Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๕๘

พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
luangpor_pramote

luangpor

การรักษาศีลจะรักษาง่ายถ้าเรารักษาที่จิต
ถ้าเรามีสติรักษาจิต การรักษาศีลจะทำได้ง่าย จิตจะไม่ถูกกิเลสลากไป
เรามีสติแล้วก็คอยรู้ทันกิเลสที่เกิดที่จิตบ่อยๆ แล้วจะได้ศีลอัตโนมัติขึ้นมา
เราจะมีชีวิตที่โปร่งเบา มีความสุขขึ้นมากเลยนะ

มีศีลแล้วเราก็มาฝึกอีก ฝึกมีสติอย่างไรเพื่อให้เกิดสมาธิ
สมาธิมีสองชนิด สมาธิที่หนึ่งจิตไปสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว นี่แค่ทำสมถกรรมฐาน
สมาธิส่วนใหญ่ที่เค้าฝึกกันคือสมาธิสงบทั้งนั้นแหละ
ไม่ใช่สมาธิที่จิตตั้งมั่นที่จะเอาไว้ทำวิปัสสนากรรมฐาน

ส่วนใหญ่นะคนจะรู้แต่สมาธิที่จิตไปสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว
ถ้าเราอยากให้จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว ไม่ยากเลยนะ
ให้เรามีสติรู้ทันจิตไว้ เช่นจิตมีความรักใคร่ผูกพันใครสักคนหนึ่ง
จิตเกิดความรู้สึกรักใคร คิดไปถึงเค้าด้วยความรักนะ
รู้ทันใจที่มันคิดไปด้วยความรักเนี่ย มันก็จะขาดนะ
ตัวกามฉันทะความพอใจในอารมณ์ก็จะขาดไป จิตจะสงบเอง
แต่ถ้ามันฟุ้งไปคิดไปนะ คิดไปในทางพยาบาท เบียดเบียนคนอื่น จิตก็ฟุ้งซ๋าน
ก็มีสติรู้ทันว่าจิตกำลังคิดพยาบาทเค้าอยู่ ความพยาบาทดับ จิตก็สงบ
คิดไปมากๆ เกิดลังเลสงสัย คิดไปแล้ว เอ..กรรมฐานทำอย่างไรนะ
คิดไปๆ หาคำตอบได้ว่าทำอย่างนี้ มันก็หาเรื่องคิดใหม่ สงสัยใหม่
มีสติรู้ทันว่าจิตมันสงสัยนะ ความสงสัยก็ดับไป จิตก็มีสมาธิไม่ฟุ้งซ่านไป
จิตหดหู่ก็เหมือนกันนะ คิดเรื่องนี้แล้วมันหดหู่ขึ้นมา รู้ทันว่ามันหดหู่นะ
จิตที่หดหู่ก็จะดับไป ก็เกิดจิตที่มีสมาธิขึ้นมา
เนี่ยวิธีฝึกจิตให้เกิดสมาธิแบบง่ายๆนะ ใช้สติรู้ทันนิวรณ์

นิวรณ์เป็นกิเลสระดับกลาง มี ๕ ตัว
กามฉันทะนิวรณ์ พยาปาทะ พยาบาทนิวรณ์
อุทธัจจะ ฟุ้งซ่าน กุกกุจจะ รำคาญใจ
วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย
ถีนมิทธะ ความเซื่องซึมของจิตใจ ของกาย ของเจตสิกเซื่องซึมนะ
ถ้าเรามีสติรู้ทันนิวรณ์ นิวรณ์ดับ นิวรณ์ดับเมื่อไหร่ สมาธิเกิดเมื่อนั้น
เพราะนิวรณ์นั่นแหละ เป็นตัวกั้นไม่ให้จิตเกิดสมาธิ ขวางสมาธิอยู่

