Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๖๑

พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
luangpor_pramote

luangpor

เรามาเรียนรู้ความจริงของกาย มาเรียนรู้ความจริงของจิตใจนะ
เราจะเห็นแต่อนิจจัง มันไม่คงที่สักอย่างเดียวเลย
ทางกายเดี๋ยวก็หายใจออก เดี๋ยวหายใจเข้า
ทางใจเดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย

เป็นทุกขัง
ร่างกายถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ทนอยู่ในสภาวะอันใดอันหนึ่งไม่ได้นาน
จิตใจก็ถูกบีบคั้นนะ ความอยากมันบีบคั้นจิตใจ
ทนดูอยู่ได้ไม่นานก็หนีไปคิดแล้ว มันอยากคิด ใจมันทนไม่ได้

ร่างกายจิตใจเป็นอนัตตา
ร่างกายเป็นวัตถุ มีแต่ธาตุไหลเข้าไหลออก ไม่ใช่คนไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เราไม่ใช่เขา
จิตใจเป็นอนัตตาในอีกมุมหนึ่ง จิตใจไม่ใช่วัตถุ
จิตใจเป็นอนัตตาในแง่ที่ว่าไม่อยู่ในอำนาจบังคับ
สั่งให้สุขมันก็ไม่สุข ห้ามทุกข์มันก็จะทุกข์
สั่งให้ดีมันก็ไม่ดี ห้ามชั่วมันก็จะชั่ว

การที่เราคอยมาเรียนรู้นะ มาคอยสังเกตมาคอยดูความจริงของกายของใจ
เห็นแต่ของไม่เที่ยง เห็นแต่ของเป็นทุกข์ เห็นแต่ของบังคับไม่ได้
เห็นแต่ของที่เป็นวัตถุ ไม่ใช่คนไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เราไม่ใช่เขา
เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีกเราจะรู้เลยว่า กายนี้ใจนี้ไม่ใช่ของดีของวิเศษเหมือนที่เคยรักเคยหวงแหนนั้นเลย

ใจจะค่อยๆคลายความยึดถือ คลายความรักใคร่ผูกพันในกายในใจ
ร่างกายจะแก่ จิตใจไม่เศร้าหมองเพราะไม่ได้รักกายถึงขนาดหวงแหน
ร่างกายจะเจ็บก็เรื่องธรรมดา ร่างกายต้องเจ็บ ไม่เศร้าโศกไม่เสียใจ
ร่างกายจะตาย ไม่เศร้าโศกไม่เสียใจ ร่างกายนี้ต้องตาย
เราจะต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รัก พลัดพรากจากสิ่งที่รักนี่พลัดพรากทางใจนะเป็นความรู้สึกทางใจ
อย่างบางคนอยู่ไกลกัน ไม่รู้สึกพลัดพราก ใครที่พ่อแม่ตายแล้วบ้างมีไหม
สังเกตไหมตอนที่พ่อแม่อยู่เนี่ยนะ บางทีเราหนีไปได้นะ
พอพ่อแม่ตาย ถ้าเรารักนะเราจะรู้สึกพ่อแม่อยู่กับเรา
งั้นกระทั่งความตายยังไม่ทำให้ห่างเลยนะ กลับรู้สึกใกล้ชิดด้วยซ้ำไป

เนี่ยใจเรานะ มันรักใคร่ผูกพันสิ่งโน้นสิ่งนี้ ไปหยิบไปฉวยขึ้นมา เรามาเฝ้าดูของจริงลงไป
ในกายในใจนี้เต็มไปด้วยทุกข์ เต็มไปด้วยความไม่เที่ยง
เต็มไปด้วยอนัตตา บังคับไม่ได้เป็นวัตถุอะไร เป็นของบังคับไม่ได้
เห็นลงไปเรื่อยในกายในใจซ้ำแล้วซ้ำอีก
ความรักใคร่ความยึดถือความผูกพันในกายในใจนี้จะค่อยๆคลายออกนะ
ถ้าเมื่อไหร่มันหมดความรักใคร่ผูกพันหมดความยึดถือในกายในใจ
นั้นแหละคือสภาวะที่เรียกว่าพระอรหันต์

พระอรหันต์นะ จิตของท่านเป็นอิสระ จิตของท่านไม่มีความรักใคร่ผูกพันในกายในใจ
กระทั่งกายกับใจซึ่งเป็นของที่รักที่สุดนะยังไม่ผูกพันรักใคร่เลย
จะไปผูกพันอะไรในโลกนี้ไม่มีทางเป็นไปได้เลย

