Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๗๗

พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช

ถาม: รู้สึกว่าตนเองยังเป็นผู้มาใหม่ ความรู้ความเข้าใจธรรมะก็มีไม่มาก คงจัดอยู่ในหมวดผู้ที่ยังมีอินทรีย์อ่อน อย่างนี้ผมจะสามารถเจริญสติภาวนาได้ก้าวหน้าไหมครับ

อินทรีย์นะ เบื้องต้นมันอ่อนทุกคนแหละ
มันอยู่ที่พัฒนาขึ้นมา ฝึกจิตฝึกใจไป หัดสังเกตสภาวะไป
อะไรเกิดขึ้นในกายคอยรู้สึก อะไรเกิดขึ้นในจิตคอยรู้สึก
มันจะมีสติ มีสติร่างกายเคลื่อนไหวรู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวรู้สึก เนี่ยเรียกว่ามีสติ
พอรู้สึกแล้วถ้าใจเราตั้งมั่นไม่เข้าไปแทรกแซง
จิตใจเราตั้งมั่นเรียกว่ามีสัมมาสมาธิ มันจะเกิดปัญญา
ถ้าจิตใจไม่มีสัมมาสมาธิ ใจไม่ตั้งมั่น ใจไหลไป ใจไหลไปอยู่ที่อารมณ์นะ
จะไม่มีปัญญาเห็นไตรลักษณ์ แต่จะไปเกิดนิมิตต่างๆแทน

เช่นหลายคนเดินจงกรมนะ ยกเท้าย่างเท้านะ
จิตมันไปแนบอยู่ที่เท้า เดินไปๆตัวลอยตัวเบาตัวโพลงนะ นั่นอาการของปีติทั้งสิ้น
อาการของสมถะ ไม่เห็นไตรลักษณ์
แต่ถ้าใจเราตั้งมั่นอยู่ เห็นกายมันเดินไป ใจตั้งมั่นอยู่ต่างหาก
มันจะรู้สึกทันทีเหมือนเห็นคนอื่นเดิน จะรู้สึกทันทีเลย เห็นเหมือนคนอื่นเดิน

เวลาเวทนาเกิดขึ้นนะ ถ้าใจเราไหลไปอยู่กับเวทนาจะรู้สึกว่าเราเจ็บเราปวด
หรือเราสุข แต่ถ้าจิตมันตั้งมั่นอยู่ มันจะเห็นเลย
ความเจ็บความปวดเป็นอีกส่วนหนึ่ง ไม่ใช่จิตใจของเรา
ความเจ็บความปวดเป็นอีกส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ร่างกายด้วย
มันจะเริ่มเห็นแยกออกไป มันอยู่ที่ใจตั้งมั่นนะจึงจะเห็นไตรลักษณ์ได้
หรือใจเราตั้งมั่นอยู่เราจะเห็นเลย ความโลภ ความโกรธ ความหลงเกิดขึ้น
เหมือนคนเดินผ่านหน้าบ้าน ไม่เกี่ยวกับเรา เดินอยู่ห่างๆด้วย เดินอยู่ไกลๆ
เห็นคนผ่านนอกศาลาเดินข้างๆ ใจอยู่ต่างหาก
สังขารคือความปรุงดีปรุงชั่ว โลภโกรธหลงทั้งหลายมีอยู่ห่างๆ
เริ่มเห็นแล้วมันไม่ใช่ตัวเรา เห็นมั้ย พอใจตั้งมั่นแล้วจะเห็นเลย
สิ่งทั้งหลายมันไม่ใช่ตัวเราแล้ว

