Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๖๒

พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
luangpor_pramote

luangpor

คนส่วนใหญ่ในยุคนี้ปากกัดตีนถีบตลอดเวลา
เราก็มีกรรมฐานที่พระพุทธเจ้าให้ไว้ที่เหมาะกับคนที่ต้องทำงานที่ต้องใช้ความคิด
พวกคิดมากเรียกว่าพวกทิฏฐิจริต กรรมฐานที่เหมาะกับพวกทิฏฐิจริตคือการดูจิตดูใจของตัวเอง
หรือดูสภาวธรรม ดูการทำงานของกระบวนการของธรรมะ
ดูการทำงานของธรรมะ ทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรม
การดูจิตดูใจเรียกว่าจิตตานุปัสสนานะ
การดูกระบวนการทำงานของสภาวธรรมเรียกว่าธรรมมานุปัสสนา
กรรมฐานเหล่านี้เหมาะกับพวกทิฏฐิจริต พวกคิดมาก

เมื่อพวกเราเป็นพวกช่างคิด เรามาดูจิตดูใจตัวเอง
การดูจิตนั้นไม่ต้องใช้สมาธิเยอะ ใช้สมาธิเป็นขณะๆไป เรียกว่าขณิกสมาธิ
วิธีทำให้มีสมาธิ รู้ทันจิตที่เคลื่อนไป
พอเรารู้ทันจิตที่เคลื่อนไปจิตที่ไหลไป จิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมา
ตรงที่จิตตั้งมั่นขึ้นมาอย่าไปบังคับจิตให้นิ่ง
จิตมีความสุขให้รู้ว่ามีความสุข จิตมีความทุกข์ให้รู้ว่ามีความทุกข์
จิตสงบให้รู้ว่าสงบ จิตฟุ้งซ่านให้รู้ว่าฟุ้งซ่าน
จิตมีราคะให้รู้ว่ามีราคะ จิตมีโทสะให้รู้ว่ามีโทสะ
จิตไม่มีราคะก็รู้ จิตไม่มีโทสะก็รู้
จิตหลงไปก็รู้ จิตรู้สึกตัวอยู่ก็รู้
เนี่ยคอยดูความเปลี่ยนแปลงของจิตไปเรื่อย

การดูความเปลี่ยนแปลงของจิตนั้น ไม่ต้องไปนั่งสมาธิลึกๆ
คนที่นั่งสมาธิลึกๆเนี่ยดูจิตยาก มันจะไม่มีอะไรให้เปลี่ยน มันจะนิ่งๆ
เพราะงั้นการดูจิตดูใจเนี่ยเหมาะสำหรับพวกที่เข้าฌานไม่เป็น
แต่ถ้าพวกที่ดูจิตแล้วเข้าฌานเป็น จะไปสู่จุดสุดยอดอีกเรื่อง สามารถไปเดินปัญญาในสมาธิได้
พวกดูกายเก่งๆเนี่ย เจริญปัญญาในสมาธิไม่ได้
พวกดูจิตเก่งๆ ทำสมาธิและปัญญาควบกันได้
ดูกายเก่ง ต้องทำสมาธิก่อน แล้วออกจากสมาธิ แล้วมาดูกาย

สมาธิกับปัญญาควบกัน ถ้าทำสมาธิรู้ลมหายใจนะ
จิตรวมเข้าปฐมฌาน มีวิตก มีวิจารณ์ มีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่งมีเอกัตคตา
รู้ทันจิตที่เข้าไปจับแสงสว่างนะ ก็ปล่อย ไม่จับ ไม่มีวิตก ไม่มีวิจารณ์
จิตก็ทวนกระแสเข้าหาตัวรู้ ก็ตั้งมั่นอยู่
ปีติมันเด่นดวงขึ้นมา ในขณะนั้นมันมีทั้งปีติ มีทั้งสุข มีทั้งเอกัตคตาอยู่ด้วยกัน แต่ปีติมันเด่น
ใจเนี่ยเด่นดวงตั้งมั่นเป็นผู้รู้อยู่ ปีติมันเด่น
สติระลึกลงไปที่ปีติเห็นปีติดับไป เนี่ยเค้าทำวิปัสสนาในสมาธิ เค้าดูองค์ฌานที่เกิดดับ
องค์ฌานทั้งหลายนี้ไม่ใช่กาย องค์ฌานทั้งหลายนี้เป็นเรื่องนามธรรมทั้งสิ้น
พวกที่ดูจิตได้นะ จะไปเดินปัญญาในฌานได้

