Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๔๓

พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโชluangpor_pramote

luangporคนไม่มีบุญเกิดมากับศาสนาพุทธก็ไม่สนใจหรอก ต้องมีบุญมีบารมีพอถึงจะสนใจ
พวกเราได้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ เกิดมามีสติปัญญา มีร่างกายแข็งแรงพอสมควร
ยังสนใจที่จะศึกษาปฏิบัติธรรมการยกระดับคุณภาพความเป็นมนุษย์ของเราให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ
ธรรมะนั้นอยู่ในบ้านในเมืองเรามานาน คนส่วนใหญ่ก็คุ้นเคยจนกระทั่งมองไม่เห็นความสำคัญ
มีคนส่วนน้อยหรอกที่สนใจที่จะศึกษาปฏิบัติธรรม คนเข้าวัดส่วนใหญ่ก็ไปทำบุญเท่านั้น
ที่จะสนใจถึงขนาดว่า “พระพุทธเจ้าสอนอะไร ทำอย่างไรเราจะเอาธรรมะเข้ามาสู่หัวใจของเราได้” มีไม่มาก
การที่พวกเราสนใจได้ขนาดนี้ หลวงพ่อก็ขออนุโมทนาด้วย

ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นเป็นของกลาง ท่านประทานไว้ให้ทุกๆคนแหละ
แต่คนส่วนน้อย ที่จะสนใจ ที่จะศึกษาปฏิบัติ
ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ใช่แค่เรื่อง ทำทาน รักษาศีล ไม่ใช่แค่เรื่องนั่งสมาธิ
การทำทาน การรักษาศีล การนั่งสมาธิ ก็เป็นของดี แต่มันมีมาก่อนพระพุทธเจ้าซะอีก
สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วเอามาสั่งสอนพวกเรามันถึงขั้นเจริญปัญญา
งั้นพวกเราต้องพยายามพัฒนาจิตใจให้มันเกิดปัญญาขึ้นมาให้ได้จริงๆ
ถ้าใจเรามีปัญญาอย่างแท้จริง ในมันจะพ้นจากทุกข์ จะเข้าถึงความสะอาดบริสุทธิ์
พระพุทธเจ้าถึงสอนบอกว่า “บุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา”
แต่คนไม่มีศีล ไม่มีสมาธิ มันก็ไม่มีปัญญาหรอก
แต่มีศีล มีสมาธิ แค่นั้นไม่พอ ต้องรู้วิธีที่จะพัฒนาปัญญาให้เกิดขึ้น

ขั้นแรกเลยพวกเราต้องตั้งใจรักษาศีล ๕ ไว้ก่อน
ศีล ๕ จำเป็นมากนะ ทุกวันนี้คนละเลยศีลไปหมดแล้ว เห็นว่ามีแต่คนโง่ๆหรอกไปถือศีล

เค้าไม่รู้หรอกว่าการถือศีลนั้นมีคุณค่าขนาดไหน
คนที่มีศีลในจิตในใจของเรานะ จิตใจมันสงบง่าย มีความสุข มีความสงบ
คนไม่มีศีล จิตใจเร่าร้อน หาความสุขความสงบไม่ได้
งั้นเบื้องต้นพวกเราอย่างน้อยเราต้องรักษาศีล ๕ ไว้ให้ได้
พอเรามีศีล ๕ แล้วเนี่ย ใจเราสบาย ใจเราสงบง่าย
อย่างคนคิดจะฆ่าคนอื่น คิดจะทำร้ายคนอื่น จิตใจไม่สงบหรอก
คนไม่คิดจะทำร้ายใครนะ คนมีความเมตตากรุณาในใจ ไม่คิดทำร้ายใคร
จิตใจก็มีความสุข มีความสงบอยู่ในตัวเอง
คนอยากขโมยเค้า จิตใจไม่สงบ คนอยากประพฤติผิดในกาม จิตใจไม่สงบ วุ่นวาย
เราไม่ลักใครขโมยใคร รู้จักเสียสละ รู้จักให้ด้วยซ้ำไป ยิ่งมีความสุขใหญ่
เราซื่อสัตย์ต่อคู่ครองของเรา ก็สบาย มีความสุข มีความสงบ บ้านเราก็ร่มเย็น ลูกหลานเราก็มีความสุข
ถ้าผิดศีลผิดธรรมนะ บ้านก็เร่าร้อน ลูกหลานไม่มีความสุข
งั้นการที่เรามีศีลนะ จะทำให้เรามีความสุขมีความสงบ
คนไม่โกหก คนพูดความจริง จิตใจสบาย
คนโกหก ไม่สบาย ต้องคอยจำ ว่าพูดอะไรไปแล้ว เดี๋ยวพูดไม่เหมือนเดิม เค้าจับได้
งั้นเบื้องต้นพวกเราพยายามรักษาศีลเอาไว้ ศีลข้อ ๕ เราก็อย่าไปกินเหล้าเมายา
พยายามมีสติให้มากๆ กินเหล้าเมายามากๆ เสียสติ จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว จิตใจไม่สงบ

