Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๕๖

พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
luangpor_pramote

luangpor

เฝ้ารู้ไปเรื่อยนะ หัดแยกขันธ์ไป
หัดแยกธาตุแยกขันธ์ แล้วก็เห็นธาตุเห็นขันธ์นั้นแสดงไตรลักษณ์ นี่แหละเรียกว่าการเจริญปัญญา
เริ่มต้นด้วยการหัดแยกธาตุแยกขันธ์ก่อน
กายกับใจ คนละอันกัน
ความสุขความทุกข์ ก็ไม่ใช่กาย ไม่ใช่ใจ
กุศลอกุศลทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับจิต ก็ไม่ใช่กาย ไม่ใช่ใจ ค่อยๆดูไป
จิตที่เกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดแล้วก็ดับไป
ไม่มีอะไรที่คงทนถาวรอยู่เลย ไม่ใช่ตัวเราที่ถาวรอีก

เนี่ยเฝ้ารู้เฝ้าดูลงไปเรื่อยนะ ในที่สุดปัญญามันเกิด มันจะปิ๊งขึ้นมา
เบื้องต้นมันจะปิ๊งขึ้นมาว่าตัวเราไม่มี มีแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น สิ่งนั้นดับเป็นธรรมดา
อย่างเรารู้สึกอยู่ กายกับใจแยกกันอยู่เนี่ย เห็นร่างกายหายใจอยู่
มันจะรู้เลยว่าเรามีชีวิตอยู่ชั่วขณะที่หายใจเท่านั้น
หายใจออก ถ้าหายใจออกแล้วไม่หายใจเข้าก็ตาย
หายใจเข้าแล้วไม่หายใจออกก็ตาย
ร่างกายนี้ก็อยู่ชั่วขณะเท่านั้นเอง
ร่างกาย ยืนเดินนั่งนอน ก็เป็นชั่วขณะ
ขณะนี้ยืน ขณะนี้เดิน ขณะนี้นั่ง ขณะนี้นอน
มันคนละคราว คนละคราวไป เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ตัวเราหรอก
ความสุขความทุกข์ ก็เปลี่ยนไปเรื่อย
นั่งอยู่ประเดี๋ยวก็ปวดตรงนั้น ประเดี๋ยวก็คันตรงนี้ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ
หรือจิตใจ ฟังหลวงพ่อเทศน์อยู่ เดี๋ยวก็มีความสุข เดี๋ยวก็เป็นอุเบกขา เดี๋ยวก็งง เดี๋ยวก็เครียด
ฟังหลวงพ่อเทศน์ บางทีเทศน์ยากๆ งง ใครเคยรู้สึกไหม งง
งงรู้ว่างงนะ ไม่ต้องหาคำตอบหรอก

ที่เทศน์ให้ฟังแทบเป็นแทบตายนะ เพื่อให้พวกเรารู้สภาวะให้เป็นเท่านั้นเอง
แล้วก็ให้เห็นเลย สภาวะทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ต้องการสอนตรงนี้เท่านั้นเอง
งั้นบางทีพูดอะไรที่เราไม่เข้าใจ ไม่สำคัญนะ
บางทีหลวงพ่อพูดกับคนๆหนึ่ง เค้าเข้าใจ เราไปฟังเราไม่เข้าใจ เรางง
งงก็แค่รู้ว่าความงงมันเกิดขึ้น ก็เห็นมันเกิดแล้วมันก็ดับไป เกิดแล้วก็ดับไป
ต้องการให้เห็นแค่นี้เอง ไม่ได้ต้องการอะไรเยอะหรอก

ฟังแล้วมีความสุข ส่วนใหญ่เวลาฟังหลวงพ่อเริ่มต้นนะจะฟุ้งซ่าน
ฟังไปสักพักหนึ่งจะสงบ มีความสุข
จิตมีความสุข รู้ว่ามีความสุข จิตสงบ รู้ว่าสงบ
สงบ เป็นสังขาร อยู่ในกลุ่มสังขารขันธ์
ความสุข อยู่ในกลุ่มของเวทนาขันธ์ เกิดที่ใจเราด้วยกัน
บางทีจิตใจเราเวทนาเด่น มันก็เห็นจิตใจมีความสุข จิตใจมีอุเบกขา
บางทีสังขารมันเด่นนะ เห็นจิตใจสงบ จิตใจงง จิตใจฟุ้งซ่าน ดูความเปลี่ยน
นี่เป็นดูสังขารที่เปลี่ยนแปลง

