Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๕๐

พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
luangpor_pramote

luangpor ถ้าเมื่อไหร่รู้อริยสัจนะ จะปล่อยวางตัวจิตได้
งั้นการที่จะเข้ามาทำลายผู้รู้ ปล่อยวางตัวจิตได้ ต้องรู้แจ้งอริยสัจ
อันนี้แถมไว้ให้นะ พวกเรายังไม่ถึงตรงนี้หรอก แต่บอกไว้ก่อน
นานๆเจอกันที เกิดหลวงพ่อไม่อยู่แล้ว เกิดถึงตัวผู้รู้แล้วจะได้ทำลายผู้รู้ได้

ทำลายผู้รู้ไม่ได้ทำด้วยวิธีอื่น ไม่ได้ทำด้วยการกำหนดจิตไปเพ่งใส่มัน
ไม่ได้แกล้งทำเป็นเอ๋อๆไม่รู้เรื่อง ทำสติแตก ไม่ใช่
แต่มันคือการรู้แจ้งอริยสัจแห่งจิต
ถ้าวันใดเราเห็นความจริง ว่าจิตนี้ไม่ใช่ของดีของวิเศษ จิตนี้เป็นทุกข์ล้วนๆ
บางท่านเห็นว่าจิตเป็นทุกข์ เพราะมันไม่เที่ยง
บางท่านเห็นว่าจิตเป็นทุกข์ เพราะมันถูกบีบคั้น
บางท่านเห็นว่าจิตเป็นทุกข์ เพราะมันบังคับไม่ได้
มันบังคับไม่ได้นะ มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตานั่นเอง
การที่เห็นแจ้งว่าจิตเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เพียงมุมใดมุมหนึ่งนะ จิตจะปล่อยวางจิต เค้าจะปล่อยของเค้าเอง

ทำไมต้องเห็นแจ้งตรงนี้แล้วเป็นการรู้อริยสัจ
ในบรรดาขันธ์ ๕ ทั้งหลายเนี่ย สิ่งที่เรายึดถือเหนียวแน่นที่สุดนะก็คือจิต
สิ่งที่เราสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวเรามากที่สุด ก็คือจิต
สิ่งที่เรายึดถือเหนียวแน่นที่สุด ก็คือจิต
งั้นวันใดที่เห็นความจริงว่าจิตไม่ใช่ตัวเรา จะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่ตัวเรา
วันใดไม่ยึดถือจิต ก็จะไม่ยึดถือสิ่งใดในโลกอีกแล้ว
เพราะจิตเป็นศูนย์กลางของโลก เป็นศูนย์กลางของจักรวาล

งั้นให้เราคอยมาสังเกตความจริงของจิตไปเรื่อยๆ
จิตนี้ไม่เที่ยง จิตนี้ถูกบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา
จิตนี้ไม่อยู่ในอำนาจ สั่งให้ดีก็ไม่ดี ห้ามชั่วมันก็จะชั่ว
สั่งให้สุขมันก็ไม่สุข ห้ามทุกข์มันก็จะทุกข์ มันไม่อยู่ในอำนาจจริง
เนี่ยเฝ้าดูลงไป เห็นแต่ของที่ไม่อยู่ในอำนาจ ไม่ใช่ฝึกจนมันอยู่ในอำนาจนะ
ถ้าฝึกจนอยู่ในอำนาจก็คือเข้าไปควบคุมมันสำเร็จ
นั่นแหละไม่ปล่อยตัวผู้รู้หรอก แต่ว่าเข้าไปยึดถือผู้รู้ไว้อย่างเหนียวแน่นเลย

