Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๔๕

พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโชluangpor_pramote

luangporมาถึงวันนี้นะคนซึ่งภาวนารู้หลักของการภาวนา
แยกได้ สมถะวิปัสสนาอะไรอย่างนี้ รู้วิธีทำสมถะ รู้วิธีทำวิปัสสนา คนเข้าใจสิ่งเหล่านี้เยอะขึ้น
เมื่อก่อนเราคิดถึงการภาวนา เราก็จะนั่งสมาธิอย่างเดียวให้จิตสงบอย่างเดียว นิ่งๆ
หวังว่าจิตสงบแล้วจะเกิดปัญญา มันไม่มีทางเกิดปัญญาได้เลย
เพราะการปฏิบัตินั้นมีสองส่วน ส่วนของสมถะกรรมฐานทำไปเพื่อความสุข ความสงบ ความดี
ส่วนของวิปัสสนากรรมฐาน ทำไปเพื่อให้เกิดความรู้ถูก ความเข้าใจถูกในธาตุในขันธ์
วิธีการคนละอัน เป้าหมายคนละอัน

งั้นนั่งสมาธิเรื่อยๆ ไม่ได้ทำให้เห็นความจริงของธาตุของขันธ์ได้
แต่ถ้าใจไม่มีสมาธิ ใจฟุ้งซ่าน ก็ไปรู้ธาตุรู้ขันธ์ไม่ได้จริง
งั้นสมาธิก็เป็นแค่ทางผ่าน เป็นเครื่องมือตัวหนึ่งคู่กับสติ
สติเป็นตัวรู้ทัน ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในกาย มีอะไรเกิดขึ้นในใจ
สมาธิเป็นความตั้งมั่นของจิตในการที่จะดูสิ่งทิ่เกิดขึ้นกับกายกับใจ จิตต้องตั้งมั่นเป็นแค่คนดู
จิตที่ทรงสมาธิที่ถูกต้องจะถอนตัวออกมาจากโลกของความคิด มาอยู่ในโลกของความรู้สึกตัว
มันจะมีสภาวะคล้ายๆเราอยู่บนบกนะ มองลงไปในน้ำเห็นเรือผ่านไปผ่านมา
หรือเห็นของลอยน้ำมาผ่านไปเรื่อยๆ เราไม่โดดลงในน้ำ เราอยู่บนบก
เห็นปรากฏการณ์ไหลผ่านหน้าไปเฉยๆ นี่จิตที่ทรงสมาธิที่ถูกต้องจะเป็นอย่างนี้

แต่ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิ จะโดดลงไปในน้ำเลย
เห็นเรือผ่านมาก็โดดลงไปเกาะเรือตามเรือไป
สมัยก่อนมีนะ มีแพ มีไม้ซุงอะไรอย่างนี้ ล่องในแม่น้ำ
พวกเด็กซนๆนี่โดดลงไปเกาะให้เรือลากไป
แต่ก็ฉลาดนะ มันคอยเลือกตอนที่เรือวิ่งทวนน้ำ พอมันปล่อยแล้วเดี๋ยวมันก็ไหลกลับมาที่เดิม
ถ้าจิตเรากระโดดลงไปคลุกกับอารมณ์นะ
เหมือนเด็กกระโดดลงไปเกาะแพในแม่น้ำ อันนั้นมันมิจฉาสมาธิ
ถ้าจิตที่มีสัมมาสมาธิ มันเหมือนคนยืนอยู่บนบก เห็นทุกสิ่งทุกอย่างไหลผ่านหน้าไป
สติเป็นตัวรู้ทันว่ามีอะไรเกิดขึ้นในกายในใจ รู้ด้วยจิตที่ทรงสมาธิ จิตที่ตั้งมั่นเป็นกลางอยู่

งั้นการพัฒนาจิตที่จะให้เดินปัญญาได้ อันแรกเลยต้องฝึกให้จิตตั้งมั่น
พอจิตตั้งมั่นแล้วก็ฝึกต่อไปจนจิตเป็นกลาง ตัวสำคัญตั้งมั่น กับเป็นกลาง
เทียบกับโพชฌงค์ ๗ ก็มีสติ โพชฌงค์เริ่มจากมีสติ
สติไปทำอะไร สติไปรู้ความจริงของกายของใจ อันนี้เรียกว่าธัมมวิจยะ
การรู้ความจริงของกายของใจ ต้องมีวิริยะ มีปีติ มีปัสสัทธิ มีสมาธิ อันนี้เป็นกลุ่มของสมาธิทั้งหมดเลย
จิตที่ทรงสมาธิอยู่มีความเพียร มีปีติ มีปัสสัทธิ มีสมาธิคือความตั้งมั่น
ลงท้ายของโพชฌงค์ก็คือมีอุเบกขา อันสุดท้ายจะต้องลงมาที่อุเบกขา

