Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๖๐

พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
luangpor_pramote

luangpor

พวกเราอย่าได้น้อยเนื้อต่ำใจว่าเราเข้าฌานไม่เป็น
กระทั่งในสมัยพุทธกาล พระอรหันต์ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ทรงฌานขนาดนั้น
มาได้ฌานทีหลังเมื่อบรรลุพระอรหันต์แล้ว อย่างน้อยก็ได้ปฐมฌานเป็นของแถม

งั้นพวกเราอาศัยสมาธิที่เรามีเล็กๆน้อยๆนี่แหละ อย่าดูถูกมัน
น้ำหยดทีละหยดก็เต็มตุ่มได้ เราก็มีสมาธิทีละขณะ ทีละขณะ นี่แหละ
จิตไหลไปแล้วรู้ทัน จิตไหลไปแล้วรู้ทัน จิตก็จะตั้งมั่นขึ้นเป็นขณะ
เดี๋ยวก็ไหลใหม่รู้ใหม่ ไหลใหม่รู้ใหม่
พอฝึกมากเข้าๆ ช่วงที่ไหลไปนี้จะสั้นลงๆ ช่วงที่รู้สึกนี้จะเร็วขึ้นๆ แต่รู้สึกก็ชั่วแว๊บเดียวเท่านั้นแหละ
แต่เดิมนะไหล แว๊บ...นะ ตั้งแต่เช้ายันเย็น
มาหัดรู้หัดดูนะ ไหลไปชั่วโมงนึงแล้วก็รู้ว่าไหลไปแล้ว
ไหลไปห้านาที รู้ว่าไหลไป ไหลหนึ่งนาที รู้ว่าไหลไป
ต่อไปจิตขยับกริ๊กก็เห็นแล้ว จิตขยับกริ๊กก็เห็นแล้ว จิตจะตั้งมั่น
พอเราฝึกได้จนถึงจิตขยับกริ๊กก็เห็น จิตขยับกริ๊กก็เห็น มันเหมือนๆเราทรงฌานแล้ว
ออกจากฌานมาทำได้สูงสุดก็แค่นี้แหละ ถ้าออกจากฌานมา
จิตก็ทรงตัวตั้งมั่นอยู่ ก็เห็นสภาวะเกิดดับเป็นขณะๆ

ถ้าเราทำกรรมฐานนะ ดูจิตดูใจเนี่ย เราฝึกง่ายๆเลย รวบยอดเลยได้ทั้งสมาธิได้ทั้งปัญญา
ก็คือจิตขยับไปรู้สึก จิตไหลไปรู้สึก จิตไหลไปรู้สึก
ตรงที่จิตไหลไปเรารู้สึกเนี่ยจิตจะตั้งมั่นขึ้นมา
มันตั้งอยู่ชั่วขณะมันก็ไหลอีก เราก็รู้สึกอีกก็ตั้งอีก
ตรงนี้จะเป็นการฝึกให้เกิดสติ สติเป็นตัวรู้ทันว่ามีอะไรเกิดขึ้นในจิตใจ
มันรวมถึงกายด้วยนะแต่นี่หลวงพ่อสอนมุ่งมาที่จิต เพราะพวกเราพวกไม่มีสมาธิ ดูจิตให้มากไว้
สติเป็นตัวรู้ทันว่ามีอะไรเกิดขึ้นในจิต จิตขยับไปรู้ทัน จิตขยับไปรู้ทัน เรียกว่ามีสติ

การที่จิตขยับไปแล้วเรารู้ทันเรื่อยๆ ต่อไปเราจะเกิดปัญญาได้
เราจะเห็นเลยว่าจิตที่รู้สึกตัวนี้ก็อยู่ชั่วคราว จิตที่ไหลไปหลงไปขยับไปก็อยู่ชั่วคราว
จิตที่รู้สึกตัวเกิดแล้วก็ดับไป จิตที่ไหลไปหลงไปเกิดแล้วก็ดับไป
จิตที่รู้สึกตัวเนี่ยเป็นตัวแทนของจิตที่เป็นกุศล
จิตที่หลงไปไหลไปเป็นตัวแทนของอกุศล
ต้องหลงไปก่อนนะถึงจะเกิดโลภเกิดโกรธอะไรขึ้นมาทีหลัง
ต้องหลงก่อน นั้นเป็นตัวแทนของจิตอกุศล
ก็จะเห็นเลยว่าจิตที่รู้สึกตัวซึ่งเป็นจิตที่เป็นกุศล เกิดแล้วก็ดับ
จิตที่ไหลไปซึ่งเป็นจิตอกุศล เกิดแล้วก็ดับ มีแต่เกิดแล้วก็ดับ
ตรงที่เราเห็นว่าจิตทุกอย่างเกิดแล้วก็ดับ อันนั้นแหละเราเจริญปัญญา เราเห็นอนิจจังอยู่

