Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๕๙

พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
luangpor_pramote

luangpor

รู้สึกตัวนะ สบายๆ
การจะพ้นจากโลกพ้นจากทุกข์นั้น
ก็พ้นจากความยึดมั่นถือมั่นในกายในใจของเรานี่แหละเป็นตัวตั้ง
ถ้าไม่ยึดตัวเองแล้วนะ ของอื่นก็ไม่ยึดด้วย

พยายามมาดูที่กายที่ใจให้มาก ไม่มีวิธีอื่นนอกจากการรู้ทุกข์
สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ก็คือกายกับใจของเรานี่เอง
ตัวสมุทัย ตัวความอยาก ตัณหา โลภะ ราคะ ความเกาะเกี่ยวของจิต
จิตเข้าไปเกาะเกี่ยวเข้าไปยึดถืออะไร เข้าไปยึดถือกายยึดถือใจ
ก็เลยไปหยิบฉวยเอาตัวทุกข์เข้ามาครอบครองไว้

กายกับใจนี้เทียบไปเหมือนงูเห่า เราไม่รู้จัก ไม่รู้ว่ามีโทษมีภัย เราก็ไปหยิบมาอุ้มไว้
จิตก็เหมือนกัน จิตไม่รู้ว่ากายนี้ใจนี้เหมือนงูพิษ เป็นของไม่ดี เป็นทุกข์ เป็นทุกข์เป็นโทษ ไม่เห็น
ก็มีความยึดถือ มีความเกาะเกี่ยว เข้าไปผูกพัน รักใคร่ ยึดเอาไว้

กายนี้ใจนี้เป็นทุกข์เป็นโทษโดยตัวของมันเอง
แต่มันก็เป็นอย่างนั้นแหละ ไม่เกี่ยวกับจิตที่ฝึกดีแล้ว
ทีนี้จิตเราฝึกไม่ดี จิตมีความอยาก ก็เข้าไปยึดถือกายยึดถือใจ
ไปหยิบเอาของไม่ดีมาถือไว้ ก็เลยทุกข์ ความทุกข์นั้นเข้ามาสู่ใจ
ลำพังกายใจนี้มันเป็นทุกข์โดยตัวของมันเองเนี่ยเป็นทุกข์แบบหนึ่ง
เป็นทุกขสัจ เป็นทุกข์ เป็นตัวสภาวะของความทุกข์

การที่เราเข้าไปหยิบฉวยเข้ามาเนี่ยเกิดทุกข์
นี้ทุกข์เพราะตัณหา ทุกข์เพราะความยึดถือ เป็นทุกข์อีกชั้นหนึ่ง
เนี่ยคำว่าทุกข์ก็มีหลายระดับ ทุกข์ที่ลึกที่สุดเลยก็คือ ขันธ์ ๕ นั่นแหละเป็นตัวทุกข์
สิ่งที่เรียกว่าตัวเราๆ แยกออกไปเป็นขันธ์ ๕ จริงๆเป็นตัวทุกข์ ตัวนี้เห็นยาก
ทุกข์รองลงมาก็ทุกข์เพราะอยาก ใจเข้าไปหยิบฉวยเอาขันธ์ ๕ มาครอบครองไว้
ก็เลยไปหยิบเอาตัวทุกข์เข้ามาครอบครองไว้ในใจ ก็เป็นภาระทางใจ
ถ้าเห็นความจริงของขันธ์เมื่อไหร่ก็จะสลัดคืนขันธ์ให้โลก
จิตใจไม่มีความอยากความยึดถือ ไม่มีความเกาะเกี่ยวในขันธ์ จิตใจก็สิ้นภาระ

ขันธ์ ๕ เป็นตัวทุกข์ เป็นภาระ คนทั้งหลายเนี่ยยึดถือเอาไว้
ท่านบอก ขันธ์ ๕ เป็นภาระ เป็นของหนัก
คนทั้งหลายเนี่ยแบกของหนักไป ไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวง
พระอรหันต์เนี่ยท่านวางของหนักลงแล้ว คือวางความยึดถือขันธ์ลงแล้ว แล้วไม่หยิบขึ้นมาอีก
ใจก็หมดภาระ หมดความหนัก หมดความทุกข์ทางใจ