แต่ก่อนที่พวกเราจะมาถึงจุดที่ทำลายผู้รู้นี้อย่าเพิ่งรีบร้อนนะ
ดูจิตมันเกิดดับ ดูจิตมันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรื่อยๆไป ถึงเวลามันทำลายของมันเอง
เหมือนลูกไก่ที่โตเต็มที่แล้วจะเจาะทำลายเปลือกเอง
อยู่ๆเราไปรีบตอกไข่นะ แม่ไก่ออกมาปุ๊บ
แล้วเราอยากได้ลูกไก่เร็วๆ ตอกไข่ออกมาไม่เจอลูกไก่ ยังไม่เป็นตัว
เหมือนจิตของพวกเราตอนนี้นะ อย่าเพิ่งไปทำลายจิตนะ อย่าเพิ่งไปทำลายผู้รู้นะ
ทำลายออกมาจะไม่เหลืออะไรเลย เหลือแต่ไข่เจียว เหลือแต่ไข่ดาว ไม่ได้เรื่องหรอก

งั้นพอมีจิตแล้วนะ ก็คอยรู้คอยดูของเราไป เฝ้ารู้เฝ้าดูเรื่อยไป
ถึงจุดหนึ่งเมื่อสติปัญญามันบ่มเต็มที่แล้วมันจะปล่อยวางจิตด้วยตัวของมันเอง

นี่สอนให้แบบละเอียดแล้วนะ ไม่มีใครเค้าสอนกันหรอกนะอย่างนี้ สอนแล้วมันเปลืองตัว
นี้หลวงพ่อเรียนมาจากครูบาอาจารย์ ท่านสอนมาอีกที เรามาบอกต่อให้ ธรรมะจะได้ไม่หายไป
ถ้าตราบใดที่ปล่อยวางจิตไม่ได้ ยังเวียนว่ายตายเกิดอีก
จิตเหมือนเมล็ดของต้นไม้ เหมือนเมล็ดของต้นมะม่วง เหมือนเมล็ดทุเรียน ขนุน อะไรอย่างนี้
มีเมล็ดอยู่เมล็ดเดียวนะ เอาไปเพาะ งอกต้นไม้ขึ้นมาอีก ออกลูกออกหลานมาได้อีกเยอะแยะเลย
จิตดวงเดียวที่ยังไม่สิ้นเชื้อเกิด ยังมีอวิชชา ยังมีความไม่รู้แจ้งถึงอริยสัจซ่อนอยู่ภายใน
จิตดวงเดียวนี้แหละ พาเราเวียนว่ายตายเกิดไปสู่ภพภูมิใหม่ๆ สร้างขันธ์ ๕ ใหม่ขึ้นมาได้อีก
เหมือนเมล็ดมะม่วง สร้างต้นมะม่วง ออกลูกมะม่วงมาได้อีกเยอะแยะเลย
จิตดวงเดียวที่ยังมีเชื้อเกิดคือไม่รู้อริยสัจอยู่เนี่ย
มันพาให้เราได้ขันธ์ ๕ ขึ้นมาอีกในภพภูมิต่างๆเวียนว่ายไปเรื่อย

งั้นเฝ้ารู้ไปนะ เฝ้ารู้ รู้ทันจิตใจของเราไปเรื่อย
อย่าเข้าไปแทรกแซงจิต จิตเป็นอย่างไรให้รู้ว่าเป็นอย่างนั้น
จิตสุขให้รู้ว่าจิตสุข คือเห็นว่าความสุขก็อยู่ชั่วคราว จิตที่สุขก็อยู่ชั่วคราว
จิตทุกข์ก็รู้ว่าทุกข์ ก็เห็นว่าความทุกข์เป็นของชั่วคราว จิตที่มีความทุกข์อยู่ก็เป็นของชั่วคราว
ความฟุ้งซ่านความหดหู่อะไรเกิดขึ้น ความสุขความทุกข์ความดีความชั่วอะไรเกิดขึ้น ก็ดูลงไป
ความโกรธก็ของชั่วคราว จิตที่โกรธก็ของชั่วคราว ดูอย่างนี้เรื่อยไป นี่แหละเรียกว่าการเจริญปัญญานะ