เราก็จะเห็นอีก ถ้าบางคนดูแค่เกิดดับแค่นี้ไม่พอนะ ก็จะเห็นสิ่งซึ่งกำลังปรากฏ
จิตซึ่งรู้สึกตัวอยู่นี่แหละอยู่ได้ไม่นาน ทนอยู่ไม่ได้นะก็แตกสลาย กลายเป็นจิตที่เคลื่อน
จิตที่เคลื่อนทนอยู่ไม่ได้ แตกสลายกลายเป็นจิตที่รู้สึกตัว
การที่เราเห็นว่าจิตทุกชนิดทนอยู่ในภาวะอันใดอันหนึ่งไม่ได้ เรียกว่าเห็นทุกขัง

การที่จิตจะรู้สึกตัวเราสั่งไม่ได้ รู้สึกแล้วรักษาไว้ก็ไม่ได้
การที่จิตไหลไปเราห้ามก็ไม่ได้ ไหลไปแล้วสั่งให้คืนมาก็ไม่คืน
ถ้าสั่งให้คืนมาจะกลายเป็นเพ่งเลย แน่นๆเลย จิตนี้ไม่ใช่ของที่บังคับได้
แค่เราเห็นจิตที่ไหลไปไหลมาแค่นี้นะ เรารู้เลยว่าเราบังคับจิตไม่ได้จริง นี่คือการเห็นอนัตตา
งั้นถ้าเราคอยเห็นจิตที่ไหลแว๊บ ๆ ๆ นะ รู้ไปเรื่อยๆนะ ได้ทั้งสตินะ
เบื้องต้นจะได้สติ เบื้องปลายจะได้ปัญญา จะรู้ความจริง
จิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา จิตนี้เป็นของไม่เที่ยง กลับกลอกตลอดเวลา
จิตที่รู้สึกตัวก็ไม่เที่ยง จิตที่ไหลไปก็ไม่เที่ยง
จิตที่รู้สึกตัวก็ทนอยู่ไม่ได้นาน จิตที่ไหลไปก็ทนอยู่ไม่ได้นาน อยู่ได้ชั่วขณะเท่านั้นเอง
จิตจะรู้สึกตัวหรือจิตจะไหลไป เลือกไม่ได้
สั่งไม่ได้ ห้ามไม่ได้ บังคับไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจ นี่เรียกเห็นอนัตตา

การที่เราเห็นจิตเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เนี่ยเห็นเพียงมุมใดมุมหนึ่งก็พอ ไม่ต้องเห็นทั้งสามอย่างหรอก
บางคนเห็นจิตเกิดแล้วก็ดับนะ รู้สึกตัวแล้วก็หายไป
หรือเห็นว่าจิตมันถูกบีบคั้นอยู่ตลอด จิตมันบังคับไม่ได้
เห็นมุมใดมุมหนึ่ง ถึงจุดหนึ่งจิตมันจะปิ๊งขึ้นมา
“จิตนี้ไม่ใช่ตัวเราหรอก จิตเป็นสภาวะธรรมซึ่งมันเป็นของมันเอง”
คำว่าสภาวะหมายถึงมันมีอยู่ของมันเอง “being” มีอยู่ของมันเอง
เกิดแล้วก็ดับไป มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้ เฝ้ารู้ลงไปเรื่อย
สุดท้ายปัญญามันเกิด มันจะรู้เลยว่า
“สิ่งใดเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นดับเป็นธรรมดา”
ถ้าเราเห็นจิตเนี่ย จิตที่รู้สึกตัวเกิดแล้วก็ดับ จิตที่ไหลไปเกิดแล้วก็ดับ
แต่ถ้าเราไม่มีจิตที่รู้สึกตัวนะ เรามีจิตที่ไหล
คนในโลกมีจิตที่ไหลอย่างเดียว ไม่มีจิตรู้สึกตัวเลย มันจะไม่เห็นหรอกว่าจิตที่ไหลเกิดดับ
แต่ถ้าเรามีจิตที่รู้สึกตัวขึ้นมานะ มันจะเห็นเลยจิตที่รู้สึกตัวเกิดแล้วก็ดับ จิตที่ไหลไปเกิดแล้วก็ดับ

