Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๕๑

พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
luangpor_pramote

luangporการทำวิปัสสนากรรมฐานคือการเรียนรู้ความจริงของกายของใจ
อย่าไปวาดภาพวิปัสสนาเป็นเรื่องพิลึกๆนะ ยากเย็นแสนเข็ญ ไม่ใช่อะไรเลย วิปัสสนากรรมฐานเป็นแค่เรื่องการเรียนรู้ความจริงของกายของใจตัวเองเท่านั้นเอง
ความจริงของกายของใจก็คือ มันไม่เที่ยง
มันเป็นทุกข์ มันถูกบีบคั้นตลอดเวลา
มันเป็นอนัตตา กายนี้ไม่อยู่ในอำนาจของเราจริง จิตใจไม่อยู่ในอำนาจของเราจริง
เรียนเพื่อให้จิตยอมรับความจริง ว่ากายนี้ใจนี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ แล้วก็บังคับไม่ได้ไม่อยู่ในอำนาจ

อย่างร่างกายเราไม่เที่ยง เมื่อก่อนเด็กตอนนี้ไม่เด็ก
เมื่อก่อนแข็งแรง ตอนนี้ไม่แข็งแรง อะไรอย่างนี้ มันไม่เที่ยง
มันเป็นทุกข์ มันมีความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา แต่คนไม่มีปัญญามองไม่เห็น
อย่างเรานั่งอยู่นี่รู้สึกไหม เดี๋ยวก็ปวด เดี๋ยวก็เมื่อย เดี๋ยวก็คัน
ใครมานั่งนี่แล้วยังไม่คันเลยมีไหม
? เห็นไหมเราเกาอัตโนมัติเวลาเราคัน
เนี่ยมันทุกข์นะ ถึงต้องแก้ทุกข์ด้วยการเกา

เรารู้ไหมทำไมเราหายใจออก ทำไมเราหายใจเข้าสลับกันไปเรื่อยๆ
เราหายใจเพื่อแก้ทุกข์นะ
พวกเราลองหายใจเข้าไปเรื่อยๆ แล้วดูซิจะสุขหรือจะทุกข์
ลองหายใจเข้าเรื่อยๆ อย่าหยุดนะ... ทุกข์ไหม
?
ต้องรีบหายใจออกเพื่อแก้ทุกข์ใช่ไหม
หายใจออกไปเรื่อยๆสิ ทุกข์หรือสุขล่ะ
?... ทุกข์อีกแล้ว
หายใจออกไปเรื่อย ไม่ได้หายใจเข้า ก็ทุกข์อีกแล้วนะ
แค่หายใจนี่นะก็หายใจเพื่อหนีทุกข์นะ เราไม่เคยรู้สึก

ทำไมเราต้องเปลี่ยนอิริยาบท
? ยืน เดิน นั่ง นอน เปลี่ยนไปเรื่อยก็เพื่อหนีทุกข์
งั้นความทุกข์นี่มันบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา
แต่การเปลี่ยนอิริยาบท เปลี่ยนอะไรต่ออะไรไปเนี่ย มันทำให้เรากลบความทุกข์ไว้แล้วเรามองไม่เห็น
เนี่ยถ้าเราดูเป็นนะจะเห็นมันทุกข์

ร่างกายเป็นอนัตตาเป็นอย่างไร
?
ร่างกายเป็นวัตถุ มีธาตุไหลเข้ามีธาตุไหลออกตลอดเวลา
เนี่ยหายใจเข้าหายใจออก เราบังคับไม่ได้ เราสั่งไม่ได้จริง
สั่งไม่ให้แก่ก็ไม่ได้ สั่งไม่ให้เจ็บ สั่งไม่ให้ตาย ทำไม่ได้ทั้งสิ้นเลย บังคับมันไม่ได้สักอย่าง
สั่งให้หนุ่มตลอด สาวตลอด มันไม่เชื่อ ทำไม่ได้
ร่างกายเป็นแค่วัตถุเท่านั้นเอง เป็นก้อนธาตุ มีธาตุไหลเข้าไหลออกตลอดเวลา
กินอาหารแล้วก็ขับถ่าย กินน้ำแล้วก็ขับถ่าย
หายใจเข้า แล้วก็หายใจออก นี่ธาตุมันหมุนเวียนอยู่เรื่อยๆ เป็นแค่วัตถุแค่นั้นเอง
มารวมตัวกันชั่วครั้งชั่วคราว แล้วก็แตกสลายไปในที่สุด อย่างไรก็แตกสลายออกไปในที่สุด
ไม่อยู่ในอำนาจบังคับที่แท้จริง สั่งมันไม่ได้ ไม่ให้แก่ไม่ให้เจ็บไม่ให้ตาย ทำไม่ได้