เพราะงั้นเรามาปฏิบัติธรรมนี้นะ มาเรียนรู้ความจริงของกาย มาเรียนรู้ความจริงของใจให้มาก
เมื่อรู้กายแจ่มแจ้ง รู้ใจแจ่มแจ้ง จะเห็นเลยกายนี้เป็นทุกข์ล้วนๆ ใจนี้เป็นทุกข์ล้วนๆ
ถ้าเห็นแจ้งอย่างนี้เรียกว่ารู้แจ้งอริยสัจ รู้แจ้งในกองทุกข์
สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ ก็คือกายคือใจ คือธาตุคือขันธ์เรานี่เองที่ประกอบขึ้นเป็นตัวเรา
พระพุทธเจ้าถึงนิยามทุกข์ว่า “สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา”
โดยสรุป ขันธ์ทั้ง ๕ นี้เป็นตัวทุกข์ ขันธ์ทั้ง ๕ ก็คือสิ่งที่ประกอบกันเป็นตัวเรานี่เอง
รูปขันธ์ก็คือส่วนของร่างกาย เวทนาความรู้สึกสุขทุกข์
สัญญาความจำได้หมายรู้ สังขารความปรุงดีปรุงชั่ว
วิญญาณความรับรู้ด้วยจิตที่เกิดขึ้นทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ นี่เป็นส่วนของนามธรรม ส่วนทางจิตใจ
ทั้งกายทั้งใจ ทั้งรูปทั้งนามนี้เป็นกองทุกข์

เรียนลงไปนะเห็นเลยของหาสาระไม่ได้หาแก่นสารไม่ได้
ก็หมดความยึดถือ หมดความรักใคร่ผูกพัน
จิตสลัดคืนกายคืนใจให้โลก จิตจะเป็นอิสระ
เราจะเข้าถึงความสุขซึ่งไม่เคยนึกไม่เคยฝันเลยว่าความสุขอย่างนี้ก็มีในโลก
มันสุขปางตายเลยนะสัมผัสทีแรก ครูบาอาจารย์เล่าให้ฟังนะ
สัมผัสทีแรกเนี่ยเหมือนแทบขาดใจตายเลย สุขขนาดนั้นนะ
เราเคยได้ยินว่าทุกข์จนตายเลยใช่ไหม มีสุขจนแทบตายก็มีนะ
สุขแทบตายเป็นสุขของพระนิพพาน มันมหาศาลมากเลย

งั้นพวกเรามาหัดภาวนานะ เพื่อวันหนึ่งเราพ้นจากทุกข์
พ้นจากทุกข์ได้ด้วยการหมดความยึดถือในกายในใจนี้แหละ
เราหมดความยึดถือในกายในใจ เราก็หมดภาระ ไม่มีภาระ
จิตใจเป็นอิสระ จิตใจมีความสุข มีความเบิกบานที่สุดเลย
ไม่แปรปรวนไปเพราะว่าร่างกายเพราะจิตใจ
ร่างกายก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย จิตใจก็ต้องพบสิ่งที่ชอบใจบ้างสิ่งที่ไม่ชอบใจบ้าง
เนี่ยเราจะพ้นจากความยึดถือในกายในใจ
ก็พ้นจากความแปรปรวนทั้งหลาย พ้นจากสิ่งที่ชอบใจไม่ชอบใจทั้งหลาย
เราจะเข้าถึงความสุขที่ไม่มีอะไรเหมือนเลย
ความสุขที่อิ่มที่เต็ม เบิกบาน แช่มชื่น
นิยามทั้งหลายเข้าไปไม่ถึงพระนิพพานเลยนะ ไม่รู้จะบรรยายยังไง
คล้ายๆเคยอยู่ในกองไฟนะ ถูกไฟแผดเผาอยู่ตลอดเวลาแล้วหลุดออกมาได้

ในโลกนี้เต็มไปด้วยความทุกข์มหาศาล แผดเผาเราอยู่
สัตว์ทั้งหลายวิ่งพล่านไปนะ เหมือนมด คนไปเอากระทะมาตั้งบนเตา
มดไปอยู่บนกระทะ วิ่งพล่านๆนะ ไม่รู้จะไปทางไหน
สัตว์โลกก็วิ่งพล่านเหมือนมดที่ติดอยู่ในกระทะบนเตานั่นแหละ
ต่อเมื่อไหร่ปล่อยว่างธาตุขันธ์ได้นะ เป็นทางที่พระพุทธเจ้าค้นพบ
เหมือนเราหลุดออกไปจากกองทุกข์ หลุดออกไปจากกองไฟที่แผดเผาเราอยู่ มีความสุขที่สุดเลย

งั้นการปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้าเนี่ยสอนเรานะ
เรียนเรื่องทุกข์คือเรียนเรื่องกายเรื่องใจของเราไป
จนวันหนึ่งเราพ้นจากทุกข์ พ้นจากความยึดถือในกายในใจนี้ เราเข้าถึงพระนิพพานมีความสุขที่สุด
นิพพานไม่ใช่โลกๆหนึ่ง ไม่ใช่ต้องนั่งสมาธิไปเห็น
ถ้ายังนิพพานแบบนั่งสมาธิแล้วเข้านิพพาน ไม่ใช่นิพพานตัวจริงหรอก
นิพพานอยู่ต่อหน้าต่อตา นิพพานไม่เคยหายไปไหนเลย
เรานี้เดินชนนิพพานอยู่ทั้งวันเลย เราไม่เห็นเอง เพราะใจของเราไม่มีคุณภาพพอ
งั้นพยายามฝึกเข้านะ มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงคือดูไตรลักษณ์
มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
ถ้าจิตไม่ตั้งมั่น ไม่เป็นกลาง ไม่เห็นไตรลักษณ์ของกายของใจ จะเห็นแต่กายกับใจเฉยๆนะ

สวนสันติธรรม
วันเสาร์ ที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๕

ฟังเนื้อหา (นาทีที่ ๒๔)