เนี่ยเราค่อยฝึกเอา ดูความจริงของธาตุขันธ์ไปเรื่อย
ถ้าไม่ดูความจริงของธาตุของขันธ์ ไม่มีทางบรรลุมรรคผลอะไรหรอก
คอยรู้ความจริงของธาตุของขันธ์
บางคนก็แยกธาตุแยกขันธ์ แยกสิ่งที่เรียกว่าตัวเราเป็นขันธ์
บางคนแยกเป็นธาตุ บางคนแยกเป็นอายตนะ แยกยังไงก็ได้
บางคนแยกเป็นอินทรีย์ ๒๒ ตัว ตาหูจมูกลิ้นกายใจ อยู่ในอินทรีย์เหมือนกัน
ธรรมะมันคร่อมไปคร่อมมานะ คร่อมหมวด บางทีท่านก็แสดงแบบนัยยะแบบนี้
บางทีท่านแสดงไปอีกคนหนึ่งท่านก็แยกสิ่งที่เรียกว่าตัวเราออกเป็นอีกแบบหนึ่ง
แล้วแต่ประโยชน์ โดยเพ่งเล็งประโยชน์ของคนฟัง
งั้นธรรมะก็เลยมีเยอะแยะไปหมดเลย ความจริงก็คือเรามาดูสิ่งที่เรียกว่าตัวเรานี่แหละ
ดูจนเห็นความจริงเลย สิ่งที่เรียกว่าตัวเราๆ จริงๆไม่ใช่ตัวเรา
จริงๆเป็นทุกข์ เป็นตัวทุกข์ตัวโทษ เห็นทุกข์ ใจก็วาง

.เมื่อก่อนหลวงพ่ออ่านนิยายตอนยังเด็กอยู่ เรื่องกามนิต วาสิฏฐี
ใครเคยอ่าน? คนโบราณจะอ่าน (เสียงหัวเราะ) เด็กๆนี้คงไม่เรียนแล้วมั้ง
พระพุทธเจ้าสอน “ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์” จริงท่านสอนทั่วๆไป ฝรั่งก็เอาไปเขียนเป็นนิยาย
ในพระสูตรก็มี พระนางมัลลิกา เป็นมเหสีองค์หนึ่งของพระเจ้าปเสนทิโกศล เคารพพระพุทธเจ้ามาก วันหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลถาม พระพุทธเจ้าสอนอะไร
สอนว่า “ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์” สอนเหมือนในเรื่องกามนิตนี่แหละ
พระเจ้าปเสนทิโกศลฟังแล้วหงุดหงิดใจ “ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีสุขสิ”
ถ้าพรากจากที่รักน่ะ ถึงจะทุกข์ รู้สึกอย่างนั้นไหม
ที่ใดมีรักก็ต้องมีความสุข ที่ใดไม่มีความรัก ความรักหนีไปแล้วนะ ถึงจะทุกข์
เนี่ยสอนอะไรอย่างนี้ ถ้าพระพุทธเจ้าสอนไม่ผิดนะ พระนางมัลลิกาก็จำมาผิด

ถ้าเรามาภาวนา ตอนแรกๆหลวงพ่อก็ไม่เข้าใจนะ ก็คิดเหมือนที่พวกเราคิดนั่นแหละ
พรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์ ในบทสวดมนต์ก็มีใช่ไหม ไม่ใช่ว่าที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์
มาภาวนานะ คำว่ารักเนี่ยไม่ใช่ love รักตัวนี้ก็คือตัวโลภะ ตัวราคะนั่นเอง ความเกาะเกี่ยวของจิต
อาการที่รักก็คืออาการเกาะเกี่ยว ความรู้สึกไหม ความรู้สึกเกาะเกี่ยว
ถ้าความรู้สึกเกาะเกี่ยวเกิดขึ้นเมื่อไหร่นะ ภาระทางใจจะเกิดขึ้นทันทีนั้น