ฉะนั้นเครื่องมือสำคัญนะ ให้เรามีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง
ตรงรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงอันนี้แหละคือธัมมวิจยะ
รู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่น จิตที่ตั้งมั่นนี่ไม่ขี้เกียจขี้คร้าน
มีวิริยะ มีปีติ มีความสงบระงับ มีความตั้งมั่น นี่จิตที่มันทรงตัวมีสมาธิอยู่
พอสติระลึกรู้รูปรู้นาม คือเห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในกายในใจนี้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นอยู่
เช่นเห็นความโกรธเกิดขึ้นในใจ ทีแรกเห็นความโกรธเกิดขึ้นในใจ
จิตยังไม่เป็นกลาง ไม่ชอบ อยากให้ความโกรธหายไป นี่เรียกไม่เป็นกลาง
เห็นความโลภความหลงเกิดขึ้น ไม่ชอบ เห็นกุศลเกิดขึ้น ชอบ
เห็นความทุกข์เกิดขึ้น ไม่ชอบ เห็นความสุขเกิดขึ้น ชอบ
เห็นสภาวะไหม
? เห็น แต่ไม่เป็นกลาง

งั้นเบื้องต้นที่เรารู้เราเห็นนะ จิตเรายังไม่เข้าถึงความเป็นกลางจริง
ให้เรารู้เท่าทันจิตของตนเองเข้าไปอีกชั้นนึง
เช่นเมื่อตาหูจมูกลิ้นกายใจกระทบอารมณ์ จิตมีความสุข เรารู้ว่ามีความสุข นี่ชั้นที่หนึ่ง
ถ้ามีความสุขแล้วเกิดความยินดีพอใจในความสุข ให้เรารู้ทันเข้าไปที่จิตอีกชั้นนึง
รู้เข้าไป ลึกเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง
เวลามีความทุกข์เกิดขึ้น รู้ว่ามีความทุกข์นี่เป็นชั้นที่หนึ่ง เห็นเลยความทุกข์มันเกิดขึ้นกับจิต
พอมีความทุกข์เกิดขึ้นกับจิตแล้วนะ รู้ลึกซึ้งลงไปอีกชั้นหนึ่ง จิตไม่ชอบ

อย่าไปนั่งถามนะ ว่าชอบหรือไม่ชอบ ยินดีหรือยินร้าย ไม่ต้องถามมันหรอก
แต่ฟังหลวงพ่อพูดไว้อย่างนี้แหละ เดี๋ยวถึงเวลาจิตมันจะไปดูของมันเอง
ถ้าไม่พูดนำร่องให้นะ จิตไม่ค่อยยอมดู
เห็นแค่มีสุขเกิดขึ้น มีทุกข์เกิดขึ้น ก็พอใจแค่นี้แหละ
แต่จิตยังไม่เป็นกลาง จิตยังยินดีจิตยังยินร้ายไม่เห็นหรอก
อาศัยการได้ฟังธรรม  รู้ว่าต้องรู้ทันจิตอีกชั้นหนึ่งว่ามันยินดียินร้ายไหม
อย่าไปถามมัน ไม่ใช่ว่า เอ๊ะ
! ตอนนี้ยินดีหรือตอนนี้ยินร้าย?
ตอนนั้นไม่ยินดี ตอนนั้นไม่ยินร้าย ตอนนั้นกำลังสงสัยอยู่ จะไม่มียินดียินร้ายอะไรหรอก สงสัยอยู่
เอาแค่ได้ยินนะว่าต้องรู้ทันนะด้วยความเป็นกลาง ไม่ยินดีไม่ยินร้าย
แต่การจะไม่ยินดีไม่ยินร้ายนั้น ไม่ได้เกิดจากการบังคับห้ามยินดีห้ามยินร้าย
เพียงแต่ว่าจิตยินดีให้รู้ทัน จิตยินร้ายให้รู้ทัน เท่านี้เอง

