุกข์ในอิริยาบทเดิม
ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบทใด จะนั่งให้สบายแค่ไหน จะนอนให้สบายแค่ไหน
ในเวลาเพียงไม่นานความทุกข์ก็จะตามเข้ามาถึง เราก็ต้องขยับตัวหนีความทุกข์ไปอีก
มันคล้ายๆเราวิ่งหนีหมาล่าเนื้อ หมาล่าเนื้อไล่กัดเราอยู่ เราก็วิ่งๆๆไป
พอห่างมาหน่อยเราก็รู้สึกสบาย แป๊บเดียวหมาก็ตามมากัดอีกแล้ว
ความทุกข์นั้นได้ตามบีบคั้นทำร้ายในร่างกายนี้อยู่ตลอดเวลา
ถ้าเราเฝ้ารู้เฝ้าดูอยู่เรื่อยๆนะ ต่อไปใจมันค่อยคลายความยึดถือในร่างกายลง

ร่างกายนี้ไม่ใช่ของดี ร่างกายนี้ไม่ใช่ของวิเศษหรอก
ร่างกายนี้ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา
เนี่ยถ้าเราคอยรู้สึกอย่างนี้นะ ความผูกพันรักใคร่หวงแหนในร่างกายก็จะลดลง
ต่อไปร่างกายจะแก่ มันก็เรื่องของร่างกายที่เป็นตัวทุกข์มันแก่ ไม่ใช่เราแก่
ร่างกายจะเจ็บ ก็ตัวทุกข์มันเจ็บ ไม่ใช่เราเจ็บ
ร่างกายจะตาย ตัวทุกข์มันจะตาย สมน้ำหน้ามันนะ ไม่ใช่เราตาย
เนี่ยมาหัดรู้หัดดูความจริง จนกระทั่งใจมันยอมรับความจริง
มันเข้าใจความจริง ว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ของดีของวิเศษอะไรหรอก

มาเฝ้ารู้อยู่ในจิตในใจเรานะ
ในจิตในใจเราเนี่ยเราวิ่งหาความสุขตลอดเวลา วิ่งหาความสุขตลอดชีวิต
ทำอะไรก็อยากมีความสุขทั้งนั้นแหละ กระทั่งจะดูหนังฟังเพลงก็ทำไปเพื่อมีความสุข
ไปกินเหล้าเมายาก็หวังว่าจะมีความสุข ทำทุกสิ่งทุกอย่างก็เพื่อจะได้รับความสุขมา
แต่ถ้าเรามีสติมีปัญญา รู้เท่าทันจิตใจของเราสม่ำเสมอ
เราก็จะเห็นว่าความสุขมันสั้นนิดเดียว ความสุขเหมือนภาพลวงตา
ความสุขเหมือนความฝัน ความสุขเหมือนพยับแดดนะ
อย่างเราเห็นตามถนนไกลๆ เหมือนมีน้ำยิบยับๆอยู่
พอเข้าใกล้ๆก็ไม่มีจริง เป็นภาพลวงตา เหมือนพยับแดด
เหมือนเปลวควัน เหมือนหมอก อะไรอย่างนี้ ไม่นานก็สลายตัวไป
เหมือนเมฆนะ ไม่นานก็แตกตัวไป

เนี่ยความสุขในชีวิตเรา ในจิตในใจเรานะ
เฝ้าสังเกตรู้ลงไป ความสุขเป็นของไม่ยั่งยืน
เหมือนความฝัน เหมือนภาพลวงตา เหมือนพยับแดด
ถ้าเราเฝ้ารู้ความจริงอย่างนี้มากเข้าๆ ความหลงใหลในความสุขมันจะลดลง
ถ้าความหลงใหลในความสุขลดลง ความดิ้นรนเพื่อจะแสวงหาความสุขก็ลดลง
ที่เราดิ้นรนส่งจิตออกไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็วิ่งออกไปหาความสุขนั่นเอง
แต่ถ้ามารู้ความจริงแล้วว่าความสุขมันเหมือนภาพลวงตา หลอกๆเท่านั้นเอง
การที่จะดิ้นรนแสวงหา ส่งจิตออกนอกไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ไม่มี
มันจะต้องส่งไปหาความสุขที่ไหน ในเมื่อความสุขมันเป็นภาพลวงตา
พอใจเราหมดความดิ้นรนหมดความปรุงแต่งแล้ว
เรากลับไปสัมผัสความสุขอีกชนิดหนึ่งนะซึ่งเป็นความสุขที่เป็นอมตะ คือความสุขของพระนิพพาน
พระนิพพานนั้นเป็นความสุขสุดยอดเลย ถ้าเราหลุดพ้นจากความปรุงแต่งได้เราก็จะสัมผัสพระนิพพานได้