นี่เป็นวิธีทำให้เกิดสมาธิแบบลัดๆนะ สำหรับคนดูจิตแล้วสมาธิจะเกิดได้ง่ายเลย
ก็รู้ทันเข้ามา จิตมีกิเลส มีนิวรณ์อะไรเกิดขึ้น รู้ทัน
นิวรณ์ดับสมาธิเกิด ง่ายกว่าการไปกำหนดจิตไว้ในอารมณ์อันเดียว
คนรุ่นเราเนี่ย กำหนดจิตอยู่ในอารมณ์อันเดียวยาก จิตมันชอบหนี
อย่างไปอยู่กับพุทโธ ไปอยู่กับลมหายใจ
แป๊บเดียวก็หนีไปอยู่ที่อื่นแล้ว นับว่าขี้เกียจ ขี้เกียจทำ
ถ้าเรามีสติรู้ทันจิตไว้ชำนาญนะ นิวรณ์ใดๆเกิดรู้ทัน ปุ๊บ ดับเลย
ตัวเนี่ยพระพุทธเจ้าสอนไว้นะ อยู่ในสามัญญผลสูตร ท่านสอนพระเจ้าอชาตศัตรูไว้
ทีนี้เรามีสติรู้เท่าทัน นิวรณ์ก็จะดับ จิตจะมีสมาธิขึ้นมาอัตโนมัติ
เนี่ยสมาธิที่ชนิดหนึ่ง สมาธิสงบ

สมาธิชนิดที่สอง สมาธิชนิดตั้งมั่น
สมาธิสงบใช้ทำสมถะ เอาไว้พักผ่อน หรือเอาไว้ทำงานในโลก
สมาธิชนิดที่สอง ที่จิตตั้งมั่น เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน นี่เอาไว้ทำวิปัสสนากรรมฐาน
และเป็นสมาธิที่จะเกิดในขณะที่เกิดอริยมรรค เป็นสมาธิที่เกิดในขณะที่เกิดอริยผล
เป็นสมาธิที่พระอริยบุคคลใช้ในเวลาเข้าผลสมาบัติ
เป็นสมาธิชนิดที่จิตตั้งมั่นทั้งสิ้นเลย
สมาธิชนิดนี้เข้าฌานหนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า หก เจ็ด แปด ก็ได้
เช่นอยู่กับสมาธิสงบ สมาธิสงบให้จิตไปอยู่กับลมหายใจ พอลมหายใจหายกลายเป็นแสงสว่าง
จิตไปอยู่กับแสงสว่างนะ เข้าฌานหนึ่ง สอง สาม สี่ ได้
สมาธิที่จิตตั้งมั่นก็เข้าฌานได้เหมือนกัน
แต่ว่าจิตไม่ได้ไปส่งติดอยู่กับที่ตัวอารมณ์นะ จิตตั้งมั่นเป็นคนดู ต้องฝึก
สมาธิชนิดนี้อาภัพที่สุดเลยนะ คนไม่ค่อยรู้จักหรอก

ถ้าพวกเราอ่านพุทธประวัตินะ
ประวัติพระพุทธเจ้าสมัยยังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ อายุ ๓ ขวบ
ท่านไปนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ ใต้ต้นหว้า แล้วก็นั่งภาวนาหายใจไปด้วยความรู้สึกตัว
จิตก็ได้ปฐมฌาน ปฐมฌานอันเนี้ยเป็นจิตที่ตั้งมั่น เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
ต่อมาพอท่านจะไปบวช พออายุ ๒๙ ออกบวช
คือสมาธิเดิมที่เคยฝึกมาแต่ก่อนมาเตือนท่านนะ
ให้ฝึกสมาธิชนิดที่จิตตื่นเมื่อตอนอายุ ๓ ขวบ แล้วท่านก็ลืมไป
พออายุ ๒๙ ออกไปบวชก็เหมือนพวกเราทั้งหลายแหละ
พอคิดถึงการปฏิบัติธรรม สิ่งแรกที่คิดว่าจะทำก็คือไปนั่งสมาธิ
ท่านก็ไปเรียนกับพวกฤาษี เข้าฌานแปดได้ แล้วท่านพบว่าไม่ใช่ทาง คือไม่ละกิเลส
ท่านออกมาทรมานตนเองนะ แล้วก็ยังไม่สำเร็จ ตั้ง ๖ ปี
สุดท้ายท่านก็มาระลึกถึงทางสายกลางได้
สมาธิเดิมที่ท่านเคยฝึกมาแล้วแต่ชาติก่อนๆที่มันเคยโผล่มาตอนเด็กๆ
ท่านทำสมาธิแบบรู้สึกตัว จิตเข้าถึงฌานที่สี่
ถัดจากนั้นท่านออกมาเดินปัญญา มาพิจารณารูปธรรมนามธรรม
กระบวนการทำงานของจิตใจที่ปรุงความทุกข์ขึ้นมาที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท

