Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๕๒

พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
luangpor_pramote

luangpor จะทำวิปัสสนาต้องรู้อารมณ์รูปนาม
เห็นความจริงของอารมณ์รูปนาม ไม่ใช่รู้อารมณ์รูปนามอย่างเดียว
ต้องเห็นความจริงคือเห็นไตรลักษณ์ของอารมณ์รูปนาม ถึงจะเรียกว่าวิปัสสนากรรมฐาน

ถ้าเห็นอารมณ์บัญญัติ
เช่นเราคิดขึ้นมาว่าร่างกายเราเป็นปฏิกูลอสุภะอะไรอย่างนี้
นี่เรื่องคิดขึ้นมา เรียกว่าอารมณ์บัญญัติ ไม่ใช่วิปัสสนา

ถ้ารู้อารมณ์รูปนามเช่นเราเห็นท้องพองท้องยุบ ท้องพองท้องยุบ
เราเห็นอยู่แค่นี้ เราไม่ได้มองในมุมของไตรลักษณ์ เราเห็นแต่ตัวท้อง
หรือเดินจงกรมเราเห็นแต่เท้าเคลื่อนที่ไปนะ เพ่งอยู่ที่เท้า ดูท้องก็เพ่งอยู่ที่ท้อง
อันนี้เป็นการเพ่งรูปเพ่งนาม เพ่งจิตให้นิ่งอยู่ ดูจิตก็ไปเพ่งจิตให้นิ่งอยู่
การเพ่งกาย การเพ่งจิต ถึงจะรู้กายถึงจะรู้จิต ก็ไม่เป็นวิปัสสนาเพราะไม่เห็นไตรลักษณ์
อย่างดูท้องพองยุบนะ ถ้าเราเห็นแต่ท้องพองท้องยุบ ก็เป็นสมถะ
เป็นการเพ่ง เพ่งอะไร
? เพ่งกสิณนั่นแหละ เพ่งวัตถุ

ถ้าจะเป็นวิปัสสนานะ ต้องดูไตรลักษณ์
เออ ตัวที่พองไม่ใช่เรา ตัวที่ยุบไม่ใช่เรา อะไรอย่างนี้
“เห็น” ด้วยความรู้สึก ไม่ใช่ด้วยความคิดเอา

อารมณ์ชนิดที่สาม ชื่ออารมณ์นิพพาน
เนี่ยอารมณ์มีสามชนิดนะ อารมณ์บัญญัติ อารมณ์รูปนาม อารมณ์นิพพาน
นิพพานนั้นพ้นจากรูปนามไป
นิพพานมีอยู่จริงๆ ไม่ใช่อุดมคติที่พระพุทธเจ้าแต่งขึ้นมา
ไม่ใช่แต่งขึ้นมาเพื่อปลุกใจให้คนสร้างแต่ความดี ศาสนาพุทธไม่ได้มุ่งมาที่ความดี
อย่างพระพุทธเจ้าท่านสอนเลย เรามาบวชนี่ไม่ใช่เพื่อศีลนะ
ไม่ใช่เพื่อสมาธินะ ไม่ใช่เพื่อปัญญานะ ไม่ใช่เพื่อสิ่งเหล่านี้เลย
ศีล สมาธิ ปัญญา นี่เป็นเรื่องของคุณงามความดี นี่เป็นทางผ่านเท่านั้นเอง
เราจะเอาแก่น แก่นแท้คือความหลุดพ้น
ความพ้นทุกข์ ความดับสนิทแห่งทุกข์ จะมุ่งมาที่ตัวนี้ เพราะงั้นไม่ใช่เรื่องมุ่งเอาดี