ถ้ารู้ทันแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น
? สิ่งแรกที่เกิดขึ้นก็คือความยินดียินร้ายจะดับไป
ความยินดียินร้ายเป็นราคะ เป็นโทสะ
พอไปรู้ทันความยินดียินร้ายตัวนี้ กิเลสจะดับทันที ราคะโทสะดับทันที
แค่สติรู้ทันว่ามีราคะ มีความพอใจยินดี
แค่สติรู้ทันว่ามีโทสะ คือความยินร้ายไม่พอใจ
ราคะโทสะจะดับเอง จิตจะเป็นกลาง แต่นี่ยังเป็นกลางเพราะสติ
เป็นกลางเพราะสติไปรู้ทันความยินดียินร้าย
ยังไม่ใช่ความเป็นกลางที่เป็นเป้าหมายของการปฏิบัติ เป็นแค่ทางผ่านขั้นแรกๆเท่านั้นเอง

งั้นพวกเราค่อยหัดไปเป็นลำดับนะ
เบื้องต้น มีความสุขเกิดขึ้น รู้ทัน มีความทุกข์เกิดขึ้น รู้ทัน
มีกุศลเกิดขึ้น รู้ทัน มีอกุศลเกิดขึ้น รู้ทัน
เกิดขึ้นที่จิตนั่นแหละ มันเกิดขึ้นตอนไหน
? เกิดตอนที่มีผัสสะ
ตา หู จมูก ลิ้น กาย กระทบอารมณ์นะ ก็มีความยินดียินร้ายเกิดขึ้น
ใจกระทบอารมณ์นั่งคิดไป คิดนึกปรุงแต่ไปก็เกิดความสุขความทุกข์ขึ้นได้ เกิดกุศลอกุศลขึ้นได้
ตาหูจมูกลิ้นกายใจกระทบอารมณ์ก็เกิดสุขเกิดทุกข์ เกิดกุศลอกุศลขึ้นได้

ทีนี้พอมันมีสุขมีทุกข์ มีกุศลอกุศลแล้วเนี่ย ถ้าจิตยินดีให้รู้ทัน
ถ้าจิตยินร้ายให้รู้ทัน ความยินดียินร้ายจะดับไป เพราะอำนาจของสติ
ความยินดียินร้ายดับไปเพราะอำนาจของสมาธิก็ได้
เช่นเราเห็นผู้หญิงสวย ใจมันชอบ
เราก็ไปพิจารณาให้เป็นปฏิกูลเป็นอสุภะ พิจารณามรณะสติอะไรอย่างนี้
นี่ใช้สมาธิเอาใช้สมถะ ความยินดีในรูปของผู้หญิงนั้นก็หายไป

เห็นไหมตัวเป็นกลางนี้เกิดขึ้นได้หลายแบบนะ เกิดเพราะสติรู้ทันความยินดียินร้ายก็ได้
เกิดเพราะอาศัยสมาธิ พิจารณา อย่างเวลาโกรธเกิดขึ้นก็เจริญเมตตาไป
ทำสิ่งตรงข้ามโกรธนะ มันไม่เป็นมิตรก็มาเจริญเมตตาคือความเป็นมิตร
คำว่าเมตตา คำว่ามิตรนะคำเดียวกันแหละ
คำว่าไมตรี เมตตา มิตร คำว่าเมตไตร พระศรีอริยเมตไตรฯ
พอเราเจริญเมตตาไปนะ โทสะก็หาย
ใจก็ค่อยเป็นกลาง ไม่ฟุ้งไปด้วยอำนาจโทสะ แก้กันเป็นคราวๆไป
นี้เป็นกลางเพราะสมาธิ ก็ยังไม่ใช่วิธีการ ไม่ใช่เป้าหมายที่เราต้องการ

สิ่งที่เราต้องการนั้นคือเป็นกลางด้วยปัญญา เราต้องฝึกจนเป็นกลางด้วยปัญญา
ตอนแรกเลยถ้ามีสติรู้ทันความยินดียินร้าย ความยินดียินร้ายดับไป
ก็โอเคแล้ว ใช้ได้ รู้สภาวะต่อไป
ถ้าไปรู้สภาวะแล้วมันยังไม่หาย ยังยินดียินร้ายไม่หาย
ทำความสงบ ทำสมถะ มันก็หายเหมือนกันนะ มีเครื่องมือหลายตัว