ที่มาฟังธรรมน่ะ เพื่อจะหัดดูให้เป็นเท่านั้นแหละ
พอดูเป็นก็เรียกว่าเรารู้วิธีปฏิบัติ เราก็ต้องไปปฏิบัติด้วยตนเอง
ทั้งวันๆนะ ตั้งแต่ตื่นนอนจนหลับ ก็คอยรู้ไป
คนไหนถนัดดูกาย ก็เห็นร่างกายมันทำงาน จิตเป็นคนดู
ตื่นนอนมาปุ๊บนะ เห็นร่างกายมันนอนอยู่ จิตเป็นคนดู
เห็นร่างกายบิดขี้เกียจ จิตเป็นคนดู
บิดซ้ายก็รู้ บิดขวาก็รู้ เห็นเลยตัวที่บิดนั้นไม่ใช่ตัวเรา
อย่างนี้ก็เรียกว่าปฏิบัติธรรมนะ กำลังบิดขี้เกียจอยู่ก็ปฏิบัติธรรมอยู่
ดีไม่ดีบรรลุพระอรหันต์ขณะนั้น จะได้จดจารึกไว้ว่าบรรลุตอนบิดขี้เกียจบ้าง (เสียงหัวเราะ)
อยู่ที่สติปัญญามันจะไปพอตอนไหน

งั้นเรารู้ไปเรื่อยนะ รู้
เห็นกายมันทำงานไป ไม่ใช่ตัวเรา
เห็นเวทนามันทำงาน ไม่ใช่ตัวเรา
เห็นสังขารมันทำงาน ไม่ใช่ตัวเรา
เห็นจิตมันทำงาน ไม่ใช่ตัวเรา
เฝ้าดูไปเรื่อย สุดท้ายมันก็ปิ๊ง ตัวเราไม่มีหรอก

ภาวนาจนยอมรับความจริงว่าตัวเราไม่มี ก็เป็นพระโสดาบัน
ภาวนาต่อไปอีก รูปนี้ก็มีแต่ทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย
เวทนานี้ก็เป็นทุกข์นะ ทั้งสุขทั้งทุกข์นี้แหละ เป็นสิ่งที่เสียดแทงใจทั้งสิ้นเลย
ความสุขก็เสียดแทงจิตใจ ใครเห็นตัวนี้ได้บ้างแล้ว?
ความสุขเป็นของเสียดแทงใจ ยกมือซิ... โอ้ สาธุนะ ไม่ใช่ง่ายนะ
มีแต่คนเค้าวิ่งหาความสุข แต่เรารู้แล้วว่าความสุขเป็นเครื่องเสียดแทง
เนี่ยเฝ้ารู้ไปนะจะเห็นเลย ไม่มีอะไร มีแต่ทุกข์ทั้งนั้นเลย

ใครเคยเห็นจิตที่ไหวๆเวลากระทบอารมณ์บ้าง?
สังเกตไหมจิตมันไหวๆได้เอง
ถ้าเราดูความไหวไปเรื่อยๆนะ ทั้งวัน ทั้งคืน
ถ้าสติมันอัตโนมัติ มันเห็นความไหวอยู่ทั้งวันทั้งคืนนะ
จะรู้เลยว่านอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรเลย
ทุกคราที่จิตไหว ทุกคราวของความทุกข์นั่นแหละ

ใครเคยเห็นจิตไหวแล้วเป็นทุกข์ไหม
ทุกข์ล้วนๆเลยนะ ทั้งวันทั้งคืนมีแต่ทุกข์เลย
ไปดูหนัง จิตก็ไหว ก็ทุกข์อีก
ไปฟังเพลง จิตไหว จิตก็ทุกข์อีก
นั่งอยู่ดีๆลมพัดนะ กระทบผิวร่างกาย จิตก็ไหว
แสงแดดส่องถูกเปลือกตา จิตก็ไหว
ได้ยินเสียงพระเคาะระฆัง จิตก็ไหว แถมน้ำลายไหลด้วย (เสียงหัวเราะ)

เนี่ยถ้าเราเห็นจิตที่ไหว ไหว ไหว ไหวนะ
เวลามันกระทบอารมณ์แล้วไหวไปเรื่อยนะ จะเห็นเลย ทุกข์จริงๆเลย
เพราะมันไหวทั้งวัน มันไหวทั้งคืนนะ สะเทือนอยู่อย่างนั้นน่ะ
ธาตุขันธ์นี้สะเทือนนะ ถูกบีบคั้นอยู่ตลอดเวลาเลย สั่นสะเทือนอยู่ตลอดเวลาเลย
ดูไปดูไปนะ โอ้ ทุกข์ทั้งนั้นเลย ทุกข์จนทนแทบไม่ไหวนะ

