Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๔๖

พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโชluangpor_pramote

luangporเราต้องรู้จักเลือกอารมณ์นะ ที่เป็นกุศล ไม่ยั่วกิเลส ไม่ยั่วให้จิตกระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลง
เป็นอารมณ์ที่มีความสุข สังเกตตัวเอง แต่ละคนไม่เหมือนกัน
คนไหนอยู่กับพุทโธแล้วมีความสุข เราก็อยู่กับพุทโธ
คนไหนอยู่กับลมหายใจแล้วมีความสุข เราก็อยู่กับลมหายใจ
คนไหนรู้อิริยาบท ยืนเดินนั่งนอน รู้ไปเรื่อย มีความสุข ก็รู้อิริยาบทไป
อะไรก็ได้ที่ไม่ยั่วกิเลสที่จะทำให้ใจกระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลง
เป็นอารมณ์ที่มีความสุข เราก็อยู่กับอารมณ์นั้น จิตก็ไม่หนีไปที่อื่น จิตมันมีความสุขแล้ว
พอจิตมันมีความสุข จิตก็จะสงบอยู่ในอารมณ์อันนั้นแหละ
จิตมันไม่สงบเพราะจิตมันวิ่งหาความสุข
ถ้ามีความสุขมาล่อแล้วนะ มันอยู่กับความสุข มันก็ไม่หนีไป
นี่สมาธิไม่ใช่เรื่องยากเลยถ้ารู้หลัก

อย่างหลวงพ่อ หัดอานาปานสติตั้งแต่เด็ก หัดหายใจ
หายใจแล้วมีความสุข หายใจทีสองทีก็สงบแล้ว ไม่ยากอะไร
หลังๆนะดูจิตดูใจแล้วมีความสุข แค่มาดูจิตก็สงบแล้ว
สมถะ วันหนึ่งฝึกอย่างนี้นะ วันข้างหน้าจิตใจประณีตแนบเนียนขึ้นมา ยกระดับกรรมฐานขึ้นไปได้อีก
แรกๆจับอารมณ์ละเอียดไม่ได้ ดูของหยาบๆไปก่อน
นี่ได้สมาธิชนิดที่หนึ่งนะ สมาธิชนิดที่หนึ่งคือมีความสงบ
ถ้าจิตใจไม่สงบนะ เจริญปัญญาไม่ไหว มันว่อกแว่กๆ
มันไม่สามารถเรียนรู้รูปนามได้อย่างต่อเนื่องพอ
ถ้ามันไม่รู้กายรู้ใจได้ต่อเนื่อง มันก็เลยไม่เห็นความจริงของกายของใจ
งั้นมาฝึกให้มีความสุข มีความสงบขึ้นมา

พอจิตใจมีความสุขมีความสงบแล้วนะ สมาธิไม่ได้มีอย่างเดียว
สมาธิยังมีอีกชนิดหนึ่ง คือสมาธิชนิดตั้งมั่น
สมาธิสงบเนี่ยเราน้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุข เอาไว้พักผ่อน ได้พักผ่อน
เวลาเราทำงานหนักๆ เราต้องพักผ่อน เราถึงจะมีแรงทำงาน
จะทำกรรมฐานนะ ถ้าเรามีสมถะเป็นที่พักผ่อนให้ใจสงบเป็นช่วงๆไป ใจก็มีเรี่ยวมีแรงที่จะภาวนา
แต่สมาธิชนิดที่สอง เป็นสมาธิที่ใช้ในขณะที่เจริญปัญญา

สมาธิชนิดแรกนะเอาไว้พักผ่อน หยุดพักการเจริญปัญญา พักผ่อนให้สบายอยู่ในอารมณ์อันเดียว
สมาธิชนิดที่สองนะเอาไว้เจริญปัญญา ไม่ได้เอาไว้พักผ่อน
สมาธิที่ใช้เจริญปัญญานี่คือการที่จิตใจของเราตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่ลืมเนื้อลืมตัว


วิธีฝึกก็ไม่ยากอะไร หัดกรรมฐานอันหนึ่งเหมือนเดิมนั่นแหละ
เคยพุทโธก็ใช้พุทโธ แต่ไม่ใช่พุทโธเพื่อให้จิตมีความสุขแล้วไปสงบอยู่กับพุทโธ
ปรับนิดเดียว พุทโธไปแล้วรู้ทันจิตไป
พุทโธแล้วจิตหนีไปคิด รู้ทัน