ศาสนาพุทธนี่ไม่ใช่พูดถึงนิพพานเพื่อจะมาหลอกล่อให้คนมีกำลังใจทำความดี
อันนั้นตื้นไป เข้าใจศาสนาพุทธผิดไปแล้ว
ศาสนาพุทธนี้ไม่หลอกล่อใคร มีแต่ชวนให้ดูความจริง
ถ้าประจักษ์แจ้งในความจริงแล้วมันจะปล่อยวางความยึดถือในกายในใจเอง
มีคำว่าเองนะ ปล่อยเอง ทำไมปล่อย
?
เพราะถ้ารู้ความจริงของกายของใจแล้ว รู้เลย ไม่ใช่ของดีของวิเศษ
มีแต่ของไม่เที่ยง ของเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จะเอามันทำไม
พอรู้ความจริงเราปล่อยรูปนามได้ มันจะไปสัมผัสพระนิพพาน

รูปนามนั้นแหละ ถ้าจิตเราไปติดอยู่ที่ตัวรูปตัวนามนะ เราจะไม่เห็นพระนิพพาน
ถ้าเราไปติดอยู่กับอารมณ์บัญญัติ เราจะไม่เห็นรูปนาม
งั้นเราต้องเพิกอารมณ์พวกนี้ออกไปให้ได้ เป็นลำดับๆไป
อันแรกเลยต้องหลุดออกจากโลกของความคิดให้ได้ เพื่อจะหลุดออกจากอารมณ์บัญญัติ
วิธีฝึกก็ทำกรรมฐานขึ้นสักอย่างหนึ่ง พุทโธไป หายใจไป ดูท้องพองยุบไปก็ได้นะ
แล้วคอยรู้ทันเวลาจิตมันไหลไปคิด พุทโธๆ จิตหนีไปคิดรู้ทัน
หายใจไป จิตหนีไปคิดรู้ทัน ดูท้องพองยุบไป จิตหนีไปคิดรู้ทัน
ขณะที่รู้ทันว่าจิตหนีไปคิด จิตจะหลุดออกจากโลกของความคิดชั่วขณะ
มีคำว่าชั่วขณะ ไม่หลุดตลอด จิตมีหน้าที่คิด
เพียงแต่มันไม่หลงเพลินไปในโลกของความคิด แล้วเกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา

ที่หลวงพ่อใช้คำว่าตื่นบ้างอะไรบ้างนะ รู้ตัวแล้ว ตื่นแล้ว อะไรอย่างนี้
ก็ภาวะที่จิตหลุดออกจากโลกของความคิดนั่นเอง หลุดชั่วขณะ
วิธีหลุดก็ง่ายๆ พุทโธไป หายใจไป จิตหนีไปคิด รู้ทัน
ตรงที่รู้ทันว่าจิตหนีไปคิด จิตจะหลุดออกจากโลกของความคิด มาสู่โลกของความรู้สึกตัว
ถ้ารู้สึกตัว ก็สามารถรู้ความจริงได้แล้ว เห็นของจริงได้แล้ว
ถ้าหลงอยู่ในโลกของความคิดก็ไม่เห็นของจริง เพราะความคิดปิดบังความจริงไว้หมด

จุดตั้งต้นจุดแรกเลย ที่เราต้องพัฒนาตัวเองขึ้นมา
ก็คือต้องมาพัฒนาจิตใจให้หลุดออกจากโลกของความคิด
มาอยู่ในโลกของความรู้สึกตัว โลกของผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
พุทโธไป หายใจไป จิตหนีไปคิด รู้ทัน จิตหนีไปคิด รู้ทัน ตัวรู้ก็จะหลุดออกมา