ถ้าเจริญปัญญาจนถึงขั้นปล่อยวางกายปล่อยวางจิตได้เราจะมีความสุขที่ไม่มีอะไรเหมือน
เป็นความสุขที่ไม่กลับกลอกเหมือนความสุขของการเข้าสมาธิ
ความสุขของการทำสมาธิเป็นความสุขที่กลับกลอก เอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้จริง
มันสุขอยู่ชั่วเวลาที่นั่งทำสมาธินั่นแหละ พอออกจากสมาธิมันก็กลับมาทุกข์อีก
เพราะงั้นมันไม่ได้สาระแก่นสารจริง
เราก็ต้องมาพัฒนาให้เกิดความสุขที่เกิดจากปัญญารู้แจ้งเห็นจริง
ปล่อยวางความยึดถือในธาตุในขันธ์ เราจะเป็นอิสระที่แท้จริง

มนุษย์นะใฝ่หาอิสรภาพ แต่ละคนๆก็บอกตัวเองเป็นอิสระๆ
ความจริงไม่มีใครเป็นอิสระเลย ทุกคนตกเป็นทาสของความอยากตลอดเวลา
ความอยากสั่งเราตลอดเวลานะ เราไม่ได้เป็นตัวของตัวเองหรอก
เรามาฝึกจิตฝึกใจของเรา วันหนึ่งเราเป็นอิสระ เรามีความสุข เราโปร่งโล่งเบา
กลางวันก็มีความสุข กลางคืนก็มีความสุข แช่มชื่นเบิกบาน
ร่างกายแก่ ใจก็ยังมีความสุข ร่างกายเจ็บ ใจก็ยังมีความสุข ร่างกายจะตาย ใจก็มีความสุขนะ
มีความสุขอยู่ได้ตลอด ไม่ต้องพึ่งพาอะไรภายนอก มันเต็มอิ่มอยู่ในตัวเอง

พวกเราความสุขของเราอิงอาศัยสิ่งภายนอก นึกออกไหม
เราต้องเจอคนนี้ถึงจะมีความสุข ถ้าไปเจอคนนี้ไม่มีความสุข เห็นไหมเราต้องอิงอาศัยของข้างนอก
เราต้องมีรถยี่ห้อนี้ถึงจะมีความสุข ถ้ามียี่ห้อนี้ไม่มีความสุข อะไรอย่างนี้
ต้องมีมือถือรุ่นนี้ ไม่มีรุ่นนี้ไม่มีความสุข อะไรอย่างนี้ อิงอาศัยของข้างนอกตลอดเลย
ต้องมีบ้านหลังใหญ่ๆแล้วมีความสุข
บ้านหลังใหญ่ๆภาระเยอะจะตายไป มีแต่ภาระ ไม่เห็นจะสุขตรงไหนเลย
วันๆแทนที่จะได้เข้าบ้านแล้วนอนให้สบายนะ ทำความสะอาดแป๊บเดียวนอนได้แล้ว
นี่บ้านหลังเบ้อเร่อเลย ทำแทบตาย ทำจนหมดแรงหอบแห่กๆ มีความสุขตรงไหน

งั้นเราคอยดูนะ เราจะได้พบความสุขภายในตัวของเราเอง
ความสุขที่ไม่อิงอาศัยของข้างนอก
เศรษฐกิจจะตกต่ำ การเมืองจะวุ่นวาย ไม่ได้มาทำให้ใจของเราเสียความสุขไปได้นะ
อะไรเกิดขึ้น คนที่เรารักจะตาย เราจะต้องเจอสิ่งที่ไม่ดีในชีวิต
จิตใจไม่หวั่นไหวเลย จิตใจจะเต็มอิ่มอยู่ในตัวของตัวเอง
เนี่ยธรรมะของพระพุทธเจ้าอัศจรรย์ถึงขนาดนี้นะ