แต่การที่เราคอยเห็นความยินดียินร้ายเกิดขึ้นเนืองๆ
เห็นความสุขความทุกข์เกิดขึ้นเนืองๆ เห็นกุศลอกุศลเกิดขึ้นเนืองๆ
ถึงจุดหนึ่งจิตจะเริ่มฉลาด จิตจะเริ่มเห็นความจริง
ว่าความสุขก็เป็นของชั่วคราว ความทุกข์ก็เป็นของชั่วคราว
กุศลก็เป็นของชั่วคราว อกุศลก็เป็นของชั่วคราว
ความยินดีก็เป็นของชั่วคราว ความยินร้ายก็เป็นของชั่วคราว
การที่จิตได้เห็นสภาวะทั้งหลายเกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ เนืองๆ
เช่นความสุขเกิดแล้วดับ ความทุกข์เกิดแล้วดับ
กุศลอกุศลเกิดแล้วดับ ความยินดียินร้ายเกิดแล้วดับ
เห็นเนืองๆ ในที่สุดจิตจะสรุปได้ จิตจะเกิดปัญญา ปิ๊งขึ้นมา
จิตมันรู้ขึ้นมา ว่าความสุขก็ชั่วคราว ความทุกข์ก็ชั่วคราว
กุศลอกุศล ความยินดียินร้าย ทั้งหลายนี้เป็นแค่ของชั่วคราวทั้งหมดเลย

พอจิตมันรู้ความจริงอย่างนี้มันจะเกิดความเป็นกลาง
เป็นกลาง พ้นจากความยินดียินร้ายด้วยปัญญา
ปัญญานั้นน่ะไปเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของรูปนาม
ถ้าเราดูจิตดูใจ เราก็จะเห็นเลย ความสุขความทุกข์ กุศลอกุศล ความยินดีความยินร้าย
ทั้งหลายเป็นของชั่วคราว เกิดแล้วดับทั้งสิ้น บังคับไม่ได้สั่งไม่ได้
เช่นสั่งให้มีความสุข สั่งไม่ได้ ความสุขจงเกิด ความสุขไม่เกิดหรอก
ความสุขที่เกิดแล้วจงอยู่นิรันดร มันไม่อยู่หรอก
ความทุกข์อยากเกิดมันก็จะเกิด ความทุกข์ที่เกิดแล้วจงหายไปเร็วๆ ก็ไม่หายหรอก
ไม่เป็นในอำนาจ ไม่อยู่ในอำนาจ เป็นอนัตตา

การที่เราเห็นสภาวะเนืองๆนะ
ว่ามันไม่เที่ยงบ้าง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาบ้าง
จิตมันจะค่อยๆยอมรับความจริง ว่ามันเป็นของมันอย่างนี้แหละ
มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้ ไม่เป็นไปตามใจปรารถนา
พอจิตมีปัญญาอย่างนี้จิตจะเป็นกลางเพราะปัญญา
ความสุขเกิดขึ้น จิตไม่หลงระเริง เพราะจิตรู้ว่าความสุขเป็นของชั่วคราว
ความทุกข์เกิดขึ้น จิตไม่เศร้าหมอง เพราะรู้ว่าความทุกข์เป็นของชั่วคราว
กุศลอกุศลเกิดขึ้น จิตก็เป็นกลาง ไม่หลงยินดีไม่หลงยินร้าย
เพราะรู้นะว่าความสุขความทุกข์ กุศลอกุศล มีแต่เกิดแล้วดับทั้งสิ้นเลย
ทั้งหมดนะเสมอกัน สุขกับทุกข์ก็เสมอกันนะ กุศลกับอกุศลก็เสมอกัน
แต่เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์

เราอย่ามักง่ายนะ อย่าบอกว่ากุศลกับอกุศลนั้นเท่าๆกัน
ผลมันไม่เหมือนกัน กุศลนั้นมีผลเป็นความสุข อกุศลมีผลเป็นความทุกข์ เป็นความเผ็ดร้อน
มันไม่เท่ากันหรอก แต่มันเท่ากัน มันเสมอกันเฉพาะด้วยความเป็นไตรลักษณ์
ถามว่าแล้วเราต้องปฏิบัติอะไร
? เราก็ต้องไม่ทำอกุศล ต้องเจริญกุศล
ไม่ใช่มักง่ายนะ บอกว่ากุศลกับอกุศลนั้นมันเท่าๆกันนะงั้นทำอะไรก็ได้
อันนั้นมันมิจฉาทิฏฐิแล้ว ทำอะไรก็ได้ พระพุทธเจ้าไม่เคยสอน
ท่านมีแต่บอกว่าให้ละอกุศล ให้เจริญกุศลให้ถึงพร้อม
งั้นเวลาฟังธรรมะนะ ถ้าเรียนไม่รอบคอบ กลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ
ประกาศมิจฉาทิฏฐิออกไปปาวๆได้ด้วยนะ อะไรๆก็ไม่ต้องทำเลย ไม่ต้องยึดถืออะไรสักอย่าง
ศีลสมาธิปัญญาไม่ต้องมี นี่มันมิจฉาทิฏฐิร้ายแรง เป็นมิจฉาทิฏฐิพวกนัตถิกทิฏฐิ ไม่มีอะไรเลย ใช้ไม่ได้นะ

