Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๖๓

พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
luangpor_pramote

luangpor

การที่เราเห็นกายเห็นใจตามความเป็นจริงนั่นแหละจะนำไปสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้น
การที่เรายึดถือในกายในใจไม่เลิก เพราะเราไม่เห็นความจริงของกายของใจ
ว่าไม่ใช่ของดีของวิเศษอย่างที่คิดหรอก
ร่างกายเต็มไปด้วยความทุกข์ จิตใจก็เต็มไปด้วยความทุกข์ตลอดเวลา
ที่เราปล่อยวางความยึดถือกายยึดถือใจไม่ได้ เพราะเราไม่เห็นทุกข์เห็นโทษของกายของใจนะ
การเจริญปัญญานั่นแหละจะทำให้เราเห็นทุกข์เห็นโทษของกายของใจ

อย่างร่างกายเนี่ย ถ้าเราไม่มีสติไม่มีปัญญานะ โดยเฉพาะไม่มีสติเราก็ลืมมันทั้งวันเลย
ถ้าไม่มีปัญญา เราไม่เห็นความจริงของมัน
ถ้าเรารู้สึกตัวอยู่ จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว แล้วเราก็เห็นเลย
ร่างกายนี้เดี๋ยวก็ปวด เดี๋ยวก็เมื่อย เดี๋ยวก็หนาว เดี๋ยวก็ร้อน
เดี๋ยวก็หิว เดี๋ยวก็กระหาย เดี๋ยวปวดอึปวดฉี่
เดี๋ยวเป็นอย่างโน้น เดี๋ยวเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวก็คัน เห็นไหม
เนี่ยเราคอยรู้สึกอยู่เรื่อยๆ รู้สึกตัวไปเรื่อย
เราจะเห็นร่างกายเต็มไปด้วยความทุกข์นะ ไม่ใช่ของดีของวิเศษหรอก
เรารู้สึกไหมที่เรานั่งๆอยู่เนี่ย เราเกาไปตั้งเท่าไหร่แล้ว
เพราะเราตระกูลลิงนะ งั้นธรรมดาลิงมันก็ต้องเกาไปเรื่อย
พวกเราก็ตระกูลลิงเหมือนกัน เกายุกยิกๆไปเรื่อย ธรรมดา

ที่ผ่านมาเนี่ยร่างกายมีความทุกข์เกิดขึ้นตลอดเลยนะ
แต่เราไม่สนใจเพราะความทุกข์นั้นไม่แรงพอเราเลยไม่สนใจ เรามัวสนใจแต่สิ่งอื่น
ถ้าเราคอยรู้สึกตัว รู้สึกอยู่ในร่างกาย เราจะเห็นร่างกายนี้ถูกบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา
ที่นั่งอยู่เนี่ยมีใครยังไม่เกาบ้างมีไหม มีน้อยนะ มีเหมือนกันหลวงพ่อนั่งอยู่ตรงนี้เห็นมากเลยนะ
บางคนสาวๆนะนั่งแคะขี้มูกก็มีนะเออ จมูกมันตัน มีความทุกข์บีบคั้น
บางคนไม่เคลื่อนไหวมือ แต่ขยับเอวไปขยับเอวมา มันเมื่อย
รู้สึกไหมร่างกายมันปวดมันเมื่อย ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเลย
เราไม่เคยรู้มันเพราะเราไม่สนใจจะรู้ ถ้าเราจะคอยรู้มันก็ไม่ยากที่เราจะรู้

เราคอยรู้สึกตัวนะ เราจะเห็นว่าร่างกายเต็มไปด้วยความทุกข์
ถ้าเห็นมากเข้าๆนะความยึดถือในกายจะลดลงเรื่อยๆ
ยิ่งเห็นจริงเท่าไหร่ก็ยิ่งยึดถือน้อยลงเท่านั้น
ถึงวันหนึ่งเราไม่มีความยึดถือในร่างกาย เมื่อเราไม่ยึดถือในร่างกายนะ
ต่อไปนะความทุกข์จะเกิดขึ้นเฉพาะในร่างกาย แต่ความทุกข์จะเข้าไม่ถึงใจ
ร่างกายแก่ ก็ส่วนของร่างกาย ใจไม่ทุกข์
ร่างกายเจ็บ ก็ส่วนของร่างกาย ใจไม่ทุกข์
กระทั่งร่างกายจะตายนะ ก็ส่วนของร่างกาย ใจจะไม่ทุกข์ด้วย