ตัวจิตล่ะ จิตมันเป็นผู้รู้ผู้ดู มันจะไม่อยู่ห่างๆหรอกจิตน่ะ
เราจะไปดูว่าจิตอยู่ห่างๆไม่ได้นะ
มันไม่เหมือนกาย ไม่เหมือนเวทนา ไม่เหมือนสังขาร
สิ่งเหล่านั้นมันไม่ใช่จิต เวลาดูแล้วมันจะรู้สึก
สิ่งเหล่านั้นเรียกว่า objective เป็นสิ่งที่ถูกรู้
จิตเป็นผู้รู้ผู้ดู งั้นจิตเป็นผู้รู้ผู้ดู เราจะดูว่ามันอยู่ห่างๆเนี่ยไม่ได้
งั้นไม่ต้องไปดูว่าจิตอยู่ห่างๆ เราดูจิตมันเกิดดับไป
เดี๋ยวจิตก็เกิดที่ตา เดี๋ยวจิตก็เกิดที่หู เดี๋ยวจิตก็เกิดที่ใจ เกิดที่ตา เกิดที่หู
เกิดที่ใจนี่เกิดบ่อย เกิดที่จมูก เกิดที่ลิ้น เกิดที่กายนี่ก็น้อยลงไป
อย่างนั่งฟังหลวงพ่อพูดรู้สึกมั้ย บางครั้งมองหน้าหลวงพ่อ
บางครั้งตั้งใจฟัง ขณะที่ฟังกับขณะที่มองนี่คนละขณะกัน
ลองตั้งใจฟังซิ จะเห็นว่าหน้าหลวงพ่อเบลอไป
หน้าหลวงพ่อจะเบลอๆไป ขณะที่มอง เสียงหลวงพ่อก็จะเบลอไป
ฟังเสียงไม่ออก ในขณะที่ฟังเสียงใช่มั้ย
ฟังซักพักนึงสองสามคำ ต้องสลับไปคิด แปลความหมายของเสียงที่หลวงพ่อพูด
สังเกตมั้ย เราฟังไปคิดไปๆ สลับไปเรื่อยๆ
นี่แหละมันจะแสดงให้เราเห็นว่าจิตมันเกิดดับได้

หรือถ้าดูจิตที่เกิดดับทางตาหูจมูกลิ้นกายใจไม่ได้นะ
นี่บางคนดูไม่ไหวดูยาก เราดูจิตซึ่งเป็นกุศลบ้างเป็นอกุศลบ้าง
เช่นจิตเผลอไปคิด จิตเผลอไปคิดนี่มันอันนึงนะ
พอเรารู้สึกว่าจิตเผลอไปคิดนี่ จิตที่เผลอไปคิดดับไปแล้ว
เกิดจิตที่รู้สึก รู้ว่าตะกี้เผลอไปคิด เป็นจิตอีกดวงหนึ่งเกิดขึ้น
นี่จิตที่รู้สึกตัวนี่อยู่ชั่วคราว เดี๋ยวก็เผลอไปคิดครั้งใหม่
จิตที่รู้สึกตัวก็ดับ เกิดจิตที่หลงไปคิดใหม่
นี่เห็นอย่างนี้เรื่อยๆนะ เดี๋ยวก็หลงไปเดี๋ยวก็รู้สึก เดี๋ยวก็หลงไปเดี๋ยวก็รู้สึก

ถ้าพวกที่ปฏิบัติหน่อยก็มีสามอัน ถ้าพวกไม่ปฏิบัติก็มีสอง
พวกที่ไม่เคยปฏิบัตินะ หลงไปแล้วก็รู้ หลงไปแล้วรู้
ถ้ามาเริ่มปฏิบัติ ส่วนพวกที่ปฏิบัติชำนาญพอหลงไปแล้วก็รู้
แล้วจะมาเพ่ง อดเพ่งไม่ได้ ชอบไปเพ่ง
เนี่ยคนที่ไม่เคยปฏิบัตินะสบายกว่าตรงนี้แหละ
แต่ว่าพอหัดรู้ หลงแล้วรู้ๆ ซักพักนึงนะก็กลับมาเพ่งเหมือนกันแหละ อดไม่ได้หรอก
จิตใจก็วนเวียนอยู่อย่างนี้ จิตที่หลงไปก็ดวงนึง จิตที่รู้สึกตัวก็เป็นอีกดวงหนึ่ง
คนละขณะกัน จิตที่ไปเพ่งก็เป็นอีกตัวนึง คนละขณะกันนะ
ดูมันหมุนไปอย่างนี้ มีแต่เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ

บางคนดูจิตที่หลงไม่เป็น ก็ดูจิตที่โลภก็ได้ ที่โกรธก็ได้
บางคนขี้โมโห โมโหตลอดเวลานะ อะไรกระทบนิดนึงก็โมโหแล้ว ขัดใจตลอดเวลา
นั่งอยู่ดีๆนะ นึกถึงอะไรนิดนึงก็ขัดใจขึ้นมาแล้ว
นั่งอยู่เฉยๆ ยุงบินผ่านหน้าห่างสามเมตรยังขัดใจเลย มันยังไม่เข้าใกล้ก็โมโหแล้ว
ถ้าเราเป็นคนขี้โมโหนะ เราก็คอยสังเกตจิต จิตเรามีสองแบบ
จิตที่ขี้โมโหกับจิตที่ไม่ได้โมโห มีสองอันเอง
เห็นมั้ยมันเกิดสลับกันไปเรื่อย เดี๋ยวก็โมโหเดี๋ยวก็ไม่โมโห