เนี่ยความจริงของกาย นั่นคือไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ความจริงของใจ ก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหมือนกัน
จิตใจมีความสุขมันก็สุขชั่วคราว จิตใจมีความทุกข์มันก็ทุกข์ชั่วคราว มันไม่ได้เป็นได้ตลอด
จิตใจดีก็ดีชั่วคราว จิตใจชั่วก็ชั่วชั่วคราว
จิตใจที่มีความโกรธ ก็โกรธชั่วคราว
จิตใจที่โลภ มันก็โลภชั่วคราว
จิตใจที่หลง มันก็หลงชั่วคราว เป็นคราวๆหมดเลย
จิตใจที่สุข มันก็สุขชั่วคราว จิตใจที่ทุกข์ ก็ทุกข์ชั่วคราว เนี่ยมันไม่เที่ยง

แล้วจิตใจมันเป็นทุกข์อย่างไรอีก
? จิตใจมันถูกบีบคั้นตลอด
ถ้าเราภาวนาเป็นเราจะเห็นมือลึกลับอยู่อันนะ
มีมือลึกลับนะ คอยขยำใจเราอยู่ตลอดเวลาเลย
คอยบด คอยขยี้ คอยบี้นะ ถ้าเราทำตามใจมันนะมันก็ค่อยๆทนุถนอมนะ
ถ้าเราไม่ทำตามใจนะ มือลึกลับนี่จะขยำจิตใจเราให้เป็นทุกข์เลย
มือลึกลับตัวนี้ชื่อว่าตัณหา

ถ้าตัณหาคือความอยากนะ
สังเกตดูให้ดีเถอะ ใจเรามีความอยากตลอดเวลาเลย
แค่อยากมาวัดนี้ก็อยากแล้วเห็นไหม
มาแล้วกลัว เอ๊ะหลวงพ่อหนีกลับไปก่อนหรือยัง
ต้องโทรมาถามหลวงตา ว่าหลวงพ่อมาแน่ไม่แน่ อะไรอย่างนี้
อยากมาฟัง แค่อยากมาฟังก็กลุ้มใจได้นะ
อยากกิน อยากนอน อยากดู อยากได้ยินเสียง อยากได้กลิ่น
ใจเรามีความอยากนานาชนิดนี่หมุนอยู่ตลอดเวลาเลย ทั้งวันทั้งคืน
ใจนี่ถูกบีบคั้นด้วยตัณหาตลอดเวลาเลย หาความสุขไม่ได้เลยนะ ถูกบีบคั้น
หรืออย่างตัวความสุขเกิดขึ้นนะ ตัวความสุขเองก็ถูกบีบคั้น
บีบคั้นจากอะไร
? จากเหตุปัจจัยที่ให้เกิดความสุข

ความทุกข์ก็ถูกบีบคั้นนะ
ความสุขความทุกข์ กุศลอกุศลทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นในจิตใจเรานี้มีเหตุให้เกิดทั้งสิ้น
อย่างความโกรธก็มีเหตุของความโกรธ
อันแรกเลย เราต้องไปกระทบอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ
เช่นไปเห็นคนที่เราเกลียดมันเดินมาหาเราแล้ว นี่คนนี้เราเกลียด นี่เห็นอารมณ์ที่ไม่ชอบ
อันที่สอง เรามีอนุสัย มันมีความเคยชินที่มันไม่ชอบเลยสิ่งเนี่ย
อันที่สาม เราไปตรึก เราไปคิดในทางไม่ดี เรียกว่าพยาบาทวิตก
ถ้าองค์ประกอบมันครบนะ ความโกรธมันถึงจะเกิด
อย่างเห็นเค้าเดินมานะ มันเป็นคนที่เราเกลียดแท้ๆเลย เราก็เคยเกลียดมันด้วยนะ
แต่เราไม่ได้คิดอะไรตอนนั้น เราไม่ได้คิดอะไร
คิดเรื่องอื่นอยู่ ไม่โกรธหรอก ความโกรธก็มีเหตุให้เกิด