หลวงพ่อไปเรียนจากหลวงปู่ดูลย์ครั้งแรกนะ วันที่ 6 กุมภา 2525 หลายคนยังไม่เกิด
ไปเรียนกับท่านครั้งแรก ท่านสอนให้ดูจิตตัวเอง
หลวงพ่อก็ เอ๊ะ
!? จะดูจิต จะดูยังไง? ก็เที่ยวดูในกายก่อน
แยกผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูกนะ
แยกเป็นส่วนๆๆไป หาจิต เที่ยวแสวงหาจิต
รู้ว่าจิตอยู่ในร่างกาย แต่ไล่ไปทีละส่วนๆ ไม่พบจิต
ก็มาคิดใหม่ เอ๊ะ
!? หรือว่าจิตเป็นความรู้สึกสุขทุกข์? ยังไม่รู้จักจิต
ดูไปที่ความรู้สึกสุข ทำสมาธิ จิตมีความสุข
ดูไปที่ความรู้สึกสุข ความรู้สึกสุขดับไป ไม่เห็นมีจิตโผล่ขึ้นมา
ก็นั่งนิ่งๆ ไม่กระดุกระดิกนะ ให้มันปวดให้มันเมื่อย ให้มันสุดๆไปเลย
ดูไปความปวดความเมื่อยนั้น นั่งดูมันไปเรื่อย
ความปวดความเมื่อยดับไปนะ ไม่เห็นมีจิตโผล่ขึ้นมาเลย
เอ๊ะ
!? หรือว่าจิตคือความคิด? ตอนนั้นยังไม่รู้จักภาวะขันธ์ ๕ จริงหรอก
เคยแต่สวดมนต์แปล ของสวนโมกข์
ไปบวชวัดชลประทานฯ ก็สวดๆไปงั้นแต่ไม่เข้าใจความหมาย
หรือว่าจิตคือความคิด
? หลวงพ่อก็คิดเลยนะ คิดบทสวดมนต์นั่นแหละ
“พุทโธ สุสุทโธ กะรุณามะหัณณะโว” พระพุทธเจ้าผู้บริสุทธิ์ มีพระกรุณาดุจห้วงมหรรณพ
คิดบทสวดมนต์ขึ้นมา เห็นความคิดนี่เลื้อยขึ้นมา
ความคิดนะมันไหลออกมาจากความว่างๆนะ เลื้อยขึ้นมาแล้วมันก็สลายเข้าไปในความว่างอีก
ตรงที่เรารู้ทันความคิดที่ผุดขึ้นมาเนี่ย เลื้อยออกมา ความคิดไหลออกมาเนี่ย
เรารู้ทันปุ๊บ
! จิตมันดีดตัวผางออกมาเป็นผู้รู้เลย

เมื่อไหร่รู้ว่าจิตคิด เมื่อนั้นจิตรู้จะเกิด
จิตรู้กับจิตคิดนั้นกลับข้างกัน
ถ้าเมื่อไหร่จิตคิด จิตรู้ก็หาย
ถ้าเมื่อไหร่มีจิตรู้ จิตคิดก็หาย กลับข้างกันตลอด
หลวงปู่ดูลย์ก็เลยบอก “คิดเท่าไรก็ไม่รู้ หยุดคิดถึงรู้”
รู้ก็คือมีตัวรู้ขึ้นมานะ แต่ว่าท่านไม่ได้บอกให้เลิกคิด
หลวงปู่ดูลย์บอก “คิดเท่าไรก็ไม่รู้ หยุดคิดถึงรู้ แต่ก็ต้องอาศัยคิด”

ถ้าจิตเรายังต้องคิดอยู่ ก็ให้มันคิดไป
แต่คิดแล้วเกิดความรู้สึกอะไรขึ้นมาก็คอยรู้ทัน
ตัวนี้เราถึงจะเกิดปัญญาเห็นความเปลี่ยนแปลง
เช่นเดี๋ยวเห็นจิตสุข เดี๋ยวเห็นจิตทุกข์ เดี๋ยวเห็นจิตดี เดี๋ยวจิตร้าย
เนี่ยความคิดมันเกิดขึ้น แต่ว่าก่อนจะถึงจุดที่เราจะเดินปัญญาได้นะ
เห็นว่าสุขเกิดก็ดับ ทุกข์เกิดก็ดับ ดีเกิดก็ดับ ชั่วเกิดก็ดับ
ต้องรู้สึกตัวให้ได้ก่อน ต้องหลุดจากความคิดให้ได้ก่อน
ตราบใดที่ยังคิดอยู่ จิตรู้ไม่มีนะ