แล้วถ้าดูจิตชำนิชำนาญจนถึงระดับที่เป็นพระอริยบุคคล
แล้วถ้าตายไปนะยังไม่ใช่พระอรหันต์ ไปเกิดในพรหมโลก
แล้วเข้าฌานเก่งมากเลย ได้ฌานที่ ๘ ด้วย ไปเกิดในเนวสัญญานาสัญญายตนะ
เป็นภูมิเป็นภพของเนวสัญญานาสัญญายตนะ เป็นภพของพรหมที่สูงที่สุด

ในคัมภีร์สอนไว้เลยว่าถ้าเป็นพระอริยบุคคลที่ชำนาญการดูจิตนะ
จะไปทำวิปัสสนาในเนวสัญญานาสัญญายตนะได้ คนอื่นทำไม่ได้
ถ้าเป็นปุถุชน จะไปทำวิปัสสนาในเนวสัญญานาสัญญายตนะนี้ไม่ได้
ถ้าเป็นพระอริยบุคคลที่ไม่ได้ชำนาญเรื่องการดูจิต จะไปทำวิปัสสนาในเนวสัญญาไม่ได้
ถ้าเป็นพระอริยบุคคลที่เข้าอรูปฌานจนถึงขีดสุดไม่ได้ก็จะไม่ไปเนวสัญญาด้วย

เพราะงั้นการที่เราหัดดูจิตดูใจเนี่ย พวกที่สมาธิมากก็ดูได้
พวกนี้จะสามารถไปเจริญปัญญาในฌานได้ ทำสมาธิและวิปัสสนาควบกัน
พวกนี้ทำรวดไปได้ไม่มีข้อจำกัดเลยในภูมิอะไร
ยกเว้นอันเดียว ภูมิอสัญญสัตตา ภพของอสัญญสัตตา คือพรหมลูกฟัก
แต่ท่านจะไม่ไปเกิดในพรหมลูกฟัก พระอริยะทั้งหลายจะไม่ไปเกิดในพรหมลูกฟัก
พระโพธิสัตว์ทั้งหลายจะไม่อยู่พรหมลูกฟัก มันเสียเวลา

งั้นถ้าเราดูจิตดูใจไป แต่เราไม่ชำนาญในฌานจนถึงอรูปนะ
เราจะดูจิตในชีวิตประจำวัน ดูอยู่ข้างนอกอย่างที่พวกเรามีนี่แหละ
ดูจิตจะยากอะไร ใครรู้จักความสุขไหม รู้จักไหมความสุข
ความสุขเกิดขึ้นความสุขกำลังมีอยู่ รู้ว่ามีความสุขอยู่ ก็แค่นี้เองจะยากอะไร
ความสุขหายไป รู้ว่าความสุขหายไป
ความทุกข์มีขึ้นมา รู้ว่ามีขึ้นมา
ความทุกข์หายไป รู้ว่าความทุกข์หายไป ก็แค่นั้นเอง
ความโลภ ความโกรธ ความหลง ผุดขึ้นมา รู้ทัน
ความโลภ ความโกรธ ความหลง หายไป รู้ทัน ก็แค่นั้นเอง

การดูจิตดูใจไม่ใช่เรื่องลึกลับเลย
แต่ว่ามันจะตรงกับที่พระพุทธเจ้าสอนในสติปัฏฐาน ในจิตตานุปัสสนา
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อจิตมีราคะ รู้ว่ามีราคะ เห็นไหมง่ายๆ
ท่านไม่เห็นต้องอธิบายมากเลย ก็แค่นั้นเอง
จิตมีราคะ รู้ว่ามีราคะ
จิตไม่มีราคะ รู้ว่าไม่มีราคะ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย จิตมีโทสะ ให้รู้ว่ามีโทสะ
จิตไม่มีโทสะ ให้รู้ว่าไม่มีโทสะ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย จิตมีโมหะ คือมีความหลง ก็รู้ว่ามีโมหะ
จิตไม่มีโมหะ รู้ว่าไม่มีโมหะ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อจิตฟุ้งซ่าน ให้รู้ว่าฟุ้งซ่าน
เมื่อจิตหดหู่ ให้รู้ว่าจิตหดหู่ ง่ายๆทั้งนั้นเลยนะ