ทีนี้เหตุของความโกรธเนี่ยมันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
เช่นคนนี้ที่เราเกลียด มันเดินมาแล้วมันก็เดินไปนะ
เหตุนี้มันเปลี่ยนแล้ว ความโกรธที่เกิดขึ้นในจิตเราก็หาย
ไม่ใช่เพราะกูเก่งนะ แต่เพราะเหตุมันดับ
หรือเราไม่ได้คิดในทางร้าย มันก็ไม่โกรธ
ทีแรกคิดในทางร้ายอยู่ แล้วก็นึกขึ้นได้ว่าหลวงพ่อปราโมทย์บอกโกรธแล้วให้ดูจิตตัวเอง
ย้อนมาดูจิตตัวเอง ไม่ได้ดูคนที่ทำให้เราโกรธ ความโกรธก็ดับ ไม่ได้ตรึกในอารมณ์ที่โกรธ
เห็นไหมตัวความโกรธเองก็ถูกบีบคั้นนะ เพราะเหตุของความโกรธนี่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ตัวความโลภ ความหลง ความสุขความทุกข์ทั้งหลาย
ก็ถูกบีบคั้น เพราะเหตุของมันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

เนี่ยเราค่อยภาวนานะ
เราจะเห็นเลยว่าทุกสิ่งทุกอย่างในจิตใจเรานี้ถูกบีบคั้นหมดเลย
ตัวจิตเราก็ถูกบีบคั้น อารมณ์ที่เกิดขึ้นในจิตก็ถูกบีบคั้น
ค่อยๆรู้ ค่อยๆดูไป

จิตใจเป็นอนัตตา สั่งไม่ได้
สั่งให้สุข มันก็ไม่ฟังนะ มันไม่ค่อยจะสุข
ห้ามทุกข์ มันก็ไม่ฟัง มันจะทุกข์
สั่งให้ดี มันก็ไม่ยอมดีนะ ห้ามชั่ว มันก็จะชั่ว
จิตน่ะมันห้ามไม่ได้ อย่างวันนี้ตั้งใจจะภาวนาสามชั่วโมง
พอลงมือนั่งแป๊บเดียว ก็ดูนาฬิกาเมื่อไหร่มันจะหมดสามชั่วโมงซักที
เนี่ยความเพียร วิริยะใช่ไหม ตั้งใจไว้อย่างนี้ไม่สำเร็จ มันบังคับใจไม่ได้
เราไม่ได้ฝึกบังคับด้วยนะ แต่เราฝึกรู้ทันให้เห็นเลย จิตใจเราไม่เที่ยง จิตใจเป็นทุกข์ จิตใจเป็นอนัตตา

การทำวิปัสสนากรรมฐาน คือการเรียนรู้ความจริงของกาย การเรียนรู้ความจริงของจิตใจ
เรียนรู้ให้เห็นความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของกายของใจ
ถ้าเรารู้ความจริงนะ จะเบื่อ
กายนี้น่าเบื่อ จิตใจนี้น่าเบื่อ เพราะมันเป็นของแปรปรวนตลอดเวลา
เพราะเบื่อหน่าย จะคลายกำหนัด คลายความรักใคร่ยึดถือ
ร่างกายนี้เคยหวงแหนที่สุด จิตใจนี้เรารักตัวเองที่สุด
แล้วพอภาวนาเห็นความจริงแล้วมันจะคลายความยึดถือในกายในใจได้
ถ้าหมดความยึดถือ เราจะสัมผัสพระนิพพาน

งั้นเราต้องมาดูความจริงของกายของใจให้ได้
ถ้าไม่ดูความจริงของกายของใจ ไม่มีโอกาสสัมผัสพระนิพพานเลย
ต้องเห็นกายเห็นใจตามความเป็นจริงนะถึงจะเบื่อหน่าย
เพราะเบื่อหน่ายจึงคลายกำหนัด คือคลายความรักใคร่ยึดถือ
เพราะคลายกำหนัดจึงหลุดพ้น หลุดพ้นจากความยึดถือกายยึดถือใจ
เรียกว่าสัมผัสพระนิพพานเต็มชั้นเต็มภูมิ มีความสุขที่สุดเลย

วัดพระศรีรัตนาราม
Florissant, Missouri, USA
วันเสาร์ ที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๕