เนี่ยเราเห็นความจริงของกาย เราไม่ยึดถือกาย
ถ้ากายแปรปรวนไป ของที่เราไม่ได้ยึดถือแปรปรวนไปเราไม่เดือดร้อนหรอก
อันไหนที่เราหวงแหนแล้วแปรปรวนไปเราเดือดร้อนมาก
เรามาเจริญปัญญาเนี่ยก็เพื่อให้เห็นว่ากายนี้ใจนี้ไม่ใช่ของน่าหวงแหนหรอก
เพราะความจริงมันเต็มไปด้วยความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา

มาหัดรู้ในใจของเรา เต็มไปด้วยของไม่เที่ยง
เราดิ้นรนไปดูหนังฟังเพลงเพราะหวังว่าจะมีความสุข
เราทำสิ่งโน้นสิ่งนี้ เราหวังว่าจะมีความสุข
ความสุขอยู่ชั่วคราวแล้วความสุขก็หายไป ใจของเราก็หิวความสุข
ใจของเราก็ดิ้นรนต่อไปอีก ดิ้นรนหาความสุขไปเรื่อยๆ

แล้วเวลามีความทุกข์เกิดขึ้น เช่นเราพลัดพรากจากสิ่งที่รัก
เราก็ปฏิเสธ เรายอมรับความจริงไม่ได้ว่าเราต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รัก
เช่นลูกของเราตาย สามีภรรยาเราตาย พ่อแม่เราตาย
เพื่อนสนิทของเราตายหรือเค้าย้ายไปอยู่ที่อื่น
สามีนอกใจอะไรอย่างนี้ พลัดพรากจากสิ่งที่รัก
ถ้าเรายอมรับความจริงไม่ได้เราทุกข์มาก
แต่ถ้าเราเห็นความจริงในจิตใจของเราเนืองๆ
ว่าทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในใจเราเป็นของชั่วคราว เราจะไม่ทุกข์หรอก
อะไรเกิดขึ้นนะ เราจะพลัดพรากจากสิ่งที่รักเราก็ไม่ทุกข์
เราจะประสบกับสิ่งที่ไม่รัก เราก็ไม่ทุกข์
อย่างเราต้องอยู่กับสิ่งที่ไม่ดีเลย อยู่กับเจ้านายที่ไม่ดี
อยู่กับสามีที่โหลยโท่ยที่สุดเลยนะ ได้ L.T. “โหลยโท่ย” ไม่เอาไหนเลย
อยู่กับลูกที่เกเรล้างผลาญ เราไม่ทุกข์หรอก

แต่ไม่ทุกข์เพราะไม่ใช่ไม่แก้ปัญหานะ
สามีมีเมียน้อย ต้องแก้ปัญหานะ ไม่ใช่อุเบกขา
ลูกติดยา ก็ต้องแก้ปัญหานะ ไม่ใช่อุเบกขา
คนละเรื่องกันนะ ใช้ธรรมะอย่าให้ใช้ผิดประเภท
อุเบกขาเราใช้ต่อเมื่อเห็นสุขเห็นทุกข์เห็นกุศลเห็นอกุศลเกิดขึ้นในใจ
มีความยินดีให้รู้ทัน มีความยินร้ายให้รู้ทัน ให้ใจมาอุเบกขากันตรงนี้
หรือเราไปสงเคราะห์คนอื่น ช่วยเหลือคนอื่น แนะนำคนอื่น แล้วเค้าไม่เชื่อฟังนะ
เค้ารับผลกรรมของเค้า เราก็อุเบกขา เราได้ช่วยเต็มที่แล้ว ไม่ใช่ละเลย