ทีนี้พอพวกเรามีศีลแล้วก็มาพัฒนาต่อไป มาพัฒนาจิตใจให้มีสมาธิขึ้นมา
รักษาศีลอย่างเดียว ไม่ทำสมาธิ จิตใจก็จะพัฒนาไม่พอ
การที่เรามีศีลนั้นมันทำให้กาย ให้วาจาของเราเรียบร้อย
การฝึกสมาธินั้น ทำให้จิตใจของเราเรียบร้อย มีความสุข มีความสงบ
ศีล ช่วยรักษากาย รักษาวาจา ไม่ให้เกะกะระรานใคร
สมาธิ ถ้าเราฝึกไป จิตใจเราก็สงบ สบาย เป็นการจัดกระเบียบจิตใจ
ศีล เป็นเรื่องการจัดระเบียบกาย จัดระเบียบวาจา ให้เรียบร้อย
ทีนี้สมาธินั้นมี ๒ ชนิด พวกเราต้องเรียนเหมือนกัน ต้องฟังไว้ให้ดี

ส่วนใหญ่ที่เข้าวัดกันบางทีก็ไปนั่งสมาธิ แยกไม่ออกว่าสมาธิมันมี ๒ แบบ

สมาธิแบบแรก ทำไปเพื่อให้จิตใจสงบ สบายอยู่อย่างเดียว นิ่งๆ
สมาธิชนิดสงบนี่เอาไว้พักผ่อน เวลาจิตใจของเราวุ่นวายเร่าร้อนเหน็ดเหนื่อย
ทำสมาธิชนิดสงบ จิตใจได้พักผ่อนสบาย มีความสุข
หลวงพ่อก็หัดสมาธิชนิดนี้มาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่เจ็ดขวบ ฝึกรู้ลมหายใจ

หายใจไปจิตสงบอยู่กับลมหายใจ จิตไม่ฟุ้งซ่านไปไหน มีความสุข มีความสงบ แต่มันไม่เกิดปัญญา