งั้นการที่หลวงพ่อฝึกให้พวกเรามีจิตที่รู้สึกตัว ให้จิตตั้งมั่นมีสมาธิขึ้นมา
ไม่ใช่มีสมาธิเพื่อจะมีสมาธินะ เรามีสมาธิเนี่ยเพื่อจะตัดตอนความหลงให้ขาดเป็นช่วงๆ
มันจะเห็นเลยจิตที่หลงไป หลงไปช่วงหนึ่งแล้วก็ดับ
เกิดรู้สึกตัวนิดนึงแล้วก็หลงอีกยาวๆแล้วก็ดับ เกิดรู้สึกตัว
สุดท้ายก็จะเห็นว่า จิตที่หลงเกิดแล้วก็ดับ จิตที่รู้สึกเกิดแล้วก็ดับ
ไม่ใช่จะเอาจิตที่รู้สึกตัวนะ ไม่ได้ฝึกเพื่อจะเอาอะไรเลย
แต่ฝึกเพื่อจะให้เห็นความจริงว่า
“สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นดับเป็นธรรมดา” ฝึกเพื่อให้เห็นตรงนี้
ทีนี้บางคนเข้าใจผิดนึกว่าจะต้องรู้สึกตัว ๒๔ ชั่วโมง ฝึกเอาความรู้สึกตัว
นั่นฝึกจะเอา ไม่ใช่ฝึกที่จะให้เห็นความจริง
ฝึกได้ไหม? ฝึกได้ถ้าทรงฌาน จิตผู้รู้ก็จะตั้งมั่นเด่นดวงอยู่ได้นาน แต่ไม่เกิน ๗ วันหรอกนะ

ในภูมิของเรา ในกามวจร จิตที่ร่อนอยู่ทางตาหูจมูกลิ้นกายใจเนี่ยจิตไม่สงบนาน
อย่างมากก็ไม่เกิน ๗ วัน ทั้งๆที่ทรงฌานก็เสื่อม
งั้นเราไม่ได้ฝึกเอาจิตเที่ยง แต่เราฝึกเพื่อให้เห็นว่าจิตไม่เที่ยง
งั้นบางคนเป็นมิจฉาทิฏฐินะบอกว่าจิตเที่ยง นั่นน่ะทำวิปัสสนาไม่เป็น
ไปรักษาจิตให้นิ่งอยู่แล้วบอกว่าจิตเที่ยง นี่แหละจิตพ้นทุกข์
พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนเลยว่าจิตเที่ยง
ท่านสอนแต่ว่า “จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไปทั้งวันทั้งคืน” สอนแต่ว่ามันไม่เที่ยง
ถามพระปัญจวัคีย์ว่า “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“วิญญาณไม่เที่ยงพระเจ้าข้า”
“สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นสุขหรือเป็นทุกข์”
“เป็นทุกข์พระเจ้าข้า”
“สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นควรเห็นว่าเป็นตัวตนของเราไหม”
“ไม่ควรพระเจ้าข้า”

จิตนี้เกิดดับตลอดเวลา เรามาเฝ้ารู้ความจริง
ไม่ใช่มาหลอกตัวเองว่าจิตไม่เที่ยง แล้วก็ไม่ใช่หลอกตัวเองว่ากายไม่เที่ยง
ถ้าพวกดูกายก็ไม่ใช่มาหลอกตัวเองคิดเอาเองว่ากายไม่เที่ยง
ต้องดูของจริงว่ามันไม่เที่ยงจริงๆ รูปที่ยืน เดิน นั่ง นอน ไม่เที่ยงจริงๆ
รูปเย็น รูปร้อน รูปอ่อน รูปแข็ง ไม่เที่ยงจริงๆ
ดูจิตก็ดูให้เห็นของจริง จิตรู้สึกตัวก็ไม่เที่ยง จิตไหลไปก็ไม่เที่ยง ดูของจริง
จนกระทั่งจิตยอมรับความจริงว่าจิตทุกอย่างเกิดแล้วดับ
“สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นดับเป็นธรรมดา”
ถ้าเข้าใจอย่างนี้ได้เป็นพระโสดาบันนะ
ถ้าคิดว่าจิตเที่ยงเป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่ได้เป็นโสดาบันหรอก