เพราะงั้นถ้าเราหัดดูจิตดูใจบ่อยๆ
เราเห็นทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในจิตใจเราเป็นของชั่วคราว
สุขก็ชั่วคราว ทุกข์ก็ชั่วคราว กุศลก็ชั่วคราว อกุศลก็ชั่วคราว
ถ้าใจมันยอมรับว่าทุกอย่างชั่วคราวนะ ต่อไปเวลาที่เราประสบกับสิ่งที่ไม่รัก
เวลาเราพลัดพรากจากสิ่งที่รัก เวลาที่เราไม่สมปรารถนา เราจะไม่ทุกข์หรอก
เพราะเรารู้ว่าทุกอย่างชั่วคราว ความทุกข์มันมาก็มาชั่วคราว ความสุขมันมามันก็มาชั่วคราว
พอใจเราเห็นความจริงว่าทุกอย่างในใจเราเป็นของชั่วคราว แค่นี้ก็พ้นได้แล้วนะ

ร่างกายนี้ดูให้เห็นทุกข์เนี่ยดูง่าย ดูให้เห็นอนิจจังดูยาก ร่างกายมันอายุยืน
แต่จิตใจนี้ดูอนิจจังง่าย เพราะจิตใจเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
จิตใจนั้นดูอีกมุมหนึ่ง คือมุมของอนัตตา ดูได้ง่าย
มุมของอนัตตาในจิตใจหมายถึงว่าเราสั่งไม่ได้
เราสั่งให้จิตใจมีความสุขไม่ได้ เราห้ามจิตใจมีความทุกข์ไม่ได้
เราสั่งว่าจิตจงดีตลอด เราสั่งไม่ได้
เราสั่งว่าจิตอย่าชั่ว เราสั่งไม่ได้
เราเฝ้าดูของจริง เราจะเห็นเลย จิตจะโกรธของจิตเอง
มีเหตุขึ้นมาจิตก็โกรธ หมดเหตุจิตก็หายโกรธ อะไรอย่างนี้
เวลาจิตจะดีก็มีเหตุขึ้นมา จิตก็ดี
เหตุที่ดีหายไป จิตที่ดีก็หายไปด้วย
ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุ ไม่ใช่ตามที่เราสั่ง นี่เรียกว่าอนัตตา

เนี่ยเราดูกายนะ เราก็เห็นแต่ของมันเป็นทุกข์ มีความทุกข์บีบคั้นทั้งวันทั้งคืน
ดูจิตใจ เห็นแต่ความไม่เที่ยง ความแปรปรวนตลอดเวลา
ตลอดเวลาจริงๆเลยนะจิตใจเนี่ย แปรปรวนตลอดเวลา
แล้วจิตใจนี้เป็นอนัตตา บังคับไม่ได้
เนี่ยในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เนี่ยมันจะมาเด่นกันคนละที่
ร่างกายนี้ดูทุกขังได้เด่น จิตใจนี้ดูอนิจจัง อนัตตา ได้เด่น

เฝ้าดูลงไปเรื่อย สุดท้ายมันก็รู้ความจริง
จิตใจนี้ไม่ใช่ของดีของวิเศษ ร่างกายก็ไม่ใช่ของดีของวิเศษจริงหรอก
มีความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา มีแต่การบังคับไม่ได้ มีแต่ความแปรปรวน
เมื่อเห็นความจริงแจ่มแจ้งแล้วมันจะคลายความยึดถือนะ
เมื่อไม่ยึดถือในกาย เราจะไม่ทุกข์เพราะกาย
เมื่อไม่ยึดถือในจิต เราจะไม่ทุกข์เพราะจิตอีกต่อไป

พอเราไม่ยึดถือในกายเนี่ย เมื่อกายแก่ เมื่อกายเจ็บ เมื่อกายตาย เราไม่เดือดร้อน
ถ้าเราไม่ยึดถือในจิตนะ เมื่อเราพลัดพรากจากสิ่งที่รัก
เราประสบกับสิ่งที่ไม่รัก เราไม่สมหวังอะไรอย่างนี้
เราจะไม่ทุกข์กับความรู้สึกทางใจต่อไปนี้ที่เกิดขึ้น
เนี่ยเราเฝ้ารู้เฝ้าดูนะ สุดท้ายใจเราจะเป็นอิสระจากกายจากใจ
เราจะไม่ทุกข์เพราะกายเพราะใจอีกต่อไป