ถ้าเมื่อไหร่รู้สึกทุกข์จนดูต่อไปจะไม่ไหวแล้ว ไม่ดูมันก็ไม่ได้มันเห็นตลอดเวลา
ถ้ามันถึงจุดนี้นะ เวลาต้องการพักเนี่ย มีที่เดียวคือการทำสมถะนะ
แต่ถ้าเห็นจิตไหวๆ แล้วก็หลงไปบ้าง แล้วมาเห็นไหวๆ
อันนี้ไม่จำเป็นน่ะ ยังไม่เห็นทุกข์แท้จริง
ตอนที่ไหวๆอยู่น่ะก็ทุกข์ ตอนที่เผลอไปไม่ทุกข์
เลยตอนหลังจิตจะน้อมไปทางเผลอ จิตจะน้อมไปทางไม่ดูทุกข์
ใครเคยเป็น ภาวนาแล้วจิตไปอยู่ว่างๆ ไม่ยอมดูกายดูใจ
ไหนยกมือซิมีไหม... นี่เพราะว่ามันหนีทุกข์นะ

วิธีเวลาถ้ามันไหวๆเราเห็นเป็นทุกข์เนี่ย
ไม่ใช่หนีด้วยการทำไม่รับรู้มัน ทำเป็นไม่รับรู้มัน เราจะเวียนอยู่ในวัฏฏะไม่เลิก
ถ้ามันไหวๆแล้วเราทนไม่ไหวแล้วนะ เหน็ดเหนื่อยมากนะ ทำความสงบจิต
พอทำความสงบ ความไหวเนี่ยมันจะลดความรุนแรงลง
พอมันลดความรุนแรง เราก็คอยรู้คอยดูไป เนี่ยมาเนิบๆมาช้าๆ
พอดูไปดูไป มันก็จะค่อยเร็วขึ้นๆนะ ไหววิ้บๆๆๆ ทั้งวันทั้งคืน
ก็ทำความสงบเข้ามาอีก เนี่ยจิตจะมีแรง

สุดท้ายจิตจะรู้เลยว่า มีแต่ทุกข์ทั้งนั้นเลย
ความปรุงแต่งเกิดขึ้นทีไร ความทุกข์เกิดขึ้นทุกที
ความปรุงแต่งทั้งหลายสงบเสียได้ ความพ้นทุกข์ก็เกิดขึ้น
เคยได้ยินไหม “อนิจจา วะตะ สังขารา อุปปาทะวะยะธัมมิโน
อุปปัชชิตวา นิรุชฌันติ เตสัง วูปะสะโม สุโขฯ”
สังขารทั้งหลายสงบเสียได้เป็นสุข
สังขารเนี่ยทำงาน ไหว วิ้บๆๆๆ ทั้งวันทั้งคืนนะ
วัฏฏะหมุนอยู่ในใจเราเนี่ย วิ้บๆๆๆ ทั้งวันทั้งคืนเลย
เราเฝ้ารู้เฝ้าดูไป อย่าไปเกลียด อย่าไปหนีไป
ถึงหนีมันนะมันก็ยังไหวอยู่อย่างนี้ แต่เราไม่เห็น เราไม่เห็นทุกข์เห็นโทษ
ไม่หนีมัน ไม่น้อมใจไปว่างๆหนีมัน เห็นไหววับๆๆ ไปอย่างนี้
ถ้าทนไม่ไหวก็ทำความสงบเข้ามา มีกำลังใจมีเรี่ยวมีแรงแล้ว ดูมันอีก
สติมันจะอัตโนมัตินะมันจะเห็นเนี่ย ไหวยิบยับๆ เห็นทั้งวัน มันเห็นทั้งวันเห็นทั้งคืนด้วย
สมาธิ จิตตั้งมันอยู่ อันนี้เป็นสมาธิชนิดจิตตั้งมั่นถึงเห็นมันไหววิบวับ
แล้วเวลาจะพักน่ะ ใช้สมาธิชนิดสงบ คือใช้สมถะ
ไม่ใช่พักด้วยจิตที่ตั้งมั่นนะ แต่พักด้วยจิตที่สงบอยู่ในอารมณ์อันเดียวเป็นที่พัก
งั้นสมถะเอาไว้พักผ่อน พอพักผ่อนพอสมควร
มีเรี่ยวมีแรงสดชื่นแล้วก็มีจิตที่ตั้งมั่นแล้ว ดูธาตุดูขันธ์มันทำงาน

