Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๔๗

พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
luangpor_pramote

luangpor พยายามอยู่กับปัจจุบันนะ
การที่เรามีสติอยู่กับปัจจุบัน เห็นกายทำงาน เห็นใจทำงานเรื่อยไป นี่เราเจริญปัญญาอยู่
การที่เราเจริญปัญญาเนืองๆนี่โอกาสที่เราจะเกิดปัญญา คือความรู้ถูกเข้าใจถูกมันก็เกิดขึ้นได้ง่าย

ความรู้ถูกความเข้าใจถูกมีอันเดียว
คือกายนี้ใจนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันนี้เป็นความรู้ที่จำเป็น
เป็นความรู้ที่สำคัญ เพื่อความพ้นทุกข์ ความรู้อื่นๆนะเอาไว้อยู่กับโลก
แต่การที่เราเห็นร่างกายจิตใจของเราไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นี่เป็นความรู้ที่จะข้ามโลก
ส่วนความรู้อย่างอื่นนั้นเป็นความรู้ที่จะอยู่กับโลก

กระทั่งการทำสมถะนะ ก็ยังเป็นความรู้ที่อยู่กับโลก
ทำสมาธิไปเรื่อย จิตสงบนะ เข้าฌาน
เวลาตาย ทรงฌานตายอยู่ แล้วก็ไปเป็นพระพรหม ก็สร้างโลก อยู่กับโลกอีกโลกหนึ่ง
กระทั่งทำสมาธินะ ยังเป็นความรู้ที่อยู่กับโลกเลย
แต่อาศัยความรู้ที่อยู่กับโลกนั้นแหละมาเป็นกำลัง มาพัฒนาจิตใจของเราให้เกิดปัญญา
พอจิตใจสงบแล้วอย่าสงบอยู่เฉยๆ ให้มาดูความจริงของกายของใจไป
ดูความจริงของกายของใจ เห็นกายเห็นใจทำงานไป
ดูด้วยจิตใจที่สงบ ด้วยจิตใจที่ตั้งมั่น ดูด้วยจิตใจที่เป็นกลาง
ดูไปสบายๆ เห็นกายมันทำงาน เห็นใจมันทำงาน
ถ้าตราบใดที่พวกเรายังคอยดูกายดูใจมันทำงานนะ ดูด้วยจิตที่ตั้งมั่น ดูด้วยจิตที่เป็นกลาง
ถ้ายังมีคนปฏิบัติอย่างนี้อยู่ โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์
ถ้าเราเป็นผู้ปฏิบัติอย่างนั้นเอง วันหนึ่งเราก็อาจจะเป็นพระอรหันต์ได้ ถ้าบารมีเราพอแล้ว

การที่เรามีสติ รู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง เรียกว่าเราเจริญสติปัฏฐานอยู่
แต่ถ้าเรารู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลาง มันจะเกิดปัญญา
ถ้ามีสติรู้กายรู้ใจ แต่จิตเข้าไปแนบที่กาย จิตเข้าไปแนบที่ใจ ได้สมถะกรรมฐาน
ถ้าดูกายดูในทำงาน หรือจิตตั้งมั่นเป็นกลาง จิตอยู่ต่างหาก เห็นร่างกายมันเคลื่อนไหวอยู่
จิตอยู่ต่างหาก เห็นความสุขความทุกข์มันเกิดขึ้นในกายบ้างในใจบ้าง
เกิดขึ้นมาแล้วก็อยู่ชั่วคราวแล้วก็หายไป จิตตั้งมั่นอยู่นะ
เห็นกุศลอกุศลทั้งหลายเวียนเกิดขึ้นในใจเรา ตั้งอยู่ชั่วคราวแล้วก็หายไป

จิตตั้งมั่นอยู่แล้วก็เห็นว่า จิตนี้ไม่ได้ตั้งมั่นอยู่ตลอดเวลา
บางทีจิตนี้ก็วิ่งไปดู บางทีจิตก็ไปฟัง บางทีจิตก็ไปคิด
จิตจะทำงานอย่างโน้นอย่างนี้ แปรปรวนตลอดเวลา จิตไม่ได้มีดวงเดียวที่ตั้งมั่นอยู่เฉยๆ
แต่จิตเกิดดับอยู่ทางทวารทั้ง ๖ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่เรียกว่าเราเจริญปัญญาอยู่
เราเห็นแต่ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของร่างกาย ของความสุขความทุกข์
ของสังขารคือกุศลอกุศลทั้งหลาย ของวิญญาณคือจิตทั้งหลายที่เกิดดับอยู่ทางทวารทั้ง ๖
การที่เราคอยรู้คอยดูนี้แหละ เรียกว่าเราเจริญสติปัฏฐานในแบบวิปัสสนากรรมฐาน
แต่ถ้าเรารู้ลมหายแล้วจิตสงบอยู่กับลมหายใจ อันนี้ทำสมถะ