งั้นพวกเรามาฝึกกรรมฐาน มาเรียนรู้ของจริง
ช่วงที่เราเจริญปัญญาเนี่ย ไม่สุขแล้วล่ะ ไม่ใช่สุขแล้วล่ะ แต่จะเห็นทุกข์
ช่วงที่เราฝึกให้จิตตั้งมั่นมีสมาธิ รู้สึกตัวขึ้นมา นั่นช่วงเสพสุข
ใจไหลไปรู้สึกตัวปุ๊บ พอรู้สึกตัวนะความสุขก็โชยขึ้นมา ไหลไปอีกรู้สึกอีกความสุขก็โชยขึ้นมา
แต่ในขั้นเดินปัญญานะจะเห็นเลยว่า รูปนี้ก็เป็นตัวทุกข์ จิตนี้ก็เป็นตัวทุกข์
ความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ ก็เป็นตัวทุกข์
ความสุขก็เป็นตัวทุกข์เพราะเป็นตัวที่เสียดแทง เป็นตัวที่ทนอยู่ไม่ได้
เวลาที่ความสุขเกิดขึ้นถ้าพวกเราภาวนาเป็นนะ เราจะรู้เลยว่าความสุขนั้นเสียดแทงใจเรา
ถ้าภาวนาชำนาญนะจะรู้เลย แค่ความสุขเกิดขึ้นนะก็เป็นส่วนเกินแล้ว มันเสียดแทงเราแล้ว
ความสุขเองก็ยังอยู่ในกองทุกข์เหมือนกัน ไม่ใช่ของดีของวิเศษ
กุศลอกุศลทั้งหลายก็เป็นตัวทุกข์ ไม่ใช่กุศลเป็นตัวสุขนะ
ตัวกุศลทั้งหลายก็เป็นตัวทุกข์ อกุศลทั้งหลายก็เป็นตัวทุกข์

เวลาบ้าบุญ ใครเคยบ้าบุญบ้างไหม เป็นสุขหรือเป็นทุกข์
?
อยากบริจาคเยอะๆ แต่เงินมีน้อย กลุ้มใจเนาะ กลุ้มใจ
เข้าคิวไว้ หลวงพ่อตอนเป็นโยมนะเข้าคิวไว้ เดี๋ยวจะทำอันนี้ๆ คิวยาวมากเลย
บางทีกลุ้มใจนะอยากทำบุญ สตางค์ไม่พออะไรอย่างนี้
ดีก็ทุกข์นะ “รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา”
ตอบได้ไหม ระหว่างจั่วกับเสาอะไรหนักกว่ากัน
ขืนหามก็หนักทั้งนั้นแหละ จั่วศาลาเนี่ยใครหามได้ เสาเนี้ยใครหามไหว ไม่ไหวเหมือนกันแหละ

คนดีก็ทุกข์แบบคนดีนะ คนชั่วก็ทุกข์แบบคนชั่ว
แต่เราชั่วได้ไหม
? ชั่วไม่ได้ ทำไมเราชั่วไม่ได้? เรามีสติ
ความชั่วเกิดที่จิต รู้ทันปุ๊บ ความชั่วกระเด็น กลายเป็นดี
แล้วเห็นอีก จิตปรุงดีก็ทุกข์นะ จิตปรุงชั่วก็ทุกข์อีก
เราเฝ้ารู้ไปเรื่อย ปัญญามันพอนะจะเห็นเลย
ปัญญาเบื้องต้นมันจะเห็นเลยว่า “ทุกอย่างเกิดแล้วดับ”
ปัญญาเบื้องปลายจะเห็นว่า “ทุกอย่างนั่นแหละทุกข์”
ถ้าเห็นแจ้งทุกข์ จิตจะสลัดคืนกองทุกข์ให้โลก คืนกายคืนใจให้โลกไป

ถ้าจิตเราไม่ยึดถือในรูปนามกายใจนะ ไม่ยึดถืออะไรในโลกอีกแล้ว
จะเป็นอิสระ ใจจะโปร่งโล่งเบา มีความสุขอยู่อย่างนั้นแหละทั้งวันทั้งคืน
เราเข้าถึงความสุขอีกชนิดหนึ่งแล้ว ความสุขที่มหาศาลเลยคือความสุขของพระนิพพาน
จิตซึ่งไปสัมผัสพระนิพพานก็ได้สัมผัสเอาความสุขของพระนิพพานมา มีความสุขมหาศาล
จิตที่สัมผัสพระนิพพานมีความสุข