ถ้าคนไหนขี้โลภ อยากทั้งวัน ความจริงทุกคนน่ะอยากทั้งวัน แต่บางคนมองไม่เห็น
เดี๋ยวก็อยากดูเดี๋ยวก็อยากฟัง อยากได้กลิ่น อยากได้รส อยากได้สัมผัสทางกาย
อยากคิดอยากนึก อยากปรุงอยากแต่ง อยากปฏิบัติ นี่สารพัดอยากเลย
ถ้าเราดูสภาวะอยากได้นะ เราก็จะเห็นจิตสองอย่าง
จิตเดี๋ยวก็อยากเดี๋ยวก็ไม่อยาก เดี๋ยวก็อยากเดี๋ยวก็ไม่อยาก

ทำไมต้องดูคู่เป็นคู่ๆ จิตหลงไปกับจิตที่รู้สึก ไม่หลง
จิตที่โลภกับจิตที่ไม่โลภ จิตที่โกรธกับจิตที่ไม่โกรธ
ทำไมดูเป็นคู่ๆ ดูเป็นคู่ๆ จะเห็นไตรลักษณ์
จะเห็นไตรลักษณ์ว่าแต่ละตัวไม่คงที่หรอก
จิตที่โกรธก็อยู่ชั่วคราวหายไป มีเหตุก็เกิดหมดเหตุก็ดับบังคับไม่ได้
จิตที่รู้สึกตัวขึ้นมาแล้วนะแป๊บเดียวโมโหอีกแล้วห้ามมันไม่ได้

คอยสังเกตนะนี่จิตมันเกิดดับไปเรื่อย ต่อไปสติปัญญามันแก่กล้าขึ้นมา
ใจมันตั้งมั่นขึ้นมา สติสมาธิอะไรนี่พร้อม มันจะเห็นชัดเลย
จิตดวงนึงเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป มีช่องว่างมาคั่นด้วยนะ
มีช่องว่างมาคั่น อย่างจิตที่รู้กับจิตที่เผลอเนี่ยคนละดวงกัน
เห็นชัดๆเลยขาดท่อนออกจากกัน ขาดเป็นช่วงๆ
การที่เห็นจิตมันขาดเป็นดวงๆเป็นช่วงๆ ไม่ใช่มีดวงเดียวทั้งวันทั้งคืนหรือทั้งชาติ
นี่จะทำให้เราละความเห็นผิดว่าเป็นตัวเป็นตนได้
ตรงที่ตะลุยเอาให้เห็นว่าจิตไม่ใช่ตัวใช่ตนนี่ยากที่สุด
ถ้าคนไหนภาวนาแล้วเห็นจิตไม่ใช่ตัวเรานะ
ขันธ์อื่นๆไม่ใช่ตัวเราอัตโนมัติเลย มันง่าย เพราะขันธ์อื่นๆนะมันง่ายนิดเดียว
มันเป็นของถูกรู้ถูกดู มันไม่ใช่ตัวเราอยู่แล้ว ดูง่ายอยู่แล้ว
แค่รู้สึกตัวขึ้นมาก็เห็นทันทีแล้วว่า ร่างกายนี้เวทนานี้ กุศลอกุศลไม่ใช่ตัวเรา
จิตนี่ดูยากมากที่จะเห็นว่าไม่ใช่ตัวเรา

นี่ไม่ใช่หลวงพ่อพูดเอง พระพุทธเจ้าสอนไว้
ท่านบอกว่าคนศาสนาอื่นน่ะ คนซึ่งไม่ได้ฟังธรรมะของท่านเนี่ย
บางคนนะสามารถเห็นได้ว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเรา เห็นได้
แต่ไม่มีใครหรอกที่จะเห็นได้ว่าจิตไม่ใช่ตัวเรา
เว้นแต่ได้ศึกษาปฏิบัติธรรมในศาสนาพุทธนี้
งั้นแต่ละคนจะรู้สึกจิตคือตัวเรา ทุกๆคนแหละ