เนี่ยสมาธิชนิดนี้เป็นสมาธิที่สำคัญมากนะ
ไปเข้าฌานได้เฉยๆ สงบนิ่งสบายอยู่เฉยๆ ไม่ใช่ทาง
ต้องเป็นสมาธิที่จิตใจตั้งมั่น อยู่กับเนื้อกับตัว จิตหลุดออกจากโลกของความคิด
สมาธิอย่างนี้ต้องฝึกนะ เป็นของหายากที่สุดเลย
เมื่อ ๓๐ ปีก่อนหาสักคนหนึ่งยังหายากเลยนะ
แต่ละแห่งๆที่ภาวนากันหาคนหนึ่งก็หายาก
แต่เดี๋ยวนี้มีเยอะนะ หลวงพ่อเทศน์ไปเรื่อยๆเนี่ย
คนเริ่มมาหาสมาธิที่จิตตั้งมั่นเนี่ยเยอะแยะเลย

วิธีฝึกนะ ทำกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาซะก่อน
จะพุทโธก็ได้ จะหายใจก็ได้ จะดูท้องพองยุบก็ได้
จะขยับตัวเองลองสังเกตก็ได้ อะไรก็ได้ เดินจงกรมก็ได้
แต่ไม่ได้ทำเพื่อให้จิตไปนิ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว
ไม่ได้ให้จิตไปอยู่กับพุทโธ ไม่ได้ให้จิตไปนิ่งอยู่ที่ลมหายใจ
ไม่ได้ให้จิตไหลไปอยู่ที่เท้า ไปอยู่ที่ท้อง ไปอยู่ที่มือ
เอาแค่ว่า ทำกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วจิตหนีไปคิดรู้ทัน
จิตหนีไปเพ่งรู้ทัน จิตมันเคลื่อนไป จิตเคลื่อนไปคิดรู้ทัน
จิตเคลื่อนไปเพ่งลมหายใจรู้ทัน จิตเคลื่อนไปอยู่ที่ท้องรู้ทัน

ถ้าเรารู้ทันจิตที่เคลื่อน จิตจะตั้งมั่นอัตโนมัติ ตัวนี้ตัวสำคัญมากนะ
พอจิตตั้งมั่นขึ้นมาได้ปุ๊บ มันจะเหมือนเราตื่นขึ้นมาอย่างแท้จริง
คนในโลกนี้ตื่นแต่ร่างกาย แต่จิตใจไม่ตื่น มันหลับมันฝันตลอดวันตลอดคืน
คิดโน่นคิดนี่ลืมเนื้อลืมตัว เหมือนคนไม่มีร่างกายไม่มีจิตใจ ลืมตัวเองไปหมดเลย
มันก็คือหลับฝันไปนั่นเอง ทั้งๆที่ลืมตาตื่น

เราต้องทำให้ตื่นทั้งกายตื่นทั้งใจให้ได้
ร่างกายของเราในขณะนี้ตื่นแล้ว แต่ใจของเราจะตื่นหรือไม่
ถ้าเรารู้ทันใจที่ไหลไปคิด ใจที่ไหลไปเพ่ง
ถ้าเรารู้ทันมันเคลื่อนไปปุ๊บ ใจจะตื่นขึ้นอัตโนมัติ
จิตจะตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานโดยอัตโนมัติ

เมื่อจิตเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว ต่อไปอาศัยสติเพื่อให้เกิดปัญญา
คนที่มีจิตที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานเนี่ย...
ตรงที่เราหายใจนะ แล้วจิตหนีไปคิดรู้ทัน อะไรเป็นเป็นตัวรู้ทัน
สติเป็นตัวรู้ทัน รู้ทันว่าจิตหนีไปคิดแล้ว
รู้ทันว่าจิตไปเพ่งลมหายใจแล้ว รู้ทันว่าจิตไหลไปที่ท้องแล้ว
อาศัยสตินี่เองรู้ทันจิตที่เคลื่อนไป จะได้สมาธิชนิดที่จิตตั้งมั่น
สมาธิตัวนี้สำคัญสุดยอดเลยนะ ถ้าไม่มีนะไม่มีทางได้เกิดมรรคเกิดผลเลย
เพราะขณะที่เจริญวิปัสสนาต้องใช้สมาธิอย่างนี้
ขณะที่เกิดอริยมรรคอริยผลก็ต้องใช้สมาธิชนิดนี้ ต้องฝึกนะ
เพราะงั้นเราคอยรู้ทันนะ
ทำกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วจิตไหลไปแล้วรู้ จิตไหลไปแล้วรู้
ไหลไปคิดกับไหลไปเพ่ง มีอยู่แค่นั้นแหละ ถัดจากนั้นมาเดินปัญญานะ