เราดูไป ดูใจของเราไปเรื่อย อย่าไปจ้อง อย่าไปจ้องอยู่ที่จิต
เคล็ดลับของการดูจิตก็คือห้ามไปจ้อง ห้ามไปรอดูว่าจะมีอะไรให้ดู
ให้ความรู้สึกเกิดขึ้นก่อน แล้วค่อยรู้ว่ามีความรู้สึกนั้นเกิดขึ้น
อย่าไปเฝ้าดูนะ ถ้าเฝ้าดูจะเป็นการเพ่งจิต แล้วจะว่างๆ จะไม่มีอะไรให้ดูเลย มีแต่ว่างๆ
ว่างๆเนี่ยเป็นการเพ่งอรูป ทำได้แล้วจะไปอรูปฌานนะ จะไปเป็นอรูปพรหมเป็นพรหมไม่มีรูป
ไม่มีตา ไม่มีหู ให้พวกเราตาบอดเอาไหม?
แต่อยากไปเป็นพรหมชั้นสูง พรหมชั้นสูงไม่มีตา ไม่มีหูด้วย
ตาบอดด้วย หูหนวกด้วยเอาไหม? ไม่เอาใช่ไหม
สัมผัสโลกไม่ได้ เรียนรู้อะไรไม่ได้นะ
ยกเว้นที่ชำนาญดูจิตแล้วไปเข้าไปตรงนั้นทำต่อได้ ไม่มีกาย ไม่มีกาย

เนี่ยเราเฝ้าดูของเราง่ายๆนะ ใจของเราคนธรรมดานี้แหละ
เราจะเห็นว่าใจของเราเปลี่ยนแปลงทั้งวัน เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย
ใจของเราเปลี่ยนเพราะอะไร เพราะมีผัสสะคือการกระทบอารมณ์
ตาเรามองเห็นรูป เรียกว่าเรากระทบอารมณ์ทางตา
ตาไปมองเห็นรูปที่พอใจ จิตก็มีความสุขขึ้นมา
จิตมีความสุขขึ้นมา ก็เกิดความพอใจคือราคะแทรกขึ้น
ตาไปเห็นรูปที่ไม่ชอบใจ ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา โทสะก็แทรกนะ โทสะก็จะแทรกเข้ามา
หูได้ยินเสียงที่ชอบใจ เสียงที่ชอบใจอาจจะไม่เพราะก็ได้
อย่างเสียงบางคนนะ เสียงฟังไมได้เลย แต่เรากำลังคิดถึงคนๆนั้น
เป็นเพื่อนเราแต่เสียงไม่เพราะเลย ได้ยินเสียงแหบๆของคนนี้แล้วดีใจ งั้นมันเป็นเสียงที่ชอบใจ
อาจจะเพราะหรือไม่เพราะ อ่อนหวานหรือไม่อ่อนหวาน ไม่สำคัญ แต่เป็นเสียงที่ชอบใจ
ถ้าเสียงที่ชอบใจเกิดขึ้นนะ ก็จะเกิดความสุขขึ้นมาในใจ เรารู้ว่ามีความสุข
พอมีความสุข แล้วเกิดความพอใจในเสียงอันนี้ขึ้นมาเรียกว่ามีราคะ รู้ว่ามีราคะเกิดขึ้น

นี่การปฏิบัติง่ายๆอย่างนี้เอง
ให้ตากระทบรูป หูกระทบเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายกระทบสัมผัส
ให้ใจมันคิดนึกปรุงแต่งไปตามธรรมชาติธรรมดาไม่ห้ามเลยสักอย่างเดียว
ตามองเห็นรูป เกิดสุขเกิดทุกข์ขึ้นที่ใจ
หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายกระทบสัมผัส เกิดสุขเกิดทุกข์ที่ใจ มีสติรู้ทัน
ใจคิดนึกปรุงแต่งไป เกิดสุขเกิดทุกข์ที่ใจ มีสติรู้ทัน
รู้ทันแล้วก็จะเห็น สุขอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ ทุกข์อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ นี่แหละเรียกว่าการเจริญปัญญา
จะเห็นว่าความสุขมีแล้วก็หายไป ความทุกข์มีแล้วก็หายไป ดูอยู่อย่างนี้เรื่อยๆไป