พุทโธ จิตหนีไปคิด รู้ทัน
พุทโธ แล้วจิตไปเพ่งความว่างๆอยู่ ก็รู้ทัน

พุทโธ แล้วรู้ทันจิต
เราพุทโธแล้วรู้ทันจิตนะ รู้ว่าจิตไหลไป
จิตไหลไปคิด จิตไหลไปเพ่ง จิตไหลไปไหลไปสองอย่าง ถ้าไม่ไหลไปคิดก็ไหลไปเพ่ง
ทันทีที่รู้ว่าจิตไหลไป จิตก็จะไม่ไหล จิตจะตั้งมั่น ไม่ไหลไป ทรงตัวเด่นดวงอยู่อย่างนั้น
หรือเคยหัดรู้ลมหายใจ แล้วจิตไปสงบอยู่กับลมหายใจ มีความสุข
เราก็สงบอยู่กับลมหายใจ อันนั้นเป็นสมถะ เอาไว้พักผ่อน
ถ้าสมาธิชนิดที่สองนะ หายใจไปเหมือนเดิมแหละแต่หายใจแล้วรู้ทันจิต
หายใจไปแล้วจิตหนีไปคิด รู้ทัน จิตไหลไปเพ่งลมหายใจ รู้ทัน
ไหลไปคิดก็รู้ ไหลไปเพ่งก็รู้ ทันทีที่รู้ว่าจิตไหลไป จิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมา ไม่ไหล

จิตที่ตั้งมั่นก็คือจิตที่ไม่ไหลไป โดยที่ไม่บังคับไว้
ไม่ต้องบังคับนะมันไม่ไหลเอง มันรู้ทันว่าไหลปุ๊บ มันตั้งเองอัตโนมัติ
เคยดูท้องพองยุบแล้วมีความสุข จิตสงบอยู่ที่ท้อง ก็ปรับนิดเดียว
ดูท้องพองยุบแล้วก็รู้ทันจิต จิตไหลไปคิดก็รู้ทัน จิตไหลไปอยู่ที่ท้องก็รู้ทัน
เดินจงกรม เคยเดินเอาความสุขความสงบ
เดินไปแล้วเห็นเท้ายกเท้าย่าง มีความสุข จิตสงบ
ก็ปรับนิดเดียว เดินจงกรมแล้วก็รู้ทันจิตไป
จิตหนีไปคิดก็รู้ทัน จิตไหลไปคิดรู้ทัน จิตไหลไปเพ่งอยู่ที่เท้ารู้ทัน
การที่เราคอยรู้ทันการเคลื่อนไปของจิตนั้น จิตจะหยุดการเคลื่อน
หยุดเองไม่ต้องไปดึง ห้ามดึง ถ้าดึงแล้วจะแน่น
ให้รู้สบายๆ รู้ว่าจิตไหลไปนะจิตจะตั้งมั่นขึ้นมา

เห็นไหมมันไม่ได้ยากอะไรเลยเรื่องของสมาธินะ จะทำความสงบก็เลือกอารมณ์ที่มีความสุข
น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันนั้นไม่หนีไปหาอารมณ์อื่น แค่นี้ก็สงบแล้ว
จะฝึกให้จิตตั้งมั่น ใช้อารมณ์กรรมฐานอย่างเดิมนั่นแหละ แต่แทนที่จะน้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว
ให้สงบอยู่ในอารมณ์อันเดียวนั้น ก็มาแค่คอยรู้ทันจิตที่มันไหลไป
จิตไหลไปมีสองแบบเท่านั้นแหละ ไหลไปคิดกับไหลไปเพ่ง หลักๆก็มีแค่นั้นเอง
มีเล็กๆน้อยๆ ไหลไปดู ไหลไปฟัง ไหลไปดมกลิ่น ไหลไปลิ้มรสอะไรอย่างนี้ก็มีบ้าง
แต่ส่วนใหญ่ก็ไหลไปคิด ถ้านักปฏิบัติก็ไหลไปเพ่ง
ถ้ารู้ทันว่าจิตไหลไป จิตจะตั้งมั่นขึ้นมา
ไปซ้อมดูนะ ไม่ใช่ยากอะไรหรอก
เอาหลักไปแล้วไปปฏิบัติเอา