มันเสมอกัน สุขกับทุกข์มันเสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์
กุศลกับอกุศลมันเสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์
หมายถึงว่าเกิดแล้วดับด้วยกันทั้งคู่นั่นแหละ สั่งไม่ได้ด้วยกันทั้งคู่นั่นแหละ
เมื่อจิตมันเห็นความจริงนะว่าสุขกับทุกข์ก็เท่ากันด้วยความเป็นไตรลักษณ์
กุศลกับอกุศลก็เท่ากันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ จิตจะเข้าสู่ความเป็นกลางด้วยปัญญา

จิตที่เข้าสู่ความเป็นกลางด้วยปัญญาจะหมดความดิ้นรน
คือจิตของเรามันดิ้นตลอด เพราะมันไม่เป็นกลางต่อสภาวะธรรมที่กำลังปรากฏต่อหน้าต่อตา
ความสุขเกิดขึ้นก็ยินดี จิตก็เกิดความดิ้นรนที่จะรักษาความสุขเอาไว้
ความสุขหายไป จิตก็ยินร้าย จิตเกิดความดิ้นรนที่จะเที่ยวแสวงหาความสุขอีก
ความทุกข์เกิดขึ้น จิตก็ยินร้าย อยากจะขจัด เกิดความดิ้นรนอยากจะขจัดความทุกข์ไป
ความทุกข์หายไปแล้วนะ เกิดยินดี เกิดความดิ้นรน ทำอย่างไรความทุกข์จะไม่เกิดอีก
เห็นไหม ความยินดียินร้ายนะ ทำให้จิตมันดิ้นรนขึ้นมา
ตรงที่จิตมันเกิดความดิ้นรนนั่นแหละ จิตมันสร้างภพ สร้างชาติ สร้างทุกข์ขึ้นมา

ความดิ้นรนของจิตก็คือกรรม ที่เราพูดถึงคำว่า กรรม กรรม นะ
อะไรเรียกว่ากรรม
? ก็คือการทำงานของจิตนั่นเอง จิตมันทำงานไป
ถ้าเมื่อไหร่ยินดียินร้ายขึ้นมา รู้ไม่ทัน จิตจะทำกรรม เกิดการทำงาน จงใจทำงานขึ้นมา
เช่นจงใจแสวงหาความสุข จงใจหนีความทุกข์อะไรอย่างนี้ ดิ้น
!
จงใจรักษาความสุขไว้ จงใจขจัดความทุกข์ที่มีอยู่ ป้องกันความทุกข์ใหม่ จิตจะดิ้น
การที่จิตดิ้นรนนั้น ไม่ว่าจะดิ้นในทางดีหรือทางเลว จิตก็ทุกข์
ทุกข์แน่นอน ปรุงดีก็ทุกข์ ปรุงชั่วก็ทุกข์
แต่ถ้าจะต้องปรุง ปรุงดีไว้ก่อน เพราะปรุงชั่วจะมีผลเผ็ดร้อน ไม่ใช่เสมอกันนะ ไม่เสมอหรอก
เท่ากันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ แต่ไม่เท่ากันด้วยเหตุด้วยผลของมัน

เฝ้ารู้ลงไปนะ งั้นเราเฝ้ารู้ให้มาก
ความสุขเกิดขึ้นในจิตในใจรู้ทัน
ความทุกข์เกิดขึ้นในจิตในใจรู้ทัน
กุศลอกุศลเกิดขึ้นในจิตในใจรู้ทัน
ความยินดียินร้าย เกิดขึ้นในใจรู้ทัน รู้มากๆ ในที่สุดมันจะเห็นด้วยปัญญา
ว่าทุกอย่างตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ สุขทุกข์ดีชั่ว ยินดียินร้าย ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์
ถ้าจิตเห็นอย่างนี้อย่างแจ่มแจ้งนะ จิตจะเป็นกลาง และหมดความดิ้นรน


สวนสันติธรรม
วันเสาร์ ที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