ถ้าดูสุขทุกข์ไม่ทันนะ มันจะต่อไปกุศลอกุศล
มีความสุขขึ้นมา บางทีจิตก็มีราคะ
มีความทุกข์ขึ้นมา บางทีจิตก็มีโทสะขึ้นมา
ดูเวทนาไม่ทัน ดูสุขทุกข์ไม่ทัน ก็มาดูกิเลสเอา ดูง่ายๆแค่นี้เอง
อย่าไปบังคับจิตให้นิ่ง ถ้าบังคับจิตให้นิ่ง ไม่มีอะไรให้ดู ให้กระทบอารมณ์ไป

บางทีใจคิด คิดเรื่องนี้มีความสุข ให้รู้ว่ามีความสุขเกิดขึ้น ไม่ใช่รู้ว่าคิดเรื่องอะไรนะ
คิดเรื่องอะไรไม่สำคัญ แต่ถ้าคิดอะไรขึ้นมาแล้วใจมีความสุขให้รู้ทัน
คิดอะไรก็ได้ ใจมีความทุกข์ขึ้นมาให้รู้ทัน
รู้ทันใจที่สุขใจที่ทุกข์ ใจที่เป็นกุศลใจที่เป็นอกุศล ไม่ใช่รู้เรื่องที่คิดนะ

เนี่ยการดูจิตดูใจเค้าดูกันอย่างนี้นะถึงจะเกิดปัญญา
สุดท้ายก็จะเกิดปัญญาขึ้นว่า ทุกอย่างที่จิตไปรู้เข้านี้แหละเป็นของชั่วคราว
ความสุขเกิดขึ้น แล้วก็อยู่ชั่วคราว แล้วก็หายไป
ความทุกข์ อยู่ชั่วคราว แล้วก็หายไป
กุศล อยู่ชั่วคราว แล้วก็หายไป
โลภ โกรธ หลง ฟุ้งซ่าน หดหู่ อยู่ชั่วคราว แล้วก็หายไป

เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก วันแล้ววันเล่า เดือนแล้วเดือนเล่า ปีแล้วปีเล่า
เห็นจนถึงจุดๆหนึ่ง จิตจะเกิดความรู้รวบยอดขึ้น ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นมานั้นดับทั้งสิ้น
ตรงที่เกิดความรู้รวบยอดนี้แหละที่เรียกว่าได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบัน
พระโสดาบันนั้นมีความรู้รวบยอดว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา
something ที่เกิดขึ้น อะไรเป็น something บ้าง
สุขก็เป็น
something ใช่ไหม ทุกข์ก็เป็น โลภ โกรธ หลงก็เป็น
จะเห็นแต่ละอันๆนะ จนในที่สุดสรุปออกมาได้ในภาพรวม จิตเค้าสรุปของเค้าเองไม่ใช่เราคิดเอา
ตรงที่เราคิดเอาไม่ล้างกิเลส แต่ถ้าจิตสรุปของจิตเองจะล้างกิเลสได้

เนี่ยฝึกไปเรื่อยนะ ไม่ใช่เรื่องยากอะไร
ส่วนใครชอบทำสมาธิ มาแยกมาเรียนต่างหาก
ทำสมาธิแล้วมาดูกายหลวงพ่อก็สอนได้ไม่ยากอะไร เคยทำไม่ใช่ไม่เคยทำ
แต่เห็นว่าคนรุ่นเรานี้ฟุ้งซ่านมาก คิดมาก
ดูจิตนั้นง่ายที่สุดแล้วล่ะเพราะนั่งสมาธิไม่เป็น
นั่งสมาธิไม่ได้ ดูกายไม่ได้ดีหรอก
ดูกายแล้วมันจะไม่เห็นว่ากายกับจิตมันคนละอันกันนะ
กายมันทำงาน จิตเป็นคนดู ไม่ค่อยเห็นหรอก
จิตมันจะไปรวมเข้ากับกายเป็นก้อนเดียวกัน
พอจิตรวมเข้ากับกายแล้ว มันจะกลายเป็นอะไร ...เป็น“กู”
จิตรวมเข้ากับกาย กลายเป็น“กู”นะ (เสียงหัวเราะ)
จิตบวกกายเท่ากับ“กู” มีสมการนะ


สวนสันติธรรม

วันเสาร์ ที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๕

ฟังเนื้อหา (นาทีที่ ๔:๔๐)