ในสติปัฏฐานนะ ในสติปัฏฐานสูตร จะมีสมถะและวิปัสสนาปนกันอยู่
อย่างการเจริญอาณาปาณสติเนี่ย ทำได้ทั้งสมถะและวิปัสสนา
ถ้าเป็นสมถะก็คือ เวลาเราหายใจไป มีสติรู้ลมหายใจ แต่จิตไม่ตั้งมั่นเป็นคนดู
จิตไหลเข้าไปรวมกับลมหายใจ ไม่ตั้งมั่นเป็นคนดู จะได้สมถะ
แต่ถ้าจิตตั้งมั่น เห็นร่างกายหายใจอยู่ จิตเป็นคนดูร่างกายที่หายใจอยู่
มันจะเห็นว่าร่างกายที่หายใจอยู่นี้ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็หายใจออก เดี๋ยวก็หายใจเข้า
ร่างกายที่หายใจออกหายใจเข้าก็อยู่เฉยๆไม่ได้ มีแต่ความทุกข์บีบคั้น
หายใจออกก็ถูกบีบคั้นต้องหายใจเข้า หายใจเข้าก็เพื่อแก้ทุกข์
หายใจเข้าไปนานๆ ก็ถูกบีบคั้น ต้องหายใจออกแก้ทุกข์อีก มีแต่ทุกข์เบียดเบียนอยู่ตลอดเวลา
ทั้งหายใจออก หายใจเข้า ก็มีแต่ความทุกข์เบียดเบียนอยู่ นี่เราเห็นความทุกข์นะ

เราเห็นเลยร่างกายที่หายใจออก หายใจเข้า เป็นของถูกรู้ถูกดู จิตเป็นผู้รู้ผู้ดู
ร่างกายเป็นวัตถุธาตุ มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออกตลอดเวลา
ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก นี่ธาตุมันหมุนเวียนอยู่
ไม่ใช่คนไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เราไม่ใช่เขา นี่เห็นอนัตตา
นี่ถ้าทำอย่างนี้นะ หายใจไป แล้วก็เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี่ทำวิปัสสนาอยู่
ถ้าหายใจไปแล้วจิตสงบอยู่กับลมหายใจ เป็นสมถะกรรมฐาน

การดูจิตดูใจก็เหมือนกัน ถ้าเราเห็นจิตใจเกิดดับหมุนเวียนเปลี่ยนไป
เดี๋ยวจิตดี เดี๋ยวจิตร้าย เดี๋ยวจิตสุข เดี๋ยวจิตทุกข์ นี่เราเจริญปัญญา ทำวิปัสสนากรรมฐานอยู่
ถ้าเราไปเพ่งจิตให้นิ่งให้ว่าง เพ่งความว่าง น้อมจิตไปเพ่งความว่าง
แทนที่จะคอยดูจิตมันเกิดดับ คอยดูเจตสิกคือเวทนาความสุขความทุกข์
สังขารความปรุงดีปรุงชั่ว แทนที่จะดูสิ่งเหล่านี้เกิดดับ เราไปเพ่งความว่างๆอยู่ น้อมจิตไปเพ่ง ว่างๆ
พวกเราลองหลับตาดูนะ แล้วลองดูไปที่จิตของเรา
รู้สึกไหมมันมีทั้งส่วนที่วุ่นวาย และส่วนที่ว่างๆ บางคนนะจับเอาส่วนที่ว่างๆเลย
ถ้าน้อมจิตไปอยู่ในส่วนที่ว่างๆนะไม่ใช่วิปัสสนาแล้ว มันเป็นสมถะกรรมฐาน