ค่อยๆฝึกไปเรื่อยๆนะ เนี่ยเราตั้งหลักให้ดีนะ
ถ้าไปเผลอลืมกายลืมใจ หย่อนไป
ถ้าไม่ยอมดูกายดูใจทำงาน ไม่ยอมดูกายดูใจให้เห็นไตรลักษณ์
เพ่งกายเพ่งใจไว้อย่างเดียว เช่นเพ่งลมหายใจแล้วก็นิ่งๆ
เพ่งจิตให้นิ่งๆ เพ่งท้องให้นิ่งๆ มันนิ่งไปหมดเลย กายก็นิ่ง ใจก็นิ่ง อันนี้ตึงเกินไป
ตึงเกินไปพระพุทธเจ้าบอกว่าจะลอยขึ้น
ลอยไปไหน? ลอยไปสวรรค์ ไปพรหมโลก แต่ไม่ไปนิพพานนะ
ถ้าหย่อนไป ก็ตามใจกิเลส ก็จมลง ไปอบาย ใจไหลลงต่ำไปเรื่อย
งั้นเราไม่พักเราไม่เพียรนะ เรามีสติรู้กายรู้ใจอย่างที่เค้าเป็นเรื่อยไป
จนเห็นความจริงของกายของใจว่ามันไม่ใช่ของดีของวิเศษเลย

ร่างกายเต็มไปด้วยความทุกข์
จิตใจเต็มไปด้วยความไม่เที่ยง เต็มไปด้วยการบังคับไม่ได้
ใจก็จะเบื่อหน่ายคลายความยึดถือในกายในใจนี้ ก็พ้นจากกายจากใจ
เมื่อจิตไม่ยึดถือในกายในใจ ก็เข้าถึงพระนิพพาน
ครั้งแรกเลยนะเรียกว่าสอุปาทิเสสนิพพาน
อันนี้เป็นพระนิพพานของพระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ เรียกสอุปาทิเสสนิพพาน
จิตกับขันธ์เนี่ยไม่ยึดถือกันต่อไปแล้วนะ กระทั่งจิตก็ไม่ยึดถือ
อยู่ไปจนวันที่ขันธ์แตกขันธ์ดับ เค้าเรียกว่าดับทุกข์
ตอนบรรลุพระอรหันต์ยังมีชีวิตอยู่ เรียกว่าพ้นทุกข์
คือจิตมันพ้นจากขันธ์ มันพรากจากขันธ์ มันไม่ยึดขันธ์
วันที่ขันธ์แตกขันธ์ดับ เค้าเรียกว่าดับทุกข์ หมายถึงขันธ์มันดับ
หลวงพ่อบอกแล้วนะ คำว่าทุกข์ก็คือขันธ์นั่นแหละ

ถ้าเราแจ้งอย่างนี้นะ เราก็เดินไปสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้นมากขึ้นๆ
ระหว่างทางมันก็มีความสุขรายทางไปเรื่อยๆนะ
ภาวนาไปเกิดความสงบขึ้นมาก็ได้ความสุข
เกิดความรู้ความเข้าใจก็ได้ความสุข
เกิดอริยมรรคอริยผลก็ได้ความสุขเป็นลำดับๆไป

การปฏิบัติไม่ได้แห้งแล้งหรอก
การปฏิบัตินะ ถ้าตั้งหน้าตั้งตาภาวนาไปเรื่อย มีความสุขเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ยิ่งเห็นทุกข์มากเท่าไหร่ เห็นความจริงของกายของใจมากเท่าไหร่ ยิ่งมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น
สุดท้ายมีความสุขอันมหาศาล คือสุขที่จิตสัมผัสกับพระนิพพาน
พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า นิพพานัง ปรมัง สุขัง
ไม่มีสุขอะไรเสมอกับสุขของพระนิพพาน
สุขของการที่ใจมันพ้นจากขันธ์นั่นเองนะ เป็นสุขที่อย่างยิ่งเลย

เราค่อยๆฝึกนะ พอเรามีสติปัญญา มีความสามารถ มีโอกาส เราก็ปฏิบัติธรรมให้ถูกต้อง
เรียนไปแล้วนะ ต่อไปก็ปฏิบัติให้สมควรแก่ธรรม เราก็จะได้รับผลที่สมควรที่เราจะได้รับ


สวนสันติธรรม
วันเสาร์ ที่ ๘ กันยายน ๒๕๕๕

ฟังเนื้อหา (นาทีที่ ๒๒)