เมื่อเราปล่อยวางจิตได้แล้วนะ จิตจะพรากออกจากขันธ์
จิตกับขันธ์ ๕ เนี่ยไม่กระทบกระทั่งกัน อยู่ด้วยกันนะ แต่ไม่กระทบกระทั่งกัน
คำว่าจิตพรากจากขันธ์นี้ไม่ใช่พรากออกมาเป็นสองอัน ไม่ใช่ถอดจิตออกจากกายนะ
จิตก็อยู่อย่างปกตินี่แหละ แต่จิตมันไม่ยึดขันธ์
มันจะมีความรู้สึกเหมือนจิตกับขันธ์แยกออกจากกัน ไม่ใช่ถอดออกไปนอกร่างกายนะ
จิตกับความรู้สึกสุขทุกข์ก็แยกออกจากกัน พรากออกจากกัน
จิตกับความปรุงแต่ง ความคิดนึกปรุงแต่ง ก็พรากออกจากกัน
จิตมันพรากออกจากขันธ์ ขันธ์นั่นแหละเป็นตัวทุกข์ จิตก็พรากออกจากตัวทุกข์

งั้นพระอรหันต์เนี่ย ท่านก็ยังมีขันธ์อยู่ แต่ท่านไม่เกาะเกี่ยวในขันธ์
ขันธ์เป็นตัวทุกข์ เพราะงั้นพระอรหันต์ไม่ทุกข์ไปกับขันธ์ เรียกว่าท่านพ้นทุกข์
ถ้าอยู่ไปเรื่อย ดำรงชีวิตไปเรื่อยนะ ไปจนวันที่ขันธ์แตกดับ ขันธ์แตกดับพวกเราเรียกว่าตาย
พระอรหันต์ท่านเห็นว่าธาตุมันจะแตก ขันธ์มันจะแตกอะไรเนี่ย ท่านจะไม่หวั่นไหวเลย
เมื่อธาตุแตกขันธ์แตกแล้ว จิตซึ่งบริสุทธิ์แล้วจะสลายตัว
จะกระจายตัวรวมเข้ากับความว่าง ความว่างของจักรวาล ความว่าง
ท่านเปรียบเทียบคล้ายๆไฟ ไฟที่มันติดอยู่นี้ พอถึงวันหนึ่งเวลาหนึ่งไฟมันดับ
ไฟมันดับเนี่ย ไฟไม่ได้สูญไปนะ แต่ไฟนี้กระจายตัวออกไป ความร้อนนี้กระจายตัวเต็มโลกธาตุออกไป
ธาตุรู้นี้เหมือนกัน ธาตุรู้นี้พอถึงจุดนั้นนะมันจะทิ้งขันธ์แล้ว
ขันธ์แตกขันธ์ดับแล้ว ไม่มีขันธ์มาเป็นเครื่องผูกรั้งเกาะเกี่ยวอีกต่อไปแล้ว
มันจะกระจายตัวรวมเข้ากับพระนิพพาน จิตกับพระนิพพานเข้าไปสัมผัสกัน
ความจริงสัมผัสตั้งแต่บรรลุพระอรหันต์แล้วล่ะ แต่ยังมีขันธ์เป็นตัวถ่วงอยู่

เพราะงั้นพระอรหันต์เวลาที่ใกล้จะมรณภาพ ใกล้จะนิพพานเนี่ย ท่านร่าเริงนะ
จะไม่เหมือนพวกเราเวลาใกล้ตาย บางทีเสียดาย เศร้าโศก จิตใจไม่สบาย
ในขณะที่พระอรหันต์ท่านครองขันธ์อยู่
ท่านมีความรู้สึกว่าท่านแบกภาระอยู่ ขันธ์เป็นภาระที่ต้องคอยดูแลอยู่
พอขันธ์จะแตก ธาตุจะแตก ขันธ์จะดับเนี่ยกลายเป็นความสบายของท่าน
แต่ท่านก็ไม่ได้อยากให้มันแตกนะ เพราะใจท่านเป็นกลางกับทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว
เพราะงั้นพระอรหันต์ไม่ได้กลัวตาย แต่พระอรหันต์ก็ไม่ได้อยากตาย เป็นภาวะที่อัศจรรย์นะ
พลังงานที่เหลืออยู่ จิตท่านนั้นกลมกลืนเข้ากับความว่างไป
แต่พลังงานนั้นไม่สูญหายไปไหน งั้นพลังจิตของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ยังดำรงอยู่นะ
ถ้าพวกเรามีสมาธิพอ จิตใจเราสะอาดพอ
เราจะสัมผัสพระพุทธเจ้าได้ จะรู้สึกสัมผัสพระพุทธเจ้าได้