ทีนี้พอจิตรู้หลุดปุ๊บออกมา รู้ทัน
!
“พุทโธ สุสุทโธ กะรุณามะหัณณะโว” พระพุทธเจ้าผู้บริสุทธิ์ มีพระกรุณาดุจห้วงมหรรณพ
จงใจคิดอันนี้ขึ้นมา พอจงใจคิดนี้ รู้ว่าจิตคิดเท่านั้น จิตรู้เกิด
จิตรู้เกิดแล้ว หลวงพ่อนึกได้เลยตัวนี้ของเก่า ตอนที่หัดนั่งสมาธินะ มันมีตัวนี้อยู่แล้ว
เพราะงั้นจิตรู้นี่เกิดขึ้นได้ด้วยสองวิธี
อันหนึ่งนั่งสมาธิในรูปแบบนี่แหละ ทำให้เต็มที่เลยนะ
จนจิตตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้ผู้ดูได้ จิตก็หลุดออกจากโลกของความคิดได้
อีกวิธีหนึ่งก็คือ รู้ทันว่าจิตคิด จิตรู้ก็เกิด
ตัวรู้สองตัวนี้เหมือนกันนะ แต่คุณสมบัติไม่เท่ากัน
ตัวรู้ที่เกิดจากการทำสมาธิจะทรงอยู่นาน อยู่ได้หลายวัน
ในขณะที่ตัวรู้ที่เกิดจากการรู้ทันว่าจิตหนีไปคิด จะเกิดเป็นขณะๆ
รู้ตัวขึ้นแว๊บนึงเดี๋ยวก็หนีไปคิดใหม่ รู้แว๊บนึงเดี๋ยวก็หนีไปคิดใหม่
แต่แค่นี้ก็พอแล้วสำหรับการจะเจริญปัญญาเอามรรคเอาผลนะ
ไม่จำเป็นต้องไปตั้งทรงอยู่ในฌานนานๆหรอก ไม่จำเป็น
ทำได้ก็ดี ทำไม่ได้ก็ไม่ต้องเสียใจ
เส้นทางแห่งมรรคผลไม่ใช่เส้นทางเฉพาะผูกขาดของคนนั่งสมาธิเก่งๆ

คนส่วนใหญ่สมัยพุทธกาลก็นั่งสมาธิไม่เก่ง
อย่างหลวงพ่อเคยเล่าเรื่อยๆนะ มีสถิติ พระพุทธเจ้าท่านดำรัสไว้เอง
ท่านบอกในพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์นะ มีพระอรหันต์ได้วิชชา ๓
ระลึกชาติได้รู้ว่าใครตายแล้วไปเกิดที่ไหน แล้วก็ละกิเลสได้ ๓ ข้อ
พระอรหันต์ที่ได้วิชชา ๓ นี้มี ๖๐ องค์ จาก ๕๐๐ องค์
แล้วพระอรหันต์ที่ได้อภิญญา ๖ เช่นมีฤทธิ์
มีหูทิพย์ตาทิพย์ ระลึกชาติได้ เล่นอะไรแปลกๆได้
มีคุณสมบัติพิเศษ ๕ ประการ ข้อที่ ๖ ก็คือฆ่ากิเลสตายเหมือนกัน
พระอรหันต์ที่ได้อภิญญา ๖ นี่ก็มี ๖๐ องค์ ๖๐ องค์นี้ต้องเล่นฌาน
พระวิชชา ๓ นี้ก็พวกเล่นฌาน รวมแล้ว ๑๒๐ องค์ใช่ไหม
แล้วท่านบอกว่า มีพระอรหันต์อีก ๖๐ องค์ เป็นอุภโตภาควิมุต
อุภโตภาควิมุต ถ้าแปลมั่วๆบอกว่าบรรลุทั้งสมถะทั้งวิปัสสนา ทั้งสมาธิทั้งปัญญา
แปลอย่างนั้นไม่ถูก เพราะว่าทุกคนที่บรรลุธรรมเนี่ย บรรลุได้ด้วยสมาธิและปัญญาทุกคนอยู่แล้ว
ทำไมเรียกว่าอุภโตภาค
? อุภโตภาคนั้นหลุดโดยส่วนทั้งสอง
หลุดจากรูปธรรม ด้วยการที่เข้าถึงอรูปฌาน
พระอุภโตภาคเนี่ยไม่ใช่แค่ฌาน ๔ นะ แต่เข้าถึงอรูป
แล้วก็หลุดจากนามธรรมนะ ด้วยวิปัสสนา
หลุดจากรูปธรรมด้วยอรูปฌาน