หลวงพ่อสอนเรื่องศีลกับสมาธิแล้วนะ
ศีลเนี่ยตั้งใจงดเว้นการทำบาปอกุศลทางกายทางวาจา ต้องตั้งใจไว้ก่อน ทุกวันต้องตั้งใจไว้
ตื่นนอนขึ้นมาตั้งใจว่าเราจะไม่ทำบาปอกุศลทางกายทางวาจา รักษาศีล ๕
กลางวันก่อนจะไปกินข้าว ตั้งใจไว้อีกเราจะรักษาศีล ๕
เย็นๆกลับมาบ้าน ตั้งใจจะรักษาศีล ๕
ก่อนจะนอนตั้งใจอีกรอบหนึ่งก็ได้ ตั้งใจไปเรื่อย
ทำไมจะนอนแล้วยังต้องรักษาศีล ๕ ก็จะนอนอยู่แล้ว
ก็เผื่อตายตอนนั้นนะ ไม่ได้ฟื้น ไม่ได้ตื่นขึ้นมา ก็ยังตายไปกับศีล ๕
เนี่ยตั้งใจไว้ก่อน มีศีลแล้วก็มาฝึกสมาธิ

เลือกดูอารมณ์อันไหน เลือกดูอารมณ์อันไหนมีความสุข
อยู่กับอารมณ์ไหนแล้วจิตใจไม่กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลงก็อยู่กับอารมณ์นั้นบ่อยๆ
บางคนสวดมนต์คิดถึงพระพุทธเจ้าก็มีความสุข จิตไม่หนีไปที่อื่น
บางคนอ่านหนังสือธรรมะ ฟังซีดีหลวงพ่อแล้วมีความสุข จิตไม่หนีไปที่อื่น ได้สมถะอยู่แล้ว
ต่อมาก็มาฝึกให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวโดยการรู้ทันจิตที่ไหลไป
ไหลไปคิดก็รู้ ไหลไปเพ่งก็รู้ นี่ได้ศีลได้สมาธิแล้ว

ถัดจากนั้นมาถึงขั้นสุดท้ายแล้ว บทเรียนที่สาม บทเรียนสุดท้ายแล้ว คือการเจริญปัญญา
ลำพังมีศีลมีสมาธิ จิตใจไม่สามารถสู้กิเลสที่ละเอียดได้
ศีลนั้นมันแค่คอยควบคุมตัวเองไม่ให้ทำตามกิเลสหยาบๆ
สมาธินั้นมันแค่กดข่มกิเลสระดับกลางๆ คือความฟุ้งซ่าน พวกนิวรณ์อะไรพวกนี้
ปัญญานี้เป็นตัวชำระล้างกิเลสให้สะอาดหมดจด
กิเลสที่ปัญญาเข้าไปล้างก็คือความโง่ของเรานั่นแหละ ความไม่รู้ ความโง่
ลึกที่สุดเลยคืออวิชชา ตื้นๆขึ้นมาก็พวกความเห็นผิดต่างๆ
ความเห็นผิดพื้นฐานเลยก็คือความเห็นผิดว่าเรามีอยู่จริงๆ
กายนี้เป็นตัวเรา ใจนี้เป็นตัวเรา นี้ความเห็นผิด
ความเห็นผิดขั้นลึกซึ้งก็เห็นว่ากายนี้เป็นตัวสุข ใจนี้เป็นตัวสุข
เรียกว่าไม่รู้วิชชา ไม่รู้อริยสัจ

อริยสัจจะสอนเรา กายนี้เป็นตัวทุกข์ ใจนี้เป็นตัวทุกข์
นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป
ตัวปัญญานี่เป็นตัวล้างกิเลสชั้นละเอียด ละเอียดที่สุดก็คืออวิชชา
หยาบๆขึ้นมาก็พวกทิฏฐิความเห็นผิดต่างๆ