ครั้งหนึ่งมีลูกศิษย์หลวงปู่ดู่ ใครเคยได้ยินชื่อหลวงปู่ดู่บ้าง
หลวงปู่ดู่เป็นพระโพธิสัตว์ ลูกศิษย์หลวงปู่ดู่ไปถามหลวงปู่ดู่
ว่าได้ไปอ่านหนังสือ “จิตคือพุทธะ” ของหลวงปู่ดูลย์
หลวงปู่ดูลย์สอนถูกหรือเปล่า เรื่องจิตที่ไปนิพพาน

หลวงปู่ดู่บอกว่า ถูก
ลูกศิษย์ลูกปู่ดู่ก็ถามหลวงปู่ดู่เลยว่า ถ้างั้นที่หลวงปู่ดู่สอนก็ผิดสิ
หลวงปู่ดู่สอนนี่ มีพาลูกศิษย์ไปไหว้พระพุทธเจ้าในวิมานแก้วในพระนิพพานอีก
ท่านบอกว่าถูกของท่านเหมือนกันนะ แต่ว่ามันคนละอันกัน
ที่เข้าไปสัมผัสได้ไปเห็นได้อะไรนี่เป็นพุทธนิมิต
ถ้าพูดสมัยพวกเรานะ คือเป็นพลังงานที่ท่านทิ้งเอาไว้ ที่เราสัมผัสได้
พอจิตของเรากระทบกับพลังงานนี้นะ จิตจะแปรสภาพพลังงานนี้ออกมาเป็นสมมุติบัญญัติ
ก็จะเป็นรูปอย่างนี้ บางทีคุยได้ด้วยซ้ำนะ บางทีเทศน์ได้ด้วยซ้ำนะ
แต่อย่าคิดนะว่าพระนิพพานเป็นอย่างนั้น พระนิพพานเลยนั้นไปอีก

ท่านสอนดีนะ ท่านสอนดี ไม่ต้องทะเลาะกันเลย
อย่างบางคนนั่งสมาธิแล้วเห็นพระพุทธเจ้า ถามว่าเห็นไหม ก็เห็นเหมือนกันนะ
ถามว่าพระพุทธเจ้าหรือเปล่า
? จริงๆเป็นพลังงานของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่พระพุทธเจ้าหรอก

ค่อยฝึกไปนะ สิ่งที่เราไม่รู้ สิ่งที่เราไม่เห็นนั้นมีอีกมาก แต่ว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนไว้
เพราะมันไม่เกี่ยวกับความทุกข์ และความพ้นทุกข์ และการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์
ท่านสอนสโคปของพระพุทธศาสนา สอนเรื่องทุกข์ กับเรื่องทางปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ แค่นั้นเอง
สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ก็คือขันธ์ ๕ นี้เองนะ
ทางปฏิบัติก็คือ อริยมรรค มีองค์ ๘
ย่อลงมาเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา เรียกไตรสิกขา
ค่อยฝึกเอา พวกเรามีโอกาสนะ ถ้ามีโอกาสแล้วอย่าให้เสียชาติเกิดนะ

วัดมงคลรัตนาราม(แทมป้า)
Tampa Florida, USA
วันพฤหัสบดี ที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๕