พวกเราก็มีหน้าที่เท่านี้แหละนะ
หน้าที่คอยรู้สึกอยู่ในกาย รู้สึกอยู่ในใจ คอยดูความจริงของกายของใจเรื่อยๆไป
อย่างในร่างกายก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ในจิตใจก็เต็มไปด้วยของไม่เที่ยง
ความสุขก็ไม่เที่ยง ความทุกข์ก็ไม่เที่ยง
อย่างเวลามีความทุกข์เกิดขึ้น พวกเราก็ดิ้นรนจะหนีมัน อยากให้ความทุกข์พ้นไป
หรือเวลามีปัญหาชีวิตเกิดขึ้น เราอยากให้ปัญหามันจบๆไปซะที
เราลืมไปอย่างหนึ่งว่าปัญหาหนึ่งจบ ปัญหาใหม่ก็มา
เพราะชีวิตกับปัญหาเป็นของคู่กัน ไม่เคยมีหรอกที่ชีวิตปราศจากปัญหา
บางทีไม่มีปัญหาอะไรเลย อยู่ๆก็ป่วยไข้ไม่สบายไปก็มี
อยู่ๆคนที่เรารักก็ตายก็มี อยู่ๆทรัพย์สินเงินทองเก็บไว้ตั้งเยอะนะ
เศรษฐกิจปั่นป่วนแป๊บเดียวเงินทองไม่มีคุณค่าอะไร เนี่ยอะไรๆก็เกิดขึ้นได้เสมอ

แต่ถ้าจิตใจของเรานะ คอยรู้ลงมาที่กาย รู้ลงมาที่ใจเรื่อยๆเลย
กระทั่งร่างกายของเราก็ไม่ใช่ของดีของวิเศษ กระทั่งจิตใจก็เป็นของแปรปรวน
ในโลกนี้จะมีอะไรเหลือให้ไปชื่นชมยินดี

เราไปชื่นชมยินดีของสิ่งต่างๆในโลก
ก็เพราะว่าเพื่อบำรุงบำเรอให้กายให้ใจเป็นสุข ให้กายให้ใจพ้นทุกข์
ก็ถ้าเมื่อเห็นแจ่มแจ้งแล้วว่ากายกับใจเรานี้มันเป็นทุกข์แท้ๆเลย มันจะเป็นสุขไปไม่ได้
การที่จะไปดิ้นรนแสวงหาอะไรมาบำรุงบำเรอมันนะ
ให้เกินความเป็นจริง ความสมควร ความจำเป็น ก็ไม่เกิดขึ้น เราก็ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยมาก

ความทุกข์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในชีวิตเราเกิดจากเรายอมรับความจริงไม่ได้
เรายอมรับความจริงที่กำลังปรากฏในปัจจุบันไม่ได้
เราอยากให้บางอย่างหายไป เราอยากให้บางอย่างคงอยู่
เราอยากให้บางอย่างเกิดขึ้นมา ของยังไม่มีเราก็อยากให้มันมีขึ้นมา
ของมันมีแล้วเราก็อยากให้มันอยู่นานๆบ้าง อยากให้มันหายไปบ้าง
เนี่ยความอยากของเรามันก็เลยเกิดขึ้นตลอดเวลานะ
ถ้าเรามีความเป็นกลางอยู่กับปัจจุบันได้ ความทุกข์ทางใจมันจะไม่เกิดหรอกเพราะความอยากมันไม่เกิด