งั้นเวลาเราภาวนานะ เบื้องต้นเนี่ยล้างความเห็นผิดก่อน
โดยธรรมชาติธรรมดาแล้ว เราจะเห็นตัวเรามีอยู่จริงๆ ตัวเรามีจริงๆนะ
บางคนถึงขนาดว่าตายไปแล้วตัวเรายังไม่ตายเลย
ตัวเรานี้แหละจิตใจของเรานี้แหละออกจากร่างนี้ไปเกิดใหม่ เรานึกว่าเราเป็นชาวพุทธนะ
เราเชื่อว่าถ้าตายแล้วจิตดวงนี้แหละออกจากร่างไปเกิดใหม่ ว่าพระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้
อันนี้เป็นมิจฉาทิฏฐินะ เป็นมิจฉาทิฏฐิชื่อสัสสตทิฏฐิ
มันเห็นว่ามีความเที่ยงอยู่ จิตนี้เที่ยง ตายแล้วก็ไปเกิดใหม่ ตัวเดิมไปเกิดอีก เปลี่ยนแต่ร่างกาย
อีกพวกหนึ่งเห็นว่าตัวเรามีอยู่จริงๆ แต่พอตายแล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็จบลงแค่นั้น
นี่ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิชื่ออุจเฉททิฏฐิ

แต่ทั้งสัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยง เห็นว่าจิตเที่ยง เห็นว่าตัวเราเที่ยง
กับอุจเฉททิฏฐิ เห็นว่าตัวเรามีอยู่ แต่พอถึงเวลาตายแล้วก็หายไปเลย มันเป็นความหลงผิด
ถ้าเรามาภาวนาเราจะเห็นเลยว่าตัวเราไม่มี
ถ้าล้างความเห็นผิดว่ามีตัวเราได้ เรียกว่าล้างสักกายทิฏฐิได้

มันก็จะตัดมิจฉาทิฏฐิอีกสองตัวไปได้ด้วย ก็ตัวเราไม่มีแล้วตัวเราจะเที่ยงได้อย่างไร
เห็นว่าตัวเราไม่มี ตัวเราก็ไม่เที่ยง เห็นว่าไม่มีตัวเที่ยง มันก็ล้างสัสสตทิฏฐิไปโดยอัตโนมัติ
ถ้าเห็นว่าตัวเราไม่มี มันก็ล้างอุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าตัวเราขาดสูญไป
ก็ไม่มีตัวเราตั้งแต่แรกแล้วจะมีตัวอะไรขาดสูญไป ก็จะล้างความเห็นผิดไปได้
งั้นจะทำลายความเห็นผิดเนี่ย ให้มุ่ง มุ่งมาดูลงไปตรงที่กายที่ใจ ที่ธาตุที่ขันธ์
คือสิ่งที่รวมกันขึ้นมาแล้วเรานึกว่าเป็นตัวเรา ดูลงมาในนี้ ในขันธ์ ๕ ในกายในใจเรานี้แหละ

ดูจนเห็นความจริงเลย ร่างกายนี้ไม่เที่ยงนะ
เช่นร่างกายหายใจออก อยู่ชั่วคราวก็หายไป กลายเป็นร่างกายหายใจเข้า
ร่างกายหายใจเข้าอยู่ชั่วคราวก็หายไป กลายเป็นร่างกายหายใจออก
ร่างกายยืน ร่างกายเดิน ร่างกายนอนนะ เปลี่ยนไปเรื่อย
ดูไป ร่างกายสุขร่างกายทุกข์ก็ไม่เที่ยง
จิตใจสุข จิตใจทุกข์ จิตใจเฉยๆ ก็ไม่เที่ยง
จิตใจเป็นกุศล จิตใจเป็นอกุศล ก็ไม่เที่ยง
จิตมันโลภ จิตมันโกรธ จิตมันหลง
โลภก็โลภชั่วคราว โกรธก็โกรธชั่วคราว หลงก็หลงชั่วคราว
ไม่มีหรอกโกรธถาวร ไม่มีหรอกโลภถาวร
เนี่ยมาคอยดูลงในกายในใจของเรา ให้เห็นมีแต่ของชั่วคราว
ถ้าได้เห็นนะ เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก มันไม่ยากที่จะรู้ รู้กายรู้ใจของเราเอง ทุกคนรู้ได้แต่เราละเลย

สวนสันติธรรม
วันศุกร์ ที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