การบรรลุธรรมตั้งแต่โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี พระอรหันต์เนี่ย
ในขณะที่บรรลุเนี่ยจิตต้องทรงฌาน จะไม่บรรลุแบบจิตอยู่ข้างนอกนี้
จิตอยู่ข้างนอกอย่างพวกเราขณะนี้ จิตไม่มีคุณภาพพอ
เวลาที่จิตทรงฌาน เกิดความรู้ความเข้าใจขึ้นในฌาน
มันจะประณีตลึกซึ้งมากเลย ถึงขนาดฆ่ากิเลสได้
ถึงขนาดฆ่ากิเลสได้ อยู่ข้างนอกนี่เกิดความรู้ขึ้นมายังฆ่ากิเลสไม่ได้ ได้แต่ข่มกิเลสนะ

งั้นพระอรหันต์ ๖๐ องค์นี้ท่านได้ถึงอรูป
รวมแล้ว ๖๐ + ๖๐ + ๖๐
= ๑๘๐ นะ
อีก ๓๒๐ คือคนอย่างพวกเรานี่เอง พวกที่ต้องใช้ขณิกสมาธิอย่างนี้แหละ
งั้นเราอย่าท้อแท้ใจนะ ๖๔ เปอร์เซ็นต์ เสียงส่วนใหญ่สมัยพุทธกาล ก็คนอย่างพวกเรานี่แหละ
แต่มัน ๙๙ เปอร์เซ็นต์ของคนยุคนี้ ไม่ใช่ ๖๔ เปอร์เซ็นต์

รุ่นเรานี่หาคนทำฌานได้นี่หานับตัวได้เลย
ที่เรียนกับหลวงพ่อมีอยู่บ้าง แต่น้อยจริงๆเลย นับตัวได้
ยุคนี้ไม่ใช่ยุคของคนเล่นฌานแล้ว เพราะงั้นเราอย่าท้อแท้ใจว่าเข้าฌานไม่ได้
บางคนไปสำคัญผิดนะ มีความเชื่อ ต้องใช้คำว่าความเชื่อ
มีความเชื่อผิดๆ ไม่อยากเรียกว่ามิจฉาทิฏฐิ มันรุนแรงไป
มีความเชื่อผิดๆ ว่าเจริญปัญญาได้ต้องเข้าฌานได้ก่อน
ไม่ได้รู้เลยว่าการปฏิบัติธรรมนั้นมี ๓ เส้นทาง
ใช้ปัญญานำสมาธิอย่างพวกเรานี่แหละ ดูความเกิดดับของจิตไป
ดูความเกิดดับของเจตสิกคือสิ่งที่เกิดร่วมกับจิต ได้แก่ความสุขความทุกข์ ความจำได้หมายรู้
กุศลอกุศลทั้งหลายที่เกิดร่วมกับจิต แล้วตัวจิตเองที่เกิดทางทวารทั้ง ๖
จิตไปดู จิตไปฟัง จิตไปคิด สิ่งเหล่านี้เกิดดับ

เนี่ยถ้าเราเฝ้ารู้เฝ้าดูไปเรื่อยนะ ในที่สุดก็ได้ธรรมะเหมือนกัน
ลงมาที่เดียวกันนั่นแหละ ถึงความบริสุทธิ์อันเดียวกันนั่นแหละ
แล้วไม่แน่นะว่าไม่ได้ฌาน ดูจิตๆน่ะถึงอุภโตภาคเอาง่ายๆ เพราะดูจิตนั่นแหละเป็นอรูปอยู่แล้ว

สวนสันติธรรม
วันเสาร์ ที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๕๕