งั้นมีรัก มีความเกาะเกี่ยวทางจิตเกิดขึ้นเมื่อไหร่
ภาระทางใจคือความทุกข์ก็เกิดขึ้นในขณะนั้นเลย
ถ้าเราเกาะเกี่ยวอยู่ในกาย เราก็จะทุกข์เพราะร่างกาย
เกาะเกี่ยวอยู่ในจิตใจก็จะทุกข์เพราะจิตใจ
เกาะเกี่ยวที่บ้าน ก็จะทุกข์เพราะบ้าน
เกาะเกี่ยวกับรถยนต์ ก็จะทุกข์เพราะรถยนต์
เกาะเกี่ยวกับอะไร ก็จะทุกข์เพราะอันนั้น
ที่ใดมีรัก ที่นั่นแหละมีทุกข์ จริงๆเลย
เราไปแปลคำว่ารัก แปลว่า love มันแปลแคบไป
รักตัวนี้คือความเกาะเกี่ยวของจิต ตัวโลภะนั่นเอง
ตัวอยาก ตัวตัณหา มีขึ้นมาเมื่อไหร่ มีภาระ มีทุกข์ทางใจเกิดขึ้นทุกทีไป
จะทำลายตัณหา ทำลายราคะตัวนี้ได้ ต้องเห็นความจริงในสิ่งที่เราเคยรัก
ถ้าเห็นว่าจริงๆแล้วมันไม่ดีหรอก ก็เลิกรัก

มาดูของเรานะ ภาวนาไป ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์จริงๆ อย่างนั้นจริงๆ
สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าเทศน์ มีนาก็ทุกข์เพราะนา มีวัวก็ทุกข์เพราะวัว
ถ้ามีขันธ์ ๕ ก็ทุกข์เพราะขันธ์ ๕ นั่นแหละ ถ้าเห็นทุกข์เห็นโทษนะ มันก็ปล่อย

พอเห็นทุกข์เห็นโทษ ความรักก็จืดจาง นึกออกไหม
พอเห็นทุกข์เห็นโทษ เห็นความไม่ดีไม่งามนะ ความรักก็จืดจาง ก็เรื่องธรรมดาอย่างนี้แหละ
ถ้าเรามาดูกายดูใจนะ เราเห็นทุกข์เห็นโทษของกายของใจ
ความรักความผูกพันในกายในใจก็จืดจาง จืดจางได้ ไม่ใช่ไม่ได้
เราคิดแต่ว่าเราจะจืดจางความรักต่อคนอื่น ไม่ใช่หรอก
ถ้ามาดูกายดูใจเป็นนะ จะจืดจางความรักต่อกายต่อใจนี้ ต่อขันธ์นี้

สุดท้ายก็ปล่อย บ๊ายบาย ต่างคนต่างไป ยังอยู่บ้านเดียวกันแต่ไม่กระทบกระทั่งกัน
จิตที่ฝึกดีแล้ว อยู่กับขันธ์นี่แหละ แต่ไม่ไปแบกขันธ์ขึ้นมา
ขันธ์จะแก่ เออเรื่องของแก ขันธ์จะเจ็บ ขันธ์จะตาย เรื่องของขันธ์
จะสุขจะทุกข์ จะดีจะชั่ว เรื่องของเค้า ไม่ใช่เรื่องของเรา ใจมันวาง
แต่มันชั่วไม่ได้เพราะสติมันเร็ว ยิ่งฝึกไปเรื่อยสติยิ่งเร็วนะ
มันจะวางดี ชั่วไม่วางแล้วเพราะไม่มีจะวาง
ชั่วเกิดนะ สติระลึกก็ขาดเลย เหลือแต่ดี แล้วดีก็วาง
พอวางหมดนะ ไม่มีอะไรให้ยึดถือ ใจก็สบาย ใจก็อิสระ ปลอดโปร่ง

ทุกวันนี้พวกเรารู้สึกไหมเราไม่ค่อยอิสระ เรามีพันธะเยอะแยะเลย เพราะเรายังผูกพัน
ผูกพันในครอบครัวเราก็เสียอิสระไปส่วนหนึ่ง ผูกพันกับบ้านเราก็เสียอิสระไปส่วนหนึ่งใช่ไหม
ผูกพันกับลูกก็เสียอิสระไปส่วนหนึ่ง ผูกพันกับชื่อเสียงเกียรติยศก็เสียอิสระ

ถ้าเรารักอะไรนะ เราจะทุกข์เพราะอันนั้น เราผูกพันกับอะไร เราจะทุกข์เพราะอันนั้น
สิ่งที่รักมีทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรม ชื่อเสียงเกียรติยศเป็นนามธรรม ก็เป็นเครื่องผูกมัน
เสียอิสรภาพทั้งสิ้นเลยไม่ว่าจะรักอะไร

ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์ ถ้าเห็นทุกข์เห็นโทษก็หมดรัก หมดรัก หมดยึด หมดทุกข์
สิ่งที่รักที่สุดคือกายกับใจของเรานี้ งั้นมาดูกายดูใจให้มาก เห็นความจริงของกายของใจให้มาก
ไม่มีทางเลือกอื่นหรอก จะเห็นทุกข์เห็นโทษของกายของใจ คลายความยึดถือออก
ก็หลุด เป็นอิสระ จิตหลุดพ้นแล้วเป็นอิสระ มีความสุข
คนที่มีอิสระ กับคนเป็นทาส ความสุขไม่เหมือนกันหรอก
พวกเราเป็นความสุขแบบเป็นทาส
ต้องใช้น้ำหอมยี่ห้อนี้ถึงจะมีความสุข นี่เป็นทาสน้ำหอมนะ
ต้องอยู่กับแมว นี่เป็นทาสแมว อยู่กับหมาถึงจะมีความสุข เป็นทาสหมา
เป็นไหม? ถึงเวลาต้องไปอาบน้ำให้มันใช่ไหม
พ่อเราๆยังไม่ไปอาบให้เลย (เสียงหัวเราะ) ต้องอาบให้หมา เสียอิสรภาพนะ

ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์นะ ยึดถืออะไรก็เสียอิสระภาพเพราะสิ่งนั้น
รักสิ่งใดก็เสียอิสรภาพเพราะสิ่งนั้นแหละ แต่มีหน้าที่
ไม่ใช่อยู่กับภรรยามานาน ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์ เลิกเลย เดี๋ยวไปหาเอาใหม่ อย่างนั้นไม่ใช่นะ
ทุกคนมีหน้าที่ของตัวเอง ทำไปตามหน้าที่ ไม่ปฏิเสธหน้าที่หรอกชาวพุทธ
อย่างเรามีพ่อมีแม่ ต้องรัก มีภาระต้องดูแล ก็ดูแล
มีลูก ต้องเลี้ยง ไม่ใช่ลูกเป็นอนัตตา มีลูกต้องเลี้ยงนะ เป็นอนัตตามึงจะไปไหนก็ไป ไม่ใช่
ทำหน้าที่ของเรานะ แต่ทำแบบไม่ยึดถือ ทำเต็มฝีมือ ได้ผลแค่ไหนพอใจแค่นั้น

เรามีหน้าที่เราก็ทำหน้าที่ของเราไปนะ แต่ทำอย่างฉลาด
ทำอย่างรู้ว่าเป็นแค่เครื่องอาศัยอยู่กับโลกแค่นั้นเอง
ไม่ใช่ทำแบบมาเป็นเจ้านายครอบครองหัวใจเรา
อยากรวย ไม่รู้จะรวยทำอะไรนะแต่อยากรวย วันๆไม่ทำอะไรหาเงินอย่างเดียวเลย
ไม่เคยใช้เงินเลยเพราะไม่ว่าง ยังไม่ว่างจะใช้เงิน
ทำๆๆไปนะ หมดแรง ใกล้จะตายแล้ว โอ้เงินเยอะเลยทำไงดี
เอาเงินนี่ละวะไปจ่ายค่าหมอเพื่อรักษาสุขภาพ จะได้มีแรงไปเที่ยว ตังค์ไม่มีแล้ว หมดแล้ว
น่าสงสารนะ สัตว์โลกทั้งหลาย เป็นไปตามกรรม

งั้นมาดูกายดูใจไว้ แล้วมันจะพ้นทุกข์
พ้นทุกข์เพราะเห็นแล้ว ที่ใดมีรัก ที่นั่นก็มีทุกข์แหละ
หมดรักหมดทุกข์ หมดรักได้เพราะเห็นทุกข์เห็นโทษ
ใจก็เป็นอิสระ มีความสุข
กลางวันก็สุข กลางคืนก็สุข ตื่นอยู่ก็สุข หลับอยู่ก็สุข
มีความสุข มันมีความอิ่มมีความเต็ม ไม่หิวอยู่ข้างในหรอก
ใจยังหิวอยู่ก็ดิ้นอยู่ ทุกข์อยู่นะ

สวนสันติธรรม
วันเสาร์ ที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๕

ฟังเนื้อหา: http://03.wimutti.net/pramote/cd/046/mp3/550630B.mp3