สมาธิอีกชนิดหนึ่ง เป็นสมาธิที่จะทำให้เกิดปัญญา
มันไม่ใช่แค่สงบ แต่มันเป็นความตั้งมั่นของจิต เป็นภาวะที่จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว
จิตใจของคนในโลกนะ หรือของสัตว์ทั้งหลายเนี่ย มันลืมตัวเองตลอดเวลา
มันหนีไปคิดตลอด คิดไปอดีต คิดไปอนาคต ลืมปัจจุบัน ลืมตัวเอง
เราต้องมาฝึกจิตใจให้มันอยู่กับตัวเอง อย่าลืมเนื้อลืมตัวนะ คอยรู้สึกตัว
พูดง่ายๆ ก็คือเป็นสมาธิที่ฝึกแล้วก็รู้สึกตัว ใจไม่เคลิบเคลิ้ม
ไม่เหมือนสมาธิชนิดสงบนะ นั่งพุทโธๆ นั่งหายใจอะไรอย่างนี้ สงบเฉยๆ
หรือดูท้องพองยุบดูไปเรื่อยๆจิตไม่หนีไปที่อื่น จิตอยู่กับท้อง ก็ได้ความสงบ ก็สงบเฉยอยู่อย่างนั้น
มันต้องมาพัฒนาขึ้นมาให้เกิดความตั้งมั่นของจิต
ปกติจิตของเราจะหนีตลอดเวลา หนีไปดู หนีไปฟัง หนีไปคิด หนีไปคิดนี่มีมากที่สุด
คือจิตมันจะหนีไปคิดทั้งวัน คิดไปอดีต คิดไปอนาคต ตื่นมาก็เริ่มคิดไปแล้ว
เราไม่สามารถรู้สึกตัวอยู่ในปัจจุบันได้
งั้นสมาธิชนิดที่สองนี่ฝึกขึ้นมาแล้วเราจะรู้สึกตัวอยู่ในปัจจุบัน
จิตของเราจะเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่ใช่ผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง

ตรงที่จิตเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานนี่ เป็นจุดที่จะแตกหักเลย
ว่าเราจะทำวิปัสสนากรรมฐาน เราจะเดินปัญญา ได้หรือไม่ได้

ถ้าจิตเราไม่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เราไม่สามารถจะเจริญวิปัสสนากรรมฐานได้จริงๆ
เพราะวิปัสสนากรรมฐานนั้น ทำไปเป็นการเจริญปัญญา
ปัญญานั้นมีสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิด สมาธินั้นต้องเป็นสมาธิที่จิตตั้งมั่น
ในทางตำรา ทางปริยัติเนี่ย คำว่าสมาธิก็แปลว่าความตั้งมั่น
แต่พวกเราชอบมักง่าย ไปแปลสมาธิว่าความสงบ คนละตัวกันนะ
เราต้องมาฝึกจิตใจให้ตั้งมั่น จิตใจที่ตั้งมั่นคือจิตใจที่อยู่กับเนื้อกับตัว ไม่ลืมเนื้อลืมตัว

ตอนหลวงพ่อเป็นโยมนะ หลวงพ่อพยายามฝึก
ตอนเด็กๆนะฝึกได้แต่สมาธิสงบ ต่อมาโตขึ้นมานะเจอครูบาอาจารย์ เข้าวัดไปท่านก็พูดแต่คำว่ามีจิตผู้รู้
หลวงปู่ดูลย์พูดบอกว่า ไม่ให้เอาจิตออกนอก ไม่ให้ส่งจิตออกนอก
จิตที่ส่งออกนอกก็คือจิตที่มันหลงไปดู หลงไปฟัง หลงไปคิด มันลืมตัวเอง
จิตที่ไม่ออกนอกก็คือจิตที่รู้เนื้อรู้ตัวอยู่
งั้นหลวงพ่อก็มาฝึก พยายามให้จิตรู้เนื้อรู้ตัว ไม่ให้ลืมเนื้อลืมตัว
จนกระทั่งบางทีนะครูบาอาจารย์บางองค์ อย่างหลวงปู่สิม ที่ถ้ำผาปล่อง
เวลาไปกราบท่าน ท่านไม่รู้จักชื่อหลวงพ่อ ไม่เคยบอกท่าน
ท่านเรียกหลวงพ่อว่า ผู้รู้ ผู้รู้ ให้ฉายาว่า ผู้รู้