การเพ่งช่องว่าง ชื่อว่าอากาสานัญจายตนะ
เป็นการเพ่งจิตแล้ว เพ่งทำสมถะ แต่ไม่ได้เพ่งตัวจิตตรงๆ ไปเพ่งความว่างที่จิตไปรู้เข้า
ทีนี้บางคนเห็นว่าไปเพ่งความว่างที่จิตไปรู้เข้ายังไม่ดี มันเป็นการเพ่งอารมณ์
อารมณ์แปลว่าสิ่งที่ถูกรู้ จิตแปลว่าตัวที่เป็นผู้รู้อารมณ์
พอไปเพ่งความว่างซึ่งเป็นอารมณ์ สิ่งที่ถูกรู้ ก็รู้สึกว่าจิตยังออกนอกอีก
ก็น้อมกลับเข้ามาเพ่งจิตซึ่งเป็นผู้รู้
การที่กลับมาเพ่งจิตที่เป็นผู้รู้นะ มันจะเกิดผู้รู้ซ้อนผู้รู้ไปเรื่อยๆ
วิญญาณเป็นอนันต์ จิตเป็นอนันต์ ซ้อนๆๆไปเรื่อย
อันนี้ก็เป็นสมถะกรรมฐาน ชื่อวิญญาณัญจายตนะ
เพราะงั้นไปเพ่งอารมณ์ที่ว่างนะก็เป็นสมถะกรรมฐานชื่ออากาสานัญจายตนะ
มาเพ่งจิตที่เป็นผู้รู้ความว่าง ก็เป็นสมถะกรรมฐาน ชื่อวิญญาณัญจายตนะ
บางคนเห็นว่ายังเพ่งอารมณ์คือความว่าง แล้วก็เพ่งจิตอยู่ด้วย เป็นภาระ เป็นความทุกข์
ไม่เพ่งอะไรสักอย่างเลย ไม่เอาอะไรสักอย่างเลย น้อมจิตไปสู่ไม่เอาทั้งอารมณ์ไม่เอาทั้งจิต
ก็เป็นสมถะกรรมฐานอีกอย่างหนึ่ง ชื่ออากิญจัญญายตนะ
พอจิตมันจับอารมณ์ที่ไม่มีอะไรนะ ว่างเปล่า มันไม่มีอะไร
มันละเอียดเกิน สัญญาก็ค่อยอ่อนแรงลงไปเรื่อย
จิตก็ไปสู่สมถะอีกชนิดหนึ่ง เกือบจะไม่มีความรู้สึกตัวเหลืออยู่เลย ชื่อเนวสัญญานาสัญญายตนะ

เพราะงั้นดูจิตนะ ต้องระวังนะ
ไม่ใช่ว่าดูจิตๆ แล้วไปเพ่งความว่าง ไปเพ่งจิต
ไปเพ่งความไม่มีอะไร น้อมจิตจนแทบจะไม่รู้สึก
อันนั้นไม่ใช่วิปัสสนา กลายเป็นทำสมถะแล้วนึกว่าทำวิปัสสนาอยู่

หรืออย่างดูร่างกาย บางคนบอกดูท้องพองยุบเป็นวิปัสสนา
ดูท้องพองยุบนะ ถ้าจิตไปเกาะอยู่ที่ท้อง เป็นสมถะ
ถ้าดูท้องพองยุบ มีจิตตั้งมั่นนะ เห็นร่างกายพองเห็นร่างกายยุบนะ
ร่างกายนี้ไม่เที่ยง ร่างกายเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันนี้ถึงจะเป็นวิปัสสนา

งั้นจะเป็นวิปัสสนาได้ต้องเห็นไตรลักษณ์
ลำพังเห็นกายเห็นใจเห็นรูปเห็นนามยังไม่ใช่วิปัสสนานะ
ต้องเป็นความเป็นไตรลักษณ์ของมันได้ เราจะเห็นไตรลักษณ์ได้จิตต้องตั้งมั่น
จิตที่ตั้งมั่น จิตที่เป็นกลางอยู่นี่แหละ เป็นจิตที่เอาไว้ใช้ทำวิปัสสนากรรมฐาน
จิตตั้งมั่น จิตเป็นกลางนะ ในปริยัติก็จะเรียกว่า ลักขณูปนิชฌาน มีความตั้งมั่นในการรู้ลักษณะ

สมาธิเลยมีสองอันนะ
ถ้าเป็นสมาธิที่ไปตั้งมั่นอยู่กับอารมณ์เรียก อารัมมณูปนิชฌาน ใช้ทำสมถะ
ถ้าสมาธิชนิดที่เห็นไตรลักษณ์ได้ เป็นสมาธิที่ใช้ทำวิปัสสนา
สมาธิที่เห็นไตรลักษณ์นี่จะเกิดขึ้นในขณะของวิปัสสนา
เกิดขึ้นในขณะแห่งอริยมรรค เกิดขึ้นในขณะแห่งอริยผล
ตอนที่เกิดอริยมรรค จิตเข้าฌานนะ แต่ฌานนั้นจัดเป็นลักขณูปนิชฌาน
ไม่ได้ไปเพ่งอารมณ์นิ่งๆอยู่เฉยๆ จิตสงบขนาดถึงเข้าอัปปนาสมาธิแต่ยังเดินปัญญาได้อยู่ในนั้น