พอมีจิตเป็นตัวเราแล้ว มันเกิดมิจฉาทิฏฐิสองพวก
พวกนึงคือจิตเที่ยง ร่างกายตายไปแล้วจิตออกจากร่างหนีไปเกิดใหม่
เนี่ยพวกเราชอบเชื่ออย่างนี้เยอะนะ นี่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ชื่อว่าสัสสตทิฏฐิ
เป็นมิจฉาทิฏฐินะ ตายไปแล้วจิตวิญญาณดวงนี้ออกจากร่างไปเกิดใหม่
ใครรู้จักปูเสฉวนมั่ง รู้จักมั้ย มันออกจากหอยใช่มั้ย
ออกจากเปลือกหอยอันนึงไปอยู่เปลือกหอยอีกอันนึง
เราคิดว่ามันปูตัวเดิม จิตของเรานี่ดวงเดิม เหมือนออกจากร่างนี้ไปเข้าร่างนี้
อันนี้ไม่ใช่ศาสนาพุทธนะ นี่เป็นมิจฉาทิฏฐิชนิดหนึ่งซึ่งพวกเราเป็นเยอะ
ถ้าไม่ได้ฟังธรรมะแล้วจะคิดว่า นี่แหละ เราเป็นชาวพุทธเชื่อเวียนว่ายตายเกิด
เวียนว่ายตายเกิดของพุทธไม่ได้เวียนว่ายตายเกิดแบบปูเสฉวนนะ
ถอดจากร่างนี้ไปร่างนั้น มันเกิดดับตลอดเวลา
จิตดวงหนึ่งเกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ
จิตใจอัตภาพร่างกายนี้เกิดแล้วดับไป เกิดจิตอีกดวงนึงในร่างกายใหม่ คนละดวงกัน
ไม่ใช่ดวงเดิม แต่มันสืบเนื่องกันไป

อีกพวกนึงถ้าเห็นว่าจิตนี้เป็นตัวเรานะ
พวกนี้มีความเชื่อไปอีกว่า ถ้าตาย ร่างกายตายเมื่อไหร่จิตนี้ก็สูญไปด้วย
มันสูญไปหมดเลย พวกนี้เรียกว่า อุจเฉททิฏฐิ
ทำไมพวกนี้เชื่อว่าสูญไป เพราะพวกนี้คิดว่าจิตนี้มันเกิดจากร่างกายเท่านั้นเอง
ถ้าไม่มีร่างกายก็ไม่มีจิต พวกนี้เขามองไม่เห็นสัตว์ชนิดซึ่งไม่มีร่างกาย
ถ้าเราภาวนา เราได้ทิพยจักษุ ได้เจโตปริยญาณ ได้อะไรพวกนี้นะ
ได้จุตูปปาตญาณเราจะรู้เลยว่าร่างกายตายแล้วมันไม่ใช่สูญสิ้นไปเลย
มันมีพลังงานที่เหลืออยู่นั้นไปสร้างภพสร้างชาติขึ้นมาใหม่ได้อีก

คนทั่วๆไปมันเป็นมิจฉาทิฏฐิสองฟาก เห็นว่ามีตัวเราแน่นอน
มีตัวเราอยู่แต่ตัวเรานั้นบางทีเที่ยง อมตะนิรันดร์กาล
อีกอันนึงตัวเรามีอยู่จริงๆนะ แต่พอตายแล้วตัวเรานี่สูญไป
ชาวพุทธไม่ได้เป็นอย่างนั้น ชาวพุทธเห็นว่าสิ่งซึ่งมีอยู่ในขณะนี้ก็ไม่ใช่ตัวเราแล้ว
ไม่เหมือนกันนะ สิ่งที่มีอยู่ขณะนี้เลย ต่อหน้าต่อตานี้เป็นสิ่งที่มีเหตุก็เกิดขึ้น
ถ้าไม่มีเหตุก็หายไป ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ตัวเราตั้งแต่เดี๋ยวนี้
ไม่ใช่ว่าตัวเรามีอยู่แล้วก็ตายแล้วสูญ หรือว่าตายแล้วไปเกิดใหม่
ตัวเราไม่มีตั้งแต่ปัจจุบัน มันลึกซึ้งไปอีกชั้นนึงนะ

วิธีที่จะเห็นว่าตัวเราไม่มีอยู่ในปัจจุบันนะ มีสติรู้สึกตัวไป
รู้กายรู้ใจไปจนเห็นเลยทั้งกายทั้งใจมันไม่ใช่เราหรอก
ร่างกายจิตใจนี้มันทำงานของมันได้เองทั้งวันทั้งคืนนะ
มันไม่ใช่เราหรอก เราสั่งมันไม่ได้ บังคับมันไม่ได้
ค่อยฝึกเอานะ ฝึกไป พอวันที่มันปล่อยวางความยึดถือกายยึดถือใจได้สนิทจริงๆนะ
จะพบว่าความสุขที่มหาศาลที่สุดที่ไม่เคยพบไม่เคยเห็น นึกไม่ถึงเลย

วันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๑ (ตอนที่ ๒)
สวนสันติธรรม?