ฝึกจนมันอัตโนมัติไปหมดเลยนะ
สติระลึกถึงความไหวของจิตเนี่ย ทั้งวันทั้งคืนโดยที่ไม่เจตนา
จิตก็ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูนะ แถมยังได้รับความชุ่มฉ่ำของสมาธิของสมถะมาช่วยเหลือด้วย
ใจไม่แห้งผากเกินไป ถ้าไม่มีสมถะช่วยด้วยจะแห้ง แห้งสุดขีดเลย แห้งผากเลยนะ
เนี่ยอาศัยสิ่งเหล่านี้นะ ฝึกไปจนเป็นอัตโนมัติ
พอมันอัตโนมัติแล้วคราวนี้เลิกไม่ได้ การปฏิบัตินะหยุดไม่ได้เลิกไม่ได้
แต่พักได้ด้วยสมถะ มีเท่านี้เอง

เนี่ยทำมากเข้าๆ ปัญญามันพอนะ จิตมันรู้แจ้งเลยว่า จิตนี้เป็นทุกข์จริงๆ
จิตนี้หาสาระแก่นสารไม่ได้ มีแต่ความไม่เที่ยง กระเพื่อมไหวอยู่ตลอดเวลา
จิตนี้ถูกบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา จิตนี้ทำงานเอง ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอะไร

ถ้าได้อย่างนี้ มันรวมเข้ามานะ
ก่อนที่มันจะเข้าใจเนี่ยจิตจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิเลย
ทั้งๆที่ชาตินี้ไม่เคยหัดเข้าฌานเลยนะ เนี่ยหัดเจริญสติอยู่อย่างพวกเราเนี่ย คอยดูไป
ถึงเวลาทำในรูปแบบบ้างอะไรบ้างนะ ทุกวันทำไปเพื่อให้มีแรง
แล้วก็เจริญสติดูกายดูใจมันทำงานไป
พอถึงขั้นละเอียดมันจะถึงความไหว ยิบยับๆในจิตนี่แหละ

ก็ดูไปเรื่อยถึงมันพอนะ จิตจะเข้าอัปปนาสมาธิเอง เข้ารวมมาเองเลย
แล้วมันจะมาตัดกิเลสข้างในใจเรานี้
ถัดจากนั้นออกจากสมาธิมาแล้ว พ้นจากระบวนการของอริยมรรคอริยผลแล้ว
ทบทวนดู กิเลสอะไรล้างแล้ว กิเลสอะไรยังไม่ล้าง
แต่ตอนทบทวนต้องระวังอย่างหนึ่ง
บางคนจิตรวมเข้าสมาธิแล้วมีอาการแปลกๆ นึกว่าเกิดมรรคผล ไม่เกิดนะ
มันเป็นอาการหลอกต่างๆนานาซึ่งเยอะมากเลยที่จะหลอก
พอออกมาแล้วเนี่ย จิตค้างสมาธิออกมาด้วย
ออกจากสมาธิแล้วจิตค้างความนิ่งออกมา จิตจะนิ่งๆ
อย่างสมมุติว่าจิตนิ่งอยู่อย่างนี้ทั้งวันเลย จะไม่มีกิเลสโผล่เลย
แล้วบอกว่าดูแล้วไม่มีกิเลสแล้ว บรรลุแล้ว
ที่จริงไม่ใช่หรอก ไปประคองจิตไว้ ไปรักษาจิตไว้

เมื่อเราไปประคองไว้นะ ไม่มีกิเลสนะ
แต่พอปล่อยเท่านั้นล่ะ กิเลสจะมาเลย
งั้นเวลาจะดูจิตว่าล้างกิเลสหรือยังนะ อย่าประคองจิตให้นิ่ง
อย่าประคองจิตนะ ปล่อยจิตให้เป็นธรรมชาติ สมัยที่ยังภาวนาไม่เป็นอย่างนั้นเลย
ปล่อยให้จิตมันทำงานปกติ
ถ้าเห็นได้อย่างนั้นนะถึงจะดูตัวจริงออกว่ากิเลสนั้นยังมีหรือไม่มี
กิเลสตัวไหนล้างแล้ว ตัวไหนยังไม่ล้าง จะเห็นด้วยตัวเองได้
แต่ถ้าประคองจิตนิ่งๆนะ แล้วก็บอกว่าดูแล้วไม่มี อันนั้นไม่ใช่นะ

สวนสันติธรรม
วันศุกร์ ที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๕