เราต้องค่อยๆเรียน ค่อยๆฝึกนะ พัฒนาขึ้นมา จับหลักให้แม่น
ถ้าเราไปเพ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียวเป็นสมถะ
ถ้าจิตตั้งมั่นเป็นคนดูกายดูใจ เห็นกายเห็นใจทำงาน ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถึงจะเป็นวิปัสสนานะ
ถ้าทำวิปัสสนาได้เราจะเห็นว่าร่างกายนี้จิตใจนี้ไม่ใช่ของดีของวิเศษหรอก
มันเป็นของไม่เที่ยง มันเป็นของเป็นทุกข์ มันเป็นของที่ไม่ใช่ตัวเรา บังคับมันไม่ได้
ค่อยเห็นอยางนี้ จิตจะค่อยคลายความยึดถือออก เบื่อ มันจะเบื่อก่อนนะ รู้สึกไร้สาระ

ร่างกายจิตใจนี้แต่เดิมนึกว่าของดีของวิเศษ
พอมาเจริญปัญญา เจริญวิปัสสนาแล้ว รู้เลยไร้สาระ จิตจะเบื่อ
ถ้าเบื่อหน่ายให้รู้เบื่อหน่ายอีก อย่าให้ความเบื่อครอบจิตนะ ถ้าความเบื่อครอบจิตได้กลายเป็นโทสะ
ถ้ามันเบื่อเพราะว่ามันเห็นความจริงนะ สุขก็น่าเบื่อเท่าๆกับความทุกข์นั่นแหละ
ดีก็น่าเบื่อเท่าๆกับความชั่วนั่นแหละ ร่างกายนี้ก็น่าเบื่อ
ยืนก็น่าเบื่อ เดินน่าเบื่อ นั่งน่าเบื่อ นอนก็น่าเบื่อนะ มีแต่ทุกข์ทั้งนั้นเลย
ถ้าเห็นอย่างนี้ ใจจะคลายความยึดถือในรูปนาม ในกายในใจของพวกเรา
พอมันคลาย มันคลายของมันเองนะ คลายถึงขีดสุดเนี่ยมันสลัดทิ้งเลย มันไม่ยึดถือเลย
คราวนี้รูปนามมีอยู่นะ แต่จิตไม่เข้าไปจับแล้ว จิตไม่เข้าไปเกาะเกี่ยว
จิตพรากออกจากขันธ์ จิตพรากออกจากรูปจากนาม
มันพรากออกจากกันนะ มันแยกออกจากกันได้
ความเสียดแทงของรูปนามเนี่ยเข้ามาไม่ถึงจิตอีกต่อไปแล้วถ้าฝึกไปถึงขีดสุดนะ
ตรงนี้ที่สมมุติกันเรียกว่าพระอรหันต์

คำว่าพระอรหันต์ อรหันต์ ก็เป็นคำเรียกโดยสมมุตินั่นเอง
ก็คือสภาวะของท่านที่จิตของท่านนั้นพรากออกจากขันธ์ถาวรแล้ว
ไม่เข้าไปเกาะเกี่ยวกันอีกต่อไปแล้ว
ท่านพรากออกจากขันธ์ถาวรได้ เพราะท่านเห็นความจริงของขันธ์ว่าไม่น่ายึดถือ ไม่ใช่ของดีของวิเศษ
ท่านเห็นความจริงของขันธ์ได้เพราะท่านคอยรู้ขันธ์อยู่บ่อยๆ
ด้วยจิตที่ตั้งมั่น ด้วยจิตที่เป็นกลาง ดูมันไปด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลางบ่อยๆ
จิตของท่านตั้งมั่นเป็นกลางได้นะ เพราะท่านรู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่น จิตที่หลงไปไหลไป
แล้วการที่ท่านรู้ขันธ์ได้บ่อยๆ เพราะสติของท่านเกิดเร็ว

เราก็ต้องฝึกให้มีสตินะ แล้วก็ฝึกให้มีจิตตั้งมั่น ปัญญามันถึงจะเกิด
มีสติคอยรู้กายรู้ใจไปตามความเป็นจริง
เราจะรู้ตามความเป็นจริงได้ต้องรู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่น
ด้วยจิตที่เป็นกลาง จิตที่ถอนตัวออกมาเป็นคนดู
ถ้าพูดอีกภาษาหนึ่งก็คือ จิตมันถอนตัวออกมาเป็นคนดู
ไม่ใช่ผู้แสดงแต่เป็นผู้ดู ดูละครมันแสดง
ละครนี้แสดงโดยขันธ์ ๕ จิตมันถอนตัวออกมาเป็นคนดู


สวนสันติธรรม
วันเสาร์ ที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