ผู้รู้ ก็คือเรามีจิตที่รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ จิตเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานอยู่
เมื่อเราฝึก มันต้องมีวิธีฝึก วิธีฝึกมันจะต่างกับการที่จะฝึกให้จิตสงบ
การจะให้จิตสงบนั้น ให้เราน้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว
จิตไม่ไปฟุ้งซ่านไปสู่อารมณ์อันอื่น จิตก็สงบ
เช่นบางคนมีความสุขที่จะท่องพุทโธ พุทโธๆมีความสุขนะ
พอจิตใจมีความสุข จิตจะไม่ฟุ้งไปที่อื่น ก็สงบอยู่กับพุทโธ
คนไหนถนัดรู้ลมหายใจ รู้ลมหายใจแล้วมีความสุข รู้ลมหายใจไปเรื่อย
หายใจไปรู้สึกตัวนะ หายใจสบาย จิตใจสงบอยู่กับลมหายใจ ไม่ฟุ้งไปที่อื่น ก็ได้ความสงบขึ้นมา
คนไหนดูท้องพองยุบแล้วมีความสุข ก็ดูท้องพองยุบไป จิตใจมันก็สงบไม่หนีไปที่อื่น

การที่จะฝึกให้จิตสงบนั้น ฝึกโดยการรู้จักเลือกอารมณ์
เราต้องดูว่าตัวเราเองนั้นอยู่กับอารมณ์ชนิดไหนแล้วมีความสุข เราก็อยู่กับอารมณ์ชนิดนั้นบ่อยๆ
อยู่กับพุทโธแล้วมีความสุขเราอยู่กับพุทโธไป จิตก็สงบไม่หนีไปที่อื่น
เพราะจิตมันพอใจกับพุทโธซะแล้ว มันก็ไม่ไปหาอารมณ์อันอื่น
คนไหนหายใจเข้าหายใจออก รู้ลมหายใจเข้าหายใจออกแล้วมีความสุข
เราก็อยู่กับลมหายใจไป จิตก็ไม่หนีไปที่อื่น
เนี่ยเคล็ดลับของการทำความสงบนะ การทำสมถะ เลือกอารมณ์ ต้องดูของตัวเราเอง
เราอยู่กับอารมณ์ชนิดไหนแล้วมีความสุข เราก็อยู่กับอารมณ์ชนิดนั้นบ่อยๆ
จิตใจไม่หนีไปหาอารมณ์อย่างอื่น อันนี้แหละ เราได้สมถะกรรมฐาน

ทีนี้ฝึกอย่างไรจะให้จิตตั้งมั่น
จิตที่ตั้งมั่นนั้นมันตรงข้ามกับจิตที่ไม่ตั้งมั่น
จิตที่ไม่ตั้งมั่นมันคือจิตที่ไหลไป มันหลงไป มันไหลไป ตลอดเวลา
หลวงปู่ดูลย์เรียกว่าจิตออกนอก
เราก็หากรรมฐานมาสักอย่างหนึ่งนะ เบื้องต้นเราต้องมีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่สักอย่างหนึ่งก่อน
คนไหนเคยพุทโธแล้วสบายใจนะ ก็พุทโธต่อไป แต่ไม่ใช่พุทโธเพื่อให้จิตสงบ
เปลี่ยนนิดเดียวจากพุทโธเพื่อให้จิตสงบนะ มาเป็นพุทโธแล้วรู้ทันจิต
พุทโธๆจิดหนีไปคิดรู้ทัน พุทโธๆจิตหนีไปคิดแล้วรู้ทัน พุทโธๆแล้วจิตไปเพ่งนิ่งอยู่เฉยๆก็รู้ทัน
พุทโธแล้วรู้ทันจิตที่เคลื่อนไป เคลื่อนไปหลงไปคิด เคลื่อนไปเพ่ง
ถ้าเรารู้ทันจิตที่เคลื่อนไปนะ จิตจะไม่เคลื่อน
จิตจะตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานได้
คนไหนเคยรู้ลมหายใจแล้วมีความสุขนะ
เราก็สงบอยู่กับลมหายใจ เราก็รู้ลมหายใจต่อไป แต่ไม่ใช่รู้เพื่อให้จิตไปอยู่กับลมหายใจ
ถ้ารู้แล้วให้จิตไปอยู่กับลมหายใจเราได้สมถะกรรมฐาน ได้ความสงบเฉยๆ
เรามาปรับนิดหน่อย เราหายใจไปจิตหนีไปคิดเรารู้ทัน จิตไปเพ่งใส่ลมหายใจเรารู้ทัน
จิตหนีไปคิดเราก็รู้ หายใจไปจิตหนีไปเรารู้ จิตหนีไปคิดเรารู้
หรือหายใจไปจิตไหลไปอยู่ที่ลมหายใจเรารู้
นี่ฝึกอย่างนี้บ่อยๆ จิตเคลื่อนไปแล้วเรารู้ทัน
เคลื่อนไปคิดเราก็รู้ทัน เคลื่อนไปเพ่งลมหายใจเราก็รู้ทัน
ถ้าเรารู้ทันอย่างนี้ได้ว่าจิตมันเคลื่อนไปนะ จิตจะไม่เคลื่อน
จิตจะตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
ใครถนัดดูท้องพองยุบ เคยดูท้องพองยุบ แล้วจิตไปสงบอยู่กับท้องก็เปลี่ยนนิดเดียว
ดูท้องพองยุบไป จิตหนีไปคิดก็รู้ทัน จิตไหลไปอยู่ที่ท้องก็รู้ทัน

