Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๔๔

พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโชluangpor_pramote

ถาม: ขอหลวงพ่อเมตตาช่วยอธิบาย หน้าที่ของสติกับปัญญาให้ฟังด้วยค่ะ

luangporตอบ:
“สติเป็นตัวรู้ทันสภาวะ เมื่อมีสภาวะอะไรเกิดขึ้น
ปัญญาเป็นตัวรู้ลักษณะ คือรู้ว่าสภาวะทั้งหลายนั้นตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์”

ลักษณะก็คือไตรลักษณ์นั้นแหละ บางทีเรียกว่า ลักษณะ
ลักษณะ ที่เป็นกลางๆ ทั่วๆไปสำหรับธรรมชาติที่ปรุงแต่งทั้งหลายมีสามอย่าง
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็เลยเรียกว่าไตรลักษณ์
ไตรแปลว่าสาม ลักษณะสามอย่าง
คนที่ไปรู้ลักษณะสามอย่างหรืออันใดอันหนึ่งนั้นคือตัวปัญญา

สติเป็นตัวรู้รูปธรรมนามธรรมที่เกิดขึ้น
ปัญญาเป็นตัวเห็นความจริง ว่ารูปธรรมนามธรรมอันนั้นเป็นไตรลักษณ์

เนี่ยถ้ามีสติมีปัญญาแก่รอบนะ จะรู้เลย
สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดมานะล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เกิดแล้วดับทั้งสิ้น
เนี่ยรู้รวบยอด ก็จะเป็นพระโสดาบัน ไม่มีตัวมีตน

สิ่งทั้งหลายเกิดแล้วดับทั้งสิ้น ไม่มีสิ่งที่เป็นตัวตนถาวร
นี่เห็นอนัตตา ก็เป็นพระโสดาบัน ไม่มีตัวไม่มีตน

เพราะฉะนั้นเครื่องมือที่เราต้องพัฒนาขึ้นมานะ
ตัวแรกชื่อว่าสติ ตัวที่สองชื่อว่าปัญญา

สติเป็นตัวรู้ทันลักษณะที่กำลังปรากฏอยู่
ปัญญาเข้าใจความเป็นจริงของสภาวะ

สติเป็นตัวรู้สภาวะที่เกิดขึ้นมา
ปัญญาเป็นตัวเข้าใจความเป็นจริงของสภาวะว่าตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์

เพราะงั้นปัญญาเป็นตัวเข้าใจ
สติเป็นตัวรู้ทัน ปัญญาเป็นตัวเข้าใจ
ต้องมีสองตัวเนี้ย ถึงจะเอาตัวรอดได้ ได้มรรคได้ผลได้


สวนสันติธรรม
วันศุกร์ ที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๓






ถาม: อยากปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม ควรทำอย่างไรคะ

ตอบ:
อยากปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรมนะ ต้องทำอย่างนี้
เริ่มแต่อะไร...

มักน้อย
หมายถึงมีเยอะก็บริโภคน้อย

สันโดษ
ก็ยินดีพอใจในสิ่งที่ได้มา จากการที่เราทุ่มเททำงานเต็มที่
กระทั่งเราภาวนานะ เราทำเต็มที่แล้วมันได้แค่นี้ก็พอใจแค่นี้ นี่สันโดษ

ไม่คลุกคลี
ไม่เฮๆฮาๆ

ปรารภความเพียร
วันๆนึงก็คิดแต่จะสู้กิเลส
จะล้างกิเลสออกจากใจ
จะปลดความทุกข์ออกจากใจ ... ปรารภความเพียร

ฝึกสติ
ร่างกายเคลื่อนไหวคอยรู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวคอยรู้สึก

ฝึกสมาธิ
พุทโธไป หายใจไป จิตไหลไปคิดก็รู้ จิตไหลไปเพ่งก็รู้
พอเราฝึกได้สติ เราฝึกได้สมาธิ แล้วคราวนี้เราต้องเจริญปัญญาต่อ

การเจริญปัญญา
ก็คือการมีสติรู้กายรู้ใจตามที่เค้าเป็น
แต่ต้องรู้ด้วยจิตที่ทรงสมาธิ คือจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลางอยู่
ถ้าจิตไม่ทรงสมาธิ จิตก็ไหลไป
ไปรู้ลมหายใจ จิตก็ไหลไปที่ลมหายใจ มันก็ไม่เกิดปัญญา
ถ้าสติระลึกรู้ลมหายใจ มีจิตตั้งมั่นเป็นคนดู
มันจะเห็นเลย ร่างกายที่หายใจไม่ใช่ตัวเรา เห็นเองเลย
จะเห็นเลย เห็นแต่อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
การเจริญปัญญานั้นต้องเห็นไตรลักษณ์

ในนักธรรมเอกเค้าสอนบอกว่า ถ้ามีปัญญานะ
เห็นความไม่เที่ยงของสังขาร จิตจะเบื่อหน่ายในความทุกข์
นี่คือทางแห่งความบริสุทธิ์หลุดพ้น

ถ้าเรามีปัญญาเห็นความทุกข์ของสังขารนะ จิตจะเบื่อหน่ายในทุกข์
นี่คือทางแห่งความบริสุทธิ์หลุดพ้นเหมือนกัน

ถ้าเราเห็นสภาวะทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา
มีปัญญาเห็นสภาวะทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา จิตก็จะเบื่อหน่ายในทุกข์อีก
นี่เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์หลุดพ้น

เพราะงั้นทางแห่งความบริสุทธิ์ ทางแห่งวิสุทธิ
คือการที่เรามีปัญญาเห็นไตรลักษณ์ของรูปของนามของกายของใจนั่นเอง
นี่หลักของวิปัสสนากรรมฐานอยู่ตรงนี้เอง


ถ้าเรามีความมักน้อย
มีความสันโดษ
มีความไม่คลุกคลี
เราปรารภความเพียร
เราพัฒนาสติ
พัฒนาสมาธิ
พัฒนาปัญญาเรื่อยไป
ในที่สุดวิมุติก็ต้องเกิด ความบริสุทธิ์หลุดพ้นจะต้องเกิดขึ้นมา
นี่เป็นทางเดินที่พระพุทธเจ้าท่านวางไว้ สอนเอาไว้
พวกเราต้องเดินตาม

ถ้าเราทำธรรมะที่หลวงพ่อบอกนี้ได้นะ
เรามักน้อย สันโดษ ไม่คลุกคลี ปรารภความเพียร
มีสติ สมาธิ ปัญญา ๗ ประการนี้ได้ เราจะเจอประการที่ ๘ คือ “ไม่เนิ่นช้า”

ธรรมะของพระพุทธเจ้า ธรรมะของมหาบุรุษประการที่ ๘  “ไม่เนิ่นช้า”
เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวเองอย่างรวดเร็วมากเลย
แล้วเราจะทึ่งว่าพระพุทธเจ้ามีจริง พระธรรมมีจริง พระสงฆ์มีจริง
เราจะเชื่อแน่นแฟ้นเพราะเราเห็นด้วยตัวของเราเอง
ไม่ใช่เชื่อเพราะน้อมใจเชื่อ

สวนสันติธรรม ศรีราชา
วันอาทิตย์ ที่ ๒๕ มีนาคม 2555