ท่านบอก “นิพพานัง ปรมัง สุขัง” นิพพานเป็นบรมสุข สุขจริงๆ
สุขที่พวกเรารู้จักวันนี้นะ เล็กน้อยมากเลยนะถ้าเทียบกับสุขในธรรมะที่ประณีตขึ้นเป็นลำดับๆ
สุขของเราอย่างนี้เรียกว่ากามสุข
กินของอร่อยมีความสุข เห็นคนสวยๆมีความสุข
ได้ยินเสียงเพราะๆ เสียงชมเสียงอะไร มีความสุข นี่เป็นกามสุข
กามสุขที่โลกเค้าใฝ่หาเนี่ย เล็กน้อยเหลือเกินนะเมื่อเทียบกับฌานสุข
เมื่อเราทำฌานทำสมาธิได้ เราจะรู้เลยกามสุขเนี่ยเรื่องเล็กน้อย สกปรกโสโครกนะ
ความสุขของกามเนี่ยคล้ายๆเด็กไร้เดียงสา ไปเล่นไส้เดือนกิ้งกือ
เล่นของขยะสกปรก เล่นได้หมดเลย ก็มีความสุข
เด็กไปเล่นดินเล่นทรายสกปรกนะ
ตัวมอมแมม หน้ามอมแมมไปหมด มันมีความสุข เนี่ยกามสุขมันเป็นแบบนั้น

ฌานสุขมันสูงกว่านั้นนะ ฌานสุขมันเป็นความสุขที่มันอิ่มมันเต็มมากขึ้น
แต่ว่าความสุขในโลกุตระ ความสุขของพระนิพพานนั้นฌานสุขเทียบไม่ติดเลย
ฌานนั้นแหละกลายเป็นตัวทุกข์เลย
คนที่ทรงฌานนะเค้าจะเห็นว่ากามสุขเนี่ยเป็นตัวทุกข์
แต่ว่าคนซึ่งเข้าถึงโลกุตระแล้วก็ยังเห็นอีก ว่าฌานนั้นแหละเป็นตัวทุกข์
จะเห็นกันเป็นลำดับๆไปนะ คล้ายๆมันพัฒนาขึ้นไปๆ สติปัญญาแก่กล้าขึ้นไป

ถ้าเราสัมผัสพระนิพพานแล้ว เราจะรู้เลยโลกนี้หาสาระแก่นสารไม่ได้เลย โลกนี้เหมือนฝัน
ความสุขเหมือนกับฝันอยู่เท่านั้นแหละ ไม่ใช่มีของจริงอะไรให้เราดูเลย
ความสุขของพระนิพพานนั้นเหมือนกับของจริง มันเหมือนเรากลับบ้านเราได้แล้ว
เราเป็นเด็กหลงทางหาทางกลับบ้านไม่เจอ
วันนี้เรากลับถึงบ้านได้แล้ว มีความสุขนะ เจอพ่อเจอแม่ของเรา คือเจอพระพุทธเจ้า
จิตของเรานั้นแหละกับพระพุทธเจ้าจะหลอมรวมเข้าเป็นสิ่งเดียวกัน
จิตของเรากับพระธรรมจะหลอมรวมเข้าเป็นสิ่งเดียวกัน
จิตนั้นแหละก็คือตัวพระสงฆ์
พระรัตนไตรรวมเข้าเป็นหนึ่งที่จิตนั่นแหละ
ที่จิตที่บริสุทธิ์ จิตที่สะอาด จะมีความสุขที่ไม่มีอะไรเหมือน

พวกเราหัดไปนะ หัดภาวนาไป
ขั้นแรก จิตไหลไปแล้วก็รู้สึก ใจก็จะตั้งมั่น
ต่อไปก็จะเห็นเลย จิตที่ไหลไปก็ไม่เที่ยง จิตที่รู้สึกก็ไม่เที่ยง
ไม่ใช่ไปบังคับให้รู้สึกตลอดนะ
ดูแต่ของไม่เที่ยงในจิตใจไป
ดูแต่ของที่บังคับไม่ได้ในจิตใจไป
ดูไปด้วยใจที่เป็นกลางเรื่อยๆ

ถึงวันที่ปัญญาแก่รอบนะ มันก็เข้าใจธรรมะเป็นลำดับๆไป
ขั้นต้นก็ล้างความเห็นผิดว่ามีตัวมีตน
ขั้นปลายก็ล้างความหลงผิดว่าขันธ์ ๕ กายใจนี้เป็นของดีของวิเศษ
ที่แท้ไม่ใช่ของดีของวิเศษแต่เป็นตัวทุกข์หรอก
งั้นหัดเบื้องต้นมีความสุขเยอะนะ หัดเบื้องปลายเจอความทุกข์เยอะเลย
จนกระทั่งแจ้งแล้วนะเจอบรมสุขเลยคราวนี้ สุขที่ไม่ผันแปรอีกแล้ว


สวนสันติธรรม
วันอาทิตย์ ที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๕

ฟังเนื้อหา(นาทีที่ ๒๒) : http://usa.learndhamma.com/pramote/cd/046/mp3/550701.mp3