นี่ความเป็นกลางทางใจจะเกิดได้ ต่อเมื่อจิตมีปัญญา
เห็นความจริงแล้วว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเท่าเทียมกัน
ความสุขกับความทุกข์ก็เท่าเทียมกันนะด้วยความไม่เที่ยง
ด้วยความทนอยู่ไม่ได้ ด้วยการบังคับไม่ได้ ยึดถือเอาไว้ตลอดไปไม่ได้
กุศลอกุศลก็เท่าเทียมกัน ด้วยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนกัน
ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตเราเนี่ยเท่าเทียมกันไปหมดเลย

เนี่ยถ้าเราปฏิบัติมากๆนะใจมันจะเข้าไปสู่ความเป็นกลาง
เมื่อใจเราเป็นกลางนะ ถึงแม้เราจะไม่ได้มรรคได้ผลอะไร
เราก็ได้คุณประโยชน์มากมายแล้ว คือความทุกข์จะตกหายไปเยอะเลย
ใจมันจะเป็นกลางกับทุกสิ่งทุกอย่างได้นะ
ถ้าใจเราไม่เป็นกลาง ใจเราจะมีความทุกข์ มันจะยินดีกับสิ่งนี้ ยินร้ายกับสิ่งนี้
ยินดีในสิ่งใดก็อยากให้สิ่งนั้นเกิด เมื่อสิ่งนั้นเกิดแล้วก็อยากให้สิ่งนั้นอยู่นานๆ
ยินร้ายในสิ่งใดก็ไม่อยากให้สิ่งนั้นเกิด เมื่อสิ่งนั้นเกิดแล้วก็อยากให้หายเร็วๆ ความอยากมันก็ตามหลังมาเนี่ย

เพราะฉะนั้นเรามาเฝ้ารู้นะ
กระทั่งกายกับใจของเราเองก็ยังเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
สิ่งภายนอกยิ่งหาคุณค่าที่แท้จริงยากเข้าไปอีก ใจเราจะค่อยเป็นกลางมากขึ้นๆนะ
มาเรียนรู้ที่ตัวเองแล้วจะเข้าใจโลกทั้งโลกเลย
ถ้าเข้าใจลงมาที่กายที่ใจของเรานี้เราก็จะเข้าใจโลกทั้งโลก
เมื่อไม่ยึดถือในกายในใจนี้แล้วก็จะไม่ยึดถือสิ่งใดในโลกอีก

โดยเฉพาะตัวจิตตัวใจนะตัวสำคัญมากเลย เรายึดถือจิตใจเหนียวแน่นกว่าเรายึดถือร่างกาย
เวลาเราภาวนาเนี่ยจะปล่อยวางความยึดถือในร่างกายได้ก่อนการปล่อยวางความยึดถือในจิตใจ
ปล่อยวางความยึดถือในร่างกายได้ ภูมิธรรมของพระอนาคานาเนี่ยปล่อยแล้ว
แต่ปล่อยความยึดถือในจิตใจต้องพระอรหันต์ถึงจะปล่อยได้
พวกเรายังไม่ปล่อยแต่ว่าก็เดินในร่องรอยที่พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านเดินกัน
ค่อยๆฝึกค่อยๆดำเนินไปนะวันละเล็กวันละน้อย
ไม่ต้องรีบร้อนหรอกที่จะบรรลุเร็วๆ แต่ว่าปฏิบัติสม่ำเสมอ
อย่ารีบร้อนที่จะให้ได้ผล อย่าลุกลี้ลุกลน
ปฏิบัติลุกลี้ลุกลนไม่ได้กินหรอก แต่ว่าปฏิบัติแบบย่อหย่อนก็ไม่ได้กินเหมือนกัน

งั้นเราขยันดูนะ ดูบ่อยๆดูเนืองๆ แต่ไม่ได้ดูด้วยหวังผลว่าจะได้อะไร
ดูไปจนวันหนึ่งมันเข้าใจความเป็นจริงของกายของใจได้มันจะเข้าใจความเป็นจริงของโลกด้วย
ทั้งกายกับใจนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ในโลกนี้จะมีอะไรที่น่ายึดถือ


ศาลากาญจนาภิเษก
วันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556

http://usa.learndhamma.com/pramote/sala/057/560217.mp3
ฟังเนื้อหา (นาทีที่ ๔:๓๐)