คนไหนถนัดเดินจงกรมนะ ก็เดินจงกรมไป จิตหนีไปคิดก็รู้ทัน จิตไหลไปอยู่กับเท้าก็รู้ทัน
คือรู้ทันจิตที่เคลื่อนไป การที่เราคอยรู้ทันจิตที่เคลื่อนไปนั้นแหละ จะทำให้จิตสงบตั้งมั่น ไม่ใช่สงบเฉยๆ
สงบเฉยๆเนี่ยมันจะไหลไปรวมอยู่กับอารมณ์อันเดียว อันนี้มันจะสงบด้วยมันจะตั้งมั่นด้วย
จิตมันจะถอนตัวออกจากโลกของความคิด มาเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

ตรงนี้พวกเราต้องฝึกให้ได้นะ
ถ้าพวกเราไม่สามารถจะฝึกจิตให้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานได้

เรายังทำวิปัสสนากรรมฐานไม่ได้จริงหรอก

ถึงจะไปนั่งคิดพิจารณากายเป็นปฏิกูล เป็นอสุภะอะไรอย่างนี้ มันยังไม่ใช่วิปัสสนากรรมฐานหรอก
วิปัสสนากรรมฐานนะเราต้องมีสติรู้กายรู้ใจ มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง
เราจะรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ความเป็นจริงคือไตรลักษณ์
เราจะเห็นไตรลักษณ์ของกายของใจได้ต่อเมื่อเรามีจิตที่ตั้งมั่น มีจิตที่เป็นกลาง
ถ้าจิตเรายังหลงอยู่ในโลกของความคิด เราจะไม่สามารถรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงได้
มันจะเพ่งกายเพ่งใจเฉยๆ แต่จะไม่เห็นความจริงของกายของใจ คือไม่เห็นไตรลักษณ์หรอก

งั้นเราต้องมาฝึกนะให้ใจตั้งมั่นขึ้นมาให้ได้ก่อน
ตัวนี้เป็นจุดที่แตกหักเลย ว่าชาตินี้เราจะได้มรรคผลนิพพานหรือไม่ได้

ถ้าจิตใจเราไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ชาตินี้เรายังไม่ได้มรรคผลนิพพานแน่นอน
แต่ถ้าจิตใจของเราอยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว จิตหนีไปเรารู้ทัน จิตหนีไปเรารู้ทัน
จิตเราอยู่กับตัวเราเองทั้งวันทั้งคืน โอกาสที่เราจะเห็นความจริงของกายของใจ ก็เป็นไปได้

วัดพระธาตุโกฏิแก้ว
อ.แม่ยาว จ.เชียงราย
วันเสาร์ ที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๕